AIS สู่ปีที่ 30 TRANSFORM OR DIE สมชัย เลิศสุทธิวงค์
เรื่อง : ณัฐพล ศรีเมือง / ภาพ : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์
แม้จะยังประสบความสำเร็จ แม้จะยังทำกำไรมหาศาล แต่ในยุค Digital Disruption แบบนี้ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS รู้ดีว่าถ้าไม่รีบลุกขึ้นมา Transform ตัวเอง แม้เป็นเบอร์หนึ่งก็อาจล้มหายตายจากได้ ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ผ่านๆ มาก็มีให้เห็นเยอะแยะ
ดังนั้น AIS ซึ่งในตอนนี้กำลังอยู่ในวาระฉลองครบรอบ 29 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 จึงเป็นการเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ขององค์กรอย่างแท้จริง เมื่อธุรกิจโทรคมนาคมอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว AIS จึงมุ่งไปสู่การเป็น Digital Service Provider สร้างแพลตฟอร์มที่จะให้บริการดิจิทัลต่างๆ พร้อมกับมีธุรกิจใหม่อย่าง แพลตฟอร์มโฆษณา ประกัน และสินเชื่อรายย่อย
ถือเป็นภารกิจที่ใหญ่มากของสมชัย ซึ่งไต่เต้าจากพนักงานธรรมดาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัทได้ 5 ปี เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ก่อนที่เมื่อถึงเวลาเหมาะสม เขาจะหาตัวแทนมาสานต่อ และเกษียณไปทำตามแพสชั่นของตัวเองตามที่ตั้งใจไว้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงวันนั้น AIS ภายใต้การกุมบังเหียนของซีอีโอคนนี้ คงยังมีอะไรสนุกๆ มาให้เราได้ติดตามกันอีกมาก
พูดถึงการครบรอบ 29 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของ AIS มองย้อนกลับไป เราสามารถแบ่ง AIS เป็นยุคต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง จุดเปลี่ยนที่สำคัญคืออะไร
สมชัย : AIS เป็นเบอร์หนึ่งทางด้าน Mobile Operator มาเป็นเวลานาน เหตุผลก็คือว่า เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่ในทุกยุค 29 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้ผมแบ่ง AIS เป็นยุคๆ เราแบ่งได้ 3 ยุคด้วยกัน ไม่ใช่ยุค 2G 3G 4G แต่ว่ามองโดยเอาลูกค้าเป็นหลัก
ยุคแรกนี่อยากใช้คำว่าเป็นยุคของ Product Centric ก็คือยุคในการโฟกัสไปยังสินค้าบริการของเราเลย เพราะใน 30 ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์เป็นของจำเป็น มือถือยังเป็นของใหม่ ฉะนั้นเวลาเราทำการตลาดหรือทำอะไรต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้คนรู้จักสินค้าเรา ทำสินค้าและบริการให้ดี พูดง่ายๆ ต้องพูดถึงเรื่องสินค้าให้ชัดเจน สร้างเน็ตเวิร์กของเราให้มีความแข็งแรง มีคุณภาพ สร้างบริการให้เป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่ายุคนั้นเราก็จะโฆษณาชัดๆ เช่น GSM 2 วัตต์ ทุกที่ ทุกเวลา โทรฯ ติดได้ 795 อำเภอ ไปไหนมีหมด พูดง่ายๆ ขายของ ตรงไปตรงมาอย่างเดียว
