fbpx

สัมภาษณ์ เอ๊ะ ซินโดรม ผู้ก้าวเข้าสู่บทบาทมากมายด้วยการพกพาความฝันไว้เต็มกระเป๋า

ในการทำงานไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็ตามแต่ เราเคารพคนที่ลงมือปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังเสมอ หลายคนก้าวเข้าสู่บทบาทต่างๆ ด้วยการพกพาความฝันไว้เต็มกระเป๋า บางคนททำตกลงไปบ้างระหว่างทาง บางคนสูญเสียไปเกือบทั้งหมดเมื่อเจอกับกำแพงขนาดใหญ่ แต่หลายต่อหลายคนก็ผ่านมันมาได้แม้จะใช้เวลาเนิ่นนานกว่าที่หวังไว้

พงศ์จักร พิษฐานพร หรือ เอ๊ะ ผู้ที่เรารู้จักจากหลากหลายสถานะ ตั้งแต่มือเบส และนักร้องของวงละอองฟอง ผู้เคยผ่านงานด้านการออกแบบ พิธีกรรายการ ครูใหญ่และมิวสิค ไดเรคเตอร์ของ BNK 48 วงไอดอลที่เรียกว่าโด่งดังที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ก็คงไม่ผิด ภาพของชายหนุ่มอารมณ์ดีที่มาพร้อมกับเพลงจังหวะสนุกสนานในวันนี้ ทำให้เราคาดไม่ถึงเมื่อเรื่องราวการฝ่าฟันทยอยออกมาจากการบอกเล่าของเขา

เพราะ เอ๊ะ คือผู้ที่แบกความฝันไว้เต็มกระเป๋าเช่นเดียวกับใครต่อหลายคน แต่น่าแปลกที่กระเป๋าใบนั้น ไม่เคยปล่อยให้สัมภาระหล่นลงกลางทาง และหายไปอย่างเดียวดาย

“เชื่อไหมว่าพี่เคยอยู่ค่ายเดียวกับปนัดดา เรืองวุฒิ เขาได้ออกอัลบั้มดาวกระดาษ แต่ค่ายให้พี่ไปทำวงแถมให้หานักร้องนำด้วย” พี่เอ๊ะ เล่าให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง เมื่อย้อนถามถึงจุดเริ่มต้น และการทำฝันในวงการดนตรี ที่อยากเป็นศิลปินเดี่ยว เป็นนักร้องมาแต่ไหนแต่ไร

หนนี้ความฝันของเขาที่ยังไม่ได้หล่นหายแม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปี กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในนาม Aeh Syndrome (เอ๊ะ ซินโดรม) แนวคิดด้านดนตรีของเขาเต็มไปด้วยความเรียบง่าย ไม่ต้องอาศัยอะไรยุ่งยากในการเข้าถึง ผนวกกับตัวของศิลปินผู้นี้ ก็พร้อมที่จะเดินไปเคาะประตูทำความรู้จักกับนักฟังทุกคนอยู่แล้ว

เมื่อเสร็จสิ้นบทสนทนา ผมไม่ได้นับถือเอ๊ะในวัย 45 ปี เพียงอายุที่มากกว่า หรือความเอาจริงเอาจังในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเชื่อมั่นที่จะส่งต่อในสิ่งที่ตนเองเชื่อให้กับทุกๆ คน ชื่อเรื่องของทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อย่าง ‘The Dream Chaser’ คงไม่ฟังดูเชยไปนักสำหรับชายที่ผมมองว่าเป็นต้นแบบของผู้แสวงหาความฝันคนนี้

ชายชื่อ ‘เอ๊ะ’ เคยทำอะไรมาบ้าง

อย่างแรกคือเป็นสมาชิกวงละอองฟอง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เก่าที่สุด ประมาณ 24 ปีได้แล้ว อย่างที่สองก็จะเป็นอินทีเรีย ดีไซเนอร์ รับงานออกแบบก็ทำมาตลอด 20 กว่าปีเหมือนกัน สำหรับตอนนี้ก็มาเป็นครูใหญ่และมิวสิคไดเรคเตอร์ของ BNK 48 วงที่ไม่มีใครรู้จักเลยในตอนนี้ (หัวเราะ) มีทำแชแนลยูทูปของตัวเอง และล่าสุดคือบทบาทของศิลปินเดี่ยว โดยใช้ชื่อว่า ‘Aeh Syndrome’

