เสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมประชาธิปไตยในอังกฤษ
เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา
คนตะวันตกมักจะค่อนขอดคนอังกฤษอยู่เสมอว่า สังคมอังกฤษนั้นเป็นสังคมที่ ‘หมกมุ่น’ อยู่กับชนชั้น เรื่องนี้ถ้าย้อนกลับมาดูสังคมไทย ก็จะพบว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไร นอกจากไม่แตกต่างกันแล้ว ดูเหมือนสังคมไทยจะหมกมุ่นกับเรื่องชนชั้นมากยิ่งกว่าด้วยซ้ำ แต่ในเวลาเดียวกัน เรามักบอกตัวเองและคนอื่นบ่อยๆ ว่า … เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับชนชั้นมากเท่าไรนัก
ในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น คนที่ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษสงครามของอังกฤษ หนีไม่พ้น วินสตัน เชอร์ชิล ผู้โด่งดัง
ในช่วงปลายสงครามโลกอย่างปี 1945 เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ แทบทุกคนจึงคาดเดากันว่า พรรคอนุรักษนิยมของเชอร์ชิลจะต้องได้ชัยชนะแน่ๆ
ครั้นผลไม่ออกมาดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ในเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 เชอร์ชิลจะเขียนบันทึกไว้ว่า เขาตื่นนอนขึ้นมาด้วยอาการเหมือน ‘ถูกแทงด้วยของแหลม จนเกือบรู้สึกได้ทางกาย’ เมื่อเขาพบว่าตัวเองและพรรคอนุรักษนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไป
ในเวลานั้น น้อยคนนักจะคิดว่าเชอร์ชิลจะมีวันพ่ายแพ้ แม้กระทั่งผู้นำของฝ่ายตรงข้ามคือพรรคแรงงาน, หลายคนก็วิเคราะห์ว่าเชอร์ชิลต้องได้กลับมาแน่ๆ รวมไปถึงพวกนักธุรกิจ สื่อ และนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไล่ตั้งแต่วอชิงตันไปจนถึงมอสโก ทั้งนี้ก็เพราะเชอร์ชิลกำลังอยู่บนจุดสุดยอดของชัยชนะ เวลาเขาออก ‘บัญชร’ มาโบกมือให้กับประชาชนนั้น ประชาชนโห่ร้องต้อนรับเขายิ่งกว่ากษัตริย์และราชวงศ์เสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะไม่เคยมีความสำเร็จทางทหารในประวัติศาสตร์อังกฤษครั้งใดยิ่งใหญ่เท่านี้มาก่อน
แล้วเกิดอะไรขึ้น เชอร์ชิลถึงแพ้การเลือกตั้ง
คำตอบที่หลายคนในสังคมอังกฤษตอนนั้นอาจนึกไม่ถึงก็คือ สังคมอังกฤษได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว!
น่าทึ่งทีเดียว ที่สังคมอังกฤษในยุคนั้นเปลี่ยนแปลงไป ‘คล้าย’ กับสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่น้อย นั่นก็คือเกิดการเรียกร้อง ‘ความเสมอภาค’ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สงครามโลกที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะเรื่องแพ้ชนะในสนามรบนอกประเทศเท่านั้น แต่ตัวสงครามเองยังสร้างผลสะเทือนทางโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมภายในบ้านของอังกฤษอีกด้วย ในไทย – แรงผลักอาจเป็นการมองเห็นความไม่ชอบธรรมและสองมาตรฐานบางอย่าง แต่ในอังกฤษสมัยนั้น แรงผลักหนึ่งซึ่งนับว่า ‘แรง’ มาก ก็คือแรงผลักทางศาสนา
สงครามทำให้สังคมอังกฤษค่อนข้างเดือดร้อนเพราะความขาดแคลน แต่ในเวลาเดียวกัน สงครามก็ผลักดันให้คนที่เคยอยู่ใน ‘ชนชั้น’ ต่างๆ ต้องหลอมรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันไปด้วยโดยปริยาย ในยุคนั้น ประชากรอังกฤษราว 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนทำงานใช้แรงงาน ซึ่งมีตั้งแต่คนงานในโรงงาน แรงงานภาคเกษตร คนงานสร้างถนน คนงานเหมือง ชาวประมง คนรับใช้ หรือคนทำงานซักรีด พูดได้ว่าเป็นคนทำงานใช้แรงงานทั้งนั้น คนเหล่านี้ได้ค่าแรงเป็นเงินสดรายสัปดาห์ โดยคนอังกฤษยุคนั้นจะแบ่งแยก ‘ชนชั้น’ กันโดยดูจากถิ่นที่อยู่ ภาษาที่ใช้ รวมไปถึงความบันเทิงที่เสพด้วย
