ดราม่า 5,000 สะท้อนสังคมไทย…ทำไมคนไทยชอบขี้โกง?
อะไรที่ทำให้เราคิดว่าตัวเองเป็นคนดี?
เราเลือกที่จะขโมยของเพื่อช่วยพ่อแม่ที่กำลังป่วยอยู่หรือไม่ ?
เราเลือกที่จะเลือกจ่ายเงินช่วยลูกให้พ้นความผิดหรือเปล่า ?
ความดีกับคนดีแตกต่างกันยังไง ?
ทำไมคนไทยมีสถิติบริจาคเงินสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่กลับไม่ชอบเป็นอาสาสมัคร ?
ทำไมสถิติการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะในประเทศไทยสูงขึ้น 16 เท่า ?
และทำไมตอนนี้ การลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ในช่วงที่คนไทยหลายคนที่ลำบากและกำลังรอคอยเงินส่วนนี้ จึงไปตกอยู่กับคนที่ไม่สมควรได้รับ?
ในอดีต อาจจะมีหลายคนเคยได้ยินเรื่องที่มีฝรั่งหลายชาติชอบนินทาคนไทยว่าเป็นพวก ‘ขี้เกียจ และขี้โกง’
ข้อกล่าวหาดังกล่าว อาจจะทำให้หลายคนยากที่จะยอมรับ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ขยัน ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์
ทำไมต่างชาติในอดีตจึงมองเราเช่นนั้น?
คำกล่าวหานี้มาทุกยุคทุกสมัย โดยจากบทคัดลอกหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง ‘จุดอ่อนคนไทยในสายต่างชาติ’ ได้บักทึกไว้ว่า เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ฝรั่งโปรตุเกสเริ่มเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช และได้มองไทยในลักษณะนี้
เมื่อ 400 ปีที่แล้วมีชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย ก็กล่าวเช่นเดียวกัน
เมื่อ 200 ปีที่แล้วเป็นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวอังกฤษก็โจมตีชาวไทยอย่างหนัก
และในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ยืนยันว่า ‘ขี้เกียจ ขี้ขลาด และขี้โกง’
ทัศนะดังกล่าวเป็นของฝรั่งชาติต่างๆ จำนวนหนึ่ง ได้แก่
นายปินโตชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระไชยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบครั้งแรกในเมืองไทย
นายเซาเตนชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
นายวันวลิเป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้
นายฟอร์บังเป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทยได้ยศออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธ ประจำกาย) จำนวน 2,000 คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี
นายยอห์นครอเฟิดคนไทยเรียก ‘กาลาผัด’ เป็นทูตอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน 183 หัวข้อ
นายคาร์ลกุตสลาฟคนไทยเรียกว่า ‘หมอกิศลับ’ ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรกที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก
นายมัลลอกพ่อค้าอังกฤษ มาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้าและเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคงเป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า
นายมูโอต์นักธรรมชาติวิทยา ชาวฝรั่งเศส เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย
เซอร์เฮนรีนอร์แมนเป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5
รายชื่อ ‘ฝรั่ง’ ที่กล่าวหาไทยไม่ใช่แค่ตัวฝรั่งปากพล่อยๆ ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีวุฒิภาวะ ฯลฯ แต่เป็นคนที่มีภูมิปัญญาในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
…แล้วคำวิจารณ์จุดอ่อนของคนไทยใน สายตาชาวต่างชาติ เป็นอย่างไร?
หมอกิศลับกล่าวถึงความโลเลคนไทยว่า “ชาวสยามเป็นพวกโลเลมากวันนี้มีความคิดอย่างหนึ่งพรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งมิตรภาพของพวกเขาจึงเอาแน่นอนไม่ค่อยได้…ส่วนในมุมของชาวสยามที่เป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริตตัวข้าพเจ้ากลับไม่ได้เห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคนเท่าที่สำรวจดูจากคนใกล้ๆตัวชาวสยามค่อนข้างปราศจากในข้อนี้เหมือนกันหมด”
…เสียงสะท้อนจากประวัติศาสตร์ข้างต้น คงมีหลายคนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นจริงกับสังคมไทย และเราก็ยังคงเชื่อว่า ถึงต่อให้มันเกิดขึ้นจริงๆ (มันก็ต้องมีคนโกงบ้างในทุกสังคม ทุกประเทศบ้างล่ะว่ะ) ก็คงไม่เกิดในช่วงยามยาก
แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563วันแรกของการโอนเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ จำนวน 5,000 บาท ที่ครม. ขยายระยะเวลาเยียวยาให้ผู้มาสิทธิ์เป็น 6 เดือน ก็ตอกย้ำสิ่งที่ว่ามาข้างต้น
ตลอดวันที่ 8 เมษายน มีการทวิตถึง #เราไม่ทิ้งกัน ที่ฮอตร้อนแรง และมีทั้งประชาชนที่ได้รับเงินและไม่รับเงินเยียวยา ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และแฮชแท็กดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อชาวเน็ตมีการพูดถึงหญิงสาวรายหนึ่ง โดยเธอไดโพสต์ข้อความภายหลังจากที่ได้รับเงิน 5,000 บาท ด้วยการระบุว่า “5 พันเข้าบัญชีแล้วค่ะก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็นเหอะ!”
