ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ : วิสัยทัศน์ และพันธกิจแห่งการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ยุคสมัยแห่ง Digital ของ ‘depa’
ในทุกความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก่อให้เกิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และการยกระดับสังคมไปสู่รูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม แรงงานถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรม ก่อนจะตามมาด้วยการเข้ามาของ ‘ยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร’ หรือ Information Age ที่ความได้เปรียบ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่รวมถึงขนาดกลางและขนาดย่อม ที่สามารถมองเห็นช่องทาง และเติมเต็มให้กับช่องว่างอันเป็นที่ต้องการ
และ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ก็เป็นเป้าหมายปลายทาง ที่ภาครัฐของประเทศไทย พยายามอย่างยิ่งที่จะส่งเสริม และผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขัน และเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตกับรายได้ของประชาชน ให้มากขึ้น ดีขึ้น และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
แต่เช่นเดียวกับทุกการเปลี่ยนผ่าน มันไม่เคยง่าย ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความพร้อมที่จะกระโดดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา ทั้งปัญหาด้านเงินทุน ความรู้ รวมถึงภาคเอกชนดิจิทัลหรือ Startup ที่ต้องแข่งขันกับตลาดในโลกกว้าง แต่ขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ จนหลายครั้ง มันกลายเป็นโอกาสที่หลุดลอยไป
และการลดช่องว่างเหล่านี้ให้สั้นลง ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น คือพันธกิจสำคัญของ ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล’ หรือ ‘depa’ ที่ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของความเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน
แต่บทบาท หน้าที่ และงานสำคัญของ depa คือสิ่งใด? สังคมไทยมีความตื่นตัวพร้อมรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน? GM Magazine ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ที่ได้มาร่วมพูดคุย แสดงทัศนะ และบอกเล่าถึงสิ่งที่หน่วยงานได้ทำ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน ก้าวไปสู่ความพร้อมของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน
-ถ้าพูดถึงบทบาทของ DEPA แล้ว พันธกิจสำคัญของหน่วยงานนี้ คือสิ่งใด
หน่วยงาน DEPA ถือกำเนิดขึ้น จากพระราชบัญญัติส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปี พ.ศ.2560 ซึ่งได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องการให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทั้งนี้ ในความหมายโดยรวม จะไม่ได้มีเพียงแค่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องพิจารณาในมิติด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนจากสินค้าและบริการเป็นแพลทฟอร์ม เปลี่ยนจากสิ่งที่จับต้องได้ ไปสู่สิ่งเสมือน
แต่ก่อนที่จะปรับเปลี่ยน มีปัจจัยหนึ่งที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก นั่นคือ Human Capital หรือด้านบุคลากรที่มีความเข้าใจในโลกดิจิทัล และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน และอีกประการสำคัญ คือวงจรของสังคมดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นโดยผ่านการคิดจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องเป็น ‘อุตสาหกรรมดิจิทัล’ ที่จะต้องมาดูว่า ทำอย่างไร บรรดาซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ จะสามารถเพิ่มมูลค่า หรือฮาร์ดแวร์ ที่กำลังจะย้ายฐานการผลิต ไปสู่ความเป็น Smart Industry ได้อย่างไร รวมถึงในส่วนของสาธารณูปโภค ที่ต้องคิดให้ครอบคลุม ผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่ ที่จะลดการขาดดุลทางด้านเทคโนโลยี
และอีกสิ่งที่สำคัญคือ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชนให้มีความสามารถในเชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปกับการทำพันธกิจของหน่วยงานที่กล่าวไปข้างต้นด้วย
-เป็นโจทย์ที่ยากมากๆ เพราะทางหนึ่ง ต้องทำให้ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมนั้นอยู่ได้ อีกทางหนึ่งก็ต้องทำตามพันธกิจช่วยเหลือด้านสังคม
