fbpx

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง: วิสัยทัศน์และย่างก้าวใหม่ ของเชฟรอนประเทศไทย ในด้านความมั่นคงทางพลังงาน

ในบรรดาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น เราคงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ‘อุตสาหกรรมพลังงาน’ คือปัจจัยหลักสำคัญ ที่เปรียบได้ดั่งเครื่องยนต์ที่ช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัด เช่นนั้นแล้ว การลงทุน การพัฒนา และการสร้างขีดความสามารถในการผลิตเพื่อให้เท่าเทียมต่อความต้องการ จึงถูกจัดอยู่ในลำดับหัวแถว บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรฐานและความมั่นคงทางพลังงาน จากการบริหารงานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เป็นเวลาต่อเนื่องมากว่าสี่ทศวรรษ

และในวาระที่ความเปลี่ยนแปลงจะก้าวเข้ามาถึง GM Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเข้ามารับไม้ต่อในช่วงเวลาอันสำคัญเช่นนี้ ร่วมพูดคุย แสดงวิสัยทัศน์ ทั้งแนวทางในการบริหารงาน และประสบการณ์ที่อยู่ร่วมกับเชฟรอนกว่าสองทศวรรษ เหนือสิ่งอื่นใด คือทิศทางที่เชฟรอนประเทศไทย จะก้าวต่อไป ในโลกที่ตลาดพลังงานได้เติบโต เปลี่ยนแปลง และมีช่องทางในการแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศให้ยั่งยืนสืบไป  

//จากจุดเริ่มต้น กับเวลากว่าสามทศวรรษในเส้นทางสายพลังงาน//

ในเบื้องแรกที่ได้พบเจอนั้น อดที่จะรู้สึกไม่ได้ ว่าคุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นั้น ดูหนุ่มกว่าที่คิด เป็นความประทับใจแรกในการพบเจอกัน แต่คำตอบที่ได้รับกลับมานั้น ทำให้ทึ่งอยู่ไม่น้อย เพราะคุณชาทิตย์ เติบโตมากับเส้นทางสายพลังงานมากว่าสามทศวรรษ และในเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่อยู่กับเชฟรอนกว่ายี่สิบปี

‘ตั้งแต่เรียนจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมปิโตรเคมี ก็ทำงานด้านนี้มาตลอดครับ’ คุณชาทิตย์กล่าว ‘ตอนนั้นทำงานอยู่บริษัท Schulmberger ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสไปทำงานในหลายพื้นที่ ต่อมาได้เข้าร่วมกับบริษัท Unocal ซึ่งภายหลัง ได้ถูกควบรวมกับทาง Chevron ซึ่งก็ได้ประสบการณ์การทำงานจากสองบริษัทก่อนหน้านั้น มาใช้กับตอนที่ทำงานกับทางเชฟรอนครับ’

เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากๆ สำหรับคนหนึ่งคน ที่อยู่บนเส้นทางสายอาชีพนี้ ไม่ต้องเอ่ยถึงการก้าวไปสู่จุดสูงสุดอย่างตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ซึ่งคุณชาทิตย์ ถือได้ว่าเป็นคนไทยคนที่สาม ที่สามารถก้าวมาอยู่ในตำแหน่งนี้จึงอดถามไม่ได้ว่า ภายใต้สภาวะการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างชาติโดยตลอดนั้น มีความลำบากใจหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องมาอยู่ในตำแหน่งบริหารสูงสุด

‘ผมคิดว่าคนต่างชาติเขามองที่ผลลัพธ์จากสิ่งที่ทำนะครับ จากที่เคยร่วมงานกันมา’ คุณชาทิตย์อธิบาย ‘คือเราสื่อสารกับเขาเข้าใจ มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เราผ่านการพิสูจน์ตัวเองจากหน้างานมาแล้วว่าทำได้จริง มีความเข้าใจในเนื้องาน ผมเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอที่จะทำให้เขายอมรับ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตามครับ’

