fbpx

เปลี่ยนโจทย์สุดเข้ม สู่ผลงานสุดว้าว! สร้าง AI Chatbot รวบรวมคลังความรู้ ตอบคำถาม SMEs โชว์ผลงาน Tech Talent เยาวชน จากค่าย Creative AI Camp by CP ALL ปีที่ 7

ความเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด หรือ Digital Native น่าจะถือเป็น “อาวุธสำคัญ” ของเหล่าเยาวชนในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์ไอเดียการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่การแก้ปัญหาในวงการต่างๆ ได้

เช่นเดียวกับน้องๆ Tech Talent ระดับ ม.ปลาย อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1-2 จากค่าย Creative AI Camp by CP All ครั้งที่ 7 ที่แม้ในค่ายปีนี้ จะได้โจทย์การสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ค่อนข้างเฉพาะทาง อาทิ กลุ่มตรวจจับความผิดปกติ (Anomaly Detection) กลุ่ม Computer Vision กลุ่ม Data Visualization กลุ่มการพยากรณ์ (Forecasting) กลุ่มการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานสุดท้าทายที่แก้ Pain Point จริงให้ภาคธุรกิจ แต่หลังจากผ่านการเรียนรู้และทำงานร่วมกับ Mentor, Junior Mentor และ ตัวแทน BU ต่างๆและพันธมิตรอย่างเข้มข้น น้องๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานสุดว้าวออกมาได้

สำหรับผลงานที่โดนใจคณะกรรมการทั้งไทย จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และคว้าชัยชนะในครั้งนี้ ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับทีม AI for Budget Forecasting นำ AI มาช่วยพยากรณ์ความต้องการ (Demand) เพื่อปรับปรุงความแม่นยำการพยากรณ์ยอดขาย การควบคุมด้านการเงิน การปรับกลยุทธ์ และเพิ่มผลกำไร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กับทีม PM Guard สร้างสรรค์ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาของทีมบำรุงรักษาเชิงป้องกันและบำรุงรักษาเชิงแก้ไข (Preventive Maintenance & Corrective Maintenance หรือ PMCM) ในการจำแนกประเภทของตู้ขายไอศกรีม การนำ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบ จะช่วยลดทั้งภาระงานของทีม PMCM และลดความผิดพลาดของการเบิกค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม KM & Chatbot for SMEs สร้างสรรค์ AI Chatbot บน ChatGPT API เพื่อเป็นการจัดการความรู้ (Knowledge Mangement หรือ KM) ช่วยตอบคำถามให้กับเหล่า SMEs ที่เข้ามาติดต่อสอบถามข้อมูลกับทางเซเว่น อีเลฟเว่น ลดภาระของเหล่า Call Center

เชอรี่-ปาริชาติ ผ่านชมภู นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกทีม KM & Chatbot for SMEs เล่าว่า ในหนึ่งปี มี SMEs ติดต่อเข้ามาผ่านทาง Call Center เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทุกปี อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการให้บริการ ขณะที่บนเว็บไซต์เองก็อาจไม่ได้มีข้อมูลที่ตอบทุกคำถามได้อย่างครบถ้วน ทางทีมจึงพัฒนาไอเดีย AI Chatbot ภายใต้ชื่อ SAMMY สำหรับช่วยตอบคำถามให้ SMEs การมี Chatbot เข้ามา จะช่วยทั้งลดภาระของ Call Center และลดต้นทุนต่อการติดต่อเข้ามาแต่ละครั้งอย่างมาก

“ไอเดียเรื่อง Chatbot สำหรับช่วยเป็นคลังความรู้ และตอบคำถามด้านต่างๆ ให้แก่ผู้มาติดต่อนั้น สามารถนำโมเดลไปขยายและต่อยอดได้หลายทาง เราสามารถต่อยอดไปกับธุรกิจอื่นๆ ในเครือ รวมถึงอาจนำโมเดล Chatbot เหล่านี้ ไปต่อยอดกับ SMEs ให้ SMEs สามารถมี Chatbot ในการช่วยตอบคำถามลูกค้าของตัวเองได้”

ด้านนายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังผ่านการเรียนรู้อย่างเข้มข้นในช่วง 3 เดือน ผลงานของเยาวชนในปีนี้ได้สร้างสรรค์มุมมองใหม่ๆ และสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการนำไปประยุกต์ใช้ ต่อยอดได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ และเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ สายงานในนอนาคต สามารถนำ AI มาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในสายงานของตัวเอง ตลอดจนแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ ผลงานของเยาวชนทุกทีมจะยังคงได้รับการพิจารณาต่อยอด และบริษัทจะยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์เวทีใหม่ๆ เพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะความสามารถด้าน AI ผ่านกิจกรรมของ Creative AI Club โดยเร็วๆ นี้ บริษัทจะจัดการแข่งขัน Creative AI Hackathon ขึ้นอีกหนึ่งเวที

สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้นโยบายสร้างคนผ่านการศึกษา ตามปณิธานองค์กร “Giving & Sharing” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนเป็น “คนพันธุ์ AI  หัวใจโกะ” (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI  ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต ปัจจุบัน มีกิจกรรมเยาวชนด้านๆ AI ใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องภายใต้ Creative AI Club โดยผู้สนใจกิจกรรมของ Creative AI Club สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ที่ https://caicamp.cpall.co.th/

ขณะที่ค่าย Creative AI Camp ปีที่ 7 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในสายงาน AI มากกว่า 30 ราย แบ่งเป็น

1.กลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ประเทศไต้หวัน, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต

2.กลุ่ม Mentor และผู้สนับสนุนเครื่องมือ อาทิ บริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (AWS) บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, The Sun Plex Engineering And Software  Co., Ltd., Ambient19 Co., Ltd., บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ฯลฯ โดยมีทีมงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับ CEO และผู้ก่อตั้งของแต่ละองค์กรร่วมเป็น Mentor ด้วย

3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีระดับโลกและมาร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันองค์ความรู้ในนามส่วนตัว และ

4.กลุ่มผู้สนับสนุนโจทย์ปัญหา เป็นผู้คัดเลือกโจทย์น่าสนใจที่เผชิญจริงในภาคธุรกิจ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