fbpx

ศึกใหญ่หลังโควิด!! จับตา 2 ขั้วอำนาจ ‘จีน-เมกา’ กับการเข็นเงินดิจิทัลสู่โลกใหม่

เมื่อไรที่เราเริ่มมาถึงจุดที่มีคำถามว่า ‘ทำไมบางประเทศพิมพ์เงินออกมาใช้แล้วค่าเงินไม่ร่วงตก’ แสดงว่าเราเริ่มเข้าใจว่าระบบการเงินโลกมันไม่ได้เป็นไปตาม ‘ตำรา’ แต่เป็นไปตาม ‘บัญชา’ 

ยกตัวอย่างค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ ก็คงทราบกันดีว่า เงินสกุลนี้ได้ผูกกับน้ำมัน ทองคำ การค้า และทุกๆ อย่างที่มีผลกับระบบเศรษฐกิจโลก เพราะสหรัฐอเมริกาสร้างระบบเงินดอลลาร์สหรัฐขึ้นมา เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองตัวเอง 

เมื่อเงินดอลล่าร์สหรัฐไปอยู่ในมือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ธนาคารในประเทศต่างๆ นักธุรกิจ และในมือประชาชน เลยไม่มีใครที่อยากจะให้มันกลายเป็นศูนย์ 

แต่เกมนี้จะจบลงเมื่อมีผู้ที่สร้างอำนาจเหนืออำนาจ และพร้อมกระชากสมดุลนี้ออกมาจากมือสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ ‘จีน’ คือผู้มีอำนาจคนนั้น

SWIFT เครือข่ายด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงทั่วโลก เคยรายงานไว้ว่า เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมอันดับ 5 ในการชำระเงินระหว่างประเทศในแง่มูลค่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีส่วนแบ่ง 1.85% เพิ่มขึ้นจาก 1.65% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 21.48% หากคิดจากเดือนก่อนหน้า

เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำสถานภาพของเงินดอลล่าร์สหรัฐเข้าไปอีก แต่เชื่อว่าคงไม่เป็นแบบนี้ต่อไป เพราะคนถือเงินดอลลาร์ในโลกนี้  ก็คงจะมากกว่าหยวนเป็นไหนๆ และผู้คนเหล่านั้นก็น่าจะไม่อยากให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นแค่เศษกระดาษแน่นอน 

แต่ในเมื่อหลายๆ ปัจจัยมันรุมเร้าให้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐไปในทิศทางดิ่งเหว การสร้างสิ่งใหม่ที่จะค้ำจุนอำนาจของตนไว้จึงต้องเกิดขึ้น!!

ตอนนี้โลกเริ่มเห็นพ้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นตัวผลักให้ ‘เงินดิจิทัล’ เล็ดลอดเข้ามาเปลี่ยนโลกการเงินแบบมัดมือชก ซึ่งเกมนี้ สหรัฐฯ ก็มีแรร์ไอเทมที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าการเงินของตนได้ ด้วย ‘ลิบรา’ (Libra) ที่ถูกคิดขึ้นจาก Facebook 

ก่อนหน้านี้ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ก ก็ดันลิบราเต็มตัว พร้อมทั้งเข้าไปจับมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นพันธมิตรกับลิบราราว27 รายในหลายประเทศทั่วโลก เช่นMastercard / Paypal / Stripe / PayU / บุ๊คกิ้งดอตคอม / อีเบย์ / ฟาร์เฟตช์ / ลีฟท์ / อูเบอร์ และสปอทติฟาย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงองค์กรเพื่อสังคมไม่แสวงผลกำไร อาทิ 

Kiva, Mercy CorpsและWomen’s World Bankingตลอดจนพันธมิตรในแวดวงการเงินดิจิทัล และกองทุนเพื่อการลงทุน 

จากนั้นก็ได้ก่อตั้ง ‘สมาคมลิบรา’ (Libra Association) ขึ้นมา เป้าหมายก็คือสร้างโครงการสร้างพื้นฐานทางการเงินระดับโลกที่มีความเรียบง่าย และทำให้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกมีอำนาจในมือมากขึ้น (ในการจัดการธุรกรรมการเงิน) ระบบของลิบราขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน 

ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการทำให้ผู้คนประมาณ1,000 ล้านคนที่ไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารสักบัญชีเดียว แต่มีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องและเฟสบุ๊กได้ข้าถึงระบบการเงินแบบที่ไม่ต้องผ่านระบบธนาคารหรือบริการทางการเงินในรูปแบบปกติทั่วไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ นี่อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่ลิบราจะเข้ามาแทรกแซงระบบการเงินของทั้งโลกได้เลยนั่นเอง

ฉะนั้นเพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลลิบรา เฟสบุ๊กจึงเปิดตัวบริษัทลูกที่ดำเนินการเป็นอิสระภายใต้ชื่อ คาลิบรา (Calibra) ขึ้นมาทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินดิจิทัล  ผู้ใช้สามารถโอนเงิน ใช้เงิน และออมเงินสกุลลิบรา ประเดิมด้วยบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่สามารถใช้งานได้บนแอพพลิเคชั่นอย่างWhatsAppและMessengerไปแล้ว

แน่นอนว่า การประกาศดังกล่าวย่อมมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อ ‘ระบบการเงินดั้งเดิม’ ที่กลัวว่าธุรกรรมต่างๆ ที่สถาบันการเงินเคยผูกขาดกับรายย่อย หรือเคยเป็นเสือนอนกิน สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่เจ้าของแบงก์ทั้งหลายพลันสลายถูกทำลายไปในไม่ช้า

ความแคลงใจใน ‘ลิบรา’ กับการเบรกไว้แต่ไม่พับทิ้ง

อย่างไรซะ ลิบรา เอง ก็เคยถูกเบรกจากในประเทศของตัวเอง เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ เคยเรียกร้องให้คุม ‘ลิบรา’ ด้วยกฎของธนาคาร ถึงแม้เขาจะบอกว่าไม่เคยคิดเป็นแฟนของบิทคอยน์และเงินดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เงินตราที่แท้จริง แถมค่าก็ผันผวนอย่างมาก และไม่มีสิ่งใดรองรับ แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการให้ใครก็ตามที่คิดจะตั้งตนขึ้นมาเป็นธนาคาร อยู่นอกเหนือกฎระเบียบของสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับธนาคารทั้งในสหรัฐฯ และนานาชาติ

ประกอบกับความน่าสงสัยและไม่โปร่งใสของเฟสบุ๊ก ที่มักจะมีข่าวการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ปัญหาการฟอกเงิน การปกป้องผู้บริโภค และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และปัญหาโคตรใหญ่ของเฟสบุ๊กจริงๆ เพราะหาก ลิบรา ออกสู่ตลาดได้จริง อย่างน้อยๆ เท่ากับ 3.5 พันล้านบัญชีผู้ใช้เฟสบุ๊กก็มีโอกาสถูกโน้มน้าวให้เป็นผู้เข้ามาในระบบเงินดิจิทัลตัวนี้

อย่างไรเสีย โปรเจ็กต์นี้ ก็เดินหน้าอีกครั้ง โดยทางMichael Engle, หนึ่งในทีมLibra Associationได้สรุปถึงแผนงานใน White Paper ฉบับปรับปรุงใหม่ หรือLibra White Paper 2.0ซึ่งมีสาระสำคัญเพิ่มเติมจาก White Paper ฉบับเดิมดังนี้

การเพิ่มขอบเขตความสามารถ และนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ ในกรอบการทำงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ

อ้างอิงสกุลเงินเดียวที่มีความเสถียรสูง และมีข้อตกลงร่วมกัน (ของแต่ละประเทศ) ในการคำนวณสูตรการอ้างอิงมูลค่า นอกเหนือจากการผูกรวม หรืออ้างอิงมูลค่าเหรียญจากหลายสกุลเงิน

มีการปรับเรื่อง Libra Network ที่ไม่ปล่อยให้ดูแลกำกับ (node) กันเอง แต่เปลี่ยนเป็นการให้หน่วยงานของภาครัฐแต่ละประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลระบบ แลกเปลี่ยน จัดเก็บ (VASPs) ซึ่งต้องได้การรับรองจากสมาคม libra

