แดนมังกรกับการวิวาห์ ในทัศนะใหม่
เ รื่ อ ง : สุ ธ า ม า ส ท วิ นั น ท์
- สมัยก่อนการแต่งงานเป็นเหมือนพันธะสำคัญที่บอกว่าคนสองคนสามารถคบกันได้อย่างถูกต้องตามจารีตประเพณีและตามกฎหมายเมื่อหนุ่มสาวคบกันสักระยะ ผู้ใหญ่ก็จะต้องจัดแจงให้มีการแต่งงาน หรือบางครั้งผู้ใหญ่ก็จะจัดหาคู่ครองให้เอง จึงเห็นได้ว่าคนรุ่นพ่อแม่เรานั้น พออายุผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นก็แต่งงานกันแล้ว แต่ปัจจุบันเรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการครองตัวเป็นโสดกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับคนยุคใหม่ และนับวันประชากรคนโสดก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆการเป็นโสดที่ดูจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลนั้น แท้จริงแล้วถือว่าเป็นเรื่องระดับมหภาคด้านปัญหาโครงสร้างประชากร อันมีผลต่อโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่การแต่งงานกำลังเป็นปัญหาใหญ่จากอัตราการแต่งงานที่ตัวเลขลดลงต่อเนื่องกระทรวงกิจการพลเรือนของประเทศจีนได้เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลในปี 2018 พบว่า ชาวจีนแต่งงานกันน้อยที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีคู่รักแต่งงานกัน 10.14 ล้านคู่ ลดลง 4.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการสมรสอยู่ที่ 7.3 คู่ต่อ 1,000 คน ลดลงจาก 7.7 คู่ต่อ 1,000 คน ในปี 2017
ยุคสมัยที่จีนยังเป็นระบบศักดินา ครอบครัวและวงศ์ตระกูลถือเป็นศูนย์กลางของชีวิตและมีสิทธิพิเศษในการตัดสินใจ การแต่งงานในยุคนั้นจึงเป็นการแต่งงานแบบ ‘คลุมถุงชน’ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อผลิตทายาทไว้สืบสกุล และแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษในตระกูลเท่านั้น มิใช่การแต่งงานที่เกิดขึ้นจากความรักแต่ในปัจจุบันหนุ่มสาวชาวจีนที่เกิดในยุค 80’s และยุค 90’s มีแนวคิดเกี่ยวกับความรักและการแต่งงานที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงระหว่างที่คบกันมากขึ้น ในความคิดของพวกเขา การแต่งงานไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตคู่ที่เรียบง่ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญในชีวิต และไม่ใช่เรื่องที่ยินยอมกันโดยง่ายเหมือนแต่เดิม
ดังนั้น ชาวจีนยุคใหม่จึงต้องการตัดสินใจเรื่องการแต่งงานด้วยตนเอง และกล้าที่จะปฏิเสธการแต่งงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก คนจีนในยุคใหม่มีแนวคิดเรื่องความรักและการแต่งงานที่หลากหลายและแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือแนวคิดของพวกเขานับวันก็ยิ่งจะแปลกแยกจากธรรมเนียมเก่าๆ มากขึ้น