แต่แน่นอน เมื่อยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูง ความกดดัน และภาระความรับผิดชอบที่ตามมาก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณชาทิตย์กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ และอาจจะเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของเชฟรอนประเทศไทยเลยก็ว่าได้…

//การส่งผ่าน ‘แหล่งเอราวัณ’ ด้วยความรับผิดชอบและปลอดภัย//

เป็นที่รับรู้กันว่า เอราวัณ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นแหล่งที่เป็นต้นสายธารในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนของประเทศไทย

แต่ในเวลานี้ เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน แหล่งเอราวัณ จะเปลี่ยนมือจากเชฟรอนประเทศไทย ไปอยู่ในความดูแลของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่จะเข้ามากำกับดูแลในภาคการผลิต รับไม้ต่อจากสิ่งที่เชฟรอนประเทศไทยได้ทำไว้ และนี่คือภารกิจสำคัญ ทั้งกับเชฟรอน รวมถึงคุณชาทิตย์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารที่ต้องดูแล

‘แหล่งเอราวัณ ถ้าเปรียบได้กับคนคนหนึ่ง ก็ต้องถือว่าเป็นคนที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านครับ’ คุณชาทิตย์กล่าวถึงแหล่งเอราวัณ ‘และในทางหนึ่ง เอราวัณก็ต้องถือว่า เป็นความภาคภูมิใจของชาวเชฟรอนในตลอดระยะเวลาสี่สิบปี เราจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะส่งมอบสิ่งที่เรามี ให้กับทาง ปตท.สผ. ให้ได้ดีที่สุด ให้สมกับความตั้งใจของเรา และรวมถึงสิ่งที่เอราวัณเป็นในระยะเวลาที่ผ่านมา’

อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านแหล่งเอราวัณ ที่เคยเป็นธุรกิจและภารกิจของเชฟรอนประเทศไทยนั้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โอกาส’ ใหม่ๆ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศ

‘แน่นอนว่า การส่งมอบแหล่งเอราวัณให้กับทาง ปตท.สผ. นั้น อาจจะทำให้องค์กรของเรามีขนาดเล็กลง แต่ผมมองว่า มีข้อดีตรงที่ทำให้เชฟรอนถัดจากนี้มีความคล่องตัว สามารถยืดหยุ่นต่อทุกความท้าทายและโอกาสที่เข้ามา ซึ่งคนที่จะไม่ได้อยู่กับเชฟรอนต่อ ทางบริษัทฯ ก็มีโครงการช่วยเหลือเรื่องโอกาสทางด้านงาน การฝึกอบรม แต่สำหรับคนที่อยู่ ผมเชื่อว่าจะเป็นคนที่พร้อมทั้งความสามารถ และพร้อมทั้งใจ ที่จะไปด้วยกันกับเชฟรอนจริงๆ’

อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านแหล่งเอราวัณ ที่เคยเป็นธุรกิจและภารกิจของเชฟรอนประเทศไทยนั้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โอกาส’ ใหม่ๆ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศ

‘แน่นอนว่า การส่งมอบแหล่งเอราวัณให้กับทาง ปตท.สผ. นั้น อาจจะทำให้องค์กรของเรามีขนาดเล็กลง แต่ผมมองว่า มีข้อดีตรงที่ทำให้เชฟรอนถัดจากนี้มีความคล่องตัว สามารถยืดหยุ่นต่อทุกความท้าทายและโอกาสที่เข้ามา ซึ่งคนที่จะไม่ได้อยู่กับเชฟรอนต่อ ทางบริษัทฯ ก็มีโครงการช่วยเหลือเรื่องโอกาสทางด้านงาน การฝึกอบรม แต่สำหรับคนที่อยู่ ผมเชื่อว่าจะเป็นคนที่พร้อมทั้งความสามารถ และพร้อมทั้งใจ ที่จะไปด้วยกันกับเชฟรอนจริงๆ’