พอมาถึงยุคที่ 2 หลังจากที่คนเริ่มรู้จักสินค้าบริการของเราแล้ว การตลาดก็มีความสำคัญมากขึ้น Branding มีความสำคัญมากขึ้น เราถึงได้เอาเรื่องของ Marketing Centric ใช้หลักกลไกทางการตลาดมาสื่อสารไปถึงผู้บริโภค พูดง่ายๆ จาก Functional ในยุคของ Product Centric มาเป็น Emotional มากขึ้น จะเห็นว่ายุคนั้นเราจะมีโฆษณาออกมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง One2Call เราใช้ธีม Freedom ฉะนั้นบางทีคนไม่ได้อยากใช้มือถือหรอก แต่เพราะว่าใช้ Marketing กลไกตลาดทำให้แบรนด์แข็งแรง คนก็อยากเข้ามา นี่คือสิ่งที่เราปรับจาก Product Centric มาเป็นยุคที่ 2
แต่พอมาเป็นยุคที่ 3 ผมเชื่อว่า Marketing อย่างเดียวเอาไม่อยู่ กลับเข้ามาสู่ยุคที่เรียกว่า Customer Centric คำว่า Customer Centric คืออะไร เราจะใช้สินค้าดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ใช้กลไกการตลาดอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้จริงๆ ยุคนี้เป็นยุคที่เราลงทุนมากในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือ Privilege เช่น ดูหนังได้ลดราคา กินข้าวได้ลดราคา ช้อปปิ้งได้ลดราคา อะไรที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ถึงแม้ไม่เกี่ยวกับโปรดักต์ของเรา เราก็ต้องสรรหามาให้เขา ก็เลยทำให้เราเกิดความแตกต่างเพิ่มเติมขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องที่ AIS ผ่านมา 3 ยุค
ผมเชื่อว่าการก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ผมบอกทีมไว้ตลอดเวลาว่า ในยุคของดิจิทัลที่เข้ามา เราเองเคยประสบความสำเร็จทั้ง 3 ยุค เราประมาทไม่ได้ จะต้องก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา Disrupt เราอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรา Kick Off ไปสำหรับการเข้าสู่ปีที่ 30 ผมทำด้วยกัน 3 อย่าง อย่างแรกคือขอบคุณลูกค้า ตอบโจทย์ลูกค้า มอบ AIS Point ที่เป็นสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าที่อยู่กับเรา อย่างที่ 2 เราใส่แกนสังคมเพิ่มเข้ามา เพราะยุคนี้เป็นยุคของการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ก็มีการใส่ในเรื่องของ Sustainability Development – SD เน้นโครงการ E-Waste การขจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ AIS Cyber Wellness อย่างเรื่อง DQ ที่ยุคนี้ควรต้องเน้นเรื่องความอัจฉริยะทางดิจิทัลให้แก่เด็กๆ เราลงทุนกับเรื่องพวกนี้ไปเยอะ
แต่ที่สำคัญคือ อย่างที่ 3 ภายในองค์กรของเรามีการปรับ Culture ใหม่ไปอีกขั้นด้วย เนื่องจากที่ AIS เป็นเบอร์หนึ่งอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะว่าคนของเรา แต่ขณะที่ผมพูดว่าคนของเราเก่ง คนของเราดี ในยุคที่ 4 ที่ผมกำลังจะพูดนี้ คนของเราก็ต้องปรับตัวอย่างมาก เราเลยเลือกคำง่ายๆ คือ Fit Fun Fair มาเป็น Culture ใหม่ในการ Drive เพราะว่าถ้าคนของเราไม่พร้อมในยุคดิจิทัล ก็อาจจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคที่ 4 Digital Disruption นี้ไม่ได้เหมือนกัน
ถือเป็นภารกิจที่ใหญ่มาก สำหรับการก้าวสู่ยุคใหม่ของ AIS ในปีที่ 30 ซึ่งเป็นยุคของ Digital Disruption
สมชัย : ใช่ครับ การก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ผมมองไว้ 2 อย่าง อย่างแรกคือตัวสินค้าบริการของเรา จากเดิมที่เราแข็งแรงในเรื่อง Mobile แค่นั้นไม่พอ อย่างที่ผมให้วิสัยทัศน์ไว้ตั้งแต่มาเป็นซีอีโอ ผมเองบอกไว้ตั้งแต่วันแรกเลยว่า เราอยากเปลี่ยนตัวเองจาก Mobile Operator ไปสู่ Digital Service Provider ให้ได้ เหตุผลที่ผมทำอย่างนี้เพราะว่าเราเชื่อว่าลูกค้าของเราในวันนี้ ไม่ได้ต้องการใช้สินค้าบริการของเราแค่การติดต่อสื่อสาร เพราะมันเป็นสิ่งที่สามัญและใครๆ ก็มี แต่เราต้องสร้าง Digital Platform ขึ้นมา เพื่อที่จะให้บริการในเรื่องของ Digital Service ต่างๆ กับลูกค้าของเรา เพราะฉะนั้นในการเข้าสู่ปีที่ 30 นี้ อันแรกผมเลยไปลงทุนเพิ่มในเรื่องของการทำ Mobile Money ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ หรือ Rabbit LINE Pay ซึ่งลงทุนร่วมกับ Rabbit แล้วก็ LINE ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ใหญ่มาร่วมทุนกัน
อันที่ 2 ในเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์ เราเห็นว่าลูกค้าใช้ Mobile ของเราดูหนังฟังเพลงเยอะมาก เราก็เปิด Video Platform คือ AIS Play ขึ้นมา เอาคอนเทนต์ดีๆ ไม่ว่าจะเป็น HBO ไม่ว่าจะเป็น FOX หรือแม้กระทั่ง OTT แบบ Netflix หรือ Hooq หรือ Viu ซึ่งเป็น Content Provider ต่างๆ เข้ามาให้บริการลูกค้าของเรา และอันที่ 3 เรากำลังทำ Insurance Broker ซึ่งได้รับ License มาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาในการก้าวสู่ปีที่ 30 อันนี้เป็นธุรกิจใหม่ ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับ AIS เราก็ต้องลงทุนใหม่ แต่วิธีลงทุนของ AIS เราจะแตกต่างกับคู่แข่ง เพราะเราจะทำกับพาร์ทเนอร์เป็น Ecosystem ขึ้นมา
ส่วนที่ 2 ที่ผมเรียนไว้ก็คือว่า นอกจากปรับเรื่องสินค้าบริการที่จะต้องทำแล้ว ยังจะต้องปรับในเรื่องของ Culture หรือคนของเราด้วย คนของเราเคยเก่งมากเลยในเรื่องของการทำ Mobile แต่พอมาธุรกิจใหม่ๆ เราก็ต้องรับเลือดใหม่ต่างๆเข้ามา คนที่มีความสามารถหรือประสบการณ์ในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ก็เข้ามา คนที่มีประสบการณ์ในเรื่องของ Insurance ก็เข้ามา เพื่อเอามาสร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ สร้างประสบการณ์แบบใหม่
Mindset ของคนในองค์กรเปลี่ยนยากไหม
สมชัย : การทำเรื่องคนยากที่สุด ผมโชคดีตรงที่ว่า AIS เป็นองค์กรที่แข็งแรงเพราะคน และคนส่วนใหญ่เป็นคนดี ขนาดเป็นคนดีพร้อมจะให้ความร่วมมือ ผมยังเผชิญปัญหาเยอะเลย จะเล่าให้ฟัง อันนี้เป็น Case Study คือทุกคนพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่เวลาจะเปลี่ยนจริงมันทำได้ยากมาก ด้วยเหตุผล 2 อย่าง หนึ่งคือ เรายังประสบความสำเร็จอยู่ AIS จนถึงทุกวันนี้ยังเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีกำไรมหาศาล เป็นบริษัทระดับต้นๆ ได้รางวัลเยอะแยะมากมายทุกปี ทีนี้พอเราบอกให้เขาเปลี่ยนในสิ่งที่เขาทำแล้วยังประสบความสำเร็จ มันยากมาก แต่เราก็พยายามยกตัวอย่าง มีตัวอย่างเยอะแยะ ผมคงไม่เอ่ยชื่อนะครับ บริษัทที่เขาใหญ่มากๆ เลย แล้วอยู่ๆ ก็หายไป เราก็บอกว่าบริษัทเหล่านั้นใหญ่กว่าเราเยอะ ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วเราอยู่ไม่ได้แน่ๆ เขาก็รู้นะ แต่ก็ยังเปลี่ยนกันยากอยู่