ที่จริงก็มีงานอีกหลายอย่างเป็นพิธีกร ไปทำซีรีส์กับแดน วรเวช เมื่อสองปีที่แล้ว แสดงภาพยนตร์บ้างตามวาระโอกาส ทำทัวร์ญี่ปุ่น เป็นฑูตประชาสัมพันธ์ของเมืองนางาซากิ และมีโปรเจกต์พิเศษอีกมากมายเต็มไปหมด

เพราะอะไรถึงทำงานได้มากมายขนาดนี้

สำคัญที่สุดคือแพสชั่น ความสนุก ความลุ่มหลง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเรามีพลัง คำถามนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก และคนจะคิดว่าคนบ้าอะไรวะทำงานเยอะขนาดนี้ สำหรับพี่มองว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และเรามีศักยภาพรวมถึงความเต็มใจที่จะทำและหลงไหลไปกับมัน เลือกที่จะไม่ปฏิเสธงานที่จะเข้ามา ซึ่งสุดท้ายงานที่เรารักมันเติมพลังกลับมาให้เราอยู่แล้ว

ไม่ว่าเราจะได้รับผิดชอบอะไรก็ตามแต่ ก็จะพยามยามไปให้ถึงที่สุดบนเส้นทางนั้น ถ้าเราอยากทำโทรศัพท์ซักเครื่องหนึ่งอย่างแรกคือต้องสนุกไปกับมัน ไม่ต้องสนใจว่าโทรศัทพ์เครื่องนั้นจะขายดีหรือเปล่า หรือจะออกมาในรูปแบบไหน

ถ้ามีคนอยากชวนไปร่วมงาน คำเชื้อเชิญแบบไหนที่จะทำให้สนใจ

เดี๋ยวนี้คนที่มาชวนเริ่มจะรู้ทางแล้ว (หัวเราะ) งานที่เดินเข้ามาหามักจะเป็นงานที่รู้จักเราอยู่แล้ว และรู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้ เป็นโชคดีของเราที่งานไม่เคยขาดมือ

แม้ว่าจะรักในงานและสนุกไปกับมันแค่ไหน แต่ภายใต้กรอบของการทำงานก็มักจะมีสิ่งที่ไม่เข้าท่าปะปนเข้ามาบ้าง จัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

เลือกที่จะไม่ทำตั้งแต่แรก ทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างงานเพลงแม้ว่าเราจะอยู่กับมันมากว่า 20 ปี แต่มันก็ไม่ใช่การทำแบบเดิมซ้ำๆ เพลงใหม่ อัลบั้มใหม่ ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการออกแบบมันก็เหมือนเริ่มใหม่ทุกโปรเจกต์อยู่แล้ว ส่วน BNK 48 ก็ยิ่งเห็นชัดเพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นความท้าทาย และไม่ใช่งานซ้ำซาก

เคยเจองานประเภทที่คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีแต่พอถึงเวลาจริงไม่เป็นแบบที่หวังหรือเปล่า

เคยเป็นตอนเด็กๆ แต่สุดท้ายพออยู่กับงานบ่อยเข้าก็กลับมาถามว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คำตอบมันก็คือกำลังทำสิ่งที่เรารัก เปรียบเทียบง่ายๆ กับการปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราคือรดน้ำ พรวนดิน แต่การเจริญเติบโต ออกดอกออกผล ให้ร่มเงา เป็นหน้าที่ของต้นไม้ นี่คือสิ่งที่ทำให้อยู่กับงานได้ สุดท้ายไม่ว่าผลงานที่ออกมาจะไปได้ไกลแค่ไหน เราก็รับได้ในสิ่งนั้น

โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่เหมือนกับความฝัน เราเปรียบเส้นทางในการทำงานเป็นปีระมิด ฐานปีระมิดคือคนที่ชื่นชอบดนตรี แต่เมื่อเวลาผ่านไปการทำงาน ภาระหน้าที่ สิ่งแวดล้อม ก็จะค่อยๆ คัด จนปีระมิดเหลือแต่ผู้ที่ถูกเลือกคงไว้บนยอด ตอนเด็กเราก็แค่ชอบดนตรี แต่พอเดินมาถึงกลางทางมันเกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะเป็นผู้ที่ถูกเลือก เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะถึงยอดหรือเปล่าแต่ความสุขอยู่ตรงนั้น

แล้วถ้าระหว่างทางมันเต็มไปด้วยขวากหนาม จะเดินต่อไปได้อย่างไร

กลับไปพูดเรื่องเดิมคือเรามีความสุขที่ได้รดน้ำต้นไม้ มีความสุขที่ได้ร้องเพลงหรือเล่นดนตรี เชื่อไหมว่าก่อนจะมาเป็นละอองฟอง เคยไปอยู่กับค่ายเพลงที่แกรมมี่ เป็นเด็กคนหนึ่งที่มาจากการประกวดร้องเพลง และมีความฝันอยู่เต็มหัว นักร้องรุ่นเดียวกันอย่างปนัดดา เรืองวุฒิ เสก โลโซได้ออกอัลบั้ม ส่วนเราค่ายบอกให้ไปตั้งวง แถมให้หานักร้องนำอีกต่างหาก เฟลมาก แต่ก็ยอมเพราะคิดว่าอย่างน้อยได้เป็นศิลปินเล่นดนตรีก็ยังดี

พอตั้งวงละอองฟองได้สักพักหนึ่งโปรดิวเซอร์บอกว่าไม่ต้องแต่งเพลงแล้ว เดี๋ยวร้องกับเล่นอย่างเดียวก็เฟลอีกรอบ จนตัดสินใจเดินออกมาจากตรงนั้น ไปหาพี่เบิร์ดกับพี่ฮาร์ท ออกอัลบั้มแรกก็เจ๊งอีก วงแตก แยกย้ายกันไปหมด แต่สิ่งที่ยังรั้งไว้อยู่คือความรักในสิ่งที่ทำ กว่าจะมาลงตัวที่เพลงแอบชอบ ที่ทุกคนรู้จักผ่านอะไรมาเยอะมาก

ดูเหมือนว่าจะมีคราบน้ำตามากกว่ารอยยิ้มหรือเปล่า

ก่อนปล่อยเพลงแอบชอบพูดกับเพื่อนในวงว่าพวกเราทำสำเร็จแล้ว สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายมาเป็น 10 กว่าปี ตอนนี้ทำได้แล้ว นี่แหละคือสิ่งที่ต้องการ ต่อไปคือหน้าที่ของมันว่าจะไปได้แค่ไหน จำได้ว่าไปเดินสายเล่นดนตรีที่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเล่นเพลงรักเปิดเผย ตอนนั้นยังไม่ได้ปล่อยเพลงด้วยซ้ำ พอเห็นนักศึกษาลุกขึ้นมาเต้นน้ำตาเราไหล ภาพที่ฟันฝ่ากันมาของสมาชิกทุกคนแล่นเข้ามาในหัวทันที สิ่งนี้ทำให้เชื่อว่าถ้าคนเราพยายามและมีความรักในสิ่งที่ทำ วันของเราต้องมาถึง

