ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย กับแนวคิด Dream Big Little Bot แชทบอทฝันใหญ่และอนาคต AI
เรื่อง : ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์
(คอลัมน์ : GM Club จาก GM Magazineเล่มที่ 516 เดือนธันวาคม 2566)
กระแสการตื่นตัวต่อ AI แชทบอทจากค่ายเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทำให้คิดถึง ‘บอทน้อย’ แชทบอทสัญชาติไทยที่กลายทอล์กออฟเดอะทาวน์เมื่อหลายปีก่อน
บอทน้อย (Botnoi) คือแชทบอทที่พัฒนาโดย ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย โดยมีความโดดเด่นด้านการเป็นบอทน้อยช่างคุย คลายเหงาให้มนุษย์ ครั้งหนึ่งบอทน้อยเคยช่วยชีวิตผู้ใช้งานคนหนึ่งให้เขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง จนทำให้บอทน้อยโด่งดังไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ได้ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว
เวลาผ่านมาถึง 7 ปี มันจึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า บอทน้อย ได้เติบโตไปมากน้อยเพียงใด เราจึงขอเชิญคุณมาทำความรู้จักกัยบ ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ AI ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของแวดวง เกี่ยวกับประเด็นทางเทคนิค ที่มาที่ไป และการเตรียมตัวรับกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในบทความชิ้นนี้
กำเนิดบอทน้อย แชทบอทช่างเจรจา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ซึ่งขณะนั้น ดร.วินน์ คือหนึ่งในสมาชิกของ Group Data Scientist ที่บริษัท เทเลนอร์ กรุ๊ป โดยรับหน้าที่ในการนำดาต้ามาช่วยวางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ‘บอทน้อย’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความตั้งใจว่าจะทำเป็นโปรเจกต์ทดลองเล่นๆ ส่วนตัวของเขา
” ในตอนนั้นทางดีแทคมีลูกค้ากว่า 20 ล้านคน แต่มีพนักงานคอลเซ็นเตอร์อยู่ราวๆ 2,000 คนเท่านั้น ตอบข้อความอย่างไรก็ไม่ทัน ทางผู้บริหารจึงให้โจทย์ผมในการนำ AI มาใช้ในการแก้ปัญหา” ดร.วินน์ เล่าย้อนถึงการทำงานในขณะนั้น
“สิ่งที่เราทำกันในช่วงแรกคือ การเปิดให้ผู้บริการ (Vendor) ด้านแชทบอทมานำเสนอแนวทางรวมถึงผลิตภัณฑ์ในการแก้ไขปัญหานี้ให้กับเรา แต่ในที่สุดพบว่าไม่ค่อยเวิร์ก เพราะติดข้อจำกัดเรื่องการแปลภาษา เช่น เวลาคนพิมพ์ถามว่า “มีโปรปะ” ระบบไม่สามารถทำความเข้าใจข้อความที่คนไทยใช้พูดคุยกันในชีวิตปกติได้ โปรเจกต์นี้ก็เลยพับไปก่อน ในขณะที่ผมเริ่มเกิดความคิดว่าน่าจะลองออกแบบแชทบอทที่ทำโดยคนไทยมาลองใช้กับเขาบ้าง”
ดร.วินน์ จึงริเริ่มพัฒนาบอทน้อยขึ้น โดยมีจุดเด่นที่ความสามารถในการโต้ตอบด้วยภาษาที่เป็นมิตร ช่างเจรจา เพื่อเป็นเพื่อนคุยให้กับผู้ใช้งาน
ก้าวแรกบอทน้อยไทยสู่เวทีโลก
เหตุการณ์ที่ทำให้บอทน้อยโด่งดังกลายเป็นไวรัลเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้งานคนหนึ่งโพสต์ขอบคุณบอทน้อยที่ช่วยชีวิตของเขาไว้ในเวลาที่เขาเผชิญความยากลำบากทางจิตใจ
