fbpx

Claim Di : เรื่อง ‘เคลม’ เรื่องง่าย ชนแล้วแยกย้าย แค่ปลายนิ้วสัมผัส

ในการขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม   ต้องเคยประสบเหตุมาบ้าง จะมากจะน้อย เฉี่ยว ชน กระแทก หรือร้ายแรงในระดับที่จำสภาพยานพาหนะไม่ได้ไปเลยก็มี และถ้าอุบัติเหตุบนท้องถนนของยานพาหนะเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และมี ‘คู่กรณี’ ด้วยนั้น คนกลางที่คอยประสาน ดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อม คงหนีไม่พ้น ‘ตัวแทนประกันภัย’ ที่จะมาถึงที่เกิดเหตุ บันทึกภาพ เขียน ‘ใบเคลม’ เพื่อเป็นหลักฐาน 

แน่นอน ความรวดเร็วของตัวแทนประกันภัย คือสิ่งสำคัญ รวมถึงกระบวนการในการออกใบเคลม และการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากทั้งหลาย เพื่อที่ทุกคนจะได้แยกย้ายอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และมุ่งสู่การดำเนินชีวิตต่อไป

ในประเด็นนี้  GM Live ได้มีโอกาสพูดคุยกับ แจ็ค – กิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO และ Co-Founder บริษัท Claim Di ผู้มีประสบการณ์ในการทำระบบ ‘สายด่วน’ และการพัฒนาโปรแกรมเพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ก่อนจะหันมาจับแนวทาง ‘ประกันภัย’ ที่พลิกโฉมให้เรื่อง ‘เคลม’ เป็นเรื่องง่าย ชนแล้วแยกย้าย ทุกอย่างจบได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ที่มาแชร์มุมมอง โลกทัศน์ ทิศทางของแวดวง Startup รวมถึงเส้นทางที่เขาจะก้าวเดินต่อไปในโลกที่ทุกสิ่งไม่หยุดนิ่งอย่างเช่นทุกวันนี้

และแม้แอปพลิเคชันของเขา จะช่วยให้จบได้ง่าย เร็ว แต่บทสัมภาษณ์นี้ค่อนข้างจะยาวอยู่ไม่น้อย แต่รับประกันว่าคุ้มค่ากับเวลาที่อ่านอย่างแน่นอน

แรงบันดาลใจจาก ‘โลก Sci-Fi’

สำหรับผู้ริเริ่มทำธุรกิจ โดยเฉพาะ Startup นั้น โดยส่วนใหญ่ที่พบเห็น จะได้แรงบันดาลใจจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ มีไอเดียที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกหรือมองเห็นปัญหาที่ยังไม่มีใครเข้าไปแก้ไข ซึ่งคุณแจ็คเองก็ไม่ต่างกัน หากแต่สำหรับเขา มันเลยไปไกลมากกว่านั้น

“แรงบันดาลใจของผมมาจากภาพยนตร์เรื่อง Star Trek เลยนะ ตอนนั้นยังเด็กมาก รู้สึกล้ำมากๆ ทั้งประตูที่เปิดเองได้ โทรศัพท์โทรข้ามจักรวาล มีอุปกรณ์ที่เหมือนแท๊บเล็ตในปัจจุบัน มีเครื่องย้ายมวลสารส่งคนข้ามสถานที่ สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในหัวผมเลย”

เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง ได้กลายมาเป็นความจริงในโลกปัจจุบัน ก็พอจะอนุมานได้ว่าซีรีส์ Sci-Fi ยอดฮิตเรื่องนี้ มีคุณูปการต่อการพัฒนาโลกแห่งเทคโนโลยีทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ไม่น้อย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแจ็คตัดสินใจเข้าศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ มศว. ประสานมิตร และเริ่มต้นทำงานในเส้นทางอาชีพที่เกี่ยวข้องทันที

