fbpx

ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง กับปัญหา ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ ที่ลงระดับรากหญ้า

เมื่อพูดกันถึงเรื่องของการจับจ่ายซื้อของใช้ ไม่ว่าจะสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อสนองความต้องการที่นอกเหนือจากนั้น การมาถึงของเทคโนโลยี Mobile Pay และ Platform ซื้อสินค้าแบบออนไลน์ ช่วยให้เกิดความสะดวกในการจับจ่าย และสร้างทางเลือกในกระบวนการที่เคยมีอยู่จำกัดแต่เพียงห้างร้าน ให้เข้ามาใกล้ชิดผู้คนในทุกระดับมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้าง ‘สภาวะสองทาง’ ที่ผู้ซื้อ สามารถกลายเป็นผู้ขาย ได้อย่างง่ายดาย เส้นแบ่งระหว่าง Business (b) และ Customer (c) ก็ดูจะจางลง

แต่ในทางหนึ่ง เมื่อกระบวนการถูกทำให้ง่าย เมื่อผู้ขายกระโดดลงมาสู่สนามการค้าอย่างเสรี ผู้ให้บริการ Platform ก็ต้องสรรหาวิธีการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบของตนเองให้มากที่สุด และเมื่อทุกความสะดวกถูกนำเสนอจนหมดสิ้น มันจึงมาถึงข้อสรุปของแนวทางสุดท้ายของการกระตุ้นการจับจ่ายแบบใหม่ ที่กลายเป็นปัญหาในขณะนี้

เมื่อ ‘สินค้า’ สามารถซื้อได้ และเลือกที่จะ ‘จ่ายทีหลัง’ …

แนวทางรับสินค้าก่อน จ่ายทีหลัง หรือ ‘Buy Now, Pay Later’ นี้ เริ่มแพร่หลายใน Platform สินค้าออนไลน์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada หรือแม้กระทั่ง TrueMoney ก็กระโดดลงสู่สนามนี้ เพื่อกระตุ้นยอดผู้ซื้อสินค้า โดยคิดคำนวณรายได้จากค่าส่วนต่าง ดอกเบี้ยการผ่อน และค่าดำเนินการที่จะตามมาในทีหลัง

ในแง่หนึ่ง แนวคิดนี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อผู้มีรายได้น้อย เกินกว่าที่จะสมัครบัตรเครดิตจากทางธนาคาร หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสินเชื่อ ให้สามารถมีตัวเลือกในการ ‘ผ่อนชำระ’ ด้วยเงินสดได้ ทำให้ Buy Now, Pay Later ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ไม่มาก และไม่สามารถเข้าถึงระบบเครดิตธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงถดถอย รายรับจากการประกอบอาชีพที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ ทำให้ระบบ Buy Now, Pay Later ที่เคยเป็นทางเลือก กลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ไม่ว่าจะจากทั้งผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้บริการเองก็ตาม

ผลสำรวจผู้ใช้บริการในระบบ Buy Now, Pay Later ล่าสุด พบว่า กว่า 70% มีการใช้จ่ายมากกว่าปกติ และ 42% ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามกำหนด และมีแนวโน้มที่จะ ‘หนีหนี้’ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของ Platform เพราะส่งผลกระทบต่อรายได้โดยตรง

ไม่เพียงแต่ปัญหาลูกค้าที่ได้ของ แต่ผิดชำระ หรือหนี้หายไม่ชำระหนี้ ตัวผู้ให้บริการ Platform เอง ที่ต้องทำการ ‘จ่ายล่วงหน้า’ ให้กับผู้ค้าในระบบ และอาศัยส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าดำเนินการ ก็จะยิ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ทบขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ซ้ำร้าย ผู้ค้าหลายราย ก็เริ่มที่จะถอนตัว ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ จนถึงปัญหารายได้จาก Platform ที่ลดลง

อันที่จริง ระบบ Buy Now, Pay Later มีรูปแบบและโครงสร้างคล้ายกับการผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต แต่สิ่งที่แตกต่าง และทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน อยู่ที่ระบบดังกล่าว ไม่มีการติดตาม หรือเงื่อนไขในการอนุมัติเครดิตเช่นเดียวกับระบบของธนาคาร ทำให้การตามหนี้ ประนอมหนี้ จนถึงการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการที่ ‘มีวินัยทางการเงิน’ มีความหละหลวมมากกว่า

มาจนถึงตอนนี้ ปัญหา Buy Now, Pay Later ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ยังคงค้างคา เพราะไม่มีหน่วยงานไหนมาคอยกำกับ และเงื่อนไขที่แทบไม่มีงานเอกสารยืนยันตัวตน หรือรับรองความปลอดภัยทั้งฝั่งผู้ค้าขาย และผู้ซื้อสินค้า ก็น่าใส่ใจอยู่ไม่น้อย ว่าทางหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่ดูแลในด้านการเงิน จะออกนโยบายเพื่อสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย และเท่าทันกับยุคสมัยอย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างแน่ชัด และเป็นมาโดยตลอด คือการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะในรูปแบบใด การไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวน หรือไม่ต้องจ่าย ‘เลย’ ในตอนแรก มักจะตามมาด้วยราคารวม ที่แพงกว่ามูลค่าจริงแรกเริ่มของมันอยู่เสมอ

เข้าทำนอง ‘เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย’ ก็น่าจะใช่ เพราะกว่าจะรู้ตัว การได้ของก่อนจ่าย ก็อาจจะทำให้ต้องติดกับดักรายได้ และพาไปอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและแก้ยากเป็นลำดับต้นๆ ของชีวิตเข้าให้จริงๆ ก

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