จากเอ๊ะ ละอองฟอง และครูเอ๊ะ มาเป็น Aeh Syndrome

มันคือต่อสู้เพื่อความฝันในวัยเด็ก ในเมื่อหินก้อนใหญ่กำลังทับความฝันไว้ พี่จะใช้พลังทั้งหมดที่สะสมมาเพื่อยกหินก้อนนั้นขึ้นจากพื้นดิน ภายใต้หินรู้ไหมว่าหญ้าไม่ได้ตาย แต่กำลังรอแสงอาทิตย์และพร้อมที่จะเติบโตอีกครั้ง สำหรับการเป็นเอ๊ะ ซินโดรม พี่มองว่าทำไม PSY ของเกาหลีทำได้ ทำไม PIKOTARO ของญี่ปุ่นทำได้ แล้วเอ๊ะ ซินโดรมของเมืองไทยจะทำไม่ได้

ตอนนี้อยู่ในจุดที่คนเห็นมากกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก มีคนยอมรับในฝีมือ ยอมรับในผลงาน สิ่งที่ต้องทำต่อคือผลักตัวเองขึ้นไปข้างหน้าในทุกๆ ด้าน เพราะตอนนี้มันคือยอดปิรามิดของเราแล้ว เด็กหลายคนใน BNK 48 อยากจะเป็นเหมือนเฌอปราง เหมือนปัญ แต่คนทุกคนมียอดปิรามิดของตัวเอง บนนั้นมันไม่ได้รอใครอื่นเลยนอกจากเราคนเดียว ถ้ามัวไปมองตรงที่มีคนยืนอยู่แล้ว ไม่เข้าใจว่าอยากเป็นเฌอปราง2 เฌอปราง3 ไปทำไม

คนส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่ BNK กำลังมองและอยากเป็นแบบคนอื่น ลืมคุณค่าของตัวเอง ความเป็นตัวเอง มองขึ้นไปบนยอดปิรามิด เป้าหมายสูงสุดกำลังรอเราอยู่ อย่าหลงทางเพราะยอดปิรามิดมันรอแค่เราคนเดียวเท่านั้น เพราะ เอ๊ะ ซินโดรม ไม่ใช่ศิลปินที่เน้นแต่การเอนเตอร์เทน อยากให้ทุกคนรู้ว่าศิลปินก็ต่อสู้เหมือนกัน

ที่มาของชื่อ Aeh Syndrome

ซินโดรมคือกลุ่มอาการ ซึ่งจะเป็นอาการอะไรก็ได้ สำหรับเอ๊ะ ซินโดรมคือกลุ่มอาการของความสุข ของพลังที่ทำให้คุณคิดบวก สนุกสนาน และไม่เครียดไปกับมัน ซึ่งคุณจะได้พลังบางอย่างกลับมาจากกลุ่มอาการนี้ด้วย

มีชื่อเรียกหลายชื่อมาก ตอนนี้อยากให้ค้นหาชื่อใน Google หรือ Youtube แล้วอะไรขึ้นมาเป็นอันดับแรก

ตอนนี้ครูเอ๊ะขึ้นมาเป็นลำดับแรก (หัวเราะ) ที่จริงก็อยากให้เป็นเอ๊ะ ซินโดรม เพราะตอนนี้เอ๊ะ ละอองฟองมันถูกจารึกไปแล้ว แดน (วรเวช ดานุวงศ์) เคยพูดกับพี่เรื่องนี้เหมือนกัน เมื่อก่อนใครก็เรียกว่า แดน ดีทูบี และเขาพยายามหนักมากในการเปลี่ยนมาเป็น แดน วรเวช พี่ก็เหมือนกันสำหรับตอนนี้อาจจะเป็นครูเอ๊ะ เอ๊ะ ละอองฟอง แต่ต่อไปมันคือ เอ๊ะ ซินโดรม

ความสำเร็จที่ผ่านมา สร้างความกดดันหรือเปล่า

ความกดดันเกิดขึ้นอยู่แล้ว ย้อนกลับไปละอองฟองกว่าคนจะยอมรับมันใช้เวลาตั้ง 20 กว่าปี วันนี้เรามีต้นทุนจากละอองฟอง ต้นทุนจาก BNK ทำไมไม่เอาทั้งหมดนี้มารวมกันเพื่อลงทุนเพิ่มและเดินหน้าต่อไป พี่อายุ 45 ปี ไปคุยกับค่ายว่าอยากเป็นศิลปินเดี่ยว ถามหน่อยใครจะกล้าทำ แต่เลือกเอาความเชื่อไปพูดกับบริษัท ซึ่งทุกคนเชื่อเรา มองเห็นภาพเดียวกัน และเชื่อว่าพลังของเรามันส่งไปหาทุกคนได้ แต่มันต้องเริ่มจากเราก่อน