“พอเรียนจบตอนปี 1989 ได้ทำงานที่บริษัท Datamat ซึ่งเป็นบริษัทด้าน IT ในตำแหน่งพนักงานขายคอมพิวเตอร์เมนเฟรม NDC ขนาดใหญ่เท่าห้องเลย แต่ความจุของมันแค่เพียง 1mb เท่านั้น ผมก็ทำงานเรื่อยมา ได้เห็นพัฒนาการของรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลมาโดยตลอด ที่มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง แต่เก็บข้อมูลได้มากขึ้น จนถึงตอนนี้ แทบไม่ต้องมีตัวกลางแล้ว จัดเก็บขึ้น Cloud-Based กันเลย”

จาก 911 สู่โลกแห่ง ‘การประกันภัย’

“มีช่วงที่ผมทำงานอยู่บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (ปัจจุบันคือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์) ได้รับโปรเจ็กต์ให้ทำระบบ ‘สายด่วน 911’ ซึ่งกลายมาเป็น 191 ของไทย” คุณแจ็คกล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญของงาน ‘สายด่วน’ นั้นที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของเขากับเส้นทางสายนี้

“หลังจากนั้น ผมมีโอกาสออกไปตั้งบริษัทที่ชื่อ นครหลวง City Insurance เกี่ยวข้องกับงานสายด่วนฉุกเฉินด้านอุบัติเหตุและการประกันภัย ทำให้มองภาพของงานประกันภัยได้กว้างยิ่งขึ้น แล้วผมก็นำเทคโนโลยี Palm OS เข้ามาใช้ในงานด้านนี้ด้วย”

อดสงสัยไม่ได้ว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสายด่วนด้าน ‘ประกันภัย’ นั้น มีนัยสำคัญ หรือทำให้เกิดผลต่างอย่างไร  โดยคุณแจ็คได้อธิบายขั้นตอนของงานด้านนี้ให้ฟัง…จากยุคแรกเริ่มสุด

“เวลาเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน เห็นตำรวจมาพ่นสเปรย์สีขาวๆ ใช่ไหม นั่นคือ เขาพ่นเพื่อให้รู้ว่าล้อของรถในกรณีนั้น มาจากทางไหน แล้วลองนึกภาพตาม เมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องเดินไปหาตู้โทรศัพท์สาธรณะที่ใกล้ที่สุด เมื่อตำรวจมาถึงก็จะเขียนใบสั่งให้คู่กรณีทั้งสองเพื่อนำไปเคลมกับบริษัทประกันภัย”

“ตอนหลัง มีพนักงานประกันภัยหรือ Surveyor ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ ก็เริ่มใช้วิทยุสื่อสารติดต่อกัน เพื่อไปถึงที่เกิดเหตุ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่รุดหน้ามาก สิ่งที่ทำได้คือ ‘ถ่ายรูป’ ด้วย ‘กล้องฟิล์ม’ หนึ่งม้วน 36 ภาพ ถ่ายให้หมด แล้วเอาฟิล์มไปล้าง อาจจะใช้เวลา 3 วันจนถึงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะเอาไปสแกนเข้าฐานข้อมูล และออกใบเคลมให้ไปซ่อมที่อู่”

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น และนั่นจึงกลายเป็นที่มาในการก่อตั้งบริษัทที่พลิกโฉมวงการประกันของคุณแจ็ค

เพราะทุกนาที คือชีวิต

มีคนกล่าวว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิตคือ ‘เวลา’ ที่เดินรุดหน้า และไม่ถอยย้อนกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกี่ยวพันกับความเป็นความตายใน ‘อุบัติเหตุทางรถยนต์’ ซึ่งผลสำรวจน่าสนใจอย่างยิ่ง