มันยาก แต่ลองพิจารณาว่า ถ้าหากไม่สามารถผลักดันภาคเอกชนให้เกิดวงจรอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัลคลื่นลูกใหม่ที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ การหมุนเวียนของเม็ดเงินในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงค่าดำเนินการของหน่วยงานจะมีปัญหาอย่างยิ่ง และนั่น ทำให้ความอยู่รอดของภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างสูง เพราะแม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นผลในวันนี้ แต่การผลักดันเพื่อให้เกิดวงจรหรือนิเวศของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ จากภาคเอกชน ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา มันจะเกิดไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานจริง ซึ่งก็คือภาคประชาชน แบบยกกำลัง ซึ่งมีประสิทธิผลเป็นอย่างมาก
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงาน DEPA พยายามทำ คือการสนับสนุนภาคเอกชน ที่จะเป็นกลไกในการสร้างสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล และส่งเสริมให้ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งการประยุกต์ใช้ที่ว่า ก็ต้องมาดูกันอีก เพราะสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่พร้อมต่อการปรับตัวและนำไปใช้ได้เลย กับกลุ่มที่ต้องสร้างความเข้าใจเบื้องต้น รวมถึงการประสานกับภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถดำเนินงานไปในกรอบทิศทางเดียวกันเพื่อไปสู่เป้าหมาย
-เมื่อเทียบกับประเทศที่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวคิด กับกระบวนการใหม่ๆ ไม่ว่าจะประเทศจีนหรือสหรัฐอเมริกา มีหนทางที่ประเทศไทยจะสามารถพบเจอกับภาพของความเปลี่ยนแปลงใหม่เช่นประเทศเหล่านั้นหรือไม่
ทั้งหมดนี้ ก็ย้อนกลับไปที่เรื่องนิเวศและกลไกอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจใหม่ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ประเทศที่ยกตัวอย่างมานั้น สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพราะภาครัฐได้ให้การสนับสนุน และผลักดันให้เกิดวงจรดังกล่าว อีกทั้งแต่ละประเทศ ก็มีปัจจัย และบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน
ในส่วนของเมืองไทย การที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นได้ ก็ต้องพิจารณาว่าเรามีสิ่งต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ เช่น เรามีนวัตกรรม Deep Tech หรือเชิงลึกหรือไม่ ? มีรูปแบบ บรรยากาศ และแนวทางสร้างผู้ประกอบการอย่างไร ? เหล่านี้ คือสิ่งที่ต้องมาดู และหาจุดที่ลงตัว ไม่เช่นนั้น ถ้าหากประเทศไทยก้าวไปอย่างผิดทิศทาง จะไปไม่ถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ตั้งใจไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ อินโดนีเซีย ที่ใช้ข้อได้เปรียบทางด้านประชากรเป็นตัวผลัก และออกกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนเงินทุนที่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ด้านดิจิทัลสามารถเติบโตขึ้นได้
–‘วิถีใหม่’ หรือการ Transform ของวงจรเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ควรเป็นไปในทิศทางไหน
ในจุดนี้ เมืองไทยก็มีอุตสาหกรรมเอกชนภาคดิจิทัลอยู่เช่นกัน แต่เป็นไปในลักษณะของ Digital Service หรือ Startup ซึ่งทาง DEPA ก็มีทางเลือกว่า จะทำการอัดฉีดเงินจากภาครัฐ เพื่อให้บริษัทและผู้ประกอบการเหล่านี้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือ หาหนทางที่จะทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ประชาชน ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และเลือกใช้งาน
ทีนี้ ในรูปแบบเดิมของการเลือกใช้สิ่งใหม่ๆ คือการเข้าหาภาครัฐ ค่อยๆ อธิบาย เสนอข้อดี และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่ในปัจจุบัน ความจำเป็นเฉพาะกาลมันไม่สามารถเอื้อให้ผู้ประกอบการเอกชนดิจิทัลทำแบบนั้นได้ อีกทั้งประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเอง ก็กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก รายได้ที่เคยมี หดหายจนถึงไม่ได้ และเมื่อรวมกับความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอย่างทันด่วน แม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินลงไป เพื่อชดเชยกับการขาดรายได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการฝึกฝน พัฒนา ครบรอบเงิน ทุกอย่างก็จบ