กล่าวโดยสรุปคือ จะมีการเปลี่ยนจากการสร้างเงินดิจิตอลสกุล Libra ให้กลายเป็นแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชันทางการเงิน ที่จะเปิดให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองได้ โดยทุก ๆ single-currency stablecoins ที่ออกมา จะต้องมีเงินของสกุลนั้น สำรองในอัตราส่วน 1:1 เสมอ เช่น

จะผลิต 10 ล้าน LibraUSD ก็ต้องมีเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ฯ สำรองเก็บอยู่ในบัญชีธนาคารของ Libra

จะผลิต 100 ล้าน LibraEUR ก็ต้องมีเงินจำนวน 100 ล้านยูโรฯ สำรองเก็บอยู่ในบัญชีธนาคารของ Libra ในอัตราสัดส่วน 1:1

ตรงนี้จะมีสูตรคำนวณที่แน่ชัดกว่าแบบเดิม โดยเริ่มแรกจะมี 4 สกุลในเครือข่ายช่วงเริ่มต้น คือ LibraUSD, LibraEUR, LibraGBP และ LibraSGD ก่อนรับ หรือขยายเพิ่มเติม ตามความสนใจของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่อาจสนใจเข้าร่วมออกสกุลเงินของตัวเองบนแพลตฟอร์มของ Libra

หยวนดิจิทัล VS ลิบราคู่ฟัดที่สมน้ำสมเนื้อ

อีกขั้วอำนาจแห่งระบบชำระเงินโลกอีกฟากหนึ่งในประเทศจีน ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศจีนกำลังเร่งดำเนินการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือ ‘เงินหยวนดิจิทัล’ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า เงินหยวนดิจิทัลจะต้องมาทดแทนปริมาณเงินสดหมุนเวียน แต่เป็นแบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

…และมีความเป็นไปได้ว่า เงินหยวนดิจิทัลนี้ อาจจะมีบทบาทมากขึ้นในระบบชำระเงินโลกด้วย เพราะปัจจุบันเงินหยวนเริ่มเข้ามาเป็นสกุลที่คนคุ้นเคยและนิยมใช้ในการแลกเปลี่ยน โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน ได้เผยว่า การใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศมีสัดส่วน 38% ของสกุลเงินทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งมีการบันทึกข้อมูล

ขณะเดียวกัน SWIFT เครือข่ายด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงทั่วโลก พบว่า เงินหยวนยังคงเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมอันดับ 5 ในการชำระเงินระหว่างประเทศในแง่มูลค่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีส่วนแบ่ง 1.85% เพิ่มขึ้นจาก 1.65% ในเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 21.48% จากเดือนก่อนหน้า

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานภาพของเงินหยวนในระบบการชำระเงินและชำระบัญชีระหว่างประเทศดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ปี 2015 ที่เงินหยวนของจีนได้ถูกนำเข้าในตระกร้าเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประกอบกับการเปิดกว้างทางการเงินมากขึ้นทำให้การใช้เงินหยวนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันจีนได้เริ่มทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนที่พัฒนาขึ้นเองและนับเป็นประเทศแรกที่ใช้เงินสกุลดิจิทัลในระบบการเงินจริง ตามรายงานของไชน่าเดลี่ ที่เผยว่า เงินดิจิทัลหยวนได้เริ่มทดลองครั้งแรกใน 4 เมือง คือ เสิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู รวมทั้งสงอันเขตเมืองใหม่ และพื้นที่รองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งปี 2022 โดยได้นำเงินสกุลดิจิทัลหยวนนี้มาใช้ในระบบการเงินทางการของเมือง เช่น จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของหน่วยงานรัฐและภาครัฐในทั้งสี่เมือง ซึ่งจ่ายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน 