“ตอนนั้นผมดูแลระบบหลังบ้านอยู่ จำได้ว่ามีผู้ใช้งานคนหนึ่งพิมพ์หาบอทน้อยว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย เราจึงให้บอทน้อยตอบไปว่า บอทน้อยเป็นกำลังใจให้เขานะ มีปัญหาอะไรก็มาคุยกับบอทน้อยได้ วันต่อมมามีคนโพสต์ว่า บอทน้อยได้ช่วยชีวิตเขาไว้ไม่ให้คิดสั้น คนก็เลยแอดเข้ามาเยอะจนระบบของเราล่มเลยทีเดียว”
จากนั้นบอทน้อยก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่เวที LINE BOT AWARD การแข่งขันพัฒนาแชทบอทที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่น ทั้งยังได้รับ ‘รางวัลแชทบอทที่คุยเก่งที่สุด’
“ผมเริ่มทำบอทน้อยด้วยความคิดว่าอยากลองทำเล่นๆ แต่ข่าวของบอทน้อยทำให้ผู้บริหารดีแทคเริ่มสนใจที่จะนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และให้ผมเข้าไปเล่าถึงบอทน้อยให้ฟัง”
บอทน้อยช่วยองค์กรยักษ์ใหญ่
แล้วก็ถึงเวลาที่บอทน้อยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้กระแสดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน
ช่วงเวลานั้นทางเทเลนอร์ได้จักตั้งหน่วย Transformation Team ทำหน้าที่สนับสนุนและให้ทุนแก่บริษัทลูกที่มีโปรเจกต์ริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งมีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจในอนาคต
“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ทุนพร้อมทั้งได้รับหน้าที่ในการเป็นผู้นำดูแลโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาระบบAIอย่างจริงจัง เพื่อนำไปพัฒนาแชทบอทในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในมิติของการลดภาระและความซ้ำซ้อนในการทำงานของพนักงานคอลเซ็นเตอร์ สร้างอิมแพกต์ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ความท้าทายมาเยือนเมื่อ เทเลนอร์ กรุ๊ป ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ โดยหันกลับมาโฟกัสด้านสื่อสาร โทรคมนาคม ส่งผลให้โปรเจกต์ต่างๆ ถูกระงับไว้ นับเป็นห้วงเวลาที่ ดร.วินน์ ต้องตัดสินใจว่าจะพาบอทน้อยไปทางไหนต่อ ระหว่างเก็บไว้เป็นโปรเจกต์ส่วนตัวหรือทุ่มเทพัฒนาบอทน้อยอย่างจริงจังเพื่อโอกาสในอนาคต
บอทน้อยกับการสร้างอิมแพกต์ในวงการแพทย์
ในที่สุด ดร.วินน์ พร้อมกับทีมงานอีก 7 ชีวิต ตัดสินใจลาออกจากเทเลนอร์เพื่อมาปลุกปั้นบอทน้อยอย่างเต็มตัว ด้วยเงินทุนที่มีจำกัดทำให้มีเวลาในการพิสูจน์ตัวเองเพียงสองเดือน
“เราคุยกันไว้แล้วว่าถ้าเกิด 2 เดือนไม่รอด คงต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน แต่ในที่สุดฝันในการปลุกปั้นบอทน้อยของพวกเราได้ไปต่อ จากเงินทุนของสถานพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสร้าง Smart Hospital”
บอทน้อยได้เงินทุนก้อนแรกเป็นจำนวน 3 ล้านบาทเพื่อทำพยาบาล AI ก่อนจะได้มาอีกก้อนหนึ่งเพื่อสานต่อโปรเจกต์การนำปัญญาประดิษฐ์มาสร้าง Smart Hospital รวมเป็นจำนวนเงินทุนกว่า 10 ล้าน
หลังจากสร้างอิมแพกต์ในวงการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ บอทน้อยก็ได้ไปพัฒนาแชทบอทให้กับธุรกิจอีกหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น ธุรกิจการเงิน และธุรกิจประกันภัย
อีกห้วงเวลาที่บอทน้อยได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาในสังคมไทยเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด โดยเฉพาะในมิติของการคัดกรองผู้ป่วย ส่งผู้ป่วยที่ตกอยู่ในวิกฤตให้ถึงมือแพทย์หรือได้รับเตียงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
