fbpx

Brainjacking : โจรกรรมสมอง

ศัพท์หนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมาระยะหนึ่งแล้ว ก็คือคำว่า ‘Brainjacking’ คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวความก้าวหน้าของวิทยาการ อนาคตที่ราวกับนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ต้องตามให้ทัน

Reasons to Read

  • ศัพท์หนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมาระยะหนึ่งแล้ว ก็คือคำว่า ‘Brainjacking’ คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร
  • เรื่องราวความก้าวหน้าของวิทยาการ อนาคตที่ราวกับนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ต้องตามให้ทัน

เราอยู่ในโลกที่มีการเชื่อมต่อกันแบบไร้สายชนิดที่คนเมื่อสิบปีที่แล้วอาจนึกไม่ถึง อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อกับเราผ่านอินเตอร์เฟซหลายแบบ รวมถึงเชื่อมต่อกันเองแบบ Intertnet of Things ด้วย จนหลายครั้งเราก็อยากให้ตัวเราเองเป็นคล้ายๆ device หรืออุปกรณ์หนึ่ง จะได้เชื่อมต่อเข้ากับโลกออนไลน์ได้โดยตรงด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่เหตุผลเรื่องสุขภาพ ไปจนถึงเหตุผลเพื่อทำให้ตัวเรามีลักษณะเป็น ‘อภิมนุษย์’ คือมีความสามารถต่างๆ เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป หรือทำให้ ‘ความรู้’ ที่อยู่นอกตัวเรา (เช่น ความรู้ที่เราต้องกูเกิลหา) กลายมาเป็นเสมือนความรู้ที่ไหลถ่ายเทเข้ามาในตัวเราได้โดยตรง แค่นึกอยากรู้ก็รู้ได้โดยไม่ต้องกดแป้นพิมพ์เสิร์ชอะไร

ยุคสมัยแบบน้ีแหละครับ ที่ทำให้เกิด ‘ศัพท์’ ใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก และศัพท์หนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมาระยะหน่ึงแล้ว ก็คือคำว่า ‘Brainjacking’

คุณคงรู้จักคำว่าไฮแจ็ก (Hijack) หรือการ ‘จี้เครื่องบิน’ กันดีนะครับ คำว่า ‘เบรนแจ็ก’ ก็คล้ายๆ กัน แต่แทนที่จะจี้เครื่องบิน ก็หันมา ‘จี้สมอง’ แทน

ที่จริง การเบรนแจ็กนี่ไม่ได้เริ่มต้นที่สมองโดยตรงนะครับ แต่มันมีพัฒนาการของมันเหมือนกัน เนื่องจากมนุษย์เราทำตัวเป็นไซบอร์ก, แอนดรอยด์ หรือมนุษย์ไบโอนิกมากขึ้นเรื่อยๆ (สามคำนี้ที่จริงแล้วแตกต่างกัน แต่หลายคนเชื่อว่า ในโลกอนาคต เราจะแยกสามคำออกจากกันได้ยากมาก คือไม่รู้หรอกว่าใครเป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์มากๆ หรือเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะเหมือนหุ่นยนต์มากๆ) ด้วยการใส่อุปกรณ์เครื่องเคราต่างๆ เข้าไปในตัว เช่น Hearing Device หรืออุปกรณ์ที่สั่งการด้วยเสียง ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นการสั่งการด้วยความคิด โดยการฝังชิพต่างๆ เข้าไปไว้ในสมองโดยตรงเลย

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่ง ก็คือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือเพซเมกเกอร์นี่แหละครับ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่มีพยาธิสภาพทางหัวใจ จึงต้องใช้เครื่องนี้ แต่เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่นับวันก็ถูกทำให้ไฮเทคมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เชื่อมต่อกับระบบภายนอกได้ เพื่อบันทึกหรือเตือนเวลาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยหรือแพทย์จะได้รับรู้ได้ทันที ดังนั้น มันก็เลย ‘อ่อนไหว’ ต่อการถูก ‘แจ็ก’ (ในกรณีนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ฮาร์ตแจ็ก’)

อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิ๊ก เชนีย์ (Dick Cheney) ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี เวลาเขาเดินทางไปไหนมาไหนเพื่อเจรจาความเมือง ก็เลยต้องปิดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจนี้ตลอด เพราะฝ่ายความมั่นคงเตือนว่า ถ้ามีใคร ‘แจ็ก’ เข้ามาได้แล้วละก็ เขาอาจถูกลอบสังหารได้ง่ายๆ

สุดท้ายก็เลยต้องเสี่ยงว่าระหว่างถูกลอบสังหารกับเจ็บไข้ได้ป่วย (หรืออาจเสียชีวิต) เนื่องจากหัวใจไม่ทำงาน — จะเลือกอะไร ซึ่ง ดิ๊ก เชนีย์ ก็เลือกไม่อยากถูกลอบสังหารมากกว่า

แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันนี้มีการใช้งานร่างกายที่ลึกไปกว่านั้นเยอะ เช่น การผ่าตัดสมองเพื่อกระตุ้นสมองระดับลึก อย่างที่เรียกว่า Deep Brain Stimulation หรือ DBS ซึ่งก็คือการผ่าตัดฝังขั้วอิเล็กโทรดเข้าไปไว้ในสมอง แล้วก็เชื่อมโยงสายต่างๆ เอาไว้ใต้ผิวหนัง เพื่อนำพาสัญญาณจากตัวกระตุ้นที่เปลี่ยนถ่ายเอาไว้มายังจุดหมายปลายทาง

DBS ประกอบไปด้วยแบตเตอรี่ ตัวประมวลผลขนาดจิ๋ว และตัวส่งคลื่นสัญญาณมาสื่อสารกับภายนอก โดยมากเป็นไปเพื่อเหตุผลทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่ทันสมัยมากขึ้น หรือโรคอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน รวมไปถึงโรคลมชัก โรคซึมเศร้า โรคทัวเร็ต (Tourette’s Syndome) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง

กระบวนการอย่าง DBS นั้นสามารถกระตุ้นสมองได้หลายจุด แรกสุดก็เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ในทางการแพทย์ แต่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีการใช้งานเพื่อเหตุผลอื่นๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ออกมาเตือนว่า ในที่สุดแล้วอาจเป็นอันตรายก็ได้ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้สามารถถูกแฮ็ก (หรือ Brainjacking) ได้ไม่ยากนัก

Brainjacking จะทำให้สามารถ ‘โน้มนำ’ (induce) พฤติกรรมของเหยื่อได้ เช่น อาจกระตุ้นให้มีความรู้สึกทางเพศรุนแรงขึ้น อยากเล่นพนันมากขึ้น หรือกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมอง โดยเฉพาะศูนย์รางวัล (Reward Center) คือเหยื่อทำอะไรบางอย่างแล้วมีการหลั่งสารโดปามีนออกมา ทำให้เอิบอิ่ม และอยากทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิด

แน่นอน Brainjacking ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหยื่อเองก็ต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่เปราะบางไว้ในสมอง รวมถึงต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และต้องหาวิธีสอดส่องติดตามตัวเหยื่อด้วย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ Brainjacking อันตรายมากขึ้น เพราะจะต้องลงมือกับเหยื่อที่ ‘คุ้มค่า’ จริงๆ (เช่น ระดับ ดิ๊ก เชนีย์ หรือร้ายกว่านั้นก็อาจเป็นระดับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์มาก) เพราะคงไม่มีใครลงทุนทำอะไรมากขนาดนี้แค่เพื่อให้คนที่ตัวเองแอบชอบหันมาชอบตัวเองหรอกนะครับ อันนั้นก็มากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ Brainjacking จึงเป็นศัพท์ที่ควรทำความรู้จักเอาไว้ตั้งแต่บัดนี้ เผื่อในอนาคตเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้น จะได้เข้าใจได้ทันทีว่ามันคืออะไร

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