fbpx

นักวิจัยไบโอเทค เสนอ ‘สารธรรมชาติทางเลือก ทดแทนยาปฏิชีวนะ’ สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง

นักวิจัยไบโอเทค โดย ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสนอเทคโนโลยีสารธรรมชาติทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง เพื่อช่วยเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงให้ประสบผลสำเร็จ ตามเทรนด์ของกระแสโลกสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และประเทศไทย ในงานสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.

ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า ในการเลี้ยงไก่ไข่ปัจจุบัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลัก ๆ คือ ป้องกันการเกิดโรค (prophylactic) เร่งการเจริญเติบโต (growth promoting) และใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในสัตว์ (treatment) โดยพบว่า ยาที่ให้ไก่กินสามารถถูกส่งต่อไปยังไข่ไก่ได้ งานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า ไข่ไก่ในระบบเลี้ยงที่ใช้ยาปฏิชีวนะมีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งผลจากการรับประทานไข่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ สามารถทำให้เกิดอาการคัน ผื่นแดง คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายคนเราเปลี่ยนแปลงไป จุลินทรีย์ก่อโรคในทางเดินอาหารบางชนิดสามารถปรับตัวและเกิดการดื้อยาได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมในการรักษาโรค จำเป็นต้องเพิ่มขนาดโดสหรือเปลี่ยนตัวยา ดังนั้น การใช้สารทางเลือกที่ไม่ใช่สารเคมี เพื่อใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีความสำคัญ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะสุขภาพของคนมีความเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสารธรรมชาติทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด ที่มีศักยภาพในการจัดการจุลินทรีย์ก่อโรคในการเลี้ยงสัตว์ มีด้วยกันหลายชนิดอย่างชนิดแรกคือ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ สามารถสร้างสารสำคัญ เช่น แบคเทอริโอซิน (bacteriocins) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย กรดไขมันสายสั้นและวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันของสัตว์ และความสามารถในการเบียดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค (competitive exclusion) ในลำไส้ ทำให้สุขภาพลำไส้ของสัตว์ดีขึ้นสามารถใช้สารอาหารที่ให้ได้อย่างเต็มที่

ถัดมาคือ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ช่วยในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารของสัตว์ / กรดอินทรีย์ (Organic acids) สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคในลำไส้ ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมสารอาหารประเภทโปรตีนและแร่ธาตุ รวมถึงใช้เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร / ไฟโตจีนิกส์ (Phytogenics) สารสำคัญจากพืช เช่น น้ำมันหอมระเหย และสารประกอบโพลีฟีนอล ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบของทางเดินอาหารจนนำไปสู่การเจ็บป่วยของสัตว์ / เอนไซม์ (Enzymes) ช่วยย่อยอาหารและทำลายสารต้านโภชนะ (anti-nutritional factors) บางประเภท ทำให้สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ทิ้งสารอาหารไว้ในลำไส้สัตว์จนเกินพอดี ทำให้ประชากรของจุลินทรีย์อยู่ในระดับที่สมดุลไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพสัตว์

นอกจากนี้ยังมี อิมมูโนโกลบูลินวาย (Immunoglobulin Y, IgY) เป็นแอนติบอดีที่พบในไข่แดงจากแม่ไก่ที่ถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจน (antigen) สำหรับใช้ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของสัตว์ได้ / เปปไทด์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial peptides) เป็นเปปไทด์หรือโปรตีนสายสั้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย สามารถใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้โดยตรง หรือใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันสัตว์ให้จัดการกับเชื้อก่อโรคอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้เปปไทด์ต้านจุลชีพบางชนิดยังออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และช่วยเร่งการสมานแผลในทางเดินอาหารได้อีกด้วย ซึ่งเปปไทด์ต้านจุลชีพสามารถเลือกใช้ได้จากแหล่งที่หลากหลาย เช่น จากแบคทีเรียกรดแลคติก (lactic acid bacteria) จากสัตว์ เช่น ไลโซไซม์จากไข่ไก่ (egg white lysozyme) และจากแบคเทอริโอฟาจ (bacteriophage)

“สารทางเลือกต่าง ๆ ยังเป็นสารทางเลือกที่ค่อนข้างใหม่สำหรับอุตสาหกรรมไก่ไข่ไร้กรง แต่มีศักยภาพสูงเนื่องจากมีการทดลองใช้ในสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงไก่เนื้อ และไก่ไข่ขังกรงแล้ว พบว่า ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยไม่เพียงแค่จัดการกับเชื้อก่อโรคในสัตว์ แต่ยังทำให้สัตว์มีสุขภาพดี และผลผลิตดีขึ้น นอกจากนี้สารทางเลือกต่าง ๆ เช่น โพรไบโอติกส์ น้ำมันหอมระเหย เอนไซม์ย่อยอาหาร และเปปไทด์ต้านจุลชีพกลุ่มไลโซไซม์ ยังมีความพร้อมในด้านการผลิตระดับนำร่องและระดับอุตสาหกรรมแล้ว ขณะนี้ไบโอเทคอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับไข่ไก่ไร้กรง รวมถึงต้องการผู้ประกอบการที่สนใจร่วมศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหาสารสำคัญดังกล่าว ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิจัยของไบโอเทค รวมถึงผู้ประกอบการที่สนใจเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง ภายใต้โครงการพิเศษ “การให้คำปรึกษาเชิงลึก ระยะสั้น ไม่มีค่าใช้จ่าย” กับโปรแกรม ITAP สวทช. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2564 7000 ต่อ ไอแทป (คุณเสาวภา)” ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ กล่าว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