ข้อ 2 สำคัญกว่านั้นก็คือว่า บางทีเขาอาจจะรับไม่ได้กับสิ่งที่รู้ว่าตัวเองต้องเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่นเรามีพนักงาน 12,000 คน มีผู้บริหารอยู่ประมาณสัก 200 คนที่ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็น AVP – Assistant Vice President จนกระทั่งถึง VP ถึง EVP ผู้บริหารระดับสูงที่ไต่เต้าขึ้นมาก็จะมีห้องส่วนตัว มีรถขับ มีโน่นมีนี่ ขณะที่เราไปศึกษาองค์กรแบบใหม่ องค์กรแบบสตาร์ทอัพเขาจะเป็นห้องว่างๆ แม้กระทั่ง ซีอีโอก็ไม่มีห้องนะ เพื่อจะให้ทำงานใกล้ชิด เวลาเราคุยกันทุกคนก็จะบอกว่าองค์กรรุ่นใหม่ต้องเป็นแบบนี้ เวลาผมประกาศ No Room Policy ทุกคนบอก โอเค เอาด้วย แต่เวลาให้ทำจริง ไม่ค่อยมีใครยอมออกจากห้อง มีแค่ 20% ที่ยอมออกจากห้องเท่านั้นเอง
ผมก็ถาม อ้าว! คุณตกลงกันแล้ว คุณเห็นองค์กรใหม่อย่าง Facebook อย่าง Google เขาเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเราจะทำ คุณไม่ยอมทำ แรกๆ เขาก็บอกผมว่าคำสั่งไม่ค่อยชัดเจน เวลาจะออก ออกแบบไหน ออกแล้วจะต้องทำอย่างไร ผมก็บอกว่าองค์กรแบบใหม่มันไม่ต้องมีคำสั่งชัดเจน มันต้องเข้ามา Scrum ลองผิดลองถูกกัน คุยไปคุยมา สุดท้ายก็ยังไม่ออก อันนี้เป็นเรื่องตลกมากเลย ในที่่สุดเราไปคุยกับเขาถึงสาเหตุจริงว่าทำไมไม่ออก เขาขอผมตรงๆ นะว่าต้องเข้าใจเขาหน่อย เขาทำงานมา 20 กว่าปี ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับบริษัทมา วันนี้เขาเป็นผู้บริหารแล้ว ห้องคือหน้าตาของเขา ถ้าให้เขาออกมา เขาจะอายเพื่อนมากเลย อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น คือหนึ่งประสบความสำเร็จแล้วก็ไม่รู้จะเปลี่ยนทำไม อันที่ 2 ทั้งๆ ที่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วดี แต่บางทีก็ไม่อยากเปลี่ยน เพราะเราอยู่ Comfort Zone มานาน เราเคยได้มา ทำไมถึงจะต้องไม่ได้ล่ะ
แต่ผมโชคดีก็คือว่าไม่ค่อยมีใครต่อต้าน รู้ว่าต้องทำ แต่อาจจะเปลี่ยนได้ช้า แต่พอหลังจากที่ผมทำมา 5 ปี ทุกอย่างดีขึ้น ผมไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่านะ ในเมื่อเขาไม่ออก เราก็ไม่บังคับให้เขาออก วิธีทำของผมก็คือว่าเราจะมีการรีโนเวทออฟฟิศใหม่ตลอด เมื่อถึงเวลาที่แต่ละฝ่ายต้องรีโนเวทออฟฟิศใหม่ เราก็จะทำห้องแบบใหม่แบบที่ผู้บริหารไม่มีห้องแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่ต่อต้าน เพราะว่าเวลาเรารีโนเวทใหม่ ห้องก็สวย สถานที่ก็ดูดี เขาก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะโดยรวมดูดีแล้ว ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป AIS โชคดีอย่าง บริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ยังมีกำไร ยังมีเงินมีทอง มันเลยมีระยะเวลาที่ปรับตัว แล้วผมเชื่อว่าเรายังปรับตัวได้ทัน ซึ่งเราก็เปลี่ยนแปลงไปได้พอสมควร
วิธีการบริหารดูเหมือนเป็นคนประนีประนอม