หลังจากเรื่องราวดังกล่าวได้แพร่หลายออกเกิดกระแสวิจารณ์อย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์ โดยชาวเน็ตต่างเข้าไปสำรวจในเฟซบุ๊กของเธอ พบว่ามักจะโพสต์ภาพไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งของแบรนด์เนม ทานอาหารหรูและท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่าง รับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยมองว่าเงินจำนวนดังกล่าว ควรจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ที่ออกมาโพสต์ว่าได้รับเงินแล้วอีกจำนวนมากซึ่ง โดยผู้ที่ได้รับเงินดังกล่าวจะไม่ใช่ผู้ที่เดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 และบางราย ระบุว่า ตนเองกรอกข้อมูลโดยโกหกเรื่องอาชีพ ก็ได้รับเงินมาเรียบร้อยด้วยเช่นกันนั้น
ทำให้ชาวเน็ตต่างตั้งคำถามไปถึงผู้ที่ดูแลมาตรการการถึงการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเยียวยา พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบด้วย
บทสรุปในช่วงเวลาคับขันนี้ กำลังสะท้อนให้สิ่งที่ต่างชาติเคยปรามาศประเทศไทยไว้ ยังคงดู ‘ขลัง’ แบบที่ไม่ค่อยมีใครอยากยอมรับนัก แต่มันก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นภาพซ้ำๆ
…เอาล่ะ!! ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องหาวิธีการรับมือจากกรณีศึกษานี้ต่อไป
แล้วใครที่ไม่เข้าข่ายจะได้รับเงินบ้าง?
อายุไม่ถึง 18 ปี เพราะไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน
ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่น แม่บ้านอยู่บ้าน
ข้าราชการบำนาญ ที่ได้รับเงินเดือนเต็ม
อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งตรงนี้สำนักงานประกันสังคมดูแลอยู่แล้ว ส่วน ม.39 และ ม. 40 นั้นจะได้รับการเยียวยา 5,000 บาท
เกษตรกร ทางรัฐบาลมีมาตรการเฉพาะรองรับ
นักเรียน นักศึกษา ซึ่งไม่ได้เป็นแรงงานเต็มเวลา โดย กยศ.มีมาตรการดูแลอยู่
อาชีพอิสระบางประเภทไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น ค้ายขายออนไลน์ รับจ้างในกลุ่มแรงงา
ก่อสร้าง โปรแกรมเมอร์ ซึ่งภาครัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ เหล่านี้น่าจะมาจากการค้าขายไม่ดีผลจากภาวะเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบโควิด-19
…ส่วนผู้ที่บริสุทธิ์ใจซึ่งได้ลงทะเบียนไปแล้ว และอยากทราบว่าตนเองจะเข้าข่ายหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้ตาม 3 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. เข้าไปที่ kwww.เราไม่ทิ้งกัน.com
2. เลือกเมนู “ตรวจสอบสถานะ”
3. กรอกข้อมูลส่วนตัว อาทิ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน, หมายเลขโทรศัพท์ และ วัน/เดือน/ปี เกิด
ทั้งนี้ เมื่อทำการตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนมาตรการเยียวยาฯ จะมีข้อความดังกล่าวขึ้น 3 แบบ ดังต่อไปนี้
หากขึ้นข้อความว่า : อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานะการลงทะเบียนของท่าน (ไม่สามารถยกเลิกการลงทะเบียนได้)
ความหมาย คือ ได้รับสิทธิ์ รอการโอนเงิน
หากขึ้นข้อความว่า : อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ความหมาย คือ อยู่ในกระบวนการคัดกรอง
หากขึ้นข้อความว่า : ไม่สามารถทำรายการต่อได้ (ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง)
ความหมาย คือ ข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง สามารถลงทะเบียนใหม่ได้
อย่างไรเสีย ในยามนี้ใครที่คิดว่าตัวเองไม่เข้าเกณฑ์ เพื่อให้รัฐและระบบไม่ต้องมานั่งเสียเวลาเช็ค ก็เข้าไปกดที่ https://www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากนั้นก็เข้าไปกดยกเลิกที่ ‘ยกเลิกการลงทะเบียน’ ได้เลย
อย่างน้อยๆ มันจะได้แสดงให้เห็นว่า ในจิตใจลึกๆ ของเรา ยังมีความเป็น ‘คนดี’ ซุกซ่อนอยู่…
อ้างอิงที่มา: https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_17212 /
จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. จุดอ่อนคนไทยในสายต่างชาติ, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2549, มีนาคม และเมษายน 2550 / กระทรวงการคลัง
#GMLIVE #Vision #ดราม่า5000 #เราไม่ทิ้งกัน