ชัชชาติฟีเวอร์ : ปรากฏการณ์ที่มาพร้อมความคาดหวัง
เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
ถึงวันนี้….ชื่อของ รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขึ้นทำเนียบรับรองเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 เป็นที่เรียบร้้อย โดยผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเขาได้รับคะแนนเสียงกว่า 1,400,000 เสียง เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สุดจริงๆ และแน่นอนว่าคะแนนที่ได้มากมายขนาดนี้นั้นไม่ธรรมดา ซึ่งผมมองว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งและเสริมให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็น จนหลายๆ สื่อมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็น ชัชชาติฟีเวอร์ โดยส่งผลให้สื่อน้อยใหญ่ในวันนี้เกาะติดผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ ประหนึ่งลุงพลป้าแต๋น แห่งบ้านกกกอด ซึ่งสารัตถะของข่าวนั้นเรียกได้ว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสีสัน และความเคลื่อนไหว ที่เหมือนกับเป็นของขวัญสำหรับแฟนด้อมคุณชัชชาติ
คำถาม คือ ถ้ามองในแง่ของการสื่อสารมีเรื่องใดบ้างที่จะเป็นเหตุผลของปรากฏการณ์ที่ทำให้คุณชัชชาติชนะการเลือกตั้ง
อำนาจการเมืองที่กดทับความรู้สึก
ประเด็นแรกที่ผมมองว่าเป็นปฐมบท คือ ความกดทับที่มาจากบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหาร ซึ่งในช่วงต้นของหลังการรัฐประหารสำเร็จ ฝ่ายที่เห็นด้วยนั้น ยังคงมีเสียงดัง และการสนับสนุนเพียงพอ ประกอบกับเหตุผลที่นำมากล่าวอ้างถึงความมั่นคง ยังคงเป็นเสียงที่มีความหนักแน่น ทำให้กองหนุน กองเชียร์ของฝ่ายกุมอำนาจรัฐมั่นคงแข็งแกร่ง
แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงช่วงของการเลือกตั้งทั่วไป พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และกุมสภาพบ้านเมืองอีกครั้ง แต่ทว่าคราวนี้ยืดอกได้มากขึ้นว่าเป็นนายกฯ หรือผู้นำประเทศที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาแล้ว แม้จะดูเหมือนว่ากติกาที่ร่างจะแปร่งๆ ไปบ้าง แต่ก็เพียงพอที่จะใช้กล่าวอ้างถึงความชอบธรรมได้ และในคราวนี้ประโยคที่นิยามตัวเองใหม่ว่าเป็น “ นักการเมืองที่เคยเป็นทหาร ” ก็ได้เกิดขึ้น
ระหว่างทางของการบริหารประเทศภายใต้การนำของรัฐบาลพรรครวมซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถพารัฐนาวาออกจากปัญหาเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่นี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักที่กระทบต่อรัฐนาวา เพราะเนื้อร้ายที่แท้จริงมาจากความพยายามในการสั่นคลอนความมั่นคงภายในจากพรรคร่วมหรือกลุ่มอำนาจในพรรคเดียวกันเอง จนทำให้นายกฯ ออกอาการหัวเสียบ่อยครั้ง ซึ่งภาพลักษณ์ต่างๆ ของนายกฯ ที่เกิดขึ้น ทั้งอาการอารมณ์เสีย กล่าวสบถ โยนข้าวของ รวมถึงท่าทีต่างๆ ที่สะท้อนบุคลิกภาพของความเป็นผู้นำ และได้กลายเป็นปัญหาเพราะถูกนำไปล้อเลียน รวมถึงด้อยค่าความเป็นผู้นำมากขึ้น ซึ่งก็คล้ายกับช่วงท้ายๆ ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบพบเจอสถานการณ์แบบนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าคุณยิ่งลักษณ์ พยายามที่จะแก้ปัญหา แต่นายกฯ ประยุทธ์เลือกที่จะสื่อสารความเป็นตัวเองออกมา
ย้อนมาถึงตรงนี้….บางท่านอาจจะรู้สึกว่าข้อเขียนนี้ดูไม่เป็นธรรมกับ นายกฯ ประยุทธ์ เท่าไหร่ เพราะเน้นไปที่การสื่อสารหรือบุคลิกภาพภายนอกมากกว่ามองไปที่ผลงาน ซึ่งผมขออธิบายว่าคนไทยเราโดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันบูชาตัวบุคคล และมองภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะอธิบายปรากฏการณ์อึดอัดของชาวกทม. ด้วยภาพต่างๆ ที่ปรากฏผ่านผู้นำประเทศซึ่งกำลังครองเก้าอี้ยาวนานกว่า 8 ปี