สมชัย : คือผมอย่างนี้ครับ สไตล์ของผมเนื่องจากผมเป็นคนเก่า เติบโตมาจากองค์กร อยู่ AIS มา 20 กว่าปี ก็รู้จักทุกๆ คนเลย ผมเองเป็นผู้บริหารที่เป้าหมายต้องชัดเจนว่าต้องทำอะไร และเราทำงานกันเป็นทีม ผมจึงไม่ได้ผลักทุกคนแบบรุนแรง แต่เป้าหมายไม่เปลี่ยน พูดง่ายๆ ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ถ้าเป็นตะวันตกเข้ามาแล้วตั้ง KPI เลย เสร็จแล้วถ้า KPI ไม่ได้ไม่ถึงก็ให้ออก พอเห็นภาพนะ แต่ตะวันออก ทำเป้าไม่ได้ก็อยู่กันแบบพี่น้อง ผมจะอยู่ระหว่างกลาง พยายามบาลานซ์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จะเห็นว่าพนักงานผมไม่ได้ผลักว่าถ้าคุณไม่ออกจากห้อง ผมไล่คุณออก ถ้าเป็นแบบฝรั่งสั่งแล้วไม่ทำไล่ออกแน่ ผมก็ใช้เวลา แต่ผมไม่ยอม เป้าหมายผมชัดเจนว่ายังไงก็ต้องเปลี่ยน เนื่องจากเรายังมีเวลา หรือคนที่ทำ KPI ไม่ได้ เราไม่ได้ไล่ออกแบบฝรั่ง แต่เมื่ออยู่คุณจะไม่ได้โบนัส ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี เมื่อก่อนก็แบบพี่ๆ น้องๆ แบ่งๆ กันไป คนทำได้เยอะหน่อย คนทำไม่ค่อยได้ก็ได้น้อยหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ก็คือไม่ได้ แต่ยังไม่ไล่ออก
ในฐานะคุณเองก็เป็นคนเก่าอยู่มานานในองค์กร มีวิธีตามโลกอย่างไร
สมชัย : AIS โชคดี เพราะว่าเราเป็นบริษัทที่อยู่ในเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะฉะนั้นผมจะมีโอกาสได้พบผู้ผลิต ซัพพลายเออร์เยอะแยะมากมาย เราก็สามารถรับรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ได้อยู่ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างนั้นตัวเราเองก็ต้อง Adapt ด้วย ผมเองเป็นคนหนึ่งซึ่งคุยกับพาร์ทเนอร์เยอะมาก คือไม่ใช่แค่ซัพพลายเออร์ อย่างเช่นถ้าผมจะทำเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์ ผมก็จะไปหาแกรมมี่ เพราะฉะนั้นองค์ความรู้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือในอุตสาหกรรมเรา เรารู้อยู่แล้ว แต่ว่าเราจำเป็นต้องเรียนรู้อุตสาหกรรมอื่นๆ ทำไมผมสนใจประกัน เพราะผมไปคุยกับคนในวงการประกันภัยแล้วเห็นโอกาสมากมาย เพราะเรามีแพลตฟอร์มเราทำได้ การพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญของผมเลย
ผมเล่าให้ฟังว่า การเรียนรู้มีด้วยกัน 3 วิธี วิธีแรกคนไทยส่วนใหญ่เป็นคืออ่าน อ่านแล้วจะรู้เยอะเลย อันที่ 2 ก็คือ คุย ส่วนตัว ผมว่าคุยจะรู้ลึกกว่า เพราะอ่านก็อาจจะเป็นตำราเป็นทฤษฎี แต่ถ้าคุย คุณได้คุยกับคนมีประสบการณ์ อันที่ 3 ถ้าจะให้สำเร็จจริงๆ รู้จริงๆ ต้องทำ อย่างผมในเรื่องเทเลคอมเรื่องดิจิทัลผมทำเยอะ ผมเลยรู้เยอะ แต่วันนี้เราขยายไปถึง Digital Service Provider เราจำเป็นต้องรู้อุตสาหกรรมอื่น ผมยังอยู่ในขั้นแค่คุยเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ลงมือทำเยอะเท่าที่อยากจะทำ เลยยังไม่รู้จริง
จะว่าไปชีวิตการทำงานของคุณเองก็เหมือนเดินทางและเติบโตมาพร้อมๆ กับ AIS มีเรื่องราวความผูกพันหรือว่ามีความประทับใจในองค์กรนี้อย่างไรบ้าง
