แรง แรด ร่าน เป็นเพียง adjective คำหนึ่ง “ลูกแก้ว – โชติรส นาคสุทธิ์”
GM LIVE นำคุณมาทำความรู้จัก ‘ลูกแก้ว’ โชติรส นาคสุทธิ์ คอลัมนิสต์และแอคติวิสต์ผู้มีแนวความคิดสุดเซ็กซี่ ขณะเดียวกันในมุมชีวิตส่วนตัว ลูกแก้วต้องเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้า และโดน ‘ความรัก’ ทำร้ายอย่างสะบักสะบอม ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังมองความรักด้วยความเข้าใจ หากแต่ลึกซึ้งกว่าเดิม
Reasons to Read
- ในเพจ เจ้าแม่ เธอถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมโลกียะอันว่าด้วยการสังวาส ด้วยท่วงทำนองดิบเถื่อนและร้อนแรง
- ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว เธอปรากฏกายให้เราเห็นอยู่เนืองๆ ในชุดบิกินี พร้อมลักยิ้มบนแก้มทั้งสองข้าง กับดวงตาที่ซ่อนเรื่องราวไว้มากมาย
- GM LIVE นำคุณมาทำความรู้จัก ‘ลูกแก้ว’ โชติรส นาคสุทธิ์ คอลัมนิสต์และแอคติวิสต์ผู้มีแนวความคิดสุดเซ็กซี่ ขณะเดียวกันในมุมชีวิตส่วนตัว ลูกแก้วต้องเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้า และโดน ‘ความรัก’ ทำร้ายอย่างสะบักสะบอม ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังมองความรักด้วยความเข้าใจ หากแต่ลึกซึ้งกว่าเดิม
GM : ช่วงที่ผ่านมา เพจเจ้าแม่เหมือนไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว
ลูกแก้ว : จริงๆ แล้วมันไม่มีแพตเทิร์นที่แน่นอนขนาดนั้น เพราะมันเป็นเพจที่เราทำคนเดียว เราก็เลยรู้สึกว่า เมื่อไรก็ตามเรารู้สึกว่าอยากจะเขียน หรือมันมีกระแสสังคม หรือมีประเด็นที่เราสนใจ เราอยากเขียน เราก็จะเขียน ถ้าเป็นคนที่ตามอ่านแล้วอยากอ่านประจำสม่ำเสมอจริงจัง ก็อาจจะผิดหวังนิดหนึ่ง แต่เราก็รู้สึกว่ามันสบายใจกว่ากับการเขียนโดยที่ไม่ต้องมีแรงกดดัน ทั้งๆ ที่ หมายถึงว่าเพจนี้เราทำคนเดียวด้วย แล้วก็เรารู้สึกว่าอยากเขียนเมื่อไรเราก็เขียน มันก็จะมาเป็นช่วงๆ ช่วงไหนบางทีเราอาจจะเขียนเยอะ เราก็เขียนติดๆ กัน แต่บางทีถ้าหายไปก็อาจจะหายไปนานหน่อยค่ะ
GM : อยากให้คุณวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองผ่านเรื่องทางเพศ
ลูกแก้ว : จริงๆ แล้วตัวเพจเจ้าแม่เราจงใจอยากเขียนเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องประเด็นอำนาจอยู่แล้วนะคะ แต่ว่าเราเลือกที่จะเล่าออกมาผ่านเรื่องเซ็กซ์ เพราะเรารู้สึกว่า เรื่องเซ็กซ์เรื่องเพศ ใครๆ ก็สนใจ คือในสังคมเราที่มันไม่ค่อยเปิดกว้างมากนัก เราสอนสุขศึกษา สอนเพศศึกษาโดยการเอาภาพโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาให้คนดู เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ากลัว ไม่อยากมีเซ็กซ์ เพราะฉะนั้นเมื่อเรากล้าที่จะพูดเรื่องเซ็กซ์ กล้าเปิดเผยเรื่องเซ็กซ์ มันเลยดึงดูดให้คนเข้ามาสนใจ เรารู้สึกว่าการเล่าเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคมที่เราอยากจะสื่อสารโดยเล่าผ่านเซ็กซ์ การมีอะไรกันของคนสองคนหรือมากกว่าสองคนมันทำให้คนเข้ามาเสพ แล้วยังสามารถได้ประเด็นที่เราต้องการสื่อออกไป แต่ถ้าเกิดว่าคนเข้ามาอ่านแล้วไม่รู้สึกว่า อยากเสพประเด็นอะไรที่ลึกลงไปมากกว่านั้น เราก็รู้สึกว่าเขาอ่านแล้วอาจจะอยากเสพภาษา เสพวรรณศิลป์ เสพความวาบหวิวไป ซึ่งเราก็ไม่ได้ซีเรียส คือเราก็ไม่ได้รู้สึกว่า ทุกคนที่เข้ามาอ่านจะต้องได้ประเด็นการเมือง ได้ประเด็นทางสังคม ได้ประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างที่เราต้องการเสมอไป ถ้าอ่านแล้วเอาความบันเทิงไป เราก็ยินดี แต่ถ้าอ่านแล้วได้ขบคิดหรือได้ประเด็นอะไรมากกว่านั้น เราก็แฮปปี้ค่ะ
GM : ลูกแก้วในโซเชียลมีเดีย กับลูกแก้วในชีวิตจริง เหมือนหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ลูกแก้ว : ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเพจเจ้าแม่หรือว่าในเฟซบุ๊กเอง มันก็มีความเป็นตัวเรานั่นแหละ แต่ว่าถ้าเจอตัวกันจริงๆ เราจะพูดน้อย แล้วก็ขี้อาย ถ้าเกิดว่าเป็นคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกๆ ในวงสนทนา เราจะเป็นคนที่เงียบที่สุด แล้วคนก็จะชอบคาดหวังว่า เฮ้ย! เราจะต้องแต่งตัวเซ็กซี่ทุกๆ ที่ที่เราไปหรือเปล่า แต่บางทีก็ไม่ใช่ มันก็มีจังหวะของมัน มีโอกาสของมัน มีกาลเทศะของมัน ที่บางทีเราก็เซ็กซี่ แต่บางทีเราก็ไม่ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นปกติของมนุษย์นั่นแหละค่ะที่มันมีความกลม บางทีเราก็เป็นอย่างนี้ บางทีเราก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเพราะภาพมันทำให้คนติดว่าเราเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาก็เลยคาดหวังว่าเขาต้องเห็นจากเราอย่างนั้นเสมอ
GM : ขอถามว่าคุณมีชุดบิกีนีทั้งหมดกี่ชุด
ลูกแก้ว : ก็มีเยอะมาก น่าจะเกิน 20 หรือ 30 ชุด ซึ่งเวลาไปทะเลทุกครั้งก็ไม่อยากใส่ซ้ำเลย ไม่รู้สิคะ มันคงแบบเหมือนเป็นความหมกมุ่นส่วนตัวมั้งคะ ซึ่งมันก็กึ่งๆ เป็นของสะสม ของบางอย่าง เหมือนคนอ่านหนังสือ บางทีเราไม่ได้ซื้อหนังสือเพื่อมาอ่านทุกๆ เล่ม แต่เราซื้อหนังสือเพื่อมาใช้ บางคนก็เอาไว้ใช้งาน ยิ่งถ้าเป็นแบบคอนเทนต์ไรเตอร์ เป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ เรามีหนังสือกองไว้บนบ้านเพื่อหยิบมาใช้ สำหรับเรา บิกินีก็มีฟังก์ชันนั้นเหมือนกัน เราใช้สำหรับไปทะเล สำหรับว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ แต่ว่าอีกฟังก์ชันหนึ่ง มันคือความสุขทางจิตใจเรา คือการเยียวยาทางจิตใจของเราเอง รู้สึกว่าเวลาเราใส่บิกินีแล้วเราเป็นอิสระ เรารู้สึกว่าไม่ต้องแคร์สายตาใคร โอเค ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินเราจากหุ่น จากการเปิดเผยเนื้อตัวร่างกาย แต่เรารู้สึกว่าทางหนึ่งเวลาเราสวมใส่บิกินี มันทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระกับการปลดปล่อยอะไรบางอย่างที่สังคมนี้มันครอบเรือนร่างผู้หญิงเอาไว้ เพราะฉะนั้น เราเลยมีบิกินีจำนวนมาก เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเอง แล้วก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นมัน แล้วก็ได้ใส่มันค่ะ
