fbpx

‘CPAC ร่วมกับ ศรีตรังโกลฟส์ สร้างต้นแบบอุตสาหกรรมสีเขียว กู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน’

ในโลกปัจจุบันยุคที่ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนจากภาวะเรือนกระจก กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน สัตว์ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ภายใต้แบรนด์ Green Circular by CPAC Green Solution ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้และให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม สร้างการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดคุณค่าสูงสุด ผนึกกำลังสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมกับบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตถุงมือยางชั้นนำ ขยายความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาการนำวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากอุตสาหกรรมถุงมือยาง มาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตซีเมนต์ (Waste to energy) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำการเสริมสร้างด้านการจัดการทรัพยากร ตามหลักการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  

นางสาวอุมาพร เจริญศักดิ์ (Waste Circularity Business Director) บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า สำหรับการร่วมลงนามกับทาง บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดในการร่วมพัฒนา ศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมส่งเสริมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยผ่านการศึกษาแนวทางการบริหารเศษวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากกระบวนการผลิตถุงมือยาง อาทิ เถ้าลอย ตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนในการจัดการวัตถุดิบ และระบบการบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดการจัดการวัสดุเหลือใช้ให้เป็นวัสดุทดแทน หรือพลังงานทดแทน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมและลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

“นับเป็นการต่อยอดขยายผลความร่วมมือ และสานต่อความสำเร็จจากเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ระหว่าง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) กับบริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด (SRIC) โดย Green Circular by CPAC Green Solution ในความร่วมมือผ่านโครงการเพิ่มมูลค่าแก่วัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้ว จากการนำโมลด์หรือแม่พิมพ์ซึ่งใช้ในการผลิตถุงมือยางคุณภาพสูงจาก STGT ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำกลับมาเป็นวัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อใช้ผลิตเป็นวัสดุทนไฟ เป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน และก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ  Green Circular เรามีเครือข่ายโรงงานซีเมนต์  และอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ วัสดุทนไฟ ทั้งในภาคกลาง เหนือ และใต้ ที่สามารถนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงใช้งานในลักษณะ Co-processing ช่วยจัดการทรัพยากรหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี”

ด้าน นายวิทย์นาถ สินเจริญกุล กรรมการและประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า ผลจากความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง STGT และ SRIC ในโครงการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วได้ผลเป็นอย่างดี โดยตั้งแต่สิงหาคม ปี 2565 บริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ ได้ส่งมอบโมลด์หรือแม่พิมพ์ถุงมือที่ผ่านการใช้งานแล้ว ให้ทาง SRIC ประมาณ 557 ตัน ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าส่งมอบที่ 1,600 ตัน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ช่วยเติมเต็มการจัดการวัสดุเหลือใช้ ขยายผลด้วยการศึกษาแนวทางการบริหารเศษวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากกระบวนการผลิตถุงมือยาง อาทิ เถ้าลอย ตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย มาศึกษาวิจัยต่อในเรื่อง Waste to Energy และ Waste to Material  ช่วยเสริมการช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและตอบโจทย์แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้อย่างดีเยี่ยม

“ที่ผ่านมา  บริษัทฯ ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนมาโดยตลอด   เรามีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตด้วยพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล 100% จากวัตถุดิบหมุนเวียน ซึ่งใช้ในการผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ อย่างไม้ยางพาราหมดอายุ หรือ ไม้ยางพาราที่หยุดผลิตน้ำยางแล้ว   ครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่ทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ให้มีรากฐานทางสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงและยั่งยืนให้กับวงการอุตสาหกรรม”

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกบริบทที่ Green Circular by CPAC Green Solution และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ฯ คาดหวังที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้มีรากฐานทางสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงและยั่งยืน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