เพลงล่าสุดที่ปล่อยออกมาอย่าง ‘อ่อนโยนต่อจุดซ่อนเร้น’ ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

เพลงนี้อยากให้ทุกคนมาสนุกไปกับมันในแบบที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก เราไม่ได้ทำเพลงที่มันทะลึ่งตึงตังหรือลามกอะไรขนาดนั้น แต่เราเอาภาษาที่เล่นทีจริงแบบน่ารักมาใช้ ที่จริงอ่อนโยนต่อจุดซ่อนเร้นหมายความว่า บางทีเรามักจะตัดสินคนจากภายนอก หน้าตาไม่ดี ไม่สวยไม่หล่อ แต่แท้จริงแล้วเค้ามีจุดอ่อนโยนในตัวนะ อยากให้ลองฟังกระบวนการคิดที่ไปไกลมากกว่านั้น

จุดเริ่มต้นของเพลงแต่ละเพลงเกิดขึ้นจากอะไร

หาเรื่องราวที่มันค่อนข้างทันสมัย เอาเรื่องปัจจุบันมาพูด เดี๋ยวจะมีเพลง ‘หลอก’ ปล่อยออกมา พูดถึง การเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งสำหรับใครบางคน และยอมทุกอย่างแม้จะเป็นการหลอกกันก็ตาม เอ๊ะ ซินโดรม ปล่อยเพลงออกมาต้องไม่ใช่สำหรับแฟนคลับละอองฟองไว้ฟังเท่านั้น

ตอนนี้มีเด็กมัธยมตามมาฟังเพลงเยอะมากตั้งแต่ ‘ชู้กะชู้’ ที่เป็นซิงเกิ้ลแรก สมมุติว่าเป็นนักศึกษาปล่อยเพลงของละอองฟอง ออกมาก็ต้องชอบแน่เพราะตรงกับวัย บอย (ตรัย ภูมิรัตน์) ปล่อยเพลงมาก็เป็นคนอีกวัยหนึ่ง แต่เอ๊ะ ซินโดรม จะก้าวข้ามช่วงวัยนั้นไป อายุไม่เกี่ยว เจเนอเรชั่นไม่เกี่ยว สามารถอยู่ได้ทุกยุคสมัย

อัลบั้มนี้จะใช้ชื่อว่าอะไร

อัลบั้มนี้จะปล่อยปีหน้ายังไม่ได้ตั้งชื่ออัลบั้ม จะมีหลายเพลงออกมาทำเซอไพรส์เรื่อยๆ สไตล์ของดนตรีก็จะค่อยๆ เข้มข้นขึ้น

เพลงที่แต่งเร็วที่สุดกับช้าที่สุดใช้เวลาต่างกันมากหรือเปล่า

เพลงที่แต่งเร็วสุดน่าจะใช้เวลา 2-3 วัน แต่เพลงที่ช้าก็ใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ขึ้นไป เป็นคนที่ใข้เวลานานในการเขียนเพลง แก้ไปแก้มาวนเวียนอยู่ในหัว สมมุติว่าอยากให้เสร็จเร็วแล้วกำหนดส่งงานอยู่วันที่ 15 ให้เขียน วันที่ 13 แป๊ปเดียวเรียบร้อยหมด (หัวเราะ)

เพลงที่ชอบมากที่สุดตั้งแต่แต่งมาคือ ‘ลืมได้แล้ว’ เป็นเพลงที่แสดงอารมณ์ออกมาได้ดี ที่จริงชอบเขียนเพลงเศร้าแต่ผลงานที่ออกมากับละอองฟองมันคนละเรื่อง (หัวเราะ)