ตัวอย่างของการแบ่งแยกชนชั้นในอังกฤษที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ในภาพยนตร์เพลงอย่าง My Fair Lady ที่ตัวเอกมีการร้องเพลง Why Can’t the English? เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมคนอังกฤษถึงไม่สามารถสอนคนอังกฤษให้พูดภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากอังกฤษในยุคนั้นมีชนชั้นล่างอย่างพวกค็อกนีย์อยู่มาก ภาษาอังกฤษแบบค็อกนีย์นั้นแทบไม่เหมือนภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ และในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ด้านภาษาก็สามารถแยกแยะได้ว่า คนที่พูดสำเนียงแบบไหนพักอยู่แถบถิ่นไหนในลอนดอน เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นจะมีสำเนียงแยกย่อยแตกต่างกันซึ่งก็บ่งบอกได้ด้วยว่าคนเหล่านั้นอยู่ใน ‘ชนชั้น’ แบบไหน
อย่างไรก็ตาม สงครามได้ทำให้การแบ่งชนชั้นอ่อนตัวลง (แม้จะไม่ทั้งหมด) และได้สร้างรากฐานต่อการปฏิวัติวัฒนธรรมที่จะเกิดตามมา ชายหญิงจากพื้นฐานที่แตกต่างกันต้องมาร่วมกันทำงานรับใช้ชาติ เช่น ผู้หญิงชนชั้นกลางก็ต้องมาช่วยทำงานในโรงงาน นักเรียนในโรงเรียนระดับสูงก็ต้องไปช่วยงานเหมือง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงชนชั้นแรงงานหลายคนก็มีโอกาสได้ผละออกจากบ้าน เงยหน้าขึ้นจากอ่างล้างจาน ไปพบปะสังสันทน์กับคนในชนชั้นอื่นๆ ที่เข้ามาร่วม ‘ช่วยชาติ’ กันในยามสงคราม ที่สำคัญก็คือ เมื่อคนในชนชั้นสูงกว่าต้องมาทำงานที่ชนชั้นแรงงานชำนาญ พวกเขาต้องมาเรียนรู้จากคนเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะ ‘กลับข้าง’ ทางชนชั้นในยามทำงานช่วยชาติร่วมกันขึ้น
ในยุคนั้น คำว่า Blimps ซึ่งหมายถึงข้าราชการชนชั้นสูง กลายเป็นคำล้อเลียนที่นิยมกันมาก แสดงให้เห็นถึง ‘การตายลง’ ของอังกฤษแบบเก่า
นอกจากนี้ ในช่วงสงคราม แนวคิดแบบสังคมนิยมผสมเคร่งศาสนาก็เข้ามาแพร่หลายในอังกฤษด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คืออาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี อย่าง วิลเลียม เทมเพิล ซึ่งถือว่าเป็นคนสำคัญทางศาสนาเทียบเท่ากับโป๊ป ได้เรียกร้องว่า ‘ความไม่เท่าเทียมอย่างเอกอุในทรัพย์สินเงินทองจะต้องถูกกำจัดไป’ ซึ่งนั่นคือการพุ่งเป้าโดยตรงไปยังระบบสังคมที่เป็นอนุรักษนิยม แล้วปรากฏเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งที่ ‘ไม่เอาเชอร์ชิล’
ในเมืองมิลลิงตัน ซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘ความร่ำรวยที่ทัดเทียมกัน’ (หรือ Common Wealth) ถึงกับขึ้นป้ายไว้กลางตลาดระหว่างการเลือกตั้งว่า ‘นี่คือการต่อสู้ระหว่างพระคริสต์กับเชอร์ชิล’ โดยมองว่าศาสนาคริสต์นั้นเน้นไปที่ความเท่าเทียมเสมอภาคกันระหว่างมนุษย์ กับแนวคิดรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง แต่พรรคอนุรักษนิยมหนุนโครงสร้างสังคมแบบเก่าที่มีชนชั้นและสองมาตรฐาน
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับลึก รวดเร็ว และเชื่อว่าแม้แต่คนอังกฤษเองก็ไม่ทันตั้งตัวรับกับผลแบบนี้ ในตอนนั้น พรรคที่ได้เสียงข้างมากก็คือพรรคแรงงาน ทว่าแม้แต่ผู้นำอย่าง คลีเมนต์ แอตลี (Clement Attlee) ก็ยังไม่ทันตั้งตัว แถมในพรรคแรงงานเอง หลายคนก็คิดว่าผลการเลือกตั้งแบบนี้เป็นการ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ (Overturn) ระบบชนชั้นของประเทศมากเกินไปด้วยซ้ำ ความลังเลทำให้แอตลีเกือบชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมีผู้มากระซิบว่าเขาควรเข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อรับการแต่งตั้งได้แล้ว เขาจึงตัดสินใจได้ และรีบกระโดดขึ้นรถคันเล็กบึ่งไปพระราชวังบักกิงแฮมในทันที แม้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ผู้ทรงติดอ่างจะเป็นอนุรักษนิยมเต็มตัว แต่พระองค์ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องแต่งตั้งให้แอตลีเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม อำนาจเก่าก็คืออำนาจเก่า ชนชั้นปกครองเดิม (หรือเราอาจพอกล้อมแกล้มเรียกให้เข้ายุคได้ว่า ‘อำมาตย์’) ก็ยังลุกขึ้นต่อสู้ต่อรอง ในตอนนั้น พูดได้ว่าถึงคนส่วนใหญ่ (คือ 60%) จะเป็นชนชั้นแรงงาน แต่อังกฤษทั้งประเทศกลับตกอยู่ใต้การปกครองของคนเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำที่พบหน้ากันมาตั้งแต่เล็กผ่านโรงเรียนชั้นนำทั้งหลาย รวมถึงมหาวิทยาลัยอย่างอ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ จนคนเหล่านี้ได้ชื่อเล่นอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นพวก ‘อ๊อกซบริดจ์’ คนที่จบจากโรงเรียนอย่างอีตัน แฮร์โรว์ และวินเชสเตอร์ เหล่านี้อาจรวมกันได้เพียง 5% ของประชากรทั้งหมด แต่คนเหล่านี้กลับเป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้นำทางการเมือง ไม่ใช่แค่ในพรรคอนุรักษนิยม ทว่าแม้กระทั่งในพรรคแรงงานเองก็ตามที
สภาพการณ์แบบนี้ทำให้คนที่นิยมระเบียบเก่าแพ้การเลือกตั้งจนทำใจไม่ได้ คนที่อยู่ในชนชั้นนำจำนวนหนึ่งถึงกับหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่อื่น หลายคนไปไอร์แลนด์ บางคนไปออสเตรเลีย บ้างก็ไปแอฟริกาใต้และอเมริกา แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่าง โนเอล โคเวิร์ด ก็กล่าวทันทีที่พรรคแรงงานได้ชัยชนะในปี 1945 ว่าเขารู้สึกเสมอมาว่าอังกฤษจะต้อง ‘อยู่ไม่สบายอย่างแน่นอน’ (Bloody Uncomfortable) ในทันทีหลังสงคราม และเมื่อพรรคแรงงานได้ชัย ก็เกือบจะแน่นอนแล้วว่ามันจะเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม คำทำนายของโนเอล โคเวิร์ด ไม่เป็นจริง เพราะภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานคนแรกอย่างแอตลี อังกฤษก็ยังเต็มไปด้วยคลับเฮาส์ส่วนบุคคล การแข่งขันเรือใบและม้าแข่งแบบผู้ดีอังกฤษขนานแท้ เอกสิทธิ์ต่างๆ ทั้งหลายแหล่ ที่น่าสังเกตก็คือ ชนชั้นล่างต่างพากันแห่ไปเรียนวิธีชงชา หรือแม้กระทั่งการเรียนพูดภาษาอังกฤษแบบที่เรียกว่า The King’s English กันขนานใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวเหมือนลูกศรชี้ไปทิศเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อน แต่ละองคาพยพมีแนวคิดและความต้องการเป็นของตัวเอง คนชั้นล่างที่เคยถูกกำหนดด้วยภาษา การพูด และถิ่นที่อยู่ สามารถเปลี่ยนสถานะและ Modify ตัวเองได้ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครทำอะไรได้ และแม้ว่าจะเลือกพรรคเดียวกันคือพรรคแรงงาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่เลือกแบบเดียวกันจะต้องคิดเหมือนกันในทุกเรื่อง บางคนต่อต้านระบบชนชั้น แต่บางคนก็ต่อต้านในตอนแรกเพื่อจะสมาทานตัวเองเข้าสู่ระบบนั้นในภายหลังเมื่อมีอำนาจต่อรองมากเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นล่าง กลาง สูง หรือเป็นคนที่มีเสียงข้างน้อยหรือข้างมาก ต่างสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อรอง และหยิบเอาอุดมการณ์ของตัวเองออกมาวางประกวดประขันกับของคนอื่นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครเลือกหยิบไปใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะนี่คือวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนล้วนสามารถ ‘เปล่งเสียง’ ออกมาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน เพราะอยู่ในสังคมสืบทอดอุดมการณ์ชนชั้นอย่างแข็งแรงหมกมุ่นก็ตามที
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราชัดเจนว่า แม้สังคมอังกฤษจะเป็น ‘แม่แบบ’ แห่งประชาธิปไตยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ,
แต่กว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และต่อสู้ต่อรองอันซับซ้อนอย่างคิดไม่ถึงด้วย