เรื่องนี้สะท้อนจากสถิติของนักวิเคราะห์ทางการเมืองซึ่งเมื่อทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. หลายคน หลายสำนักเชื่อว่า มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนไม่น้อยจากฝ่ายหรือซีกการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เป็นฝั่งเดียวกับ นายกฯ นั้น ปันใจไปให้คุณชัชชาติ ด้วยความหวังในตัวคุณชัชชาติที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพมหานคร โดยมองข้ามความเป็นขั้วการเมืองที่มีอยู่ไว้ก่อน
ความมุ่งมั่น และเข้าถึงง่ายของคุณชัชชาติ
โปรโฟล์ หรือ ภูมิหลังของคุณชัชชาตินั้น ไม่ธรรมดาครับเพราะเป็นนักเรียนทุน และร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์จนจบระดับด็อกเตอร์จากต่างประเทศ ที่สำคัญการมีประวัติเคยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา ซึ่งหากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตคู่แข่งในการลงชิงชัยสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งนี้ มีอีกหนึ่งท่านที่พอจะเปรียบมวยได้อย่างสูสี หากจะพูดกันถึงดีกรี ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นวิศวกรที่จบจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ภาพลักษณ์ของ ดร.เอ้ ที่เลือกยืนนั้น ในทางทฤษฎีเขาวางตัวเองเป็นเหมือน Magician ที่ขายฝัน และ วาดภาพฝันใหม่ในแบบเป็นผู้วิเศษที่จะเข้ามาเปลี่ยนอะไรได้มากมาย ซึ่งถ้าให้เห็นภาพชัดหน่อยก็ดูคล้าย โทนี่ สตาร์ค ใน Iron man นั่นแหละครับ
โดยกรณีของ ดร.เอ้นั้น ผมเคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การเลือกจุดยืน และนำเสนอตัวเองในฐานะผู้วิเศษ โดยไม่มีบุคลิกถ่อมตน อาจไม่ถูกจริตกับคนไทย ซึ่งถ้ามองในแง่ของการแข่งขัน ถือว่าน่าเสียดาย เพราะ ดร.เอ้ปูทางมาดี ทั้งประวัติความเป็นมา และการเป็นความหวังใหม่ของประชาธิปัตย์ แต่ก็ชัดเจนในผลของคะแนนเสียงที่ได้ แต่ภาพลักษณ์การใส่เบรเซอร์ สแล็ค และ สนีกเกอร์เป๊ะๆในทุกการปรากฏตัว ประกอบกับภาพครอบครัวตอนเปิดตัว นั้นยังซื้อใจคนกรุงได้ไม่เพียงพอ
กลับมาที่คุณชัชชาติ ที่แม้จะมีโปรโฟล์น่าเชื่อถือ แต่ภาพจำของผู้คนจำนวนหนึ่งนั้น เขาคือบุรุษที่มีความแกร่งที่สุดในโลก มีภาพชีวิตง่ายๆ ในชุดกีฬาขาสั้นและเท้าเปล่าในการทำบุญ ซึ่งภาพเหล่านี้ยังคงอยู่ในความจดจำ พร้อมกับถูกตอกย้ำมาตลอดตั้งแต่ช่วงก่อนหาเสียง ระหว่างหาเสียง และหลังหาเสียง ซึ่งต้องบอกว่ามีพลังอย่างมากในการสร้างความจดจำใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย หรือถ้าจะเปรียบก็คงจะมีสมัย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ความต่างอย่างมีเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่น ซึ่งนำมาสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย
ประเด็นเรื่องของการให้สัมภาษณ์ก็เช่นเดียวกัน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะเห็นการเปรียบเทียบถ้อยคำ วาทกรรม หรือ แนวคิดบ่อยมากๆ โดยเฉพาะผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งการคัดเลือก การคัดสรรคำที่คุณชัชชาติใช้นั้น ผมในฐานะพิธีกรที่เคยสัมภาษณ์เชื่อว่าในส่วนสาระสำคัญดูไม่ปลอม หรือถ้าปลอมโดยการประดิษฐ์ขึ้นมาก็ดูแนบเนียนอย่างมาก ยิ่งหลังการเลือกตั้งจะเห็นได้ชัดจากประโยคที่ว่า “คะแนนที่เลือกเข้ามาไม่ได้หมายถึงคนจำนวนมากสนับสนุน แต่หมายถึงสัญญาณที่สั่งให้ไปทำงาน” เป็นต้น
นอกจากนี้ยังไม่ชนกับใคร แม้จะถูกเสี้ยมให้ชนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นนโยบายการปิดถนน ความเห็นเรื่องมาตรา 112 หรือแม้กระทั่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับนายกฯ ซึ่งคุณชัชชาติเลี่ยงที่จะไม่ชน แต่ทว่าก็แอบแรงแบบมีกลยุทธ์ เช่น ตอนที่นักข่าวถามว่าทำไมไม่ไปพบนายกฯ ในงานเปิดตัวเส้นทางคมนาคมของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผู้ว่าฯ ตอบอย่างสั้นๆ “ไม่ได้รับเชิญให้ไป แต่ถ้าเชิญก็จะไป” เป็นต้น
สรุปแล้วถ้ามองจากประเด็นที่คุณชัชชาติได้รับความฟีเวอร์ ผมมีความเห็นว่าก็คงมาจากตัวท่านเองที่ประกาศตัวมานาน ประวัติการทำงานดี ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีภาพลักษณ์การนำเสนอที่ตรงไปตรงมา และมีความเรียบง่าย เข้าถึงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ดี