นี่คือสิ่งที่ DEPA มองปัญหาที่เกิดขึ้น การอัดฉีดเงินเข้าระบบสามารถแก้ไขได้แค่เพียงระยะสั้น แต่สิ่งที่หน่วยงานของเราพยายามทำ คือการให้ภาคประชาชนเกิดการลองใช้งาน พัฒนาทักษะ และปรับตัว ไปพร้อมกับสนับสนุนกลุ่ม Startup ที่อยู่ในความดูแลขององค์กร ให้เกิดการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยคนไทย ให้เกิดวงจรของการเปลี่ยนผ่าน และการปรับตัวไปสู่สังคมแบบดิจิทัล
แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่งานที่ง่าย โดยเฉพาะกับเมืองไทย ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และความคิด ที่คุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ ให้เริ่มต้นทดลองสิ่งใหม่ รวมถึงการสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างวงจรดิจิทัลเพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถอยู่รอดได้
-ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และภาคเอกชนให้มาอยู่ในการดูแลของ DEPA นั้น ทางหน่วยงานมีข้อกำหนดหรือ Criteria เบื้องต้นคร่าวๆ เป็นขั้นต่ำเอาไว้อย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นในแง่ของความพึงพอใจการใช้งาน อันนี้อาจจะไม่สามารถกำหนดชี้ชัดลงไปได้ เพราะจะขึ้นกับผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นหลัก คนหนึ่งบอกแพลทฟอร์มนี้ใช้ได้ดี อีกคนบอกใช้งานยาก ความต้องการแตกต่างกัน
แต่ถ้าจะให้กำหนด Criteria หรือมาตรฐานของซอฟต์แวร์หรือแพลทฟอร์ม ที่จะเข้ามาอยู่ในการดูแลและสนับสนุนของ DEPA นั้น ก็พอจะได้คร่าวๆ ตามหัวข้อต่อไปนี้ หนึ่ง ผ่านมาตรฐาน ISO 29110 ที่รับรองกระบวนการสร้างระบบซอฟต์แวร์ สอง อาจจะไปเอาใบรับรอง CMMI ที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ก็ได้ สาม สำหรับกลุ่ม Startup ที่อยู่ในระหว่างการเติบโต ทาง DEPA ก็จะให้การสนับสนุนภายใต้โครงการ Accelerated Program ซึ่งทางหน่วยงานก็จะเข้าถือหุ้น เพื่อรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากบริษัทนี้ จะไม่ปิดตัวไปกลางคัน
-ในมุมมองของท่านผู้อำนวยการ สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
ถ้าพูดถึงเรื่อง Utility หรือโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยถือว่าล้ำหน้ามากๆ และอาจจะเป็นแถวหน้าเลยก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ด้วยกันเอง แต่การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะเป็นอีกประเด็นที่แยกต่างหาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังไม่เกิดการนำไปก่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด เช่น คลื่น 5G ที่เห็นบนระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่จริงๆ มันถูกพัฒนาเพื่อใช้กับระบบอัตโนมัติ อย่างระบบหุ่นยนต์ในโรงงาน การจัดการโกดังเก็บของ รถยนต์แบบ Self-Driving เป็นต้น
นั่นทำให้ส่วนตัวกล้าพูดได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในการรองรับความเป็นสังคมดิจิทัลนั้น มีพร้อม แต่การใช้ประโยชน์ยังไม่ไปถึงจุดสูงสุด อีกทั้งการมีอยู่ของกฎระเบียบปัจจุบัน ที่ยังไม่เอื้อต่อการให้เกิดภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการด้านดิจิทัลรายใหม่ๆ ไปจนถึงเรื่องสำคัญอย่างเช่น ความเข้าใจในเรื่องความยินยอมทางด้านดิจิทัล ความเคารพในสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคล การแจ้งให้ทราบก่อนการนำข้อมูลไปใช้
และสุดท้าย คือความเปราะบางต่อการจู่โจม หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมันจะเกี่ยวพันกับความเข้าใจและการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คือถ้าไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ ไม่ได้ใช้งานมากพอ แน่นอนว่าการป้องกันด้านไซเบอร์หรือข้อมูลในพื้นที่เสมือนก็เรียกได้ว่าไม่มี
-ดูเหมือนงานของ DEPA นอกเหนือจากด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลแล้ว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประสานกับภาคส่วนต่างๆ ค่อนข้างมาก
