fbpx

Cost Push Inflation: เมื่อภาระครองชีพ ถูกผลักให้ตกสู่ประชาชน

ในทุกจังหวะของชีวิต เราต่างทำงาน เพื่อให้ได้ค่าแรงมาตอบสนองต่อความต้องการด้านปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ รวมทั้งการสร้างฐานะให้ไปสู่อนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสมบูรณ์พูนสุข และความเจริญในระดับที่มากยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ไม่ว่าจะเจียดเฉลี่ยชั่วโมงทำงานกับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม หรือมีแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับการทำงานในระบบหรือนอกระบบ เราต่างต้องการ ‘ค่าตอบแทน’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ทุกสิ่งคงจะไร้ซึ่งความหมาย

เพราะโลกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ผูกโยงซึ่งกันและกันเช่นนี้ ประโยชน์ต่างตอบแทนกันไป ไม่ใช่อะไรที่แปลกต่าง…

หากแต่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนถึงความขัดแย้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งหลายทั้งปวง ต่างกระทบต่อห่วงโซ่ของการทำงานและผลตอบแทนอย่างเป็นระบบ และเมื่อเศรษฐกิจระดับประเทศเกิดปัญหา ระดับรายย่อยและรากหญ้า ย่อมสั่นสะเทือนและกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘เงินเฟ้อ’ คือคำที่ปะปนไปด้วยอารมณ์ที่ผสมผสานกัน สำหรับผู้ประกอบการส่งออก เพราะเงินที่ได้ จะมากขึ้น แต่สำหรับผู้บริโภค เงินเฟ้อ คือการที่เงินจำนวนเท่าเดิม มีมูลค่าลดลง ซื้อสินค้าได้น้อยลง และอาจจะต้องทำงานเป็นจำนวนเวลามากขึ้น เพื่อให้ได้ปัจจัยเท่าเดิมในการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อ ก็มีหลากหลายรูปแบบ และรูปแบบที่กำลังเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือรูปแบบเงินเฟ้อที่เรียกว่า ‘Cost Push Inflasion’ หรือ ‘เงินเฟ้อแบบต้นทุนเพิ่ม’

ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเงินเฟ้อแบบต้นทุนเพิ่มหรือ Cost Push Inflation นั้น ให้ลองนึกภาพเป็นสองทางดังต่อไปนี้

-ฝั่งผู้ประกอบการ มีต้นทุนเท่าเดิม สามารถซื้อของเตรียมขายได้ปริมาณเดิม ในราคาเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

-ฝั่งผู้บริโภค มีจำนวนเท่าเดิม มีเงินกำอยู่ในมือเท่าเดิม สามารถซื้อของจากผู้ประกอบการได้หมด ในราคาที่ตั้งไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง

สภาวะเช่นนี้คือสมดุลที่รับได้ ไม่เกิดเงินเฟ้อ ไม่เกิดภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าในสมการดังกล่าว ฝั่งผู้ประกอบการ จำต้องขึ้นราคาสินค้า ตามปัจจัยของตลาด ไม่ว่าจะด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ค่าเงินที่ลดลง และฝั่งผู้บริโภคที่มีจำนวนเท่าเดิม เงินเท่าเดิม ซื้อสินค้าในราคาใหม่ แต่ไม่สามารถตอบสนองได้ในปริมาณเท่าเดิม นั่นคือสภาวะที่เป็นเงินเฟ้อแบบผลักภาระต้นทุนเพิ่มในทันที

นี่คือสภาวะที่อันตรายต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะฝั่งผู้ประกอบการ ก็อยากจะขายสินค้าในปริมาณเท่าเดิม และ/หรือ มากขึ้น แต่จำต้องลดราคา ลดปริมาณ หรือลดกำไรต่อหน่วย ฝั่งผู้บริโภค ก็ต้องการที่จะซื้อสินค้าเพื่อตอบสนองต่อการดำรงชีพเท่าเดิม ภายใต้สภาวะที่ค่าเงินลดลง

จากการยกตัวอย่างข้างต้น กลับมาดูในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ปัญหาค่าเงินลดลง ปัญหาต้นทุนค่าก๊าซหุงต้ม ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องปิดตัว และทำให้คนทำงานในภาคส่วนนั้นต้องออกจากระบบ มันกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด

แต่ในขณะที่รายได้ลดลง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่คนก็ยังต้องกิน ต้องใช้ ต้องดำเนินชีวิตต่อไป …. ปลายทางคืออะไร มันค่อนข้างจะน่ากลัวอยู่ไม่น้อย

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจากต้นทุนสูงขึ้น มองเผินๆ แล้ว อาจจะบอกได้ว่า ถ้าลดต้นทุนของต้นทาง ให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อสินค้ามาประกอบขายในราคาและกำไรเท่าเดิม ผู้บริโภคซื้อได้ในราคาเดิมปริมาณเดิม เป็นการคิดที่ฉายฉวยจนเกินไป เพราะอย่าลืมว่า วัตถุดิบที่ใช้สำหรับผู้ประกอบการ ก็มีผู้ประกอบการอยู่เบื้องหลัง ถ้าไม่แก้เศรษฐกิจในภาพกว้าง ให้เกิดความแข็งแกร่งไปพร้อมกัน ก็ยากนักที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้จบสิ้นลงไปได้

และนั่นทำให้เรื่องหมูแพง ไก่แพง น้ำมันแพง และอาจจะรวมถึงอื่นๆ ที่อาจจะแพงตามมา ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม และมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าอะไรแพงก็ไปกินอย่างอื่น เพราะท้ายที่สุด ….

ตัวที่ทำให้มัน ‘แพง’ ไม่ใช่ชนิด ไม่ใช่ประเภท แต่เป็นสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อนไปตามกลไก และถ้าปล่อยไว้จนสาย เราคงได้พบว่า มันคงไม่เหลืออะไรที่ ‘ถูก’ เป็นทางเลือกให้เราได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ ผู้บริโภค หรือภาคธุรกิจอื่นๆ ก็ตาม

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