สมชัย : ผมทำงานมา 36 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อนะ คือผมจบปริญญาตรีแล้วก็ทำงานมา เรียนหนังสือปริญญาโทก็ทำงานไปด้วย ผมทำงานที่แบงก์ไทยพาณิชย์มาก่อน 6 ปี เป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วก็มาทำงานที่ชินวัตรคอมพิวเตอร์อีก 8 ปี ก่อนเข้ามาอยู่ AIS ได้สักประมาณ 22 ปี ก็ถือว่ายาวนาน แต่ว่าเรามีประสบการณ์ 14 ปีจากส่วนอื่นมาก่อน
ผมเคยให้สัมภาษณ์ตอนเป็นซีอีโอใหม่ๆ เมื่อ 5 ปีก่อน บอกว่าผมประทับใจ AIS ตรงที่ว่าเป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนจริงๆ เพราะว่าผมเองเข้ามาที่ AIS ถึงแม้จะผ่านงานมาจาก 2 บริษัท แต่เราก็เข้ามาเริ่มต้นเป็นพนักงานธรรมดาแล้วก็ไต่เต้ามา ถ้าผมซึ่งไม่ได้นามสกุลใหญ่ ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีเส้นมีสาย สามารถเติบโตจากพนักงานธรรมดาขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ แสดงว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ให้โอกาสจริงๆ
แล้ว 5 ปีกับการเป็นซีอีโอ ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
สมชัย : ผมโชคดีที่มีทีมงานดี แล้วก็เราเองมีความภูมิใจ ผมเป็นซีอีโอ ผมภูมิใจ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกมันเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากสัมปทาน TOT มาสู่ใบอนุญาต กสทช. ช่วงนั้นจะได้ข่าวนะครับว่าหมดสัญญาสัมปทานแล้วจะปิดเน็ตเวิร์ก ลูกค้าจะเป็นของเราหรือขององค์การโทรศัพท์ ผมสามารถผ่านช่วงนั้นมาได้ถือว่านำพาองค์กรผ่าน Crisis อันใหญ่เลย อันนี้อันที่ 1 อันที่ 2 ก็คือเรื่องของการประมูล ถ้าใครติดตามข่าวประมูล ผมเป็นซีอีโอมา 5 ปีกว่า ผมประมูลให้เงินรัฐไปแล้วหนึ่งแสนหกหมื่นล้านยังจ่ายไม่หมดเลย ซึ่งถือว่าเยอะมาก ไม่มีซีอีโอคนไหนทำ เรื่องที่ 3 ที่สำคัญมากๆ ก็คือว่าในช่วง 5 ปีของผมสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกได้พอสมควร 5 ปีที่ผ่านมา AIS ถือว่ายังเป็นบริษัทที่มีผลกำไรดีมากในตลาด เราได้รับรางวัลเยอะแยะ ที่ภูมิใจมากที่สุดคือในปีที่แล้วได้รับรางวัล Mobile Operator อันดับ 1 ของโลก ไม่ใช่ของประเทศไทยนะ โดย Brand Finance เราเคยได้อันดับ 2 อันดับ 3 มา แต่ปีที่แล้วเราแซงขึ้นมาได้ เป็นอันดับ 1 ของโลก
เห็นคุณเคยพูดถึงแผนเกษียณไว้
สมชัย : ใจจริงผมอยากจะเกษียณตั้งแต่อายุ 55 วันนี้ 57 แล้ว เหตุผลที่อยากเกษียณเพราะว่าชีวิตมันมีหลายอย่าง ผมมองอย่างนี้ครับ หนึ่งคือตัวองค์กร AIS มีความต้องการผู้นำซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ ถึงแม้ผมจะอายุเยอะแล้ว แต่ผมก็ยังมีความคิดแนวใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าเราสู้เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ จะเห็นว่าผู้บริหารอย่างเฟซบุ๊ก อะไรต่างๆ เด็กๆ ทั้งนั้น ผมจึงรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามา เราอยากเห็นซีอีโอของ AIS ในอนาคตอายุสัก 40 ปลายๆ 50 ต้นๆ นี่คือสิ่งที่ผมคิดไว้ แต่ก็ยังหา Successor ไม่ได้ ก็ยังต้องทำต่อไป หวังว่าเขายังไม่ไล่ออกนะ (หัวเราะ) ก็เหลืออีก 3 ปี ผมเชื่อว่าอีก 3 ปีผมหาทัน เพราะว่าตอนนี้ก็เริ่มสร้างทีมขึ้นมาแล้ว