GM : คุณชอบบิกินีชุดไหนมากที่สุด
ลูกแก้ว : ก็ไม่มีชุดไหนเป็นพิเศษนะคะ แต่ว่าชอบสีขาว เพราะว่าชีวิตจริงเป็นคนไม่ค่อยใส่เสื้อผ้าสีขาว จะใส่เสื้อผ้าสีเข้มตลอด สีดำ สีน้ำเงิน เพราะอะไรก็ไม่แน่ใจ เพราะเป็นคนชอบทำสกปรกมั้งคะ ก็เลยรู้สึกว่าสีขาวซักยาก ก็เลยไม่ค่อยใส่เสื้อผ้าสีขาวเท่าไร แต่พอเป็นบิกินี มันเป็นอย่างที่บอก คือมันอิสระ พอเราใส่สีขาวลงน้ำทะเล คือมันจะเป็นอย่างไรก็ได้ แล้วด้วยที่มันเป็นเนื้อผ้าแบบชุดว่ายน้ำ เลยทำให้บิกินีสีขาวมันยิ่งเพิ่มความรู้สึกเป็นอิสระ สำหรับความรู้สึกของเราคนเดียวนะ รู้สึกว่าขนาดเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันที่เราใส่สีขาวไม่ได้ แต่พอเป็นบิกินีที่เราสามารถเปิดเผยเรือนร่างได้แล้ว เราจะใส่สีอะไรก็ได้ ไม่เห็นต้องกลัวเลอะ ไม่ต้องกลัวว่าจะซักไม่สะอาดหรืออะไรแบบนั้น ถ้าถามว่าชอบสีอะไรที่สุด ก็ชอบบิกินีสีขาวค่ะ
GM : อยากให้คุณเล่าถึงการเป็นโรคซึมเศร้าที่คุณเป็น
ลูกแก้ว : ถ้าจะถามถึงจุดเริ่มต้น ก็คือต้องย้อนไปประมาณปี 2552 ปีนั้นเป็นปีที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนจากมัธยมฯ ไปสู่มหาวิทยาลัย แล้วระหว่างปีที่กำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัย เราก็มีความขัดแย้งบางอย่างกับที่บ้าน มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้านับจากตอนนั้นถึงตอนนี้ก็ประมาณ 9 ปีแล้ว มีช่วงที่เรารู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสมากๆ เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าตื่นมาเราไม่อยากทำอะไรเลย เรารู้สึกเศร้า เรารู้สึกว่าเราแย่ไปหมด เราเป็นตัวถ่วงของทุกๆ คน แต่มันก็มีช่วงที่เรารู้สึกดีขึ้นมาบ้าง เรารู้สึกโอเคขึ้น รู้สึกสบายๆ ขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเราคงไม่กล้าหรือไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ต่อให้เราอยู่กับมันมาเกือบ 10 ปี แล้วเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ หรือว่าทุกคนจะต้องฟังเรา เราเป็นโรคซึมเศร้า หรือเราเป็นไบโพลาร์ หรือมีความผิดปกติบางอย่าง
เรารู้สึกว่าทุกๆ คนถ้ามีปัญหา เอาแค่สงสัยก็ได้ ถ้าเรารู้สึกเศร้า รู้สึกซึม รู้สึกสงสัย สิ่งที่เราจะแนะนำได้ดีที่สุดคือไปหาหมอ พบจิตแพทย์ใกล้บ้าน หรือในโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออย่าเก็บความสงสัยไว้กับตัวเอง จมอยู่กับความเศร้านั้น หรือว่าเรารู้สึกไปเองว่ามันจะคลี่คลายเปลาะแรกได้ก็ต่อเมื่อไปพบจิตแพทย์ ไปเจอหมอ อาจจะกินยาหรือไม่กินยา รวมถึงการดูแลตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งถามว่ามันทำได้ขนาดนั้นไหม เรารู้ว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก เพราะเราก็เจอกับสภาวะนั้นมาก่อนแล้ว มันไม่ง่ายที่เราจะบอกตัวเองว่า เฮ้ย! อยากหาย มันไม่ง่ายที่เราจะบอกตัวเองว่า เราอยากเดินต่อ เราอยากมีชีวิต แต่อย่างน้อยหายใจให้ผ่านไปแต่ละวัน แล้วบอกตัวเองว่าไปหาหมอ ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือคนรอบๆ ตัว เราว่ามีความสำคัญมาก คือโรคนี้มันมีอยู่จริงๆ เราก็ไม่ใช่หมอที่เราจะมาบอกว่าเป็นมันเรื่องของสารเคมีในสมองหรืออะไร แต่เรารู้สึกว่าการที่คนรอบข้างไม่ตัดสินเขาว่า เขาคิดไปเอง เขาเรียกร้องความสนใจ แต่ให้ความใส่ใจเขา อย่างน้อยก็รับฟังเขา หรือถ้ากลัวว่าเขาจะแกล้งหรือเปล่า เป็นจริงไม่เป็นจริง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปต้องตัดสิน มันเป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องตัดสิน เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดที่มันจะผ่านไปได้ในสายตาเรา คือต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ พบแพทย์สม่ำเสมอ ดูแลตัวเอง อยู่กับคนรอบข้างที่เข้าใจ มีคนรอบข้างที่รับฟัง อาจจะรวมถึงการออกกำลังกายด้วย ที่มันจะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ค่ะ
GM : อย่างตัวคุณเอง มีวิธีการที่จะข้ามผ่าน วิธีการควบคุมอาการแบบนั้นอย่างไร
ลูกแก้ว : ลูกแก้วเป็นคนที่จมอยู่กับความเศร้ามากๆ นะคะ คืออาจจะด้วยตัวโรคเองที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ อีกอย่างคือเราเป็นคนที่เพื่อนน้อย เรามีคนที่เรานับเป็นเพื่อน อยากออกไปเจอด้วย หรืออยากไปเจอผู้คนน้อย เราก็เลยรู้สึกว่าเราชอบการอยู่คนเดียวมากกว่าออกไปพบปะผู้คน เพราะฉะนั้นวิธีสำหรับตัวเองที่ดีที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือ รวมถึงการเขียนหนังสือ คือช่วงไหนที่เขียนมากหน่อย ก็จะรู้สึกเลยว่ามันมีความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในใจเราเยอะมาก จนเรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากไปรบกวนเพื่อนคนไหน เราแค่อยากเขียน เราอยากระบาย เรารู้สึกว่าการเขียนมันเป็นการทบทวนความรู้สึกตัวเอง ทบทวนจิตใจตัวเอง แต่เราเข้าใจนะคะว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้วิธีการเดียวกันแล้วเยียวยาความรู้สึกเศร้าหรือความรู้สึกแย่ๆ ได้ แต่ถ้าลองได้เราก็รู้สึกว่าจับปากกาหยิบสมุดแล้วก็เขียน เรารู้สึกว่าการเขียนมันคือการพูดคุยกับตัวเอง มันจะค่อยๆ เยียวยา แล้วจะช่วยบรรเทาความรู้สึกเราไปได้ในที่สุด
GM : ช่วยเล่าเรื่องความผิดหวังของคุณให้ฟังหน่อย
ลูกแก้ว : เรารู้สึกว่าความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในสังคมไทย แล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ทุกๆ คนในที่นี้หมายถึงทุกๆ คนจริงๆ เราถึงเลือกตัดสินใจว่าเราควรออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว เคยมีความสัมพันธ์ที่เราโดนทำร้ายร่างกาย เรารู้สึกว่าสังคมนี้กำลังผลิตซ้ำภาพบางอย่างว่า ความรุนแรงมันต้องเกิดกับคนรายได้น้อยเท่านั้น หรือผู้ชายขี้เมาเท่านั้น ที่จะมาตบตีผู้หญิงที่บ้าน ต้องเป็นคนยากจน แต่เราออกมาพูดเพื่อย้ำเพื่อยืนยันว่า ความรุนแรงมันมีอยู่จริง