Consumer Insight : สิ่งที่แบรนด์พึงใส่ใจ ในพฤติกรรมการบริโภคที่จะเปลี่ยนไปหลัง COVID-19
ขอขอบคุณภาพจาก : Internet
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น อย่างที่เราทราบกันดี ว่าส่งผลกระทบรอบด้านต่อทุกภาคส่วนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นรวมไปถึงการค้าขายและการตลาดที่รูปแบบเก่าๆ ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ ตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปและยังไม่มีความแน่นอนชัดเจนว่าปลายทางนั้นจะไปสิ้นสุดลงที่ไหน และเมื่อใด
หลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน ต่างต้องล้มหายตายจากไปในชั่วข้ามคืน ธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็กที่สายป่านยาวไม่เพียงพอ ยังรอการช่วยเหลือจากภาครัฐท่ามกลางเข็มที่นับถอยหลังลงไปทุกขณะ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่เช่นห้างสรรพสินค้าที่ต้องปิดตัวลงสนองต่อนโยบาย Social Distancing ที่มีรายจ่ายออกไปในทุกวัน (ท่ามกลางรายรับที่เกือบจะติดศูนย์)
เหล่านี้ เป็นสถานการณ์จำเพาะที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัว รับมือ และทำความเข้าใจต่อ Insight ของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่ในสถานการณ์ COVID-19 หากแต่เป็นภาพรวม แม้วิกฤติดังกล่าวนี้จะผ่านพ้นไปแล้ว (เพราะขึ้นชื่อว่า ‘พฤติกรรม’ นั้น เมื่อมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยากนักที่จะย้อนกลับไปสู่วงจรและความคุ้นชินแบบเดิมๆ อีก…)
ในด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น จากเดิมที่ผู้บริโภคนิยมการเลือกซื้อสินค้าหน้าร้านแบบจับต้องได้ ก็เริ่มหันไปสู่การซื้อและขายผ่านช่องทางออนไลน์และแพลทฟอร์มเฉพาะ ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือยบางชนิด ดังที่เราจะเห็นได้จากการเติบโตของบรรดาบริการรับส่งเช่น Grab และ Food Panda ที่ผู้คนต่างเก็บตัวอยู่ในบ้าน และใช้บริการดังกล่าวมากขึ้นตามเวลาที่ผันผ่านไป รวมไปถึงปัจจัยด้าน ‘ปริมาณ’ ที่มากขึ้นต่อหนึ่งการซื้อ เพื่อความคุ้มค่าทั้งรายจ่ายและเวลาที่ต้องเสียไป
สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ และสินค้าที่ยังไม่มีความจำเป็นมากนักเช่นรถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือ รูปแบบการซื้อนั้นมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในระหว่างสถานการณ์ COVID-19 และจะยังคงตัวอยู่แม้ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปแล้ว (จากการคาดการของนักวิเคราะห์ทางการตลาด) ซึ่ง ‘ความภักดีต่อแบรนด์’ ก็จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค ที่แม้จะลดลง แต่ก็ยังคงมีพลังที่แบรนด์ไม่อาจมองข้ามไปได้
แต่อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มากที่สุด คืออุตสาหกรรมความบันเทิง ที่แนวโน้มการบริโภคผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์นั้น จะยิ่งทวีความต้องการที่สูงขึ้น (จากเดิมที่สูงอยู่แล้วในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น) ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้คนอยู่ติดบ้านมากขึ้น การสันทนาการ กิจกรรมยามว่าง และการเสพสื่อบันเทิงในรูปแบบออนไลน์ มีตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การรักษาฐานผู้บริโภคและความภักดีต่อแบรนด์ด้วยตัวเลือกที่น่าสนใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องถูกนำมาคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้ เราอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสภาวการณ์ที่มีลักษณะจำเพาะเป็นอย่างมาก และกระทบต่อธรรมชาติการทำธุรกิจในทุกภาคส่วนอย่างเป็นสำคัญ การพิจารณา Insight ของผู้บริโภคนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และจำต้องปรับตัวอย่างยืดหยุ่น หากจะสามารถอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน และสถานการณ์ภายหลัง COVID-19 ผ่านพ้นไป ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความจำเป็นดังกล่าว ที่กำลังจะกลายเป็น ‘New Normal’ ในเร็ววันนี้