พูดถึงอารมณ์ของเพลง ถ้าต้องร้องเพลงนั้นเป็นรอบที่ 1,000 อารมณ์ความรู้สึกจะเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า

เหมือนเดิม อย่าลืมว่ารอบที่ 1,000 ของเรา อาจจะเป็นรอบแรกของผู้ฟังมันต้องสดใหม่เสมอ ไม่ได้รู้สึกเบื่อที่จะร้องเพลง สามารถทำได้ตลอดเวลาให้ร้องตอนนี้ก็ยังได้ มีความสุขที่ได้ร้องเพลง ไม่ว่าจะร้องซ้ำเพลงเดิมกี่ทีกี่รอบก็ทำได้ ถ้าเราคิดแต่ว่าเดี๋ยวต้องร้องเพลงนี้อีกแล้ว น่าจะต้องพึ่งตัวช่วย (หัวเราะ) พี่น้องศิลปินเป็นกันเยอะ ต้องหาอะไรมาดื่มเพื่อสร้างอารมณ์ แต่พี่ไม่เป็น สอนลูกศิษย์เสมอว่าอย่าให้คำว่า ‘ต้อง’ ขึ้นมาแทนที่คำว่า ‘อยาก’ ต้องมันคือหน้าที่ ความอยากมันคือแพสชั่น

สมการของธุรกิจดนตรีตอนนี้คืออะไร

ตอนนี้กระแสนิยมต้องมาก่อน ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีไอดอลเข้ามาเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทยและไปได้ไกลมาก แต่ในทางกลับกันการขับเคลื่อนของวงการดนตรี ต้องเติมเต็มจุดที่ขาดหาย เช่นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังอย่างที่บอกไว้ในตอนแรก อย่างที่สองคือสร้างความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้น ต้องเป็นของแท้ให้มากกว่าเดิม ถ้าคุณยังมัวแต่ขายของเก่ามันก็อยู่ที่เดิมไม่ไปไหน

สัมผัสได้ไหมว่าตอนนี้กระแสขายของเก่ากำลังมาแรง ซึ่งพี่อยู่ในวงการดนตรีมานานมากแต่ไม่รู้สึกว่าการขายของเก่ามันช่วยให้วงการดนตรีขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เลย

ในฐานะศิลปินที่อยู่มาหลายยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีจากศิลปินที่ต้องขายเพลง เป็นขายการแสดงส่งผลดีหรือผลเสียต่อตัวศิลปินอย่างไรบ้าง

รายได้ของศิลปินจะมาจากการขายซีดีอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ BNK 48 (หัวเราะ) แต่วงการเพลงของไทยอย่างไรก็ต้องขับเคลื่อนด้วยศิลปิน ถ้าซื้อแต่บัตรจับมืออย่างเดียว ศิลปินไม่ทำเพลงเลยก็คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินก็ต้องเดินหน้าเข้าหาแฟนเพลงให้มากกว่าแต่ก่อน สร้างความผูกผันให้เกิดขึ้น

ศิลปินจะต้องทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง ถ้าต่อไปพี่เล่นเพลงน้องก็ดูพี่ใช่ไหม เรารู้จักกันแล้ว น้องรู้ว่าพี่สู้แค่ไหนกว่าจะมาถึงจุดนี้ ศิลปินทำงานหนักแค่ไหน เดินทางเล่นดนตรี แต่พอปล่อยเพลงออกมาคนไม่ชอบก็ไม่ฟังแล้ว เพราะคนฟังไม่เคยรู้จักคุณเลย