และเมื่อถามถึง ‘โอกาสและความท้าทายใหม่ๆ’ ที่เชฟรอนประเทศไทยได้มองเอาไว้ คุณชาทิตย์ได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมที่ทางบริษัทได้มองเอาไว้สำหรับ ‘ทางเลือก’ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายภาคหน้า

‘ในส่วนนี้ ทางเชฟรอนเองก็ได้มองถึงการเปลี่ยนผ่านหรือ Paradigm Shift ทางด้านพลังงาน โดยจะเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในจุดนี้ ทางเชฟรอนเองก็ได้เตรียมพร้อม และดำเนินการเพื่อรองรับสำหรับความเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยแนวทางการลดคาร์บอนจากการปฏิบัติงาน ที่เราทำได้ตามมาตรฐาน และการมองไปยังการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น’

//เชฟรอนประเทศไทยภายใต้ภาวะวิกฤติของประเทศ//

ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญหน้ากับมรสุมของการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างหนักหน่วง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการใช้ชีวิต เป็นสองปีแห่งความยากลำบาก ที่ทำให้หลายคนตั้งตัวไม่ติด แล้วเชฟรอนประเทศไทย ในฐานะที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ได้มีส่วนช่วยเหลือในภาคสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวนี้อย่างไร

‘ทางเชฟรอนได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทางด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะการระบาดของ COVID-19 ทั้งทางด้านการแพทย์ การศึกษาวิจัย ซึ่งในปัจจุบัน รวมเป็นเงินแล้วกว่า 25 ล้านบาท จนถึงความร่วมมือล่าสุดที่เราสนับสนุนทุนวิจัยกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่สามารถตรวจหาผู้ป่วยได้แม่นยำถึง 94.8%’

ในจุดนี้ คุณชาทิตย์ได้กล่าวย้ำสิ่งที่เชื่อมั่น และการเป็นพันธกิจของเชฟรอนประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคสังคมที่ชัดเจนอย่างยิ่งไว้ข้อหนึ่ง

‘ผมเชื่อว่า การที่บริษัทหนึ่งจะยั่งยืนได้นั้น ไม่ใช่ทำแต่เพียงการแสวงหาผลกำไร แต่จะต้องคืนบางสิ่งกลับสู่สังคมด้วย ซึ่งเชฟรอนก็ได้ทำสิ่งเหล่านี้มาตลอด โดยจะเน้นที่ ‘4E’ คือ Education (การศึกษา), Environment (สิ่งแวดล้อม), Employee Engagement (การมีส่วนร่วมของคนในองค์กร) และ Economic (การพัฒนาเศรษฐกิจ) ซึ่งทั้งสี่นี้ คือ เสาหลักที่เชฟรอนยึดไว้ ในการตอบแทนสังคม

//บาลานซ์ในทุกสิ่ง แต่เอาจริงอย่างเชฟรอน//

เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ เกี่ยวกับ ‘Work-Life Balance’ หรือสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน แน่นอน มันเป็นสิ่งที่อาจจะได้มาไม่ง่ายนัก ท่ามกลางสภาวะที่เร่งรีบ การงานที่หนักหน่วง โดยเฉพาะกับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ที่อยู่ในจุดสูงสุด แต่คุณชาทิตย์เน้นย้ำว่า การเกลี่ยสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน คือ ‘หัวใจ’ หลักของเชฟรอน ไม่ใช่แค่ผู้บริหาร แต่รวมถึงทุกๆ คนในองค์กร

‘ส่วนตัวถึงแม้ผมจะทำงาน 12-14 ชั่วโมงต่อวัน แต่พอจบเวลาทำงาน ผมก็ตัดทิ้งเลยครับ’ คุณชาทิตย์กล่าวถึงกิจวัตรประจำในแต่ละวัน ‘และผมจะให้เวลากับตัวเองไปกับงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ซึ่งก็คือการเข้ายิมไปออกกำลังกาย และการวิ่ง ผมเข้ายิมห้าวันต่อสัปดาห์ พอวันที่หกผมก็วิ่งสิบกิโลเมตร แล้วก็อีกหนึ่งวันที่เหลือคือพักเต็มที่ครับ ทำอย่างนี้โดยตลอด’

