แผ่นดินไหวในโลกที่เปลี่ยนแปลง บทเรียนจากความเปราะบางของเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(โดย : ศาตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของสังคม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน และนางสาวรัชนัน ชำนาญหมอ นักวิจัย สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน)
เมืองเปราะบางในยุคของความเสี่ยงที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกกำลังเผชิญกับการย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมืองอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN, 2022) พบว่าประชากรกว่า 55% ของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% ภายในปี 2050 ซึ่งทำให้เมืองกลายเป็น “จุดศูนย์กลาง” ของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความเจริญ แต่ในขณะเดียวกัน เมืองกลับกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่เปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว
ความเปราะบางของเมืองจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นความร้อน และพายุที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น ล้วนส่งผลซ้ำซ้อนกัน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะเปราะบางต่อภัยพิบัติ จากรายงานระดับโลกเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติระหว่างปี 1970–2024 พบว่า สัดส่วนของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุทกภัยและสภาพอากาศสุดขั้ว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวของเมือง ศักยภาพในการรับมือและฟื้นฟูจากวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยธรรมชาติหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

รูปที่ 1 การเกิดขึ้นของภัยพิบัติในเขตเมือง
เมื่อเชื่อมโยงกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิสุดขั้ว หรือความถี่ของภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น จะพบว่าเมืองต้องเผชิญความเสี่ยงที่ซ้อนกันหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีความพร้อม ความหนาแน่นของประชากร และการขยายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ โดยในปี 2023 รายงานของศูนย์วิจัยระบาดวิทยาด้านภัยพิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disaster: CRED) พบว่ามีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นกว่า 380 ครั้งทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนกว่า 30,000 ราย และสร้างความเสียหายกว่า 223 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแผ่นดินไหวเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด แม้จะเกิดไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นกลับมีผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด
ดังนั้น เพื่อให้เมืองสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและลดผลกระทบจากภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมและการจัดการภัยพิบัติ จึงเป็นก้าวแรกสำคัญในการเรียนรู้และเปลี่ยนจากความสูญเสียไปสู่การปรับตัวอย่างยั่งยืน 4 ประการ ได้แก่
1. การเตรียมความพร้อมและการจัดการภัยพิบัติเพื่อเปลี่ยนจากความสูญเสียสู่การปรับตัวอย่างยั่งยืน
ประวัติศาสตร์ภัยแผ่นดินไหวได้สอนให้เราตระหนักว่า “การเตรียมพร้อม” เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม ประเทศที่มีแผนรับมือที่ดีจะสามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างชัดเจน เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า การออกแบบอาคารตามมาตรฐานทนแรงสั่นสะเทือน และการฝึกซ้อมอพยพเป็นประจำ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยลดความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7–8 ริกเตอร์
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ใช่ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวสูง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 คือสัญญาณเตือนที่สำคัญ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ในประเทศเมียนมา ส่งผลให้ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพมหานครถล่มลงมาทันที มีจำนวนผู้ประสบเหตุทั้งหมด 103 คน ผู้เสียชีวิต 65 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 29 คน (อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์จาก อาคาร สตง. เขตจตุจักร โดยกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 18:00 น.) ซึ่งการถล่มของอาคารนี้แม้จะไม่เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่แรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาถึงและความเปราะบางของโครงสร้างอาคารเป็นสิ่งยืนยันว่าการเตรียมการล่วงหน้า เช่น การตรวจสอบมาตรฐานวัสดุ การควบคุมงานก่อสร้าง และการจำลองสถานการณ์ความเสี่ยง ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดช่องว่างในระบบความปลอดภัยของอาคารที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียได้ทุกเมื่อเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานการก่อสร้างให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการประเมินและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชนอย่างยั่งยืน
2. การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
เมื่อภัยพิบัติกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของเมือง ภายหลังเหตุการณ์อาคาร สตง.ถล่ม กรุงเทพมหานครได้เร่งตรวจสอบอาคารสาธารณะ 155 แห่งทั่วเมือง ผลการตรวจสอบพบว่า 2 แห่งอยู่ในระดับ “สีแดง” (ไม่ปลอดภัย ห้ามใช้งาน) และ 33 แห่งอยู่ในระดับ “สีเหลือง” (จำเป็นต้องซ่อมแซม) (PPTV HD, 2025)
เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนบทเรียนสำคัญว่า “โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน” มิใช่เพียงประเด็นด้านงบประมาณหรือการลงทุนในเชิงกายภาพเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง การพัฒนาเมืองในอนาคตจึงควรมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างอาคารให้สามารถรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว โดยอาจอ้างอิงมาตรฐานสากล เช่น ISO หรือ Eurocode ซึ่งมีแนวทางเฉพาะด้านการออกแบบโครงสร้างให้ต้านทานแรงสั่นสะเทือนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การติดตั้งระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือน (Seismic Sensors) ควบคู่กับระบบแจ้งเตือนภัยอัตโนมัติที่สามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือและช่องทางสื่อสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอพยพและลดความสูญเสียในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เมืองไทยจึงควรเริ่มต้นวางระบบเหล่านี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคต
3. การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติและความไม่แน่นอน
แผ่นดินไหวเป็นเครื่องเตือนอันทรงพลังที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะมีความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงใด แต่พลังของธรรมชาติก็ยังคงเหนือการควบคุม และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ที่สำคัญ ภัยพิบัติในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น แผ่นดินไหวที่อาจตามมาด้วยสึนามิ ไฟไหม้ หรือการพังทลายของเขื่อน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบสาธารณูปโภค
ผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านี้มักเกี่ยวพันกับการกระทำของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเลก่อสร้างที่อยู่ใกล้แนวรอยเลื่อน การบุกรุกพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำเชี่ยวกรากหรือเชิงเขาที่มีแนวโน้มดินถล่ม ตลอดจนการออกแบบโครงสร้างอาคารโดยละเลยต่อปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และความเสี่ยงทางธรรมชาติ การมองข้ามรายละเอียดเหล่านี้เท่ากับเป็นการเพิ่มความเปราะบางให้กับสังคมและทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การวางแผนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทางธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญ โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประเมินความเสี่ยง และออกแบบระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติในอนาคต
4. การร่วมมือกันในสังคมโดยมีพลเมืองเป็นหัวใจของการฟื้นตัว
ในช่วงเวลาวิกฤต ความแข็งแกร่งของสังคมมิได้สะท้อนผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับ “ความสามัคคีและพลังของประชาชน” ซึ่งแสดงออกผ่านการอพยพอย่างมีระเบียบ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยาก รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่จำกัด
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2014 ซึ่งมีความรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ ถือเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของชุมชนท้องถิ่น อาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วกว่าการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ความร่วมมือเช่นนี้คือผลลัพธ์ของทุนทางสังคม (Social Capital) และความเข้มแข็งของชุมชน (Community Resilience) ซึ่งควรถูกบ่มเพาะและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะในยามเกิดภัยพิบัติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในระยะยาว
บทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติทำให้มนุษย์เริ่มหันกลับมาตั้งคำถามกับวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย การพัฒนาเมืองอย่างเร่งรีบ และการละเลยความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เราจึงตระหนักว่า “ความยั่งยืน” มิใช่เพียงคำหรูหราที่กล่าวกันในแผนพัฒนา แต่เป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอดท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเปราะบาง แนวคิดใหม่ในการออกแบบเมือง เช่น เมืองฟื้นตัวได้ (Urban Resilience) และเมืองที่ยืดหยุ่น (Adaptive Cities) เริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแค่การรับมือกับภัยพิบัติ แต่ยังมุ่งสร้างสมดุลระหว่างโครงสร้างเมือง ธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อสร้างเมืองที่ไม่เพียงอยู่รอด แต่สามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่นและเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ในภาวะวิกฤต
