‘โทษประหาร’ตรรกะที่ขัดแย้งต่อภาพลักษณ์ซาอุดีอาระเบียยุคใหม่
รัฐบาลในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปรารถนาจะสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้ดูทันสมัย ขณะเดียวกันกลับยังใช้บทลงโทษประหารอย่างเหี้ยมโหด สำหรับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแล้ว เขาไม่ได้มองว่านั่นคือความขัดแย้ง หากแต่เป็นหนทางสู่อำนาจที่แท้จริง
Reasons To Read:
- ผู้มีอำนาจในซาอุดีอาระเบียพูดถึง ‘วิถีการเปลี่ยนแปลงประเทศ’ ไปสู่ความเป็นชาติสมัยใหม่ที่ทันยุคสมัย มีการเชิญชวนต่างชาติเข้าไปลงทุน และมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ ในทางกลับกัน พวกเขาก็ลงโทษกลุ่มผู้หญิงที่เคยต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสมอภาคในการขับรถ ด้วยการทรมานอย่างทารุณ
- รัฐบาลเฝ้าจับตามองพลเมืองซาอุฯ ฝ่ายนิกายชีอะห์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของราชอาณาจักร
- กษัตริย์ซัลมาน และพระโอรสองค์โปรด มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วเป็นผู้บริหารแผ่นดิน ต้องการจะครองอำนาจ และปรารถนาจะนำพาซาอุดีอาระเบียให้พ้นจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปรารถนาจะสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้ดูทันสมัย ขณะเดียวกันกลับยังใช้บทลงโทษประหารอย่างเหี้ยมโหด สำหรับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแล้ว เขาไม่ได้มองว่านั่นคือความขัดแย้ง หากแต่เป็นหนทางสู่อำนาจที่แท้จริง
ใครที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของซาอุดีอาระเบียตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คงต้องตั้งคำถามว่า ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มีความสอดคล้องกันอย่างไร ผู้มีอำนาจพูดถึง ‘วิถีการเปลี่ยนแปลงประเทศ’ ไปสู่ความเป็นชาติสมัยใหม่ที่ทันยุคสมัย มีการเชิญชวนต่างชาติเข้าไปลงทุน และมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ ยินยอมให้จัดคอนเสิร์ตดนตรีป๊อป อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ ในทางกลับกัน พวกเขาก็ลงโทษกลุ่มผู้หญิงที่เคยต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสมอภาคในการขับรถ ด้วยการทรมานอย่างทารุณ
รายงานผ่านเว็บไซต์ของ European Saudi Organisation for Human Rights ระบุว่า ในปี 2019 นี้ รัฐสำเร็จโทษประหารไปแล้วถึง 107 ราย นับเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบทศวรรษ ในจำนวนนั้นมี อับบาส อัล ฮัสซาน หัวหน้าครอบครัวอิสลามนิกายชีอะห์ วัย 46 ปี ที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการภาคฝ่ายเทคนิคของธนาคารอาหรับ ที่จิดดาห์ เมืองชายฝั่งตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย ควบคู่กันนั้นเขายังเป็นวิศวกรไฟฟ้าให้กับบริษัทเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง เขาถูกจับกุมด้วยข้อหาคิดคดทรยศชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยราชการลับของอิหร่าน ทำการเผยแผ่ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ อับบาส อัล ฮัสซานถูกทรมานอยู่นานถึงสามเดือน ก่อนยอมเซ็นชื่อสารภาพ และถูกตัดสินประหารด้วยวิธีการตัดศีรษะเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ฮัสซาน ในฐานะสมาชิกกลุ่มผู้แสวงบุญชีอะห์จากอัล-อัจชา โอเอซิสทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้คนที่เดินทางไปแสวงบุญในเมืองเมกกะและเมดินา เขาคอยดูแลเรื่องที่พักและประสานงานกับอิสลามนิกายชีอะห์ บางครั้งเขายังทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายชีอะห์ของอิหร่านด้วย นั่นอาจเป็นสาเหตุของการถูกจับกุมตัวในเวลาต่อมา
รัฐบาลเฝ้าจับตามองพลเมืองซาอุฯ ฝ่ายนิกายชีอะห์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของราชอาณาจักร เมื่อเดือนมกราคม 2016 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านอย่างเป็นทางการไปแล้ว
แต่ยุทธศาสตร์อะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนโยบายทางการเมืองของซาอุดีอาระเบีย ที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงช่วงสำคัญเช่นนี้
กษัตริย์ซัลมาน และพระโอรสองค์โปรด–มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วเป็นผู้บริหารแผ่นดิน ต้องการจะครองอำนาจ และปรารถนาจะนำพาซาอุดีอาระเบียให้พ้นจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ เหตุเพราะความมั่งคั่งและอิทธิพลที่ก่อนเคยอาศัยน้ำมันนั้น ยามนี้กำลังดิ่งลงเหมือนเช่นราคาของมัน ประเทศจำต้องลดการพึ่งพาน้ำมันและต้องเร่งเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเสียใหม่
รัฐบาลจำยอมให้ประชากรได้รับเสรีภาพมากขึ้น ชาวซาอุฯ รุ่นใหม่ควรสร้างหลักปักฐานด้วยตนเอง รวมทั้งผู้หญิง แต่นโยบาย ‘วิสัยทัศน์ก้าวหน้า’ เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ความทันสมัย กลับยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดตามแนวทางวะฮาบีย์ของนิกายซุนนีอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะกับพลเมืองเพศหญิง รวมถึงภาพขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐบาลหรือการเมืองแม้เพียงน้อย ก็ยังถูกมาตรการติดตาม ไล่ล่า และลงโทษกันอย่างทารุณ
ครั้งนี้เป็นคราวเคราะห์ของกลุ่มชีอะห์ส่วนน้อย แต่ก่อนหน้านั้น ทั้งสื่อมวลชนที่วิจารณ์รัฐบาลอย่าง จามาล คาชอกกี ซึ่งถูกสังหารโดยหน่วยคอมมานโดภายในสถานกงสุลที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี หรือกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องโทษคุมขัง รวมทั้งบรรดานักธุรกิจหรือแม้กระทั่งสมาชิกราชวงศ์บางคน ก็ถูกกำจัดให้พ้นเส้นทางอำนาจ
ดูคล้ายเป็นการหยิบยื่นยาหอมให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ควบคุมคู่แข่งขันให้อยู่ใต้อำนาจ และหากแผนยุทธศาสตร์นี้ประสบผลสำเร็จ คาดกันว่า มกุฎราชกุมารก็จะสามารถครองอำนาจไปได้อีกนานถึงห้าทศวรรษ