ในจุดนี้ คุณชาทิตย์ได้อธิบายเสริมว่า เมื่อผู้บริหารได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว บรรยากาศของคนในองค์กรก็ผ่อนคลาย และกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ไปในที่สุด

‘ผมคิดว่า พอผู้บริหารได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว คนอื่นในองค์กรได้เห็น ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และผมเองก็แนะนำให้ทำด้วยนะครับ เพราะเราไม่สามารถทำงานต่อเนื่องแบบ 24 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาได้ไปใช้ชีวิต แบบนั้นผมว่ามันไม่ดีกับทั้งชีวิตและการทำงานแน่ๆ’

//ความประทับใจ และก้าวต่อไปของเชฟรอนในการนำของ ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง//

สุดท้ายนี้ ภายใต้การเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเข้ามา ในการส่งมอบแหล่งเอราวัณ แหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญ ไปสู่การดูแลของกลุ่ม ปตท.สผ. อันเป็นพันธกิจที่ทางเชฟรอนมุ่งหมายจะทำให้ดีที่สุด ภายใต้การนำของคุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริษัทคนใหม่ หากแต่ในฐานะผู้ที่เดินในเส้นทางสายพลังงานมากว่าสามทศวรรษ และอยู่กับเชฟรอนมากว่ายี่สิบปี อะไรคือหนึ่งในความประทับใจ และสิ่งที่เขารู้สึกดี ในช่วงเวลาที่อยู่ในบ้านหลังนี้

‘การได้มาอยู่ถึงในจุดนี้ (ประธานกรรมการบริหาร) ผมภูมิใจไหม มีบ้างครับ’ คุณชาทิตย์กล่าว ‘แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีในทุกครั้ง คือการที่ผมสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของคนในทีมได้อย่างเต็มสามารถ ทำให้งานของน้องๆ ในทีมไม่ลำบาก ไม่คั่งค้าง และ ‘ง่าย’ สำหรับพวกเขา ผมจะไม่ไปสาย ไม่ทำให้งานต้องล่าช้า ผมจะเคลียร์ทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างสะดวกที่สุด ราบรื่นที่สุด นั่นคือสิ่งที่ผมภูมิใจ และเหนือสิ่งอื่นใด ผมจะดีใจมาก ถ้าผมสามารถเป็นแรงผลักดัน ให้คนในองค์กร ได้ประสบความสำเร็จ เพราะนั่นคือความสำเร็จของทุกคน’

และเมื่อเราถามว่า ถ้าให้ ‘นิยาม’ ความเป็น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อย่างคร่าวๆ ในมุมมองของคุณชาทิตย์ ว่าคือสิ่งใด มันออกมาเป็นสามคำที่เรียบง่าย ได้ใจความ…

‘สามคำ คือ People หรือบุคลากร ซึ่งเชฟรอนให้ความสำคัญกับจุดนี้อย่างมาก, Performance หรือผลการดำเนินงานชั้นแนวหน้าเชฟรอนร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดผลงานระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับโลก และ Partnership หรือการเป็นพันธมิตรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งคู่ค้า สังคม หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ ครับ นั่นคือหัวใจหลักของเชฟรอนประเทศไทยในมุมมองของผม’

นี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ ตัดสินใจอยู่ร่วมกับเชฟรอนมากว่ายี่สิบปี นั่นเพราะไม่ใช่แค่เพียงประสิทธิภาพและความชำนาญในด้านพลังงานที่โดดเด่น เคียงคู่คนไทยมากว่าหกสิบปี

แต่ยังเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมที่พร้อมจะเดินหน้า ผลักดัน และส่งเสริมบุคลากรทุกคน ให้ก้าวตามทุกความเปลี่ยนผ่าน ประสานกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเดินไปสู่ฟ้าใหม่แห่งความมั่นคงทางพลังงานไปด้วยกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