อีโบลาคร่า 1,676 ชีวิตในคองโกWHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศแล้ว
โรคอีโบลาที่ระบาดในคองโกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง หลังจากมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 2,512 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,676 ราย ล่าสุดองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว!!
Reasons to Read
- ก่อนหน้านี้คณะกรรมการฉุกเฉิน IHR ได้ปฏิเสธที่จะให้มีการประกาศ PHEIC มาแล้วถึงสามครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนที่แล้ว แต่สถิติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยอีโบลา 2,512 รายในการระบาดรอบใหม่นี้ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,676 ราย จึงนำมาสู่การประกาศ PHEIC ในที่สุด
- การประกาศ PHEIC ไม่ได้หมายถึงการชี้นำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางและการค้า และเรียกร้องไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านของคองโกปิดชายแดน เพราะอาจทำให้ผู้คนใช้การข้ามชายแดนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของโรค
สถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลา (Ebola) กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องกังวลอีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการฉุกเฉินด้านการควบคุมสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Regulations – IHR) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ซึ่งรับผิดชอบด้านการป้องกันการระบาดของไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้จัดการประชุมขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประกาศวิกฤตอีโบลาในคองโกว่าเป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC)
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการฉุกเฉิน IHR ได้ปฏิเสธที่จะให้มีการประกาศ PHEIC มาแล้วถึงสามครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนที่แล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในการประชุมครั้งนี้ก็คือเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกได้อ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทางภูมิศาสตร์ของการแพร่เชื้อภายในประเทศ รวมถึงระยะเวลาการระบาดที่ยาวนานมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
มีการยกตัวอย่างหลายกรณี เช่น เคสล่าสุดที่พบการระบาดที่เมืองโกมา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของคองโกและเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ในหนึ่งวันมีผู้คนเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศรวันดากว่า 15,000 คน การระบาดซ้ำอย่างรุนแรงในเมืองเบนิ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคองโก รวมถึงความล้มเหลวในการควบคุมการระบาดตลอดระยะเวลา 11 เดือน และสถิติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พบว่า มีผู้ป่วยอีโบลาจำนวนมากถึง 2,512 รายในการระบาดรอบใหม่นี้ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,676 ราย จึงนำมาสู่การประกาศ PHEIC ในที่สุด
ครั้งสุดท้ายที่การระบาดของโรคอีโบลา ถูกประกาศ PHEIC คือปี 2014 ที่เกิดการระบาดในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งในที่สุดก็มีผู้ป่วยหลายรายทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกา สำหรับครั้งล่าสุดนี้เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับภูมิภาค ไม่ใช่ภัยคุกคามระดับโลก
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ขององก์การอนามัยโลกยังได้เน้นว่า การประกาศ PHEIC ไม่ได้หมายถึงการชี้นำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางและการค้า และเรียกร้องไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านของคองโกปิดชายแดน เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการต่อสู้กับโรคอีโบลา เพราะปัจจุบันมีการคัดกรองมากกว่า 75 ล้านครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาที่ชายแดน หากปิดพรมแดนอาจทำให้ผู้คนใช้การข้ามชายแดนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของโรค
สถานการณ์อีโบลาในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการจัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก การเฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่มาจากพื้นที่ระบาด ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และในชุมชน
ตลอดจนมีการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และเตรียมพร้อมตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ในการตรวจ และมีมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อม
FYI:
- โรคไวรัสอีโบลา หรือโรคไข้เลือดออกอีโบลา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งอยู่ในตระกูลที่ชื่อว่า Filoviridae อัตราการเสียชีวิตในคนเฉลี่ยประมาณ 50% ถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1976 ในประเทศเซาท์ซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลาซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อโรคในเวลาต่อมา และมีการปรากฎโรคให้เห็นเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งการระบาดที่ใหญ่ที่สุดของโรคอีโบลานับตั้งแต่ถูกค้นพบเกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2014 และจบลงในเดือนมกราคม ปี 2016
- เชื้อไวรัสอีโบลาถ่ายทอดเข้าสู่คนจากการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวจากร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยค้างคาวผลไม้บางชนิดถือเป็นพาหะของไวรัสอีโบลาตามธรรมชาติ ในทวีปแอฟริกามีการยืนยันด้วยเอกสารว่ามีการติดเชื้อจากการจับลิงชิมแปนซี ลิงกอริลลา ค้างคาวผลไม้ ลิง ละมั่งป่า และเม่นที่ป่วยหรือตายในป่าไม้เขตร้อน
- จากนั้นไวรัสก็แพร่ระบาดในชุมชนผ่านการถ่ายทอดจากคนสู่คน โดยมีการติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และการติดต่อทางอ้อมกับสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวดังกล่าว
- ไวรัสอีโบลาเป็นเชื้อไวรัสรุนแรงเฉียบพลัน อาการของผู้ติดเชื้อมักเริ่มจากมีไข้ อ่อนเพลียรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเจ็บคอ ตามมาด้วยอาการอาเจียน ท้องร่วง ผื่นแดง การทำงานของตับและไตบกพร่อง ในบางรายอาจมีเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย