‘Disaster Alert กับความสำคัญในวันที่ภัยพิบัติถามหา’

เมื่อระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับภัยพิบัติครั้งใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนอย่าง ‘เหตุแผ่นดินไหว’ ที่สัมผัสได้ และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงความตื่นตระหนกตกใจของประชาชน ที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ ถ้าพิจารณาว่า ประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในเขตหรือเหตุที่จะเจอแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับประเทศอื่นเช่น ประเทศญี่ปุ่น
ดังนั้น ‘ระบบเตือนภัยพิบัติ’ จึงได้ถูกยกมากล่าวถึงและให้ความสำคัญอีกครั้ง พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่า ระบบดังกล่าวของประเทศไทย มีความพร้อมใช้งาน และอยู่ในขอบข่ายที่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ระบบเตือนภัยพิบัติของประเทศไทยในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกันสามระบบนั่นคือ
-ระบบ SMS ที่เริ่มใช้งานแล้ว โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ อันได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา
-แอพลิเคชัน Thai Diaster Alert พัฒนาโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
-ระบบ Cell Broadcast Service (CBS) อันเป็นระบบใหม่ ที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงพร้อมกันได้ทันที และอยู่ในระหว่างการพัฒนา
ทั้งนี้ ระบบ CBS ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา อันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น จะแล้วเสร็จในไตรมาสที่สองของปีนี้ สิ่งที่เหลืออยู่ คือระบบ SMS และระบบ Thai Diaster Alert ที่เป็นที่พึ่งของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สองระบบดังกล่าว ได้ถูกตั้งกังขาถึงประสิทธิภาพและความพร้อมในการใช้งาน เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งล่าสุด ที่มีความล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ และกว่าจะถูกส่งไปยังโทรศัพท์ของผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ดูจะสายเกินการ
แม้ว่าภัยพิบัติล่าสุดอย่างแผ่นดินไหว จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์กันได้ล่วงหน้า (รวมถึงภัยพิบัติชนิดอื่นๆ….) แต่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตนหลังเหตุประสบภัย หรือการรายงานสถานการณ์ ณ ขณะปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหลังเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชาชนเต็มไปด้วยความสับสน อลหม่าน และต้องการข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมในการดูแลตนเอง
ล่าสุด หน่วยงานทุกภาคส่วน เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัย ควบคู่ไปกับการดูแลขวัญกำลังใจประชาชน และทำให้ความสำคัญของระบบแจ้งเตือนภัย มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
กล่าวคือ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่เคยประสบพบกับเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวมาก่อน แต่ระบบแจ้งเตือนภัยทั้งสามรูปแบบ มีจุดมุ่งหมายที่จะครอบคลุมในทุกระดับของภัยพิบัติ ไม่ว่าจะอัคคีภัย อุทกภัย หรือภัยที่เกิดจากการก่อการร้าย ดังที่สถานการณ์หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา เรียกร้องความสำคัญของระบบเตือนภัยที่ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น
เช่น ถ้าหากมีแนวโน้มเหตุอุทกภัยใหญ่ ประชาชนในพื้นที่จะขอรับการช่วยเหลือได้จากที่ใด หรือถ้าหากเกิดเหตุกราดยิง อันเป็นภัยพิบัติที่เริ่มมีมาให้เห็นมากขึ้น จะสามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ เพื่อเคลียร์ทางให้เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่ได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ประชาชนสมควรที่จะได้รู้ และรู้ได้อย่างทันท่วงที
เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงในแง่ของการเป็นภัยพิบัติใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ยังรวมถึงโอกาสและสถานการณ์ ที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญกับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ให้มีความพร้อม ทั้งปริมาณ และประสิทธิภาพ เพื่อให้ภัยพิบัติครั้งหน้า ประชาชนได้อุ่นใจ มีข้อมูลที่พร้อมและพอเพียง ให้สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นๆ ไปได้ ด้วยเช่นกัน
