fbpx

แลนสเคปเปลี่ยนคนไทยทุก “เจ็น”พร้อมใช้ “Digital payment”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการจ่ายเงินของคนไทยเปลี่ยนแปลงจาก “เงินสด” เป็น Digital payment อย่างมีนัยสำคัญ  โดยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่บังคับให้เกิดการทำธุรกรรมบนดิจิทัลมาขึ้น บวกกับแรงหนุนของรัฐบาลผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คนละครึ่ง” กลายเป็นแรงขับให้คนไทยชินกับ “เงินดิจิทัล” และอาจเข้าใกล้ “สังคมไร้เงินสด” เร็วกว่าเดิม

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการชำระเงินด้วย Internet & Mobile Banking ที่มีสัดส่วนปริมาณและมูลค่าสูงถึง 96% และ 84% ตามลำดับ โดย Internet & Mobile Banking ยังคงเป็นช่องทาง Digital payment ที่ได้รับความนิยมและเติบโตสูงสุด โดยในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมามีจำนวนบัญชีถึง 136.1 ล้านบัญชีและมีปริมาณการใช้งานสูงถึง 29.4 พันล้านรายการ มูลค่ารวมกว่า 105.3 พันล้านบาท

ขณะที่ “PromptPay” เป็นบริการชำระเงินที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 77.2 ล้านหมายเลข มีการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน 54.5 ล้านรายการ มูลค่า 129.9 พันล้านบาท และมีสถิติการใช้งานต่อวันสูงสุดที่ 75.9 ล้านรายการ

นอกจากนี้ e-Money หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการชำระเงินที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนบัญชี e-Money 116.5 ล้านบัญชี มีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 3,065.6 ล้านรายการมูลค่า 713.4 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ชำระค่าสินค้าและบริการถึง 59% รองลงมาคือการโอนเงิน อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือแม้ว่า “เงินสด” ยังเป็นช่องทางการชำระเงินหลักของคนไทย แต่ปริมาณและมูลค่าการถอนเงินลดลง 12% และ  25% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีสัดส่วนช่องทางการถอนเงินไม่ใช้บัตรเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการด้านการเงินเริ่มพัฒนารูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีไร้แคชเชียร์ (Cashierless Technology) ของ Lotus’s Pack & Go ที่เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2566 โดยใช้โมเดลร้านสะดวกซื้อที่หักเงินค่าสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าจะต้องสแกน QR code จาก TrueMoney Wallet ณ ทางเข้าร้าน เลือกสินค้าบนชั้นวาง และสามารถเดินผ่านทางออกโดยระบบจะหักเงินจาก TrueMoney Wallet อัตโนมัติ สุดท้ายลูกค้าสามารถสแกน QR Code เพื่อกรอกอีเมลรับใบเสร็จากโลตัสได้

และในปี พ.ศ. 2567 นี้ความร้อนแรงของ Digital payment  ยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังจากรัฐบาลเคลื่อนนโยบาย “Digital Wallet” ที่คาดว่าจะมาตามนัดในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นให้ไทยเคลื่อนสู่สังคมไร้เงินสดโดยใช้ e-Money ผ่านแอพลิเคชั่นระลอก 2 หลังผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” มาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินในภาวะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สิ่งที่น่ากังวลคือ ประชาชนจะตามทันสังคมไร้เงินสดนี้ทันหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้  “ภวัต เรืองเดชวรชัย”  ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท มีเดียอินเทล    ลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด  ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่ยุค Digital  Society เต็มตัวเร็วกว่าหลายประเทศแม้แต่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ โดยมีตัวชี้วัด2 มิติคือ 1 การใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยเกิน 80 ใกล้แตะ 90% แล้ว และมิติที่ 2 การซื้อขายออนไลน์บนอี มาร์เก็ตเพลส

“ Adaptation ของคนไทยเร็วมาก จากหลายองค์ประกอบที่เอื้อให้คนไทยเกือบ 100% ใช้อินเตอร์เน็ตได้ในทักษะที่ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะแก่แค่ไหนหรือติดเตียงแค่ไหนก็ใช้อินเตอร์เน็ตในบริบทของตัวเอง หรือเด็กแค่ไหนถ้าไม่ถูกจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากพ่อแม่ก็ใช้อินเตอร์เน็ตในมุมของตัวเอง

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น Digital payment หรือDigital Walletคนไทยมีความพร้อมทั้งในมุมของร้านค้าและคนใช้  เพราะผ่าน “คนละครึ่ง” มาแล้วจึงง่ายแม้ว่าจะเป็น Application ใหม่ก็ตามดังนั้นเรื่องของอายุจึงไม่มีนัยยะ”

และแน่นอนว่าประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดังนั้น  Digital payment จึงไม่เพียงรองรับการใช้งานสำหรับประชากรไทยเท่านั้น แต่ขยายขอบเขตไปยังการชำระเงินผ่าน QR ระหว่างประเทศในการจ่ายค่าสินค้าและบริการจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ทำให้เกิดความสะดวกในการท่องเที่ยวและใช้จ่าย นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องแลกเงินหรือพกเงินสดจำนวนมาก สามารถโมบายแบงกิ้งของประเทศตนเองสแกน QR จ่ายเงินได้ โดยร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าและบริการเป็นเงินบาทตามราคาของสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตามแม้ว่า คนไทยจะเปิดรับ Digital payment และ Electronic Money  ที่จับต้องไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ในมุมของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกลับยังไม่เติบโตมากนัก ซึ่ง จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป    โฮลดิ้งส์ จำกัด มองว่าการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามยุคสมัยต่าง ๆ ไม่มีทางที่จะใช้กลยุทธ์เดิมที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งมาใช้กับทุกช่วงเวลาได้  ในยุคที่ใช้ทองในการแลกเปลี่ยน ผู้คนก็จะจินตนาการไม่เห็นภาพว่าเงินกระดาษจะมีมูลค่าได้อย่างไร เหมือนกับในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังมองภาพไม่ได้ว่าเงินจะเป็นดิจิทัลได้อย่างไรเช่นกัน

ขณะที่ วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” เหมือนจะมีคุณค่าแต่ก็จับต้องไม่ได้ ทำให้ยังมีความลังเล เพราะต้องเป็น  Generation ที่มีกำลังซื้อในปัจจุบันเติบโตมากับ Tangible assets  

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะมีอนาคตในระยะยาว เมื่อเด็กGeneration ใหม่ เช่น Gen Z หรือ Alpha ซึ่งเติบโตมาในยุคของดิจิตอลขับเคลื่อนทุกอย่างเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ดังนั้นช่วงระยะเวลานี้จึงเป็นเวลาสำหรับบ่มเพาะสินทรัพย์เหล่านี้ให้เติบโต 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