เส้นทางต่อไปในวัย 45 ปี ของเอ๊ะ ซินโดรมจะเป็นอย่างไร

ก็คงเป็นพาร์ทของเอ๊ะ ซินโดรมอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งวงละอองฟอง กับวงนี้ถ้าเป็นพี่กับพี่ออน (กรกมล ชัยวัฒนเมธิน) มาร้องคนกลุ่มผู้ฟังก็คงเป็นคนรุ่นที่เคยฟังเรามานั่นแหละ พี่คิดว่าอาจจะไปเป็นเบื้องหลังแล้วเอานักร้องรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน พี่ก็จะเป็นแมว 9 ชีวิต ที่ยังรอดอยู่ในวงการนี้ แฟนเพลงดั้งเดิมก็ยังฟังเราอยู่เพราะชอบเพลงสไตล์นี้ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ที่เห็นนักร้องเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกันก็เปิดใจรับฟังมากขึ้น

อยู่วงการดนตรีต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่บางคนอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้เบื่อแล้วก็เลิกไปเลย สำหรับพี่อยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปี ก็ยังอยู่ตรงนี้กับ BNK 48 ที่ตอนนี้ดังที่สุดในประเทศ พี่จะไปทำไม ประเทศเกาหลีจะมีโปดิวเซอร์คนหนึ่ง โปรดิวซ์ให้ Girls Generation กับ Super Junior และเขาก็ออกอัลบั้มเดี่ยวเป็นของตัวเอง ทำไมเขาทำได้ วันหนึ่งพี่อาจจะทำวงบอยแบนด์ขึ้นมา พี่ก็อาจจะทำอัลบั้มอีกครั้ง ทุกอย่างมันเปิดรอเราอยู่แล้ว

เพลงที่ร้องกับเพลงที่ฟังเป็นแนวเดียวกันหรือเปล่า

ที่จริงไม่ได้ฟังเพลงเยอะมาก บางทีมันฟังด้วยความเพลิดเพลินไม่ได้ เพราะทุกเพลงสมองของเราจะเอาไปวินิจฉัยเป็นงานหมดเลย อาจจะไม่ได้มีสุนทรียะในการฟังเพลงมากนัก แต่เมื่อฟังแล้วสามารถต่อยอดไปใช้ในงานของเราได้

ชอบฟังเพลงฟิวชั่นแจ๊ส แต่ตอนนี้ก็เพลาๆ ลงมา ต้องฟังเพลงญี่ปุ่นมากขึ้นเพราะทำ BNK 48 (หัวเราะ) เคยมีอาจาร์ยชาวอิตาลีสอนอยู่หนึ่งอย่างว่าเวลาคุณทำอะไร ไม่มีการนำดิกชันนารี่มาหนึ่งเล่มแล้วจำคำศัพท์ไม่รู้กี่หมื่นคำในนั้นให้ได้ สิ่งที่คุณต้องทำคือหาความหมายของคำๆ เดียวให้ลึกซึ้งที่สุด

สำหรับอาชีพศิลปินมักจะมีคำกล่าวว่าทำงานให้เสร็จไม่ได้หรอกเพราะอารมณ์สำหรับงานนี้ยังไม่เกิดขึ้น การต้องรออารมณ์เพื่อทำงานเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า

มีอยู่สองอย่างที่ช่วยให้งานเสร็จได้คืออารมณ์กับเดดไลน์ (หัวเราะ)

ในบทบาทกับวง BNK 48 ก็ผลักดันกันมาจนแทบจะเรียกว่าอยู่ในจุดสูงสุด ความรู้สึกในวันนี้แตกต่างจากวันแรกแค่ไหน

ความสำเร็จนี้เป็นสิ่งที่ดีใจมาก เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มันเกิดขึ้นได้จริง วันแรกที่ได้รับโปรเจกต์นี้มา อยากให้เกิดปรากฎการณ์ห้างแตกเหมือนศิลปินเกาหลีมาเมืองไทย ตอนนั้นมีข้อสงสัยใหญ่มากข้อหนึ่งว่า ทำไมไม่มีผู้ชายมาดูคอนเสิร์ตเลย ทุกการแสดงเต็มไปด้วยผู้หญิง มันเป็นช่องว่างที่กว้างมาก ตั้งเป้าไว้สองอย่างและเดินหน้ามาเรื่อยๆ จนเกิดขึ้นได้จริง

