สัญญาณเตือนภัยน่ากลัว เมื่อการเลือกตั้งยังไม่สามารถสร้างความสงบ วิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์หลังเลือกตั้ง
ความหวาดกลัวเรื่องแม้หลังเลือกตั้งการเมืองก็จะยังไม่สงบ ยังคงอยู่ในความรู้สึกหวาดวิตกระแวงของประชาชน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร สัญญาณสำคัญที่ทำให้ความหวาดกลัวนั้นเกิดขึ้น
24 มีนาคมนี้ คือวันกาบัตรเลือกตั้ง ครั้งนี้มีการประเมินว่า จะมีผู้มาออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้คนสนใจเลือกตั้งเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งที่อยู่ในความรู้สึกหลายๆ คนก็คือครั้งนี้เป็นการเลือกระบบว่า จะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารต่อไป หรือจะเป็นรัฐบาลพลเรือน ที่จะเข้ามารื้อระบบที่รัฐบาลทหารได้วางไว้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ฝ่ายนักการเมืองใช้หาเสียงว่า ระบบที่จะต้องสะสางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปจนถึงการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งอาจมีเหตุผลแฝงไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารซ้ำในอนาคต
การรื้อสร้างระบบต่างๆ ที่รัฐบาลทหารอยู่ยาวเกือบ 5 ปีวางไว้นี่เอง ทำให้การเลือกตั้งเที่ยวนี้กลายเป็นการเลือกตั้งที่เดิมพันสูง เพราะฝ่ายไหนแพ้ก็อาจถูกเช็กบิลหรือลดทอนอำนาจและบทบาท ซึ่งฝั่งรัฐบาลทหารแม้ประกาศตัวบ่อยครั้งว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ (และสร้างวาทกรรมใหม่ว่าเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ทำเพื่อประชาชน ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ พูดไว้ในวันที่ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ) แต่ก็มีการวางกลไกที่เอื้อต่อการได้รับการโหวตกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ คือการมีเสียงวุฒิสภาที่ร่วมโหวตตุนไว้ในมือ 250 เสียง (และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม ก็ส่งสัญญาณเรื่องเสียงโหวตของ ส.ว. มาแล้วจากประโยคที่กล่าวว่า “เราตั้งเราก็ต้องคุมเขาให้ได้”)
ภาพความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอนโยบายสู้กันไปมา แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนของรัฐบาลทหาร (ซึ่งมีแนวโน้มที่ผลการเลือกตั้งจะสู้คะแนนจากขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามไม่ได้) ขั้วการเมืองขั้วตรงข้ามเองก็ประกาศเข้าไปปฏิรูปจัดระบบในกองทัพ เช่น การลดงบประมาณ ลดการซื้ออาวุธ การปรับเปลี่ยนการเกณฑ์ทหาร ทำให้กองทัพเองบางครั้งกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ที่อาจมีการออกแอ็กชั่นอะไรบางอย่างหากฝ่ายขั้วตรงข้ามทหารชนะหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ความหวาดกลัวต่อรัฐประหารกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้น
ความหวาดกลัวเรื่องหลังเลือกตั้งการเมืองจะไม่สงบ ก็ยังไม่จางหายไปจากความรู้สึกของประชาชนเท่าไหร่นัก สัญญาณที่ทำให้ความหวาดกลัวนั้นเกิดขึ้นที่สำคัญนั้นได้แก่
1.ท่าทีของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต่อกรณีการหาเสียงเรื่องการเข้ามาปฏิรูปกองทัพของพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่หาเสียงในเรื่องการปรับลดงบประมาณของกองทัพนั้นคือพรรคขั้วเดียวกัน เริ่มจากพรรคอนาคตใหม่ที่จะปรับโครงสร้างทั้งการลดจำนวนนายพล การปรับลดงบประมาณทหารลง 30% การลดการซื้ออาวุธไม่ทำให้เป็นงบประมาณผูกพัน และการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พรรคเสรีรวมไทยก็ประกาศท่าทีอย่างแข็งกร้าวที่จะเข้ามาปฏิรูปกองทัพ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็มีนโยบายด้านงบประมาณทหาร คือการปรับลดลงมาเพื่อนำเงินไปตั้งเป็นกองทุนเถ้าแก่ใหม่ โดยตัดงบกองทัพปีละ 20,000 ล้านบาท (ถ้าเทียบงบประมาณปี 2562 คือกลาโหมได้รับงบประมาณ 227,126 ล้านบาท) ไปสนับสนุนสตาร์ทอัพรายใหม่