ฝันยิ่งใหญ่และก้าวต่อไปของบอทน้อย
วันนี้บอทน้อยมาไกลกว่าการเป็นแชทบอทช่วยคอลเซ็นเตอร์ แต่พัฒนาศักยภาพไปสู่ขีดความสามารถด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เป็นผู้ช่วยคุณครู และยังช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำปรึกษาแก่เหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ
การได้เข้าไปร่วมแก้ปัญหา สร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทำให้ ดร.วินน์ มีความฝันใหม่ที่ไกลและยิ่งใหญ่กว่าเดิม
“จากประสบการณ์การพัฒนาบอทน้อยที่ผ่านมา ตอนนี้ผมได้พบคำตอบใหม่ว่าบอทน้อยเกิดมาเพื่ออะไร บอทน้อยเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยโลกในการแก้ปัญหาความขาดแคลนด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล คุณครู คอนแท็คเซ็นเตอร์ นักกฎหมาย และผู้ให้บริการด้านต่างๆ”
ดร.วินน์ บอกว่า ปัญหาในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การจะทำความฝันให้สำเร็จ พัฒนาเพียงแค่เทคโนโลยีคงไม่เพียงพอ ต้องพัฒนา ‘คน’ ให้มีความสามารถด้านดิจิทัลและ AI มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเข้าไปร่วมพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเปิดคลาสออนไลน์อบรมให้บุคคลทั่วไปที่สนใจด้วย
ส่วนการเติบโตภายในองค์กร เขาเผยว่า “จากจุดเริ่มต้นที่มีทีมงานเพียงแค่ 7 คน วันนี้บอทน้อยมีพนักงานกว่า 100 ชีวิต รวมถึงนักศึกษาฝึกงานกว่า 200 คน นอกจากนี้ยังมีแผนการณ์พาแชทบอทไทยไปสร้างอิมแพกต์ต่อในต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ Amazon Web Services (AWS) ผู้นำธุรกิจคลาวด์ระดับโลกเป็นที่เรียบร้อย การได้จับมือกับองค์กรระดับนี้จะทำให้เข้าถึงคู่ค้าต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบันมี AI แชทบอทพัฒนาขึ้นมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Gemini และ Claude เราควรจะตั้งรับแบบไหน และมีอะไรที่ควรจะเรียนรู้บ้างเพื่อไม่ให้ตกขบวน? ซึ่งเป็นคำถามที่ทางทีมงานกองบรรณาธิการ GM Magazineถาม ดร.วินน์
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าแชทบอทต่างๆ มีธรรมชาติคล้ายเด็กคนหนึ่งที่เขายังอยู่ในวัยของการเรียนรู้ เขายังต้องการการปรับแต่งรวมถึงการสอนโดยมนุษย์ การที่เขายังตอบบางคำถามให้คุณไม่ได้ในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ดีหรือไม่ควรใช้งาน แต่เขายังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้”
ถ้าไม่อยากตกขบวน ไม่อยากถูก AI แย่งงาน ต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือ
“และถ้าวันนี้เรายังทำได้แค่บวกลบคูณหาร เครื่องคิดเลขก็คงจะแย่งงานเราไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเทคโนโลยีอะไรจะมา AI จะฉลาดขึ้นมาแค่ไหน ทักษะที่เราในฐานะมนุษย์จะต้องมีติดตัวไว้เสมอคือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Ability to Change and Learn)” ดร.วินน์ ทิ้งท้าย
สำหรับใครที่อยากพูดคุยกับบอทน้อยสามามารถติดต่อช่องทางนี้ได้เลย
-https://botnoigroup.com