ทำให้ในสมัยใหม่เกิดคำสแลงที่สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์แต่งงานรูปแบบใหม่นี้มากมาย เช่น ‘Shanhun Shanli’ (闪婚闪离) ซึ่งแปลว่า ‘การแต่งงานและการหย่าแบบสายฟ้าแลบ’ ที่เป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่ถกเถียงกันในสังคมชาวจีน, ‘Dingke hunyin’ (丁克婚姻 ) หมายถึงคู่รักที่แต่งงานแล้วแต่กลับไม่ต้องการมีลูก, ‘Luohun’ (裸婚) แปลว่าการแต่งงานกันด้วยความรัก โดยทั้งคู่ไม่มีบ้านและรถ ไม่มีกระทั่งแหวนแต่งงาน มีเพียงเงิน 9 หยวนก็สามารถจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสได้, ‘Wanghun’ (网婚) ที่แปลว่าการแต่งงานผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น เกม หรือห้องแชตรูม ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย และ ‘Lvyou Jiehun’ (旅游结婚) หมายถึงการแต่งงานผ่านการท่องเที่ยวแทนการจัดงานแต่งงาน
อย่างไรก็ตาม แม้คนกลุ่มหนึ่งจะเลือกไม่แต่งงานและถือตัวเป็นโสด แต่คนส่วนใหญ่ที่ยังรู้สึกว่าเราต้องดิ้นรนเพื่อมีคู่ เพราะธรรมเนียมจีนมีความคาดหวังให้คนหนุ่มสาวได้แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี หากผู้หญิงหรือผู้ชายยังไม่มีแฟน มักจะถูกมองว่าเป็น ‘ของเหลือ’ ซึ่งในที่นี้หมายถึงยังหาคู่ชีวิตไม่ได้ แต่คำว่าของเหลือในปัจจุบันเอนเอียงไปทางผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวที่เคยบังคับใช้เพื่อควบคุมจำนวนประชากรจีน ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างเพศ โดยประชากรชายมีจำนวนสูงกว่าประชากรหญิงมากส่งผลให้ทุกวันนี้จีนมีประชากรเพศชายที่ยังโสดและไม่แต่งงานจำนวนหลายล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีชายมากกว่า 30 ล้านคนที่ยังไม่ได้แต่งงานและอยู่ในช่วงวัยมองหาคู่ชีวิต
พ่อสื่อแม่ชัก
วัฒนธรรมจีนกับการให้ความสำคัญครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ มีหรือที่ลูกหาคู่ไม่ได้ พ่อแม่จะนิ่งเฉย – ไม่มีทาง! จากความกังวลว่าลูกๆ จะไม่ได้แต่งงานและกลายเป็นของเหลือ บรรดาพ่อแม่หลายคนจึงออกโรง พยายามที่จะหาคู่ครองที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้แก่ลูกสาวและลูกชายของตนเองด้วยการ ‘ไปตลาดนัดหาคู่’นับตั้งแต่ปี 2004 ทุกๆ เสาร์-อาทิตย์บริเวณสวนสาธารณะกลางเซี่ยงไฮ้อย่าง ‘People’s Square’ จะมีพ่อแม่ ผู้ปกครองนำรูปถ่าย พร้อมป้ายบอกคุณสมบัติของลูกและคุณสมบัติคู่ครองที่ต้องการมาแขวนไว้ หากใครสนใจก็สามารถเข้าไปพูดคุยหารือถึงคุณสมบัติต่างๆ เพื่อนัดดูตัวได้นอกจากนี้ในปักกิ่ง ‘Zhongshan Park’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระราชวังต้องห้าม ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่บรรดาพ่อแม่มาชุมนุมกันเพื่อประกาศหาคู่ครองให้ลูกของตน และตามเมืองใหญ่ๆ อย่างซีอาน หางโจว อันซัน ก็มีตลาดหาคู่ในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่เหมือนกันในตลาดหาคู่ที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง คือ การประกาศคุณสมบัติที่ผู้ปกครองคาดหวังสำหรับลูกเขย โดยจะต้องเป็นคนที่มีบ้านหรือมีอพาร์ตเมนต์อยู่ใจกลางเมืองนั้นๆ รวมไปถึงมีรถยนต์ มีระดับการศึกษาที่ต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย และเงินเดือนที่ได้รับต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 หยวน หรือประมาณ 215,000 บาทต่อเดือนขณะเดียวกัน ผู้ปกครองที่ต้องการหาลูกสะใภ้ต่างต้องการหาผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพที่ดี มีงานทำที่มั่นคง และเป็นคนที่เติบโตมาในปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ แต่ถึงแม้ว่าตลาดหาคู่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ที่ต้องการหาคู่ครองให้แก่ลูกชายและลูกสาวของตนเองเป็นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่ลูกหลานของพวกเขานั้นไม่ได้รับรู้การกระทำเหล่านี้
