fbpx

เขาเถียงอะไรใน Social Media

เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา

ทำไมท่านมองเห็นผงในตาพี่น้องของท่าน
แต่กลับมองไม่เห็นไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน?
… คนหน้าซื่อใจคด
จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน
แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้

– พระวรสารนักบุญมัทธิว 7 : 3-5

แต่วิธีเถียงในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้มักมีอยู่วิธีการเดียว คือการเถียงที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยลีลาดุเดือด ร้อนแรง

ที่จริงแล้ว การเถียงด้วยท่าทีทำนองนี้ไม่มีอะไรผิดนะครับ เพราะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะมีอารมณ์และแสดงอารมณ์ออกมาตามหลัก Free Speech อันเป็นประชาธิปไตย แต่เราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่มีวิธีถกเถียงทำนองนี้ แทบทั้งหมดมักจะมองเห็น ‘พิษ’ (หรือข้อผิดพลาดต่างๆ) ในตัวฝ่ายตรงข้าม แต่มักไม่เคยที่จะเห็น ‘พิษ’ (หรือข้อผิดพลาดต่างๆ) ในฝั่งตัวเองสักเท่าไร

คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

นิค เอพลีย์ (Nick Epley) และ เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล พยายามค้นหาว่าเราเป็นแบบนี้ได้อย่างไร (ลองอ่านบทความของเขา ชื่อ Feeling “Holier Than Thou”: Are Self-Serving Assessments Produced by Errors in Self- or Social Prediction? ได้ที่ https://faculty.chicagobooth.edu/nicholas.epley/EpleyandDunning2001.pdf) โดยศึกษาหลายๆ วิธี เช่น Daffodil Days, A Saint’s Dilemma และอื่นๆ เพื่อดูว่าตัวเราจะทำนายว่า ตัวเองเลอค่าทางศีลธรรม (มี Moral Sentiment) เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

เช่น เขาขอให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลทำนายว่า พวกตนจะซื้อดอกไม้ในงานการกุศลที่กำลังจะมาถึงกี่ดอก แล้วคนอื่นๆ ทั่วไปจะซื้อกี่ดอก จากนั้นก็ไปดูพฤติกรรมจริง พบว่าส่วนใหญ่แล้ว ประเมินว่าตัวเองจะซื้อดอกไม้เยอะ คนอื่นซื้อน้อยกว่า แล้วเมื่อไปดูของจริง ผลที่ได้ก็คือ คนเราจะประเมินค่าคุณธรรมของตัวเองสูงเกินจริงมาก แต่คาดเดาคนอื่นได้ใกล้เคียงความเป็นจริง

อีกการทดลองหนึ่งคือ ให้เงินผู้เข้าร่วมทดลองคนละ 5 เหรียญ แล้วให้นำไปบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ ที่เหลือเก็บเอาไว้ พบว่าโดยเฉลี่ย ผู้เข้าทดลองคิดว่าตัวเองจะบริจาค 2.44 เหรียญ ส่วนคนอื่นๆ จะบริจาคแค่ 1.83 เหรียญ แต่พอมีการบริจาคจริง พบว่าทุกคนมีการบริจาคเฉลี่ยอยู่ที่ 1.53 เหรียญ นั่นยืนยันข้อสรุปเดิมที่ว่า เราประเมินตัวเองสูงส่งมาก แต่ประเมินคนอื่นค่อนข้างใกล้เคียงกับความเป็นจริง

ยิ่งถ้าเป็นเรื่องคลุมเครือไม่แน่นอน ผลลัพธ์ยิ่งแรงเข้าไปใหญ่ เช่นถ้าถามว่าเรากับคนอื่น ใครเป็นคนที่มีความเป็นผู้นำมากกว่ากัน พบว่าเราจะเลือกหลักเกณฑ์วัดความเป็นผู้นำที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนมั่นใจ ก็จะบอกว่า ผู้นำที่ดีต้องมั่นใจสิ หรือถ้าเป็นคนเถียงเก่ง ก็ต้องบอกว่าผู้นำต้องมีวาทศิลป์ในการถกเถียงสิ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะตั้ง ‘คำตอบ’ หรือผลลัพธ์ขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยหา ‘หลักฐาน’ มาสนับสนุนคำตอบนั้นๆ

สิ่งนี้ก็คือ ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ ซึ่งรู้ไหมครับว่าคนที่มี ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ หรือมี ‘ภาพลวงตา’ ว่าตัวเองเจ๋งเก่งเก๋กู้ดกว่าคนอื่นๆ นั้น นักจิตวิทยาบอกว่ามักจะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี แถมยังมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้มี ‘ภาพลวง’ ทำนองนี้ด้วย นั่นก็เลยทำให้คนจำนวนมากที่มีอคติชื่นชมตัวเอง ยังคงอยู่กับอคตินี้ไปได้เรื่อยๆ

เอมิลี โพรนิน (Emily Pronin) จากพรินซ์ตัน และลี รอส (Lee Ross) จากสแตนฟอร์ด บอกว่าปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า ‘สัจนิยมไร้เดียงสา’ (Naive Realism) นั่นคือคนเราแต่ละคน จะคิดว่าเราเห็นโลกแบบ ‘ตรงไปตรงมา’ หรือเป็นโลก ‘อย่างที่มันเป็นจริง’

ยิ่งถ้าคนอื่นๆ ยอมรับว่าคนคนนี้เก่ง เขาก็จะยิ่งเชื่อเข้าไปอีกว่า โลกเป็นอย่างที่พวกเขาคิดจริงๆ ดังนั้น คนอื่นๆ จึงควรเห็นพ้องกับเขา เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นพ้อง ก็แปลว่าคนพวกนั้นยังไม่ได้พบกับข้อเท็จจริงที่ว่า หรือหนักไปกว่านั้นก็คือ คนพวกนั้นโง่กว่า หรือไม่ก็ถูกผลประโยชน์หรือความคิดอื่นๆ บังตาอยู่

โซเชียลมีเดียมีผลอย่างมากในการทำให้ ‘สัจนิยมไร้เดียงสา’ แพร่หลายกระจายตัวจากปัจเจกไปเป็นกลุ่มก้อน เพราะคนที่มีความคิดแบบนี้ จะหาคนที่มีความคิดแบบเดียวกันกับตัวเอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือหา ‘กองเชียร์’) ได้ง่ายขึ้นจากโลกโซเชียลฯ ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ จึงยกระดับกลายเป็น ‘อคติชื่นชมฝูงของตัวเอง’ ได้ ซึ่งในที่สุด ก็ก่อให้เกิดโลกแบบดีชั่วดำขาวขึ้นมา โดยมักคิดเห็นตัวเราหรือฝูงของเรานั้นถูกต้องที่สุด

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือการที่หลายคนพยายามทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ (Self-Victimization) ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ รอย โบไมสเตอร์ (Roy Baumeister) ผู้เขียนหนังสือ Evil: Inside Human Cruelty and Aggression

โบไมสเตอร์บอกว่า คนที่เห็นว่าตัวเองถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เมื่อถูกวิจารณ์มักจะรู้สึกว่าตัวเองถูกทำร้าย การถูกทำให้ร้ายทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าชอบธรรม คือการตอบโต้ในฐานะ ‘เหยื่อ’ เพราะการตกเป็นเหยื่อนั้นดูชอบธรรมและน่าสงสารเห็นใจมากกว่า โบไมสเตอร์บอกว่า มายาคติหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ ‘มายาคติว่าด้วยปีศาจร้ายบริสุทธิ์’ (The Myth of Pure Evil)

เช่นการเห็นว่าผู้ทำสิ่งเลวร้ายต่อตัวเองนั้นมีแรงขับเคลื่อนที่ร้ายกาจล้วนๆ ดำมืดไม่มีดีปะปนเลย ส่วนฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ (เช่นตัวเอง) ก็มักจะตกเป็นเหยื่ออย่างบริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่ได้มีส่วนอะไรในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็คืออคติเข้าข้างตัวเองขั้นสูงสุด และเป็นสัจนิยมไร้เดียงสาขั้นสูงสุดด้วย

เป็นไปได้ไหมว่า ยิ่งเราคิดว่าตัวเองรู้ ยิ่งคิดว่าตัวเองมีความสุข และยิ่งมีความนับถือตัวเองมากเท่าไร ความสามารถที่จะมองเห็นตัวเองอย่างแท้จริงก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

นั่นอาจเป็นเหตุผลลึกๆ ก็ได้ ที่ทำให้การถกเถียงตามโซเชียลมีเดียอยู่ในสภาพแบบที่เป็นอยู่ซึ่งก็ต้องบอกว่า – เป็นเรื่องไม่สนุกเอาเสียเลย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