การทำงานทั้งหมดนี้ จะเรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศก็ว่าได้ ซึ่งทาง DEPA ก็ได้ทำการประสานเพื่อให้สิ่งต่างๆ นั้นเกิดขึ้น ซึ่งต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และเห็นพ้องว่าเมื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่าแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ความรู้ดีขึ้น เพื่อเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
-ในหลักการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเก่า จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นกำลังหลักของประเทศ แต่กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แนวทางดังกล่าวยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่
ในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่กล่าวถึง ‘Thailand 4.0’ นั้น ก็ต้องมีการคัดเลือกอุตสาหกรรม อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่จะทำการปรับเปลี่ยน จากอุตสาหกรรมดั้งเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมหนักใหม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาแล้วว่า ในเมื่อไม่สามารถแข่งขันทางด้านจำนวนประชากรได้ ก็ ‘ส่งออก’ ธุรกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และใช้การกำหนดมาตรฐาน เพื่อเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน
กลับมาที่เมืองไทย ก็ต้องผ่านการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้ามองในอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ จะพบว่า มีข้อจำกัดและข้อติดขัดที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ จากระบบสันดาป มาเป็นระบบไฟฟ้า ที่อาจจะกระทบกับสายส่งและผู้ให้บริการด้านเชื้อเพลิง แต่โชคดีที่อุตสาหกรรมดิจิทัล ที่พอจะมีพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้
-ในสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทาง DEPA ได้เผชิญหน้ากับความท้าทาย หรือปัญหาที่เป็นอุปสรรคอย่างไรบ้าง
ในจุดนี้ ต้องมองสภาวะนี้ออกมาเป็นสองมิติ คือถ้าในมิติที่ไม่ค่อยจะดี คือมีผู้ประกอบการหลายรายที่ล้มหายตายจาก และไม่สามารถไปต่อได้ แน่นอน เรื่องนี้หลายฝ่ายอาจจะไม่ค่อยอยากให้พูดถึงเพราะอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่มันคือความจริงที่ต้องพูด และยอมรับ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ในอีกมิติหนึ่ง มันก็มีผู้ประกอบการที่เกิดขึ้น ลองย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน ในเวลาที่ยังไม่มีแม้แต่วัคซีน มันเป็นเวลาที่ยากลำบาก ธุรกิจปิดตัว มีการกักตัว ทำงานจากที่บ้าน โดนลดเงินเดือน โดนเลิกจ้าง มันคือวิกฤติ แต่คนที่เห็นโอกาส จะสามารถโต้คลื่นและสร้างรายได้จากช่วงเวลานี้ได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือธุรกิจร้านค้าออนไลน์ ที่ยอดสั่งซื้อจนถึงทุกวันนี้ แทบไม่เคยตก มีแต่จะเพิ่มขึ้น
หรืออย่างร้านอาหารตามสั่ง ที่เปลี่ยนจากการทำภายในร้าน มาในรูปแบบของการ Delivery ด้วยแพลทฟอร์มต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมาย ซึ่งก็เป็นความเติบโตในส่วนของแพลทฟอร์ม Digital Service ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
-หนึ่งในโครงการสำคัญของ DEPA ที่ได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องคือ ‘Transform ตลาดสดวิถีใหม่’ อย่างให้ท่านผู้อำนวยการช่วยบอกเล่าถึงโครงการนี้
ในส่วนของโครงการ ‘Transform ตลาดสดวิถีใหม่’ เป็นความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เช่น สอนการทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์ การทำระบบ e-payment การทำระบบคิดคำนวณภาษี ซึ่งการให้ผู้ประกอบการได้พูดคุยกับภาคเอกชนที่สร้างระบบโดยตรง จะช่วยให้สามารถเกิดการขยายตัว และผลักดันให้วงจรเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะแทนที่พวกเขาจะต้องมาเสียเวลากับระเบียบราชการ ก็ให้คนที่ต้องใช้ระบบ กับผู้สร้างระบบ ได้เกิดการ Matching ซึ่งกันและกัน ตอนนี้ ก็เริ่มดำเนินการไปได้แล้วส่วนหนึ่ง แต่ทาง DEPA มีความตั้งใจว่าจะดำเนินการให้ครบทั้ง 77 จังหวัดอย่างแน่นอน
-ในระยะเวลาถัดจากนี้ จะได้เห็นโปรเจ็กต์ใดจาก DEPA ที่น่าสนใจอีกบ้าง