หลีกหนีการดูตัว วิ่งหาเธอในออนไลน์
ปัญหาการไม่มีคู่ของหนุ่มสาวชาวจีน ส่วนหนึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างค่านิยมทางสังคมแบบเก่าและใหม่ เพราะการหาคู่แบบดูตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เคยมีมานั้นไม่สามารถใช้ได้จริงกับพวกเขา วัฒนธรรมการดูตัวในปัจจุบันจึงกำลังถูกทดแทนด้วยโลกออนไลน์ที่เปิดพรมแดนให้ผู้คนได้พบปะกันมากขึ้น โดยไม่ต้องรอดูตัวกับคนที่พ่อแม่ไปสรรหามาให้ ทั้งยังทำให้คนโสดรู้สึกว่า ‘ตัวเองมีตัวเลือกที่มากขึ้น’ ผลการสำรวจโดย China Youth Daily พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 1,972 คน ร้อยละ 78.8 เคยใช้เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดียเพื่อหาคู่ และมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจบริการหาคู่ที่สามารถแนะนำฝ่ายตรงข้ามที่เหมาะสมให้ได้ตามเงื่อนไขของพวกเขา และร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขามีเพื่อนที่พบคู่ครองผ่านบริการหาคู่ออนไลน์
นอกจากนี้ การหาคู่ออนไลน์ยังช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจเมื่อต้องสื่อสารกับเพศตรงข้าม ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตคู่คนหนึ่งจากมณฑลเจ้อเจียง ระบุว่าคนรุ่นใหม่โดยทั่วไปมักจะเข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง พวกเขาจึงพึ่งพาบริการหาคู่ออนไลน์ “แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะแน่ใจได้ว่าข้อมูลบนบริการหาคู่ออนไลน์นั้นเชื่อถือได้ และคนโสดหนุ่มสาวก็ควรระวังเรื่องการหลอกแต่งงานไว้ด้วย” เธอกล่าวอย่างไรก็ตาม ตลาดหาคู่ออนไลน์ในจีนปี 2019 มีมูลค่าสูงถึง 204 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีจำนวนผู้ใช้งาน 62.4 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแอปพลิเคชันหาคู่ที่ได้รับความนิยมมากในจีนก็คือ ‘Momo’ มีผู้ใช้งานถึง 113 ล้านราย และมีผู้ใช้งานรายเดือน 94.4 ล้านคน หรือมากกว่า 30 เท่าของ Tinder โดยมีฟังก์ชันให้สามารถค้นหาเพื่อนใหม่ในบริเวณที่ยืนอยู่ได้ตามความสนใจ กิจกรรม และงานอดิเรกที่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์สำหรับ Live Stream ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นและเน็ตไอดอล อีกแอปฯ ที่ความนิยมไล่เลี่ยกันและถูก Momo เข้าซื้อกิจการไปแล้วเรียบร้อยเมื่อปี 2018 ก็คือ ‘Tantan’ แอปฯ หน้าตาและฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกับ Tinder ของฝั่งอเมริกา โดยมีผู้ใช้ทั่วโลกถึง 230 ล้านราย ไม่เพียงแค่การใช้แอปฯ หาคู่เท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่เทรนด์หนึ่งที่กำลังมาในหมู่สาวจีนคือการใช้เงินซื้อ ‘แฟนเสมือนจริง’ โดยจะมีผู้ชายทำหน้าที่เป็นแฟนหนุ่มคอยดูแลเทคแคร์ผู้ใช้บริการผ่านช่องทางแชต โทรศัพท์ หรือสนทนาทางวิดีโอ ซึ่งราคาค่าบริการเริ่มต้นตั้งแต่ 10 บาทสำหรับการแชตผ่านข้อความเป็นเวลา 30 นาที ไปจนถึง 8,600-13,000 บาทสำหรับการเหมาจ่ายเพื่อเป็นเพื่อนคุยทางโทรศัพท์ตลอดทั้งเดือน แต่ไม่มีเรื่องเซ็กซ์เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