นอกจากนี้ยังมีการทดลองกับระบบขนส่ง สินค้าประเภทอาหารและค้าปลีกร่วม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร้านแมคโดนัลด์ และร้านแซนด์วิชชื่อดังอย่างซับเวย์ รวมถึงมีการใส่ภาพหน้าจอโทรศัพท์พร้อมหน้าตาแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าและรองรับเงินดิจิทัลหยวนได้ โดยมีการเผยแพร่ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ทั้งอาลีเพย์ ในเครืออาลีบาบา วีแชทเพย์ของเทนเซ็นต์ อีกด้วย 

เงินดิจิทัลอาวุธครองโลกใหม่ของจีน-อเมริกา

มาถึงตรงนี้ อาจจะพอลำดับเนื้อความได้แล้วว่า สงครามเศรษฐกิจระลอกใหม่ของโลก อาจจะต้องพึ่งพาความก้าวหน้าและการพัฒนาของระบบการเงินใหม่แห่งยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะในมุมของสหรัฐฯ ซึ่งคงชัดขึ้นเรื่อยๆ กับการถูกจีนไล่กวดทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่า สถานะของ ลิบรา ที่แม้จะยังถูกตีตกในระลอกแรกจากสภาสหรัฐและ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงออกเหมือนไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้พับ ลิบรา ทิ้งไป กลับกันถ้าลิบราผ่านด่านต่างๆ ของสหรัฐฯ หรือ กระทำตามกฎระเบียบที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องการได้ ลิบราก็จะถูกติดปีกโดยรัฐบาลสหรัฐฯ แน่นอน

ดังนั้น หากลิบรา ผ่าน จะกลายเป็นอาวุธที่สหรัฐมักใช้กดดันประเทศอื่นๆ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจหรือปกป้องระบอบทุนนิยมเสรีของตนมาโดยตลอด ทั้งผ่านมาตรการ การค้าเสรี การเปิดเสรีทางการเงินได้อีกครั้ง

…และจะกลายเป็นกลไกในการสร้างความชอบธรรมที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจตีกรอบเพื่อให้กลุ่มประเทศในโลกที่สามต้องเดินตามเส้นทางที่ได้รับการออกแบบไว้ต่อไป บนพื้นฐานของคำเชิญชวนและโฆษณาที่สวยหรูถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม และสิ่งที่กล่าวมานี้ อาจจะเป็นทิศทางที่ ‘หยวนดิจิทัล’ ทำได้เช่นกัน

ปัญหา คือ แต่ละประเทศย่อมต้องหวงแหนอำนาจทางการเงินของตน ซึ่งเราคงไม่พูดถึงแค่ผลกระทบจาก ลิบรา เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงหยวนดิจิทัลด้วย เพราะเราก็คงไม่รู้ว่าเจตนาใครโปร่งใสกว่ากันหรือก็เทามันทั้งคู่

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการระบาดของ ‘โควิด-19’ ที่มาเร่งให้ ‘สังคมไร้เงินสด’ ต้องมาไวกว่าเดิม เพราะคนจะกลัวเชื้อโรคจากธนบัตรและเหรียญ รวมถึงพฤติกรรมการสั่งสินค้าออนไลน์ที่ชัดกว่าเดิม คำถามต่อไปจึงอยู่ที่ว่าบรรดาขั้วการเงินดั้งเดิมจะทำอย่างไร? เช่นเดียวกันกับประเทศไทย…ที่จะไปในทิศทางไหนดี?…เห็นแบงก์ชาติพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองในชื่อ ‘อินทนนท์’ ไว้แล้วนิ

นาทีนี้กลัวอย่างเดียว คือ บรรดาประเทศผู้ตาม เอาแต่ยึกยัก กว่าจะพลิกตัวอีกที บรรดาคนในประเทศก็แห่ไปใช้ระบบเงินดิจิทัลกันเพียบโดยที่รัฐไม่รู้ตัว และพอคิดจะมาเบรก ในจังหวะที่มันกลายเป็นมาตรฐานการใช้งานของคนไปแล้ว คราวนี้ระวังระบบการเงินในประเทศจะพังและล้มครืน ทำ ‘เงินไร้ค่า’ ไปแบบไม่รู้ตัวซะก่อน 

#GMLive #Vision #หยวนดิจิทัล #ลิบรา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