และนอกจากนี้ การที่ผู้สมัครสายอนุรักษ์ มีตัวเลือกที่มากถึงสามคน ก่อให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ คะแนนกระจัดกระจายออกไป ก็ถือได้ว่าเป็นความเสียเปรียบ และเป็นสิ่งที่ทำให้ชัชชาติได้เป็นแต้มต่อในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพด้วยอีกเช่นกัน
ความเจนจัด และ ยุทธศาสตร์ของทีมงาน
การได้มาซึ่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของคุณชัชชาติ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ผมมองว่ามาจากทีมงาน ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงการทำงานไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการร่างนโยบายที่สื่อสารว่า มาจากการรับฟังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถระบุถึงเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในระดับเขตด้วยซ้ำ และถึงแม้ว่าจะถูกแปลงออกมาเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่ทว่านั่นเป็นความหวัง หรือ Hope ของผู้คนจำนวนหนึ่งที่เชื่อมั่นในกระบวนการที่ได้ฟังมา ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายหลายๆ อย่าง คือสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากระดับบนลงล่าง และคงต้องติดตามดูกันว่ากว่า 200 นโยบายของผู้ว่าฯ ที่ชื่อชัชชาติจะกลายเป็นความจริงด้วยวิธีการอย่างไร และจะรัับมือกับความคาดหวังของชาวกทม. ที่เทคะแนนเสียงให้อย่างไร เพราะ สื่อสารมาก คะแนนมาก ความหวังให้เกิดผลที่เร็วจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกเหนือจากนโยบายแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่ดูเหมือนง่าย แต่ผ่านกระบวนการคิดจนกลายมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวิธีการหาเสียงด้วยขนาดป้ายที่ผอมลงกว่าเดิม ซึ่งฐานเสียงและผู้คนจำนวนหนึ่งชื่นชม จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ต้องปรับกลยุทธ์มาทำตาม นอกจากนี้การออกแบบป้ายหาเสียงที่เป็นไวนิล ให้มีรอยปรุ ก็ถือว่าเป็นความชาญฉลาดที่นำไปสู่การเล่าเรื่องถึงประโยชน์ในการนำกลับไปใช้ใหม่ (แม้จะมีความเสี่ยงที่จะถูกตีความในเรื่องที่ป้ายนั้นจะกลายเป็นสินน้ำใจตามกฏของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม)
จะว่าไปแล้วสำหรับทีมงานนั้น ต้องยอมรับว่าแกร่งในแง่แนวคิดจริงๆ เพราะระยะเวลาที่ไม่นานมาก แต่สามารถนำคุณชัชชาติก่อนการเป็นผู้ว่าฯ เข้าถึงพื้นที่ในหลากหลายกลุ่มผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นเช้าไปออกกำลังกายที่สวนลุมพินี การปั่นจักรยานไปทำกิจกรรมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงหลังเลือกตั้งได้รับการรับรองเป็นผู้ว่าฯ อย่างเป็นทางการ ก็ยังเจนจัดทางด้านการสื่อสารในสถานที่ต่างๆ เช่น ไปงาน Pride ที่ถนนสีลม และงานดนตรีในสวน ขณะเดียวกันก็ไปแก้ปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า โดยคืนผิวจราจรให้กับประชาชนจำนวนมาก รวมไปถึงการไปกำกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ณ จุดบัญชาการ
สำหรับผมสองสามประเด็นที่เรียบเรียงมานั้นน่าจะพอสมควรแก่เหตุที่จะทำให้เห็นภาพครับว่า ตำแหน่งนี้ที่ได้มานั้น มาจากปัจจัยสื่อสารด้านใดบ้าง
เพียงแต่ถ้าผมเป็นทีมงานจะห่วงอยู่แค่ประเด็นเดียว คือ ภาวะ “ การเข้าถึงง่าย ” ของผู้ว่าฯ จะกลายเป็น “ แตะต้องยาก ” จากการโหมประโคมติดตามและแนวคิดในเรื่องการบูชาในตัวบุคคลมากกว่าดูในกระบวนการทำงานเป็นหลัก ซึ่งในช่วงแรก ที่ทุกอย่างยังอยู่ในอารมณ์ Honeymoon Season นั้น อะไรก็ดูดี มีความหวัง แต่ด้วยวาระผู้ว่าฯ 4 ปี ยังมีระยะทางอีกยาวไกล ที่น่าจับตา ว่าปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์นั้น จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคง และยั่งยืนได้หรือไม่
นี่จึงไม่ใช่แค่ตัววัดของคนกรุงเทพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพิจารณาสภาพสังคมไทยโดยภาพรวมด้วยเช่นกัน