แล้วมันเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย คนชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ไม่มีการศึกษา มันเกิดขึ้นหมด แล้วเรารู้สึกว่าเราออกมาพูดเพื่อให้คนที่มีประสบการณ์ความรุนแรงเหมือนๆ กัน รับรู้ว่าไม่ได้มีเขาคนเดียวที่มีประสบการณ์นั้นเพียงลำพัง ไม่ใช่เขาคนเดียวที่เจ็บปวดอยู่เพียงลำพัง แต่เรา ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย แต่มนุษย์อีกหลายๆ คน อาจเคยเจอประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
ขั้นต่อไปคือเราต้องถามตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเป็นน้องสาวเรา พี่สาวเรา แม่เรา เพื่อนร่วมงานเรา เราอยากให้เขาทนกับความรุนแรงนั้น เพราะไม่กล้าออกมาพูด เพราะกลัวถ้าว่าออกมาพูดแล้วจะมีคนต่อว่าว่าโง่หรือเปล่า เรากำลังสร้างวัฒนธรรมการยอมรับอำนาจและความรุนแรงอยู่หรือเปล่า ถ้าเราไม่อยากให้คนรอบตัวเราต้องทนกับสภาวะนั้น แล้วไม่กล้าออกมาพูด ไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเคยโดนความรุนแรง เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าเราต้องฟังเสียงตั้งแต่วันนี้ แล้วเราก็คิดว่าเราคือหนึ่งเสียงที่ต้องออกมาพูด ต้องออกมายืนหยัดว่า การถูกกระทำความรุนแรงไม่ใช่ความผิดของเรา
GM : เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ทัศนคติเรื่องความรักเปลี่ยนไปไหม
ลูกแก้ว : เปลี่ยนนะคะ แต่ที่เปลี่ยนในแง่นี้ ไม่ได้แปลว่าเรากลัวที่จะรักคนอื่น แต่เราคิดว่ามันเปลี่ยนเยอะตรงที่เราคิดว่า เราต้องรักตัวเอง ต้องเคารพตัวเองมากขึ้นกว่านี้ เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาเวลาเรามีความรัก เราให้เขาหมดเลย เรารักเขามากเลย เรายอมเขา เรายอมแม้กระทั่งเวลาเขามาละเมิดสิทธิ์ของเรา ละเมิดเนื้อตัวร่างกายเรา แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ มันทำให้เราเรียนรู้ว่าเราต้องรักตัวเอง คือไม่ว่าเราจะรักอีกคนมากแค่ไหน แต่จะช่วยให้เรารักตัวเอง รักสิทธิ์ของตัวเอง รักที่จะกล้าลุกขึ้นมาบอกคนอื่นว่า ฉันไม่ยอม ต่อให้คนคนนั้นเป็นคนที่ฉันรักที่สุดในชีวิต แต่ถ้าเขามาละเมิดสิทธิ์ฉัน เขาทำร้ายร่างกายฉัน เราต้องรักตัวเองที่สุด เคารพตัวเองที่สุด แล้วก็ไม่ยอม เพราะฉะนั้นเราคิดว่าในแง่ความรักตัวเอง เราเปลี่ยนไปเยอะเลยค่ะ
GM : แล้วเข็ดบ้างไหม
ลูกแก้ว : ไม่เข็ดค่ะ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ความรักทุกๆ ครั้งที่มันก่อให้เกิดอะไรแบบนั้น เราคิดว่ามันเป็นเฉพาะสถานการณ์ เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นถ้าครั้งหน้าต่อให้เรารักใคร แล้วเราเจอสถานการณ์อย่างนี้อีก สิ่งที่เราต้องทำคือเราจะไม่ยอมปล่อยตัวเองอยู่ในสภาวะนั้น ในปริมาณที่แบบขนาดเท่าเดิม แต่เราคิดว่า โอเคเรารักคุณนะ แต่ถ้าคุณทำแบบนี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะเดินออกมา
GM : แล้วผู้ชายแบบไหนที่ทำให้คุณคลั่งไคล้