“มีผลการสำรวจของ World Health Organization หรือ WHO เกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตของประชากรบนโลก ซึ่ง 30% เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ 60% เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ และอีก 10% เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ” คุณแจ็ค กล่าวถึงข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ “โดยใน 10% ของที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้น แยกย่อยได้อีกว่า 10% เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 30% เสียชีวิตในระหว่างรอความช่วยเหลือ และอีก 40% เสียชีวิตระหว่างทางไปโรงพยาบาล ในระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง คือถ้าคุณข้ามเส้น 4 ชั่วโมงที่ว่านี้ไม่ได้ คือตายแน่ๆ”

แล้วสำหรับผู้ที่ ‘ข้ามเส้น 4 ชั่วโมง’ และรอดชีวิตมาได้ล่ะ เป็นอย่างไร? แน่นอน คุณแจ็คได้เสริมในจุดนี้ 

“น่าตกใจนะ เพราะคนที่รอดชีวิตมาได้ คืออยู่ในสถานะพิการใช้ชีวิตลำบากเลย และคิดเป็นจำนวนไม่น้อย ตกราวๆ 5 ล้านคนต่อปี นั่นทำให้ผมเริ่มคิดว่า จะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าลดจำนวนผู้พิการลงได้ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาถึงมือแพทย์ได้เร็วที่สุด ผมอยากสร้าง ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างทันท่วงที ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างโทรศัพท์มือถือ จึงตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัท Anywhere to Go ที่พัฒนางานซอฟท์แวร์และระบบสายด่วนให้กับหน่วยงานต่างๆ ถ้าคุณโทรมา เราจะรู้พิกัดของคุณ สามารถส่งรถฉุกเฉินและตำรวจไปได้ทันที”

และแน่นอน งานนี้ ครอบคลุมไปถึงงานด้าน ‘ประกันภัย’ อุบัติเหตุทางรถยนต์อีกด้วย 

ถึงจุดนี้ เขาได้เสริมว่า แม้จะเริ่มเติบโตและทำกำไรให้บริษัทได้อย่างสวยงาม แต่ท้ายที่สุด ด้วยโมเดลธุรกิจเริ่มต้นแบบ ‘SME’  คงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยง ‘การปะทะ’ กับรายใหญ่ในท้ายที่สุด

“สมมติว่า ในประเทศไทยมีบริษัทประกันภัยอยู่สัก 50 บริษัท ถึงผมจะมีระบบ มีซอฟท์แวร์ที่พร้อมใช้งาน แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะขายให้ครบทั้ง 50 บริษัทแต่เพียงเจ้าเดียว สงครามราคาจะเกิดขึ้นแน่ๆ และผมในฐานะบริษัทขนาดเล็ก ก็แทบจะไม่มีกำลังไปคัดง้างอะไรกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม และกระบวนการ ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ จะตามมา”

และนี่คืออีกจุดเปลี่ยนสำคัญ เริ่ม Shift ตัวเองและบริษัท เพื่อโอบรับ ‘แนวคิดใหม่’ อีกครั้ง 

ความคล่องตัวของ Startup และ ‘วงจรธุรกิจ’

สิ่งหนึ่งที่ได้ยินอยู่เสมอเกี่ยวกับธุรกิจ Startup ซึ่งเป็นข้อดีอันไม่อาจมองข้ามได้ คือ ‘ความคล่องตัว’ ในการทำธุรกิจ ที่สามารถพลิกผัน ลื่นไหล และเคลื่อนตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าโมเดลธุรกิจแบบเก่า ซึ่งคุณแจ็คมองเห็นความจำเป็นในจุดนี้ และพร้อมสำหรับการ ‘ปรับเปลี่ยน’ ให้เท่าทัน 

