ตรุษจีนและบ้านที่ไม่ได้กลับ ในควันหลงการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ของจีน
ในช่วงเวลาแห่งเทศกาลตรุษจีน ภาพจำที่มักจะคุ้นตากันดีอย่างการพบปะญาติผู้ใหญ่ การรับประทานอาหารร่วมกัน และการออกไปจับจ่ายซื้อของในย่านชาวจีน คือสิ่งปกติธรรมดาสามัญที่แทบจะเป็นพลวัตรที่ไม่เคยผิดไปจากนี้ ไม่ว่าจะในภูมิภาค หรือประเทศใด และอาจจะเรียกได้ว่า เป็นธรรมเนียมที่ลูกหลานชาวจีนเชื้อสายต่างๆ พึงปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ไม่ละเลยเป็นอันขาด
เพราะมันคือวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ เวลาปีใหม่จีน และการเวียนกลับมาของสิบสองนักษัตร ที่จะให้โชคลาภและความมั่งมีศรีสุขในตลอดระยะเวลาถัดจากนี้ ไปจนกว่าจะถึงปีหน้า…
แต่ดูเหมือนว่า ตรุษจีนปี 2022 อาจจะเป็นอีกปีหนึ่ง ที่ความซบเซาจากการแพร่ระบาดของโรค และสภาวะเศรษฐกิจ ได้ทำให้วงจรของธรรมเนียมดังกล่าว ต้องชะงักลง
อย่างที่ทราบกันดี ในช่วงเดือนธันวาคม 2021 นั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำท่าจะทุเลาลง เริ่มส่อเค้ากลับมาในรูปแบบใหม่ และสายพันธุ์ Omicron ที่มีอัตราการติดต่อที่สูงขึ้น และผลกระทบที่ยังคงรอการสรุปว่า จะมีความร้ายแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta ที่ก่อให้เกิดวิกฤติในรอบหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมาหรือไม่
แน่นอนว่า ในทางระบาดวิทยา การมีเชื้อสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่าย และยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่นอนนั้น เป็นความเสี่ยง และหลายประเทศ ต่างเพิ่มมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ตั้งเป้าว่าจะทำให้ประเทศปลอดภัยจาก COVID-19 ให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้นั้น ก็ได้ออกมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว
นั่นคือการจำกัด ‘การเดินทาง’ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
การจำกัดการเดินทางนั้น เพื่อลดความพลุกพล่านที่อาจจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น ลกเอี๋ยง ปักกิ่ง และเจี่ยหยาง รวมถึงรณรงค์ ลดการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่รอบนอก แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนทั้งประเทศ จะอยู่ที่ระดับ 86.6% แล้วก็ตาม
เรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในทางหนึ่ง การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในรอบสองถึงสามปีที่ผ่านมา ดังที่ประจักษ์กันแล้วว่า ร้ายแรงและมีผลลัพธ์ที่เกินคาดเพียงใด จำนวนผู้เสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการปรับสภาพทางสังคมที่นำไปสู่มาตรฐานใหม่ที่ไม่อาจจะกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีก การมีสัญญาณบางอย่างที่ส่อเค้าถึงการระบาด ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ควรดูดาย หรือมองข้าม
แต่ในอีกทางหนึ่ง เทศกาลตรุษจีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดและสืบทอดกันมาแต่ยาวนานเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเวียนในระบบ รายได้ที่นำกลับเข้าสู่ประเทศ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่รอบนอก ต่างมีเทศกาลตรุษจีนเป็นเครื่องมือสำคัญ
และเหนือสิ่งอื่นใด ความห่างเหินที่เกิดขึ้นจากการเว้นระยะทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา มันก็มากเกินพอที่จะทำให้ใครต่อใครหลายคน โหยหาถึงสัมผัสและความใกล้ชิดจากคนในครอบครัว และนั่นคือปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้
ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศจีน สำหรับประเทศไทย วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID สายพันธุ์ Omicron เอง ก็ได้สร้างผลกระทบต่อลูกหลานไทยเชื้อสายจีนไม่น้อย ทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ไม่สะดวก จนถึงมาตรการงดจัดงานตรุษจีนที่ย่านเยาวราชและภูเก็ต ซึ่งถ้านับเป็นเม็ดเงินที่หายไป ทั้งจากภาคเศรษฐกิจและภาคบริการแล้ว แผลเดิมที่ยังไม่หายดี ก็อาจจะยิ่งทวีความเจ็บปวดหนักขึ้นไปอีก
หลายคนอาจจะรู้สึกว่า มันจะยังจำเป็นหรือไม่ กับการที่เทศกาลตรุษจีนแบบ ‘พร้อมหน้าพร้อมตา’ ยังต้องดำเนินต่อไป ในแง่นี้ คงต้องบอกว่า มันอาจจะยืดหยุ่นได้ แต่จะไม่หายไป เพราะจะมากหรือน้อย แม้โลกจะมุ่งหน้าไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นเพียงใด แต่สำหรับบางธรรมเนียม ที่ถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนับพันปี และยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ มันต้องมี ‘ความสำคัญ’ มากพอ ทั้งในทางเศรษฐกิจ และทางด้านจิตใจ
เพราะไม่มีใครที่จะสามารถแยกขาดจากบริบทแวดล้อมทางสังคมไปได้ตลอดกาล
ท้ายที่สุดนี้ ปีเสือแห่งพลัง อาจจะดูซบเซาจากโรคร้ายที่รุมเร้า และเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ถ้าเรามองในแง่ดีสักนิดก็คงจะพบว่า อย่างน้อย มันก็ไม่ได้ร้ายแรงจนสาหัสสากรรจ์เฉกเช่นปีที่ผ่านๆ มา และมีทีท่าว่า จะดำเนินไปในทางที่ดีบ้าง
และเทศกาลตรุษจีนอาจจะเบาบาง แต่จะไม่หายไป ไม่ใช่ในเร็ววันนี้….
เช่นเดียวกับที่เหล่านักษัตรจะต้องเวียนมาประจำบัลลังก์ บำรุงสุขให้แก่ลูกหลานชาวจีนทั่วโลก ให้พบกับความมั่งมีศรีสุขอยู่ทุกเมื่อเชื่อไป เช่นนั้นเอง