ตอนเปิดตัวเพลงล่าสุด (Kimi wa Melody เธอคือ…เมโลดี้) ที่เซ็นทรัล เวิล์ดน้ำตามันก็ซึมอีกครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ก็น้ำตาซึม พูดกับพวกเขาเหมือนตอนพูดกับวงละอองฟองว่าพวกเราทำสำเร็จแล้ว เราทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ต่อไปคือหน้าที่ของเพลงว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

คาดหวังอะไรไว้กับบทบาทครูใหญ่ และมิวสิคไดเรคเตอร์ของ BNK 48

อยากให้ลูกศิษย์เป็นของแท้ ไม่ใช่ของสด ของสดเน่าได้เหี่ยว ยิ่งตอนนี้รุ่นสองมาแล้ว ถ้าเธอไม่ใช่ของแท้เธอจะไม่มีวันตั้งอยู่บนเชลฟ์ได้เลย และก็จะหลุดออกไปอย่างน่าเสียดาย บอกกับลูกศิษย์ตลอดว่าอย่าลืมเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่าไปเพลิดเพลินกับชื่อเสียง ความโด่งดัง หรือถ้าวันหนึ่งได้ออกจากบ้านหลังนี้ไป จะกลับไปเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน มันน่าเสียดายเกินไป ทั้งๆ ที่สู้มาขนาดนี้

อยู่ในวงการมานานทำให้พอจะเห็นว่า ศิลปินหญิงไม่ว่าดังขนาดไหนพอเวลาผ่านไปเหลือรอดน้อยมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงมาพร้อมกับความสวยงามแต่ถ้าจะยืนระยะคุณต้องทำให้ได้มากว่านี้ ดูอย่าง ดา เอ็นโดรฟิน, นิว จิ๋ว, เจนนิเฟอร์ คิ้ม พูดกับลูกศิษย์ว่าได้ครึ่งหนึ่งของศิลปินเหล่านี้แล้วหรือยัง

มองใครเป็นแบบอย่างทั้งในฐานะศิลปินหรือบทบางต่างๆ

จริงๆ ก็ไม่มี (หัวเราะ) ไม่ค่อยมองใครเป็นไอดอลเท่าไหร่ กลับไปมองทางที่ตัวเองผ่านมามากกว่า แล้วก็ได้แดน วรเวช นี่แหละที่เชื่อว่าเราจะทำได้ เป็นคนคอยปลุกเร้าและผลักดันไปข้างหน้า สุดท้ายการเดินทุกวัน ก้าวแต่ละก้าวมันทำให้เราเห็นและเป็นสิ่งที่คอยผลักดัน และเติมเต็มแพสชันที่ทำให้ก้าวต่อไปได้เรื่อยๆ

เท่าที่ฟังมาดูเหมือนคำว่า ‘แพสชั่น’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในชีวิตเลยหรือเปล่า

ใช่ แต่ไมใช่แค่พี่ที่ทำได้ทุกคนก็ทำได้หมดถ้าเชื่อในสมการนี้ มองยอดปีระมิดและหาทางเดินไปข้างหน้าให้ได้ พี่ทำให้เห็นแล้วว่ามันสามารถทำได้จริง

ยังรู้สึกว่าขาดอะไรอยู่หรือเปล่าสำหรับอาชีพศิลปิน

ไม่รู้สึก แก่แล้วมั้ง (หัวเราะ) ตอนนี้อายุ 45 ปี แต่ก็เหนื่อยมาทั้งชีวิตแล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้ท้อ เหนื่อยมาขนาดนี้ถ้าเหนื่อยต่อไปอีกจะเป็นอะไรไป เต้นเพลงชู้กะชู้เหนื่อยเท่านี้ ที่ผ่านมาเหนื่อยมากกว่านี้ตั้งไม่รู้กี่เท่า แค่นี้มันน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับการรอมาทั้งชีวิต ทำไมจะทำไม่ได้

นักเขียน : พิชฌน์ จันทร์พริ้ม
ช่างภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์
Update : 08 Oct 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