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างทุนทางสังคม โดยส่งเสริมการฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครชุมชน การถ่ายทอดความรู้ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการสนับสนุนบทบาทของชุมชนให้เป็น “ด่านแรก” ของการฟื้นตัวหลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อให้สังคมไทยสามารถเผชิญกับวิกฤตในอนาคตอย่างมีพลัง มีสติ และมีความหวัง
เมืองไทยกับอันดับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลใน ดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ที่จัดทำโดย Germanwatch ในปี 2021 ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติระหว่างปี 2000–2019 สาเหตุหลักมาจากพายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อน ซึ่งล้วนทวีความรุนแรงขึ้นในแต่ละปีเมื่อรวมความเสี่ยงนี้กับความเปราะบางของเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือขอนแก่น ซึ่งเผชิญกับปัญหาอื่นๆ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ (PM2.5) น้ำท่วมในเขตเมืองต่ำ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น COVID-19 และไข้เลือดออก ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นภัยคุกคามที่ซ้อนทับกันในเมือง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจและทรัพยากรจำกัดในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง และการกัดเซาะชายฝั่ง รัฐบาลไทยได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 6 สาขาหลัก ดังนี้
สาขาที่ 1 การจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ ลดความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
สาขาที่ 2 การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อรักษาผลผลิตการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สาขาที่ 3 การท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สาขาที่ 4 สาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขให้สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาขาที่ 5 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สาขาที่ 6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อพัฒนาชุมชนและระบบสาธารณูปโภคให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของแผน NAP มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำฐานข้อมูลและตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละสาขา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความคืบหน้าในหลายด้าน การดำเนินงานตามแผน NAP ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะด้านการเงิน เนื่องจากการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการการลงทุนจำนวนมาก ทั้งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนในการปรับตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนแผนให้ประสบความสำเร็จ
บทสรุปของเมืองเปราะบางในโลกที่ไม่แน่นอน แผ่นดินไหวคือบทเรียน แต่ไม่ใช่บทสุดท้าย
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมืองไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่ยังสะท้อนความเปราะบางของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในยุคที่ภัยพิบัติต่างๆ กำลังทวีความรุนแรงขึ้น เมืองใหญ่เผชิญกับปัญหาหลายด้าน เช่น แผ่นดินไหว ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม หรือคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ PM2.5 โรคระบาดที่แพร่กระจายรวดเร็วในพื้นที่หนาแน่น เช่น COVID-19 และไข้เลือดออก ความเปราะบางเหล่านี้ทำให้เมืองต้องเผชิญความท้าทายในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

รูปที่ 2 แนวทางการฟื้นตัวของเมืองในทุกมิติเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในเขตเมือง
ท่ามกลางความเปราะบางของธรรมชาติและเมือง รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เมืองต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน การบูรณาการใน 4 มิติ ที่สำคัญเหล่านี้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ ความสามารถในการฟื้นตัวของเมือง (Urban Resilience) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเมืองที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
มิติที่ 1. การบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
มิติที่ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น โดยออกแบบอาคารและโครงสร้างที่สามารถรองรับภัยพิบัติได้
มิติที่ 3. การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชน ผ่านการสร้างความเข้าใจและการร่วมมือในทุกภาคส่วน
มิติที่ 4. การมองปัญหาอย่างบูรณาการ โดยเชื่อมโยงระหว่างด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพประชาชน และการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สำหรับมุมมองของผม บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้สอนให้รู้ว่า “โลกอาจไม่มีวันไร้ภัยพิบัติ แต่เมืองจะปลอดภัยได้หากเราเรียนรู้จากภัยพิบัติและเปลี่ยนความกลัวเป็นการวางแผน เปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสในการปรับตัว เพื่อเสริมสร้างเมืองที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์”
ภาพหน้าประกอบบ้างส่วน : https://www.istockphoto.com