แล้วอันที่ 2 ผมเองมีแพสชั่นที่อยากจะทำอย่างอื่นมากกว่า เราทำงานมาถึงจุดตรงนี้ พอวันนี้ 5 ปีแล้วมันก็ทำได้ มันก็ได้ตอบความต้องการนี้แล้ว แต่เราก็ยังมีเรื่องส่วนตัวที่อยากทำอีกเยอะแยะนะครับ ผมยังอยากจะสอนหนังสือ ทุกวันนี้มีคนอยากให้ผมไปสอนหนังสือเยอะ แต่ผมไม่มีเวลาสอน อยากไปเป็นที่ปรึกษา หรือแม้ผมบอกน้องว่าสมมุติผมเออร์ลี่รีไทร์ก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะทิ้งไป ผมอยากให้เขาเป็นซีอีโอแทนผม แล้วผมให้คำแนะนำ ต้องยอมรับบทบาทแนะนำกับบทบาทเป็นซีอีโอต่างกันเยอะนะ ถ้าคุณเป็นแม่ทัพ ยังไงคุณก็ต้องออกสนามรบ ถ้าคุณเป็นที่ปรึกษา ยังไงก็ไม่เจ็บตัว มีเวลาไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ ยังไงเราก็อยากเป็นที่ปรึกษามากกว่าออกไปรบเองจริงๆ แรงเราสู้แรงเด็กๆ ไม่ได้อยู่แล้ว
สุดท้ายอยากให้พูดถึงบทบาทของ AIS
ต่อวิถีชีวิตของผู้คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต
สมชัย : อันนี้สำคัญมากๆ เลย อะไรที่เป็นแรงให้ผมทำงานได้ขนาดนี้ อะไรที่เป็นแรงให้พนักงาน AIS ทั้งหมดทำงานได้ขนาดนี้ นี่ไม่พูดแบบนวนิยายหรือละครน้ำเน่าเลยนะ ผมเป็นนักปลุกระดมพนักงานอยู่ตลอดเวลา คือเราทำธุรกิจแน่นอนเราทำเพื่อตัวเอง มีเงินเดือน มีตำแหน่ง มีอะไรต่างๆ ทำเพื่อครอบครัว แต่เผอิญธุรกิจที่ AIS ทำอยู่มันมีส่วนช่วยในการวางรากฐานของสังคมได้เยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของเครือข่ายหรือ Infrastructure ทางด้านโทรคมนาคมลองจินตนาการย้อนหลังไปเมื่อสัก 30 ปี เราจะหาโทรศัพท์สักเบอร์หนึ่งยากมากเลย ต้องรอหลายปี หรือถ้าไม่รอก็ต้องซื้อ ผมยังจำได้เลย บ้านผมซื้อสี่หมื่น บางบ้านซื้อสองแสนสามแสน กว่าจะได้เลขหมายมาอันหนึ่ง
การที่เราลงทุนทำอะไรเรื่องพวกนี้มาเข้าสู่ปีที่ 30 จะเห็นว่าวันนี้ลองย้อนกลับไปดู เราทำให้คนไทยมีโทรศัพท์ใช้แบบง่ายๆ แบบถูกๆ เลย ส่วนหนึ่งเทคโนโลยีมันเข้ามา ซัพพลายเออร์เข้ามา ไม่มี AIS คนอื่นก็อาจจะทำได้แบบนี้เหมือนกัน แต่ว่ามันก็เป็นความภูมิใจของเรา เพราะเราทำธุรกิจแบบนี้ ทำให้สังคมไทยไม่มีปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสาร
วิสัยทัศน์ต่อไป หลังจากที่เราได้สร้างโทรคมนาคมมาให้สังคมไทยเป็นที่ยอมรับแล้ว ตอนนี้กำลังจะสร้าง Digital Platform ให้ธุรกิจไทยอื่นๆ อยู่รอด เช่น ผมอยากทำเรื่องโฆษณาเพราะผมอยากจะช่วยทีวีดิจิทัลที่วันนี้กำลังมีปัญหาอยู่ สิ่งที่ผมต้องทำให้ได้คือแพลตฟอร์ม ผมต้องทำ Data Analytic ให้เกิด จนกระทั่งผู้ซื้อโฆษณาคือเอเจนซี่สามารถเอามาลงได้ เพราะเรามีฐานลูกค้าอยู่ 4 ล้านคน หรือผมจะตั้งแพลตฟอร์มประกันภัย ถ้าผมมี Data Analytic ที่ดี แล้วผมช่วยประกันภัยขาย เขาจะลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล และตรงตัวลูกค้าด้วย นี่คือสิ่งที่อยากทำ สรุปง่ายๆ แรงบันดาลใจก็คือความภูมิใจที่ว่า นอกจากทำงานซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อบริษัท แต่เราได้รีเทิร์นกลับมาหาสังคมของเรา ประเทศชาติของเราด้วย