ในบทบาทของ DEPA นั้น คือการเป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลภาคเอกชน และผู้ใช้งาน ซึ่งเรามีความร่วมมือของภาคเอกชนที่ว่าเป็นจำนวนมาก และทาง DEPA ได้สร้างแพลทฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Tech Hunt’ ที่จะให้คนไทยสามารถ ‘เลือกแอพลิเคชัน’ ที่เหมาะสมกับการใช้งานและความต้องการได้ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็สามารถตั้งค่าเพื่อค้นหาแอพลิเคชันสำหรับจัดการระบบภายในร้านได้ หรือร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ก็อาจจะใช้แอพลิเคชันเพื่อดู Point of Sales หรือจำนวนยอดสั่งซื้อที่ได้ในวันนั้นๆ เป็นต้น
หรือถ้าหากจะลงลึกไปถึงระดับที่คำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในแต่ละวัน จำนวนยอดที่ต้องผลิตในแต่ละครั้ง ยอดขายที่ต้องทำให้ได้เพื่อให้คุ้มค่า ก็มีโมดูลของแอพลิเคชันการวิเคราะห์แบบ Data Analytic ให้พร้อม อีกทั้งถ้าหากผู้ประกอบการยังรู้สึกไม่พร้อม ไม่กล้าลองใช้ ทาง DEPA ก็มีในส่วนของ Voucher เพื่อรองรับในการใช้งานเบื้องต้น ในมูลค่าสูงสุดไม่เกินหนึ่งหมื่น ซึ่งในระยะยาว ผู้ใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการดิจิทัลเอกชนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องผลิตภัณฑ์จะไม่มีคนใช้ เมื่อทุกอย่าง Matching กันเสร็จสรรพผ่านแพลทฟอร์มตัวกลางผ่านระบบโมบายล์ รวมถึงการเติบโตแบบปากต่อปาก ผู้ใช้งานจากผู้ใช้งาน
อีกประการที่สำคัญสำหรับการสร้างแพลทฟอร์มตัวนี้ขึ้นมา คือการสร้างความเข้าใจของประชาชนคนไทยที่มีต่อคำว่า ‘ข้อมูล’ หรือ Data ว่าสามารถทำให้ชีวิตและการทำธุรกิจสะดวกขึ้นแค่ไหน ซึ่งทั้งหมด จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการสังเกตและสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค ก่อนจะนำเอาข้อมูลนั้นๆ มาผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนได้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์ และใช้งานได้จริง
-ในทรรศนะของท่านผู้อำนวยการ การมาถึงของ ‘พื้นที่เสมือน’ หรือ Metaverse นั้น สร้างโอกาสและความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา แม้มันจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่มันก็อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนที่ฉับพลัน หรือทำให้สิ่งเก่าต้องหายไป มันเป็นรูปแบบของการมองและเลือกว่า สิ่งใดที่เข้ามา และทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น เช่น ร้านค้าที่มีระบบ Delivery ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ส่วนหนึ่ง และถ้าใช้แพลทฟอร์ม Social มาประกอบ ก็เป็นการเปิดอีกประตูความเป็นไปได้อีกหนึ่ง ที่จะขยายโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าอีกเป็นจำนวนมหาศาล
ในจุดนี้ ไม่ได้บอกให้ผู้ประกอบการโฟกัสไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง อย่างเรียนธุรกิจ เรียน AI เรียนการใช้แพลทฟอร์ม แต่ให้มองว่าทำอย่างไร ที่จะลดต้นทุนที่มันสูงขึ้นอยู่แล้วในสภาวะปัจจุบัน และเพิ่มรายได้ ให้มีเพียงพอที่จะดูแลตนเอง กับคนใกล้ตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการเรียนรู้ ซึ่งคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ามาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งมันจะมั่นคง ยั่งยืน กว่าการอัดฉีดระยะสั้น ที่ทำได้แค่เพียงชั่วคราว แต่ไม่สามารถทำได้ตลอดไป
-ท้ายที่สุดนี้ สำหรับใครที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุง แก้ไข และขยายการเติบโตของวงจรเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกับ DEPA จะต้องทำอย่างไรบ้าง
ในจุดนี้ จะบอกกับคณะทำงานอยู่เสมอว่า การที่ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ จะกลายเป็นโอกาสที่สูญเสียไป แต่การยื่นโอกาสให้คนได้ลองปฏิบัตินั้น ต้องมาพร้อมกับ ‘ผลลัพธ์’ ว่า ในปลายทาง จะได้รับสิ่งใด โดยเฉพาะผลลัพธ์ในระยะยาว เช่น ในระยะใกล้ ถ้าทำสิ่งหนึ่งแล้วได้อะไร เมื่อเทียบกับการทำอีกสิ่งหนึ่ง ในระยะยาวแล้วจะได้อะไร เปรียบเทียบความคุ้มค่า เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ลองมาเรียนรู้ ทดลองในสิ่งที่ไม่เคย
อีกทั้งในอนาคต เชื่อว่าจะต้องมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เข้ามา Disrupt หรือเปลี่ยนแปลงภาคส่วนต่างๆ อย่างแน่นอน และถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ลงมือทำ ท้ายที่สุด เราจะกลายเป็นผู้ตาม จากโอกาสที่หลุดลอย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง