Adaptability and Dynamic: เมื่อเทรนด์ธุรกิจ ‘ตื่นตัว’ และ ‘ปรับเปลี่ยน’ สู่ยุคสมัยถัดไป
เพราะโลก ยังคงหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา ทุกวินาทีที่เข็มนาฬิกาเดินไป คือการเดินไปสู่หนทางข้างหน้าของมนุษยชาติในด้านต่างๆ ในวันพรุ่งนี้ ก็จะแตกต่างจากเมื่อวันวานหรือวันก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคสมัยปัจจุบัน ที่ทุกข้อมูลข่าวสารต่างท่วมท้น ไหลบ่า และความก้าวหน้าของวิทยาการกับเทคโนโลยี ได้ผลักแนวทางที่คุ้นเคย ให้ถอยร่นไปสู่สภาวะความเก่า ที่อาจไม่มีประสิทธิภาพหรือเท่าทันกับความต้องการของคนหมู่มาก ในอัตราที่รวดเร็วอย่างน่าตกตะลึง
ใช่… ทุกสิ่งเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว แต่กฎของประสิทธิภาพ ยังคงทำงานตามวิสัยของมัน
ธุรกิจและบริการ รวมถึงวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ถูกเร่งเครื่องให้ ‘ตื่นตัว’ ไปกับความเคลื่อนไหวของการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน และนำไปสู่การ ‘ปรับเปลี่ยน’ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว หากปรารถนาที่จะอยู่ในสายธารของการแข่งขัน ไม่ว่าจะด้วยการคำนึงถึงผลกำไร หรือการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการอยู่ของตัวตนอย่างมีความหมาย
และถึงแม้คำว่า ตื่นตัวและปรับเปลี่ยน กลายเป็นบัญญัติที่ไม่ถูกเอ่ยถึง แต่ก็ซุกซ่อนอยู่ในความเร่งของสิ่งต่างๆ รอบตัว
GM Magazine ฉบับก้าวเข้าสู่ปีที่ 37 ขอนำเสนอทรนด์แห่งปี 2022 ที่ผ่านการ ‘ตื่นตัว’ และ ‘ปรับตัว’ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเดิม รวมถึงสร้างