fbpx

Biomatlink ความต่อเนื่องของผลิตผลการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดี ว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ นี้ มีความสำคัญอย่างไรกับยุคสมัยปัจจุบัน จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตอาหารต้องมีความต่อเนื่อง และมีปริมาณที่มากขึ้น รวดเร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น ยิ่งโลกประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และภัยสงครามยูเครน ซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรหยุดชะงัก การผลิตภายในประเทศยิ่งต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างเป็นกระบวนการที่ไม่ให้มีผิดพลาด และมีเพียง ‘เทคโนโลยี’ เท่านั้น ที่จะสามารถเข้ามาอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ อันเป็นที่มาซึ่งทำให้ ดร.ธนิกา จินตนะพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จากรั้วจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ทำการวิจัย ค้นคว้า เพื่อหาขั้นตอนที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ก่อนจะนำไปสู่แพลตฟอร์ม ‘Biomatlink’ ระบบ Supply Chain ครบวงจร ที่จะเข้ามาช่วยให้การผลิต เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดติดขัด และคงความมั่นคงทางอาหารเอาไว้ได้

จากการวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด สู่แพลตฟอร์มเพื่อการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ

การเพาะปลูก คือหลักฐานแรกแห่งอารยธรรมมนุษยชาติ การรู้ฤดูกาลเก็บเกี่ยว การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ทำให้มนุษยชาติสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในปัจจุบัน เพียงแค่รู้ฤดูกาล อาจจะไม่เพียงพอ เมื่อความต้องการมีปริมาณที่สูงขึ้น การค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้ได้ ‘ผลลัพธ์’ ที่มากขึ้น และ ‘แน่นอน’ คืออีกระดับขั้นของวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ ดร.ธนิกาได้ทำการศึกษา จนนำมาสู่ Biomatlink

‘การที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ก็เริ่มต้นทดสอบเพาะปลูกและเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ การให้ปุ๋ยแบบต่างๆ อะไรที่สามารถควบคุมได้หรือไม่ได้ และจากจุดนี้ พอได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆ ก็เริ่มสร้างแพลตฟอร์ม โดยอาศัยเทคโนโลยี Internet of Things เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้แรงงานคน เก็บเป็นข้อมูลทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพื่อคำนวณและวิเคราะห์ ประเมินการเติบโตล่วงหน้า รวมไปถึงวันเวลาเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งยังสามารถเชิญนักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ มาช่วยในด้านต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น’ ดร.ธนิกา กล่าวอธิบาย

ไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย ไม่ใช่เรื่องของดินฟ้าอากาศเป็นใจ แต่เป็นการคำนวณจากค่าสถิติที่ผ่านการทดสอบเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษ ทั้งรูปแบบการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย ชนิดพันธุ์พืช ที่ ดร.ธนิกากล่าวว่า “สามารถคำนวณปริมาณผลิตผลและกะเกณฑ์ ‘รายได้’ ของเกษตรกรที่จะได้ถึง 60-70% เลยทีเดียว”

พึ่งพาอาศัย เติบโตไปพร้อมกัน

เมื่อได้รูปแบบและแนวทางที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ‘การประยุกต์ใช้’ ในรูปแบบของโมเดลธุรกิจ ที่ ดร.ธนิกาได้กล่าวว่า เป็นไปในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและรับซื้อจากไร่เกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานในปริมาณที่แน่นอนของแต่ละการเก็บเกี่ยว

‘จะเป็นในแบบความร่วมมือกันค่ะ อย่างผลผลิตที่เรารับซื้อนั้นเกิดจากการ Matching กับเกษตรกร ตกตันละ 50-100 บาท แล้วแต่ความใกล้ไกลจากโรงงาน ค่าขนส่งเราฟรี รวมถึงค่า Matching กับโดรนท้องถิ่น ไร่ละ 50 บาท ซึ่งพอรวมจำนวนไร่เข้าไปเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลง ส่วนที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดได้ จะถูกนำมาบริหารจัดการเป็นงบในการวิจัย ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มปุ๋ย เพิ่มค่าฮาร์ดแวร์ที่ใช้ ก็จะช่วยให้การบริการสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น ทุกอย่างจะดำเนินการผ่านข้อมูลที่วิเคราะห์มาแล้วทั้งสิ้น’ ดร.ธนิกากล่าวเสริม

แน่นอนว่าการพัฒนาที่ได้รับกลับมา จะยิ่งทำให้ผลิตผลต่อไร่นั้นดีขึ้น มากขึ้น และก่อให้เกิดเป็นรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นไปในทางเดียวกัน เป็นจุดที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน

COVID-19 กับการขยับขยาย “สองจังหวะ”

ภายใต้สภาวการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างความกังวลให้กับหลายภาคธุรกิจ สำหรับ Biomatlink นั้น อาศัยจังหวะนี้ เพื่อเสริมสร้าง และต่อยอดความช่วยเหลือภาคเกษตรกรให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

‘ในขณะที่ทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความขาดแคลนทางด้านอาหาร ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์คาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบสามเท่า และส่งผลต่อการผลิตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง จากเดิม 2 บาท/กก ปัจจุบันราคาพุ่งไปถึง 4 บาท/กก นั่นหมายความว่าเป็นโอกาสดี’ ดร.ธนิกากล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ไม่เพียงแค่ราคาของผลิตผลที่สูงขึ้น Biomatlink ยังได้ใช้ช่วงเวลานี้ พัฒนาในแง่ ‘คุณภาพ’ ของแพลตฟอร์ม ให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง

‘ก็เป็นช่วงนั้นเองที่ได้เปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ให้การตรวจรับอยู่ในระดับ 1 คันไม่เกิน 15 นาที ทั้งการใช้ RFID, กล้อง AI ตรวจวัดแบบ Facial Recognition, เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์แป้งอัตโนมัติ ทั้งหมดเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยสรุป วิกฤติ COVID-19 เป็นตัวช่วยเร่งความต้องการสินค้า และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ดีขึ้น จะมองว่าเป็นการขยับขยายในเชิงคุณภาพก็ว่าได้’

ต่อยอดความร่วมมือ สู่ตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่า

Biomatlink ในวันนี้ ได้ขยายความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยได้รับความช่วยเหลือทั้งจากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ในด้านเงินทุนและโอกาสด้านการพบปะกับคู่ค้าใหม่ และทาง SCG ในการสร้างโรงรับซื้ออัจฉริยะพร้อมประกอบเสร็จ ที่มีเป้าหมายจะขยายตัว​

อย่างรวดเร็วเป็น 3,200 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 9 ล้านไร่ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสทางธุรกิจในต่างแดนที่เข้ามา ซึ่งเป็นประตูไปสู่ตลาดสากล

‘เป็นจังหวะที่เหมาะมากๆ เพราะเรากำลังจะทำข้อตกลงร่วมกับประเทศการ์นา ในความช่วยเหลือของธนาคารกรุงไทย เราก็ได้ไปเสนอระบบของ Biomatlink ซึ่งทางผู้ดำเนินธุรกิจด้านอาหารของการ์นา ก็ต้องการให้นำระบบดังกล่าวมาใช้กับการคัดแยกมันสำปะหลังของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่จะเข้าไปสู่กลุ่มประเทศที่มีมันสำปะหลังทั่วโลก และได้ทำความตกลงความร่วมมือกับ SCG และ JWD ในแง่การขนส่งทั่วประเทศอีกด้วย’

 

รายละเอียดเพิ่มเติม :

https://web.biomatlink.com/

https://www.facebook.com/biomatlink/

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