หนุ่มจีนที่รับอาชีพเป็นแฟนเสมือนจริงหลายคนบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของพวกเขาเป็นสาวโสดในวัย 20-30 ปีที่มีรายได้เหลือใช้ และมักจะโฟกัสไปที่การทำงานโดยไม่มีแผนที่จะรีบแต่งงานหรือสร้างครอบครัว ส่วนการเข้ามาหาพวกเขานั้น แต่ละคนต่างก็มีความต้องการแตกต่างกัน บางคนต้องการเพียงคำแนะนำฉันเพื่อน ในขณะที่คนอื่นๆ อยากได้ความโรแมนติกด้วยอย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการหาคู่ออนไลน์หนุ่มสาวชาวจีน รวมถึงการจ้างแฟนเสมือนจริงดูจะเป็นการมองหาความสัมพันธ์ที่ไม่จริงจังเสียมากกว่าการมองหาคู่ชีวิต เพราะค่านิยมการแต่งงานของคนจีนในปัจจุบันค่อนข้างมีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติเยอะพอสมควร
สินสอดน้อง พี่สู้ไม่ไหว
ทุกวันนี้ประเทศจีนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นจากสมัยก่อน หรือบางคนกลายเป็นเศรษฐีใหม่ที่ใช้ชีวิตได้อย่างอู้ฟู่เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น สิ่งที่เราคาดหวังจากคู่ชีวิตจึงไม่ใช่การกัดก้อนเกลือกินไปด้วยกัน แต่คู่ชีวิตจะต้องพร้อมทุกอย่างทั้งหน้าที่การงานและทรัพย์สิน ยิ่งหากเป็นฝ่ายหญิงด้วยแล้วตามจารีตประเพณีสังคมจีนยึดมั่นว่า ‘สามีต้องมีสถานภาพทางสังคมเหนือกว่าภรรยา’
“ชาวจีนยังยึดติดกับความคิดเก่าที่ว่า ในความสัมพันธ์ใดๆ ผู้ชายต้องสูงกว่าในทุกด้าน รวมทั้งส่วนสูงของร่างกาย อายุ การศึกษา และรายได้ ความเชื่อนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ผู้ชายเกรดเอต้องแต่งงานกับผู้หญิงเกรดบี, ผู้ชายเกรดบีต้องแต่งงานกับผู้หญิงเกรดซี และผู้ชายเกรดซีต้องแต่งงานกับผู้หญิงเกรดดี และมีเพียงผู้หญิงเกรดเอและผู้ชายเกรดดีเท่านั้นที่หาคู่ไม่ได้” หนี หลิน ผู้จัดรายการโทรทัศน์จัดหาคู่ที่ได้รับความนิยมในเซี่ยงไฮ้กล่าว
ซึ่งคำกล่าวของเธอนั้นเป็นเหตุผลที่มาอธิบายว่าทำไมคนโสดในจีนที่เหลืออยู่ถึงไม่คู่กันเอง เพราะผู้ชายที่เหลือส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในเมืองระดับรอง ฐานะการเงินไม่อู้ฟู่นัก ขณะที่ผู้หญิงที่เหลือนั้น เป็นผู้หญิงหน้าที่การงานดี มีเงินกระเป๋าหนัก อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จึงหมายถึงผู้ชายเกรดดีและผู้หญิงเกรดเอที่ต่างกันเกินไป หรือ ดอกฟ้ากับหมาวัดนอกจากนี้ความคาดหวังที่สูงของฝ่ายหญิง ซึ่งถือไพ่เหนือกว่าในการเป็นประชากรจำนวนน้อย ทำให้การมอบสินสอดแก่ครอบครัวเจ้าสาวอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานหลายศตวรรษของจีน กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าว เพราะเงินค่าสินสอดพุ่งสูงต่อเนื่อง แม้กระทั่งในหมู่บ้านเล็กๆ ตามชนบทก็ยังสูงถึงหลักล้าน
