เรา…..แต่ละคนมีสิ่งที่ “ชอบ” และ “ใช่” ที่ต่างกัน
- เรื่อง: ดร. วิชยุตม์ ทัพวงษ์
- ตีพิมพ์ใน GM Magazine ฉบับที่ 510 เดือนมกราคม 2565
ระหว่างที่ผมนั่งทำงาน มีพี่ที่นับถือกัน เดินมาถามว่า..
“คุณคะ พี่จอยสอบถามหน่อยว่า ตอนนี้ ลูกชายอยากเข้าเรียน ม 4. ที่โรงเรียนที่คุณเคยเรียนมา โรงเรียนนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ ? ”
ผมถึงกับหยุดสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนั้น แล้วหันไปมองพี่จอย ผู้ที่ถามคำถามนี้ ก็พบกับแววตาที่รอคำตอบอย่างใจจดใจจ่ออยู่ เลยตอบกลับไปว่า
“โรงเรียนก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลานะครับ ถ้าลูกของพี่มองว่าตอนนี้ ที่โรงเรียนยังน่าสนใจ ก็แสดงว่าเขาสนใจ จริง ๆ ก็สนับสนุนให้เขาเรียนไปเถอะครับ อาจไกลบ้านของพี่่ แต่ถ้าเขาต้องการที่จะเรียนทีนี่ ผมเชื่อว่าลูกของพี่จะทำได้ดีนะครับ”
เมื่อได้คำตอบจากผมพี่จอยก็พูดขึ้นว่า “จริงๆ นะคะ ตัวพี่เองก็ยังไม่ค่อยรู้เลยว่า ลูกของพี่นั้นชอบอะไรๆ พี่จะได้สนับสนุนเขาถูก”
ครับ…..นั่นคือบทสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น วัยกำลังศึกษา ซึ่งส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมคนที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะเมื่อได้ทำแล้วจะส่งเสริมให้เกิดความเพียร ความพยายาม ความมุ่งมั่นโดบมีเป้าหมายคือความสำเร็จ เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีของชีวิตต่อไป
แต่นี่ไม่ใช่บทสรุปของการสนทนาระหว่างผมกับพี่จอยนะครับ เพราะผมเองมีความคุ้นเคยกับลูกของพี่จอยพอสมควรเพราะเห็นมาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กน้อย จึงทำให้พอจะสังเกตเห็นบ้างอย่างในตัวของน้อง ทำให้พอจะมองเห็นว่าเขามีความชอบที่น่าสนใจอยู่อีกเรื่องหนึ่ง ผมเลยต่อบทสนทนานี่ด้วยการถามกลับไปว่า
“ถ้าอย่างนั้นแล้ว พี่ไม่ลองนั่งคุยและถามลูกดูล่ะครับว่าจริงๆ แล้ว ลูกอยากเรียนอะไรต่อในระดับมหาวิทยาลัย แม่จะได้สนับสนุนได้ถูก และพี่ควรถามลูกด้วยว่าอยากเห็นตัวเองทำงานสายอาชีพไหนในอนาคตด้วยนะครับ”
พี่จอยดูมีทีท่ารับฟังอย่างสนใจ…ผมเลยพุ่งเป้าเข้าตรงประเด็นถึงสิ่งที่ผมเห็นในตัวลูกชายของพี่จอยว่า
“พี่ครับ ผมเห็นลูกพี่มาตั้งแต่เด็ก แอบสังเกตว่าเขาน่าจะมีลักษณะชอบเพศเดียวกัน พี่เคยได้เปิดอกคุยกับลูกบ้างหรือเปล่าครับ” (ถามไปแล้วก็แอบคิดในใจว่า กรูนี่ช่างกล้าถามแบบไม่กลัวพี่เขาจะโกรธเลย)
พี่จอยมีทีท่าประหลาดใจ และไม่ได้โกรธอย่างที่แอบกังกล แต่ตอบกลับมาว่า
“พี่เองก็สังเกตเห็นอยู่นะคะ แต่ไม่กล้าที่จะคุยกับลูก ที่สำคัญพ่อเขาต้องรับไม่ได้อย่างแน่นอน”
พอได้ฟังแบบนี้ ผมเองรู้สึกดีใจว่าอย่างน้อยพี่จอยก็ใส่ใจลูกชาย และดูมีทีท่าเปิดใจคุยกับผมเรื่องนี้ และเพื่อไม่ให้เกิดเดดแอร์ (Dead Air) ระหว่างบทสนทนา ผมจึงยิงคำถามต่อทันทีว่า
ผม : ถ้าอย่างนั้นโดยปกติแล้ว หากมีคนหนึ่งชอบสีแดง และอีกคนหนึ่งชอบสีดำ พี่จอยคิดว่าเขาผิดปกติ และเขาควรจะต้องทะเลาะกัน ไหมคะ?
พี่จอย : ไม่น่าจะต้องทะเลาะกันนะคะ ก็แค่ชอบกันไปคนละสี
ผม : ใช่เลยครับ เรื่องค่วามชอบคนละอย่าง เป็นรสนิยมน่ะครับพี่ ไม่ใช่อาชญากรรม ต่างคนต่างไม่ได้กระทำความผิด ก็แค่มีความชอบไปคนละแบบ จริงไหมครับ พี่จอยมีท่าทางคล้อยตามผม ผมเลยกล่าวต่อไปว่า
“เรื่องรสนิยมทางเพศ ก็ไม่ต่างอะไรกับรสนิยมในการใช้ชีวิตอื่น เช่น ชอบท่องเที่ยว ชอบดนตรี ชอบอ่านหนังสือ หรือเกมส์ออนไลน์ จริงไหมครับ”
พี่จอย : ถ้าอย่างนั้นแล้ว พี่ควรทำอย่างไรล่ะคะ พี่ไม่เคยคุยกับลูกเรื่องนี้เลย กลัวตัวเอง กลัวลูกจะไม่เข้าใจพี่
ดูแล้วพี่จอยมีท่าทีอยากได้คำแนะนำบางอย่างจากผม ผมเองก็นั่งนึกอยู่สักครู่เพื่อเรียบเรียงคำแนะนำที่เหมาะสม ก่อนที่จะตอบกลับไปว่า
“พี่ครับ ผมว่าพี่อาจกลัวคำตอบมากกว่ากลัวการนั่งคุยกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาเดากันง่ายๆ เลยครับ ผมคิดว่าหากพี่ถามลูกแล้วก็มีอยู่แค่สองคำตอบ คือ ไม่ใช่ ลูกชอบเพศตรงข้าม หรือ อีกคำตอบใช่ ลูกมีความรู้สึกชอบเพศเดียวกันก็แค่นั้นจริงไหมครับ ซึ่งไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังเป็นลูกของ เป็นเด็กดีและตั้งใจเรียนถูกไหมครับ และพี่มั่นใจตัวลูกของพี่ถึงที่เป็นคนมีความรับผิดชอบไหมล่ะครับ” ผมยิงคำถามไปเป็นชุด และที่สังเกตเห็นจนผมประหลาดใจ คือ พี่จอยหากระดาษมาจดประเด็นต่างๆ ด้วย และเธอก็ตอบกลับมาว่า
“พี่จอยจะไปคุยเรื่องนี้กับลูก พี่รู้สึกว่า ดีนะ ที่จะได้ปลดล็อคความรู้สึกของพี่เอง และอาจทำให้ลูกรู้สึกปลดล็อคความรู้สึกตัวเองด้วยไป” ผมยิ้มพร้อมให้บอกไปว่าจะค่อยให้กำลังใจทั้งพี่จอยและลูกชาย และรอฟังเรื่องราวจากทั้งคู่
…….
หลังจากนั้นผ่านไปสักระยะหนึ่ง พี่จอยก็มาคุยกับผม ซึ่งผมแอบสังเกตแววตาแห่งความยินดีอยู่ในนั้น
พี่จอย : คุณคะ พี่ไปคุยกับลูกมาแล้ว ทั้งเรื่องโรงเรียนที่ลูกอยากเรียนต่อ พี่บอกเขาว่า โรงเรียนนั้นดูโอเคอยู่ และ แม่ดีใจที่ลูกมีความมุ่งมั่นอยากเข้าเรียนที่นั่น ต้องการให้แม่สนับสนุนอะไรก็บอกเลยนะ ลูกดูมีความสุขขึ้นมากเลยค่ะ .. แล้วพี่จอยก็อัพเดทต่อเนื่องเลยว่า
“เรื่องที่พี่ดีใจมากกว่า คือเรื่องที่พี่บอกกับเขาว่า แม่สังเกตลูกอยู่ และขอถามลูกอย่างจริงจังหน่อยว่า ตกลงแล้วลูกมีความชอบแบบเพศเดียวกันหรือเปล่า” แต่ก่อนที่จะให้ลูกตอบ พี่ก็บอกลูกไปด้วยนะคะว่า “ไม่ว่าคำตอบของลูกออกจะเป็นอะไร ลูกก็ยังเป็นลูกที่น่ารักของแม่เสมอ และแม่ก็เข้าใจ ว่าเรื่องความชอบแบบนี้ เป็นเรื่องความชอบส่วนตัว เป็นรสนิยมแบบหนึ่ง แม่เข้าใจ” สักพักลูกพี่ก็ค่อย ๆ ตอบมาว่า “ขอบคุณแม่มากๆ ที่ใจดี และเข้าใจ เขาก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกันว่าทำไมถึงรู้สึกชอบเพศเดียวกัน แต่ก็ดีใจมากกว่า ที่แม่เข้าใจแล้วมาถามกับเขาตรง ๆ”
ผมแอบดีใจในสิ่งที่พี่จอยเล่ามาพร้อมถามกลับไปว่า
ผม : แล้วหลังจากนั้น เป็นอย่างไรกันบ้างครับพี่
พี่จอย : ลูกพี่กระโดดมากอด และร้องไห้ใส่พี่ใหญ่เลยด้วยความดีใจ โล่งใจ และรู้สึกว่าแม่ที่เขารัก พร้อมที่จะสนับสนุนเขาเสมอ ลูกพี่ยังบอกอีกด้วยว่า เขาเริ่มทำรายการดีเจออนไลน์ เปิดเพลงให้คนฟังออนไลน์ และก็มีแฟนคลับติดตามฟังเขาอยู่มากมายอีกด้วย พี่ก็แค่บอกว่า ดีแล้ว และก็ขอให้มุ่งมั่นในการเรียนที่จะเป็นส่วนที่ทำให้เขาสำเร็จในอนาคตด้วยนะ เขารีบตอบพี่เลยว่า “เขาจะไม่ทำให้พี่ผิดหวัง” พี่จอยกล่าวออกมาอย่างพรั่งพรู ถึงสิ่งที่เขาได้คุยไว้กับลูก
ผม : ผมดีใจกับพี่ด้วย ตอนแรกผมก็คิดว่า พี่อาจจะรับไม่ได้กับเรื่องที่ผมมองเห็น แต่ในมุมมองของผมลูกจะรู้สึกดีและมีพลังอย่างมาก ถ้าครอบครัวของเขานั้นรับรู้ในสิ่งที่เขาเป็น และมากกว่านั้นคือพร้อมที่จะสนับสนุนเขา ในทุกๆ สิ่งที่เขาทำน่ะครับ
พี่จอย : พี่จอยขอขอบคุณมากๆ เลยนะคะที่ได้ให้คำแนะนำ ตอนนี้ พี่รู้สึกโล่งมาก ๆ พี่สัญญาว่าพี่จะสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็นให้ดี และเฝ้ามองดูความสำเร็จของเขาค่ะคุณ
ผมเลยกล่าวแสดงความยินดีกับพี่จอยในเรื่องของลูก รวมถึงรู้สึกชื่นใจแทนลูกของพี่จอยที่คนในครอบครัวรักและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น พร้อมสนับสนุนเขาอยู่ทุกเมื่อ ผมเชื่อว่าเขาจะต้องเติบโต เป็นบุคคลที่มีศักยภาพของสังคมอย่างแน่นอน
เรื่องของความรัก ความหลากหลายทางเพศ เป็นอีกเรื่องที่สังคมรวมถึงคนในครอบครัวควรทำความเข้าใจและยอมรับว่า ไม่ใช่มีเพียงแค่เพศสภาพชายกับหญิงเท่านั้น ผู้ที่เกิดมามีเพศสภาพหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีตัวตนไม่ตรงกับเพศที่เกิดมา ซึ่งปัจจุบันมีการจัดแบ่งความหลากหลายดังกล่าวในรูปแบบที่เรียกว่า LGBTQ+ ผู้ที่ดึงดูดเพศเดียวกัน เพศที่แตกต่างกัน ดึงดูดได้ทั้งสองเพศ หรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่ได้มีความสนใจทางเพศเลย และหากมองด้วยใจที่เปิดรับความแตกต่างจะพบว่านี่ล่ะ คืออัตลักษณ์ประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในเพศสภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งการเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสันติสุขและส่งเสริมศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์โดยแท้
ความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ อยู่ที่การเคารพความเป็นตัวตนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และนั่นย่อมทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในหมู่มวลมนุษยชาติ