ย้อนรำลึก…เส้นทางศาสตร์แห่งพระราชา ตามรอยสตรอว์เบอร์รีจากดอยสู่เมือง
เรื่อง: กบูร
13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ว่า “วันนวมินทรมหาราช”
ซึ่งนับจากวันที่13ตุลาคม 2559 ถึงวันนี้ 13 ตุลาคม 2567 นับเป็นปีที่ 8 แห่งการเสด็จสู่สวรรคาลัย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ถึงหลักการทรงงานและพระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์
ผู้เขียนขอนำบทความที่เคยเขียนลงสื่อในเครือของ GM มานำเสนออีกครั้ง เนื่องจากผู้เขียนเคยได้รับเชิญจาก บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ขึ้นไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รีของเกษตรกร พร้อมฟังเรื่องราว และความมาของ ดอยคำ ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่เริ่มแรก จนปัจจุบันนี้ ดอยคำ ได้นำเนินการงานต่อเนื่องมาถึง 30 ปีแล้ว
ซึ่งนั้นแสดงให้เห็นถึงหลักการทรงงานและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ที่กลายมาเป็นเทรนด์ของโลกในขณะนี้
เส้นทางศาสตร์แห่งพระราชา ตามรอยสตรอว์เบอร์รีจากดอยสู่เมือง
ภาพความร่มรืื่นสวยงามของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรากฎตรงหน้า ทำให้ลืมตัวไปชั่วขณะ เพราะนึกว่ากำลังมาเยี่ยมชมรีสอร์ทสวยท่ามกลางธรรมชาติงดงามทางภาคเหนือที่แสนเพลินตา สุขใจ จนต้องเอ่ยถามว่า ” ที่นี่เป็นโรงงานจริงๆ หรือ”
ย้อนกลับไปเมื่อเมื่อประมาณปี พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขา ทางภาคเหนือ ทรงทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ป่าไม้บนภูเขาถูกทำลาย ส่งผลให้แหล่งน้ำลำธารเสียสมดุลตามธรรมชาติ จากการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ก็ลำบาก
จึงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือราษฎร โดยทรงวางรากฐานอาชีพ และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรงแนะนำส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกพืชผลด้านการเกษตรจำพวกผักและผลไม้เมืองหนาว และหนึ่งในผลไม้ทีทรงแนะนำนั้น คือ สตรอว์เบอร์รี ผลไม้เฉพาะฤดูกาล สีแดงๆ ลูกโตๆ หอมหวานฉ่ำและรสชาติดี โดยเฉพาะสายพันธ์ พระราชทาน ๘๐ ที่ได้หล่อเลี้ยงให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้กินดี อยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และเมื่อราษฎรชาวไทยภูเขาเลิกปลูกฝิ่น เลิกทำไร่เลื่อนลอยแล้ว พร้อมหันมาปลูกผัก ทำการเกษรตามที่ทรงแนะนำ จึงทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่การเกษตรเพื่อดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม และได้จัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป
ชื่อของ ดอยคำ จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ปรากฎภาพเด่นชัดในการดูแลจัดการบริหารงาน เพื่อดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรอยศาสตร์แห่งพระราชา ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ครบทั้ง 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
และในปี ๒๕๖๒ ที่ ผ่านมา ดอยคำ ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการปลูกสตรอว์เบอร์รีนอกฤดูโดยการก่อสร้างโรงเรือน เพื่อควบคุมระบบอุณหภูมิ กว่า ๔๐ โรง ในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพในการปลูกสตรอว์เบอร์รี นอกฤดูกาล โดยการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประทานสตรอว์เบอร์รีนอกฤดูกาล ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ตามแนวทาง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ศาสตร์พระราชาเพื่อความสุขที่ยั่งยืน