The Washington Post รายงานว่าหมู่บ้านต่านหลิว ของมณฑลหูเป่ย มีค่าสินสอดเฉลี่ยอยู่ที่ 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็น 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อปีของคนในหมู่บ้านนี้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของต่านหลิว และอีกหลายหมู่บ้านที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน จึงออกกฎข้อบังคับใหม่ จำกัดค่าสินสอดให้ไม่เกิน 95,000 บาท หากเกินกว่านี้จะถือว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ฝั่งเมืองไถเฉียน มณฑลเหอหนาน ทางการก็พยายามช่วยให้คนที่อยากแต่งงานตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยการออก คู่มืองานแต่งงานแนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรเรียกสินสอดเกิน 60,000 หยวน หรือ 310,000 บาท และการจัดงานแต่งก็ไม่ควรหรูหราฟู่ฟ่าเกินไป โดยไม่ควรมีโต๊ะจีนเกิน 10 โต๊ะ และขบวนแห่ในงานแต่งงานก็ไม่ควรมีรถเกิน 6 คัน ถึงอย่างนั้นมาตรการบังคับใช้ดังกล่าวก็ไม่ได้จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในทันที อาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรืออาจเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าการจัดงานแต่งงานและให้สินสอดเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรขึ้นอยู่กับความสมัครใจของครอบครัวบ่าวสาว ไม่ใช่เรื่องที่รัฐต้องเข้ามาสอดแทรก
ส่วนในเมืองใหญ่นั้นต้นทุนในการแต่งงานสูงกว่าคนในชนบทเป็นเท่าตัว เรียกว่าหากครอบครัวไม่รวยจริงอาจจะต้องยอมจำนนต่อความโสด เพราะข้อมูลจากปี 2016 เผยว่าในเมืองเซี่ยงไฮ้ใช้ต้นทุนประมาณ 3,225,000 หยวน (13.9 ล้านบาท) ในขณะที่ผู้ชายปักกิ่งจะต้องใช้เงิน 3,172,000 หยวน (13.6 ล้านบาท) และผู้ชายเมืองเซินเจิ้นต้องใช้เงิน 2,988,000 หยวน (12.9 ล้านบาท) โดยต้นทุนทั้งหมดนี้คำนวณจากมูลค่าของบ้านหรือคอนโดมิเนียมขนาดเนื้อที่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร ค่าตกแต่ง ค่ารถ ค่าจัดงานแต่งงาน 25 โต๊ะ ค่าฮันนีมูน แค่สำหรับสเปกผู้ชายที่สาวจีนจะสนใจนั้นก็ไม่ง่าย เพราะนอกจากต้องมีคุณสมบัติที่สูงกว่าตัวเองทุกอย่าง คือ หน้าตาดี มีฐานะทางการเงินที่มากกว่าตัวเอง มีบ้าน มีรถ มีระดับการศึกษาสูง รวมถึงมีความสามารถที่จะจัดการเรื่องต่างๆ ในสังคมได้แล้ว บางครั้งภูมิหลังครอบครัวพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วย ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามนี้ ชายนั้นถือว่าเป็นคนที่น่าสนใจ 100% แต่ถ้ามีไม่ครบ อย่างน้อยตอนแต่งงานต้องมีบ้านและรถยนต์สักคันในเมืองใหญ่ และหากผู้ชายไม่สามารถออกเงินซื้อเรือนหอให้ได้ ความรักครั้งนั้นก็อาจจะล้มเหลว
ในรายการหาคู่ชื่อว่า ‘เฟยเฉิงอู้ร่าว’ แปลว่า ถ้าไม่มีความจริงใจ ก็อย่ามายุ่งกับฉัน ของสถานีโทรทัศน์สตาร์ทีวีของมณฑลเจียงซู มีครั้งหนึ่งในรายการผู้ชายที่เป็นคนงานธรรมดาขอหมั้นกับสาวที่เขาหลงรัก แต่หญิงสาวกลับตอบเขาไปว่า “ฉันยอมร้องไห้บนรถ BMW แต่ก็ไม่อยากหัวเราะบนจักรยานของคุณ”ฟังดูแล้วเหมือนผู้หญิงจีนนั้นจะมีสิทธิเลือกได้เสียเหลือเกิน แต่ใช่ว่าพวกเธอจะนั่งรอฝ่ายชายมาขออย่างเดียวได้ เพราะหากเธอต้องการสามีที่มีฐานะทางการเงินสูง พวกเธอก็ต้องยอมลงทุนเหมือนกัน ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาวบางคนยอมจ่ายเงิน 3,100 หยวนไปเข้าชั้นฝึกอบรมพิเศษเพื่อเรียนวิธีที่จะหาคนรวยมาเป็นคู่ หรือในสโมสรนักธุรกิจโสด ก็จะมีสาวสวยกลุ่มหนึ่งแต่งกายครบเครื่องนั่งเรียงเป็นแถว ในมือถือแบบฟอร์มจดข้อมูลด้านน้ำหนักและสัดส่วนร่างกาย เหมือนมาร่วมการประกวดนางงาม แต่แท้จริงแล้ว สาวๆ เหล่านี้คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครจำนวนกว่า 1,000 คน ในการร่วมประกวดขั้นตอนต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสแต่งงานกับนักธุรกิจชายที่มีสินทรัพย์กว่า 100 ล้านหยวนเกณฑ์ในการประกวดนั้นมีตั้งแต่ต้องมีอายุระหว่าง 20-28 ปี ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165 เซนติเมตร หน้าตาสะสวย มีบุคลิกดี อย่างน้อยต้องจบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ฐานะครอบครัวต้องอยู่ในเกณฑ์ดี กระทั่งดูดวงด้วยว่าสมพงศ์กันหรือไม่ นอกจากนั้นฝ่ายจัดงานยังจะทำการสำรวจอย่างเจาะลึกเป็นเวลา 2 เดือน อาทิ เข้าไปในบ้านของผู้สมัครเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้สมัคร เป็นต้น โดยรอบสุดท้ายจะคัดผู้โชคดีเพียง 50 คนเท่านั้นที่ได้ที่นั่งไปเดทกับหนุ่มนักธุรกิจสุดรวย
จากการไร้คู่ สู่การค้ามนุษย์
เมื่อหนุ่มโสดในจีนมีจำนวนเยอะมากกว่าจำนวนสาวโสด แถมค่าสินสอดของพวกเธอยังสูงลิ่ว ชายจีนจำนวนมากที่ไม่มีกำลังพอจะไปสู่ขอ จึงมองหาผู้หญิงจากต่างประเทศมาแต่งงานแทน โดยไม่ใช่การสานสัมพันธ์รักโรแมนติก แต่เป็นการ ‘สั่งซื้อ’ ในลักษณะค้ามนุษย์ระยะแรกผู้หญิงที่ถูกขายไปเป็นเจ้าสาวมักจะมาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเริ่มมีเด็กสาวจากปากีสถานถูกครอบครัวขายให้มาแต่งงานกับชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เราใช้คำว่าเด็กสาวนั้น เป็นเพราะว่าเจ้าสาวบางคนอายุเพียงแค่ 13 ปีเท่านั้น
เด็กสาวที่ถูกส่งมาแต่งงานเหล่านี้ล้วนมาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์ในเมืองกุชรันวาลา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศที่ยากจน มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองและสังคมไม่เทียบเท่าคนนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ตามธรรมเนียมของปากีสถาน พ่อแม่จะเป็นคนเลือกคู่ครองให้ลูกสาว และครอบครัวเจ้าสาวต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าบ่าวด้วย เมื่อฐานะยากจน การแต่งงานกับคนในประเทศเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก
ขบวนการค้ามนุษย์จึงเข้ามาในรูปแบบนายหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อเจรจายื่นข้อเสนอให้กับครอบครัวเด็กสาวว่าฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแต่งงานทั้งหมด รวมถึงจะมอบสินสอดให้เป็นเงินประมาณ 3,500-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในบางครั้งบาทหลวงก็เข้าร่วมกับขบวนการค้ามนุษย์ด้วยการหลอกครอบครัวฝ่ายหญิงว่าเจ้าบ่าวนั้นร่ำรวย การที่ส่งลูกสาวไปแต่งงานถือเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงยินดี เพราะชายจีนเหล่านี้ได้เข้ารีตเป็นชาวคริสต์ และกำลังช่วยเด็กผู้หญิงชาวคริสต์ให้พ้นจากความยากจน
