fbpx

“อาร์ทิมิส”ภารกิจส่งนักบินอวกาศหญิงเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2024

ที่ผ่านมามีนักบินอวกาศไปถึงดวงจันทร์แล้ว 12 คน หากทุกคนเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่โปรเจ็กต์ ‘อาร์ทิมิส’ อาจนำพานักบินอวกาศหญิงคนแรกไปประทับส้นสูงถึงบนดวงจันทร์

Reasons to Read

  • ภารกิจดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า ‘อาร์ทิมิส’ (Artemis) ตามชื่อเทพีแห่งเทพปกรณัมกรีก น้องสาวฝาแฝดของอพอลโล
  • เดิมทีเป้าหมายคือการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2028 แต่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘ไมก์ เพนซ์’ ได้สั่งให้เร่งเครื่องภารกิจไปดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2024 และยังกล่าวถึงการนำนักบินอวกาศหญิงเข้าร่วมในภารกิจครั้งนี้ด้วย
  • ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศยืนยันว่าจะให้เงินสนับสนุนนาซาอีก 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นาซาขอไปก่อนหน้านี้

นับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 17 ของนาซา (NASA) สำเร็จลุล่วงในปี 1972 ด้วยการพามนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นคนที่ 12 จนถึงปัจจุบันก็ผ่านมา 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีมนุษย์เพียง 12 คนเท่านั้นที่เคยเดินทางไปไกลเพื่อสัมผัสวัตถุที่สุกสว่างที่สุดในท้องฟ้ายามค่ำคืน และนักบินอวกาศทั้งหมดนั้นก็เป็นผู้ชาย แต่ภารกิจต่อไปที่กำลังจะเกิดอาจจะเรียกได้ว่าเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้หญิง

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นาซาได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจนำมนุษย์กลับขึ้นสู่ดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี โดยมีการประกาศชื่อภารกิจและแผนการที่จะพานักบินอวกาศหญิงคนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ ภารกิจดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า ‘อาร์ทิมิส’ (Artemis) ชื่อเทพีแห่งเทพปกรณัมกรีก น้องสาวฝาแฝดของอพอลโล ซึ่งภารกิจนี้ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นที่จะพานักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 เท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนสปริงบอร์ดที่จะส่งให้ภารกิจครั้งนี้ไปไกลกว่าที่เคย

เป็นที่ทราบกันดีถึงความมุ่งมาดปรารถนาของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2017 ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งใหม่เพื่อเรียกร้องให้นาซาเพิ่มความพยายามในการสำรวจให้มากกว่าการสำรวจโลก ก่อนที่นาซาจะได้จัดทำแผนงานที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับโรดแมปที่จะพามนุษย์กลับขึ้นสู่ดวงจันทร์อีกครั้งให้ได้

เดิมทีเป้าหมายของโรดแมปใหม่นี้คือการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2028 แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ‘ไมก์ เพนซ์’ (Mike Pence) รองประธานาธิบดีสหรัฐ ได้สั่งให้เร่งเครื่องภารกิจดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยประกาศแผนการของฝ่ายบริหารที่จะไปดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2024 หรือห้าปีนับจากนี้ และยังกล่าวถึงการนำนักบินอวกาศหญิงเข้าร่วมในภารกิจครั้งนี้ด้วย

“ขอย้ำเพื่อความชัดเจนว่าผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปบนดวงจันทร์จะเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน โดยจรวดของอเมริกาที่ปล่อยตัวจากพื้นดินอเมริกา” ไมก์ เพนซ์ กล่าวในการประชุมสภาอวกาศแห่งชาติในเดือนมีนาคม

แผนการเหล่านี้กำลังเดินเครื่องไปข้างหน้าอย่างเต็มสูบ โดยทรัมป์ประกาศยืนยันว่า จะให้เงินสนับสนุนนาซาอีก 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นาซาขอไปก่อนหน้านี้ เพื่อเร่งภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในปี 2024 ที่ใกล้เข้ามา โดยคำของบประมาณครั้งใหม่นี้จะถูกนำไปลงคะแนนเสียงโดยรัฐสภา

‘จิม ไบรเดนสไตน์’ (Jim Bridenstine) ผู้ดูแลระบบของนาซา กล่าวว่า “ภารกิจนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงรุ่นใหม่อย่างลูกสาวของผม ได้เห็นตัวเองในแบบที่พวกเขาไม่คิดว่าจะเป็นไปได้”

และอย่างที่บอกไปแล้วว่าภารกิจนี้เปรียบเสมือนสปริงบอร์ดที่จะส่งให้ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ไปไกลกว่าที่เคย นั่นเป็นเพราะว่าครั้งนี้นาซามีแผนการที่จะสร้างค่ายเล็กๆ บนดวงจันทร์ รวมถึงการตรวจสอบทรัพยากรบนดวงจันทร์และหาวิธีที่อาจนำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์และใช้เป็นพื้นฐานในการสำรวจดาวอังคารและดาวอื่นๆ ที่ไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม บางคนยังคงมีข้อกังขาในความเป็นไปได้ของภารกิจนี้ เพราะในขณะที่มีความทะเยอทะยานอย่างแน่วแน่ แต่ไทม์ไลน์กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงบสนับสนุนที่สภาคองเกรสยังไม่ได้ลงนามอนุมัติ

นอกเหนือจากการจัดหาเงินทุนพื้นฐานแล้ว ภารกิจครั้งนี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น จรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระบบการปล่อยยานอวกาศ ระบบการลงจอด สถานีเกตเวย์ลอยฟ้าระหว่างโลกและดวงจันทร์ที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน และชุดสำหรับนักบินอวกาศทุกคน

ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่บีบคั้น แต่ จิม ไบรเดนสไตน์ ได้กล่าวกับพนักงานของนาซาในวันประกาศรายละเอียดของภารกิจอาร์ทิมิสว่า “การเลื่อนเป้าหมายที่ตั้งโดยรองประธานาธิบดี ไมก์ เพนซ์ ในเดือนมีนาคมออกไปนั้น เป็นทางเลือกที่เสี่ยงกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้วยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าไหร่ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เราต้องทนรับก็ยิ่งน้อยลง หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ เราสามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงได้”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