ภายหลัง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยประกาศ ท่าทีของ พล.อ. อภิรัชต์ก็ดูแข็งกร้าวขึ้นทันทีโดยการไล่ให้ไปฟังเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คือการแสดงความไม่พอใจอย่างสูงเพราะการตัดลดงบประมาณก็คือการ ‘ลดกำลัง’ ไประดับหนึ่ง และการตั้งแง่กับกองทัพยังพูดไปถึงขั้นที่ว่ากระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ที่ฝ่ายกองทัพจะได้รับ ซึ่งต่อมาโฆษกกระทรวงกลาโหมต้องออกมาชี้แจงถึงความจำเป็นด้านแสนยานุภาพของกองทัพ การใช้งบประมาณก็เพื่อช่วยกิจการพลเรือนด้วย เช่นงานบรรเทาสาธารณภัย ไม่ใช่แค่การรบ อีกทั้งงบประมาณกระทรวงกลาโหมก็ตั้งมาอย่างเหมาะสมแล้ว คือไม่เกิน 3% ของจีดีพี
2. การรวมพลังรักษาเกียรติภูมิกองทัพ ท่าทีของ ผบ.ทบ. ในการ ‘ชน’ ฝ่ายการเมืองอย่างแข็งกร้าว ยังมีต่อมาเมื่อครั้งที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.ปราจีนบุรี และออกอาการไล่ พ.ท. ปกิจ ผลฟัก ผบ.ร้อย.รส.กกล.รส.จ.ปราจีนบุรี ที่ไปติดตามดูขณะลงพื้นที่หาเสียง ทำให้ พล.อ. อภิรัชต์ออกแอ็กชั่นตอบโต้ซ้ำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น โดยการเรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษ ที่มีระดับผู้บังคับการหน่วย ผู้บังคับการกรมเข้าร่วมราว 800 คน และมีการร่วมกันกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณเรื่องรักษาเกียรติภูมิของกองทัพ ปกป้องสถาบัน เป็นที่พึ่งให้ประชาชน รวมทั้งมีการมอบรางวัลให้ พ.ท.ปกิจที่อดทนในการปฏิบัติหน้าที่
สองภาพที่ออกมานี้คือภาพที่เห็นได้ชัดเจนถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างทหารกับขั้วการเมือง ทหารเองก็ต้องการให้ฝ่ายการเมืองไม่เข้ามาล้วงลูก และรักษาเกียรติยศของทหาร หากขั้วตรงข้ามทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ‘กระทำการไม่เกรงใจต่อกองทัพ’ ก็อาจทำให้เกิดเหตุที่สองฝ่ายยืนคนละฝั่ง ที่ฝ่ายทหารอาจไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เช่น การมีม็อบต่อต้านรัฐบาล และหากฝ่ายการเมืองแสดงความไม่พอใจถึงขั้นเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. ( พล.อ.อภิรัชต์จะเกษียณอายุราชการในปี 2563) ก็อาจเกิดเป็นเงื่อนไขในการยึดอำนาจอีกครั้งได้ เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทหารจะยึดอำนาจคือการที่นายทหารระดับสูงที่คุมกำลังสำคัญจะถูกปลด
3. ตัวแปรของความกลัวที่เกิดจากการจัดตั้งรัฐบาล รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ออกแบบให้เกิดรัฐบาลผสม เพราะมีเงื่อนไขเรื่องการกำหนดจำนวน ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้โอกาสที่จะได้เสียงแบบถล่มทลายค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ซึ่งหากพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากและเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไรเท่าไหร่นัก แต่ขณะนี้จากผลการสำรวจโพลในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคพลังประชารัฐเองยังมีแต้มเป็นต่อพรรคเพื่อไทย และท่าทีของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังหมายมาดว่า ‘หากได้เป็นพรรคลำดับ 2 ก็จะต้องชิงหาพรรคร่วม’
ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองที่ถูกมองว่า ‘สามารถเจรจาได้’ และร่วมขั้วกับพลังประชารัฐ คือพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย และเสียงของวุฒิสภา 250 เสียง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคทิ้งไพ่ตายมาแล้วว่า “หากจะให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วม จะต้องไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยืนยันใช้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์” แต่ก็ยังมีคนเชื่อว่า ถ้าถึงที่สุดแล้วอาจออกมาในสูตรที่นายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรค แล้วให้มีมติพรรคไปร่วมได้ หรือเจรจามอบตำแหน่งประธานรัฐสภาให้นายอภิสิทธิ์
หากทางฝ่ายพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเสียงแนวร่วมคือพรรคอนาคตใหม่ เสรีรวมไทย และเพื่อชาติ เองก็พยายามย้ำวาทกรรม ‘ฉันทามติของประชาชน’ คือพรรคอันดับหนึ่งจะต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนเท่านั้น หากพรรคพลังประชารัฐได้อันดับสองแล้วรวมเสียงพรรคร่วมจะกลายเป็นความไม่ชอบธรรมทันที ก็จะเกิดการชุมนุมใหญ่ ประท้วงขับไล่รัฐบาลจากพรรคอันดับสองได้ เช่นที่เคยเกิดเหตุชุมนุมขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ที่อ้างว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่ใช่พรรคเสียงข้างมาก แต่ได้กลุ่มงูเห่าที่แยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทยไปเป็นภูมิใจไทยไปช่วยเพิ่มเสียงโหวต หากมีการชุมนุมจริง วาทกรรม ‘สืบทอดอำนาจ’ ก็ถูกหยิบยกมาใช้ได้
4. ทักษิณก็ยังเป็นตัวแปร ปัญหาเรื่องคดีความของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ยังเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอยู่ ชนวนความขัดแย้งทางการเมืองก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกหากพรรคในขั้วพรรคเพื่อไทยยังไม่ก้าวข้ามนายทักษิณและพยายามช่วยเหลือให้กลับประเทศไทยได้ ล่าสุดมีข่าวออกมาว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องการ ‘นำนายทักษิณกลับมาสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง’ คือไม่มีนัยยะทางการเมืองแฝงในการพิจารณาคดี จะต้องมีการรื้อฟื้นการตรวจสอบขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เรื่องนี้ทำให้โดนวิพากษ์วิจารณ์ไปพอสมควรว่าเป็นการก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ไปจนถึงมีการตั้งแง่ว่าเป็น ‘วาทกรรมอำพราง’ ของการนิรโทษกรรมรูปแบบหนึ่งหรือไม่ เพราะการออกกฎหมายช่วยโดยตรงมันทำให้รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พังมาแล้ว ก็ใช้เป็น ‘รื้อคดี’
ถ้าฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามทหารได้จัดตั้งรัฐบาล และยังมีวาระของนายทักษิณขึ้นมาอีก ก็มีโอกาสที่จะเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองซ้ำอีกครั้ง และยิ่งหากทหารไม่เอาด้วยกับขั้วการเมืองนี้ ความเคลื่อนไหวต่อต้านนั้นก็นำไปสู่การเปิดประตูให้เข้ามาทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งได้ด้วยข้ออ้างเดิมๆ คือ ‘นักการเมืองไม่มีจริยธรรม’
สิ่งที่เราต่างได้แต่ภาวนาเอาใจช่วยคือ ในที่สุดทุกฝ่ายก็ต่อรองกันได้และเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ภายหลังการเลือกตั้งเราอาจเห็นภาพว่าใครจะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นภายหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 9 พฤษภาคม ในช่วงเดือนเมษายนก็อาจมีการประสานเจรจาต่อรองอะไรกันอีกมาก การเมืองยังต้องจับตาดูแบบห้ามกะพริบตา เพราะไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้