แต่ในความเป็นจริงนั้นตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างโดยสิ้นเชิง Muqadas Ashraf เป็นหนึ่งในเด็กสาวที่ถูกส่งไปแต่งงานตอนอายุ 16 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่า สามีของเธอบอกไว้ในตอนแรกว่าเขาร่ำรวย แต่พอไปถึงที่ประเทศจีนจริงๆ เธอกลับต้องไปอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กับห้องนอนขนาดคนเดียวอาศัย แถมสามีก็ไม่ค่อยยอมให้เธอออกไปไหนมาไหนเอง มิหนำซ้ำยังบังคับให้เธอเข้ารับการตรวจทางการแพทย์หลายครั้งเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมเธอยังไม่ท้องสักที Muqadas ยังเล่าอีกว่าเธอเคยขอให้สามีพาไปโบสถ์ในวันคริสต์มาสอีฟ แต่กลับโดนตบและทำลายโทรศัพท์มือถือทิ้ง สุดท้ายสามีของเธอก็ยอมส่งเธอกลับมาที่ปากีสถานหลังจากที่ครอบครัวของ Muqadas บอกว่าจะแจ้งความ เธอจึงได้กลับบ้านในขณะที่ตั้งท้อง 5 เดือน และตอนนี้ก็กำลังหาทางหย่าขาดจากสามี ส่วน Mahek สาววัย 19 ปีก็เป็นอีกคนที่ถูกส่งไปแต่งงาน กับชายชาวจีน เธอเล่าว่าสามีของเธอทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและไม่ยอมให้เธอออกจากบ้านไปไหนมาไหน จนกระทั่งครอบครัวของเธอขอความช่วยเหลือจากตำรวจให้พาเธอกลับปากีสถาน ตำรวจจึงบุกไปที่บ้านฝ่ายชายและบอกว่าได้รับแจ้งถึงเรื่องกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้หญิงภายในบ้านแม้ Muqadas และ Mahek จะสามารถกลับมาบ้านได้
แต่ก็ยังมีเด็กสาวปากีสถานตกเป็นเหยื่อจากการถูกขายไปแต่งงานที่จีนมากถึง 750-1,000 คน โดยไม่รู้ว่าชะตากรรมพวกเธอเป็นอย่างไรดูเหมือนว่าปัญหาการแต่งงานไม่ได้ เพราะเงื่อนไขฝ่ายหญิงเยอะเกินจนนำมาสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ น่าจะแก้ได้ยากพอสมควร เพราะความไม่สมดุลระหว่างประชากรชายและหญิงในประเทศจีนต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีถึงจะกลับมาเป็นปกติ แต่ ณ ตอนนี้ ‘การแต่งงานในจีน’ กำลังเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มจะลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
https://www.bangkokbiznews.com/news /detail/858136
https://mgronline.com/china/detail/9560000101956
https://lib.dr.iastate.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=4758&context=etd
https://mgronline.com/china/detail/9560000101956
https://www.dek-d.com/studyabroad/52675/
https://www.thebangkokinsight.com/23647/
https://www.xinhuathai.com/life-cul/หนุ่มสาวชาวจีนเกือบ-80-เค_20190922 https://apnews.com/87aad5d8b8f648949b9bbc8a2b35ebf2
https://www.bbc.com/thai/international-41636199
https://www.bbc.com/thai/international-45221360
https://www.bbc.com/thai/45625045
http://thai.cri.cn/247/2012/09/18/225s202308.htm
http://www.voicetv.co.th/read/B1mq6dZvM
https://www.statista.com/outlook/372 /117/online-dating/china
https://www.voicetv.co.th/read/449094
https://www.ft.com/content/52eb2094-187e-11e8-9376-4a6390addb44
http://www.voicetv.co.th/read/TWCPZrP6r