“ผมไปเข้าคอร์ส DTAC Accelerate  ได้สอนแนวคิดว่าจะทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว” คุณแจ็คพูดถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง “พอผมเปลี่ยนมาเป็น Claim Di ผมไม่ขายซอฟท์แวร์แล้ว แต่ขายบริการ กล่าวคือ ผมมีระบบให้คุณไปใช้นะ คุณใช้ได้ฟรีสำหรับงานประกันภัย ทั้งระบบที่ให้กับคนเดินประกัน มีอุปกรณ์และซอฟท์แวร์พร้อมสรรพ คุณใช้ได้เลย แต่ถ้าคุณรับสายเกินกว่าคนที่เท่านี้ๆ ผมขอเก็บอัตราค่าบริการต่อหนึ่งสายนะ ซึ่งผมเก็บเพิ่มในอัตรา 150 บาท/สาย ซึ่งดีกว่าการไปเดินขายซอฟท์แวร์อยู่มาก เพราะอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้ตลอด ยิ่งวันที่ฝนตก รถติด หรือการจราจรหนาแน่น แทบจะเรียกว่าทำงานกัน 24 ชั่วโมง มีคนสแตนด์บายรอเลย”

ในปัจจุบัน พนักงานของ Claim Di ที่ดูแลคอลเซ็นเตอร์ มีอยู่ประมาณ 13,000 คน ทั่วประเทศ ครอบคลุมในทุกจังหวัด ถือเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า

“ว่ากันง่ายๆ ถ้าบริษัทประกันภัยเติบโต ผมก็เติบโตตามเขาไปด้วยครับ ผมไม่ต้องลงสนามแข่งสงครามราคาอะไรอีกแล้ว” คุณแจ็คกล่าว

ตลาด Startup ที่ทวีความท้าทาย 

ในปัจจุบันมองเห็นการเติบโตและการกำเนิดขึ้นของบริษัท Startup ในเมืองไทยอย่างมากมาย ในสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่หลายผู้ประกอบการมองว่าเป็นทั้ง ‘วิกฤติ’ และ ‘โอกาส’ แต่คุณแจ็คกลับมองไปไกลมากกว่านั้น

“ส่วนตัวคิดว่าโมเดล Startup ยังสามารถทำได้นะครับ ไม่ได้มีขีดจำกัดหรือกำแพงมาปิดกั้น แต่จะยากขึ้น เพราะคุณไม่ได้แข่งแค่กับ Startup รายอื่นๆ แต่รวมถึง SME ที่ผันตัวเองมาใช้โมเดลธุรกิจนี้ หรือแม้กระทั่งบริษัทใหญ่ๆ เอง ก็เริ่มแตกสาขาพัฒนาระบบและบริการที่คล้ายกับ Startup ขึ้นมาใช้แล้ว ไม่นับรวม Startup ต่างชาติที่เข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งการตลาด และนั่นคือสิ่งที่ต้องพึงระวังอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ทุกคนรู้ตัวแล้ว ว่ายุคแห่งการ Disrupt ได้มาถึง”

อีกประการหนึ่งที่คุณแจ็คเสริมในฐานความคิดของการทำโมเดลธุรกิจแบบ Startup คือ การมองให้รอบ ว่าสิ่งที่จะทำ จะเข้าไปอยู่ใน ‘วงจร’ ของธุรกิจใดบ้าง

“การทำ Startup ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องทำแอปพลิเคชันเสมอไป คุณจะสร้างระบบด้วยโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Excel หรือ Google Sheet ก็ยังได้ ธุรกิจคือธุรกิจ ธุรกิจไม่ใช่แอปพลิเคชัน และที่สำคัญ คุณต้องมองให้ขาด ว่าสิ่งที่คุณจะทำ นั้นสามารถเข้าไปอยู่ใน ‘วงจร’ ของธุรกิจแบบใดได้บ้าง ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบให้กับแวดวงใดได้บ้าง อย่างของผมกับ Claim Di ที่ทำธุรกิจประกันภัย เกี่ยวโยงหมด ตั้งแต่คนเดินประกัน โรงพยาบาล ตำรวจ ธนาคาร สินเชื่อ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ หรือแม้แต่อู่ซ่อมรถที่คุณเอาใบเคลมประกันไปซ่อม ซึ่งถ้าไปถึงขั้นนั้นได้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ Startup ประสบความสำเร็จ”

เพราะธุรกิจคือธุรกิจ และการมองให้ขาดในสิ่งที่ตนเองทำและตั้งใจจะไปให้ถึง คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง Claim Di ในวันนี้ ได้ก้าวไปสู่ระดับนั้นแล้วเป็นที่เรียบร้อย 

ก้าวต่อไปของ ‘ชนแยกย้าย จ่ายแล้วจบ’ 

มาถึงวันนี้ สามสิบกว่าปีในการทำงาน และ 21 ปีกับ Claim Di ซึ่งก่อตั้งในปี 2000 สำหรับ ‘แจ็ค – กิตตินันท์ อนุพันธ์’  ได้ผ่านอะไรลองผิดลองถูกมามากมาย  สัมผัสกับความเปลี่ยนผ่าน และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่ทำให้การทำธุรกิจของเขาไม่เคยเก่า แล้วเป้าหมายต่อไปของเขาจะอยู่ที่ใด

“อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้เริ่มทำไปแล้ว มีบริการที่เป็นหลังบ้านให้กับบริษัทเดลิเวอรีหลายเจ้า ช่วยเหลือด้านการส่งยาและเวชภัณฑ์ในปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งตอนนี้ก็กลายเป็น ‘Cloud Kitchen’ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่อยากโดนหักค่าหัวคิวที่แพงจนเกินไปและไม่คุ้ม”

และเมื่อ GM Live ถามถึงเป้าหมาย ‘ส่วนตัว’ ในฐานะผู้บริหาร ที่น่าจะถึงจุดอิ่มตัวกับธุรกิจและความสำเร็จ คำตอบที่ได้ กลับผิดไปจากที่คาดคิดไว้อย่างมาก 

“จุดมุ่งหมายของผมเปลี่ยนไปนะ สมัยก่อนที่ยังเป็น SME ก็อยากมีกิจการที่ส่งต่อให้ลูกหลาน ไม่ก็ผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่วันนี้ พอผันตัวเองเป็น Startup ผมเองก็ฝันอยากจะเป็น Unicorn เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าถ้าไปถึงได้แล้ว Exit จบเลย  โดยส่วนตัวตอนนี้อายุ 54 ปี สมมติว่าสามารถ Exit ได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็จะอายุ 58 ปี ฟังดูเหมือนแก่และควรพร้อมจะเกษียณ แต่ในโลกแห่งธุรกิจ Startup และงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ต่อให้อีกสิบปีข้างหน้า ก็ยังสามารถทำได้ ไม่เคยสายไป โลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าสมมติว่าผม Exit ได้ตอนอายุ 58 ก็อยากลองดูอีกครั้งนะ ว่าถ้าผมเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยความพร้อมเท่านี้ จะสามารถปลุกปั้นธุรกิจให้เป็นอีกหนึ่ง Unicorn ได้หรือเปล่า จะสามารถเป็น ‘Serial Entrepreneur’ ได้หรือไม่น่ะครับ”

เราจบการสนทนากับคุณแจ็ค พร้อมคำถามที่เกิดขึ้นในใจ

ถ้าหากในวันนี้ โลกแห่งการประกันภัย สามารถเข้าสู่ขอบเขตที่สะดวกได้แบบ ‘ชนแล้วแยกย้าย จ่ายแล้วจบ’ ที่ทุกอย่างนั้นง่าย สะดวก รวดเร็วแล้ว ถ้าจะพัฒนาไปอีกขั้น จะไปถึงระดับไหน 

และ Claim Di ในอีกสี่ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร…. 

สำหรับชายผู้มากพลังอย่าง ‘แจ็ค – กิตตินันท์ อนุพันธ์’ เป็นสิ่งที่ชวนให้เฝ้าลุ้นและรอคอยผลลัพธ์ด้วยใจระทึกยิ่ง และอาจจะมาถึงได้เร็ว ไม่ต่างกับการเคลมประกันในปัจจุบันก็เป็นได้ 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