ลูกแก้ว : จริงๆ แล้วเราชอบผู้ชายที่เห็นคนเป็นคนค่ะ มันเหมือนง่ายมากเลยนะ แต่ว่าผู้ชายที่เห็นคนเป็นคน มันหมายความว่า ไม่ว่าเราจะแต่งตัวโป๊ ไม่ว่าเราจะแรด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร เขาต้องเห็นเราเป็นคน เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา เคารพสิทธิ์ของเรา ที่จะมีชีวิต ที่จะเลือกวิธีใช้ชีวิต รวมไปถึงเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วย ซึ่งมันเหมือนจะหาง่ายนะ แต่ก็หาไม่ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าผู้ชายแบบไหนที่ชอบ คือเราชอบผู้ชายที่เห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ แล้วก็เคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นค่ะ
GM : พูดถึงคำจำกัดความที่หลายคนมองว่า ‘แรง แรด ร่าน’
ลูกแก้ว : เรารู้สึกว่ามันก็เป็นคำนิยามหนึ่งที่เหมือนกับคำที่บอกว่า น่ารัก ผมสั้น หรือลูกแก้ว คือสำหรับเรา เราไม่รู้สึกว่ามันมีนัยที่ลบ หรือแย่ หรือไม่ดีอะไร เรารู้สึกว่าเขาเรียกเราแบบนั้น เพราะว่าเรากล้าที่จะ… เราเฉยๆ นะ ถ้าใครบอกว่าเราเป็นคนแรง คนแรด หรือคนร่าน เรารู้สึกว่ามันเป็นคำ adjective หนึ่งเหมือนคำว่า เราน่ารัก เราสวย หรือเราเรียนเก่ง เราฉลาด เราไม่ได้มองว่ามันแย่ตรงไหน แต่ว่าก็ต้องถามกลับไปว่า คนที่เรียกเราว่าแรด ว่าร่าน ว่าแรง มันเป็นเพราะว่าเขามีทัศนคติที่ลบกับคำนี้หรือเปล่า เขาตีตราเราด้วยคำนี้ แค่เพราะว่าเราออกมาเปิดเผยเรือนร่าง หรือเป็นผู้หญิงที่กล้าพูดความต้องการของตัวเองหรือเปล่า แต่สำหรับเรา ถ้าคำว่า แรด ร่าน แล้วก็แรง เป็นเพราะว่าเรากล้าที่จะออกมาเปิดเผยความต้องการของตัวเอง เป็นเพราะเรากล้าที่จะพูดเรื่องเพศ ในแบบที่สังคมมองว่าไม่ควรพูด เรารู้สึกว่าเราสบายใจกับการที่จะถูกเรียกแบบนั้นค่ะ
GM : แล้วอะไร หรือใคร ที่หล่อหลอมตัวเราและอิทธิพลทางความคิด
ลูกแก้ว : เรารู้สึกว่า ทุกๆ คน พื้นฐานความคิดที่สำคัญคือครอบครัว เพราะว่าเราโตมาจากครอบครัว เรารู้สึกว่า โอเค แม่เราอาจจะไม่ได้มีความคิดที่เปิดกว้างเรื่องนี้เท่ากับเราหรอก แต่การที่แม่สามารถเปิดโอกาสให้เราคิด ให้เราพูด ให้เราเป็นสิ่งที่เราเป็น ไม่เคยห้ามว่าเราต้องแต่งตัวแบบนั้น แต่งตัวแบบนี้ มันมีผลมากๆ ต่อทัศนคติของเราที่มันเปิดกว้าง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่า อยากให้คนสักคนหนึ่งเนี่ยสามารถที่จะคิดอะไรได้กว้างออกไป หรือว่าพูดอะไรที่สังคมมันกำหนดว่าไม่ควรพูดได้ เราคิดว่าพื้นฐานมันควรจะเริ่มต้นมาจากครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันค่ะ
GM : ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
ลูกแก้ว : ตอนนี้ก็เป็นคอนเทนต์ไรเตอร์ค่ะ ก็เขียนคอนเทนต์ลงเว็บไซต์ ถามว่าโอเคไหม ก็โอเคค่ะ เพราะว่าเราชอบเขียนอยู่แล้ว เราก็ชอบสื่อสาร เรารู้สึกว่ามันเป็นอย่างหนึ่งที่เราทำได้ดี แล้วก็มีความสุขที่จะตื่นมาทำมันทุกๆ วันค่ะ
นักเขียน : กองบรรณาธิการ GM
ช่างภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม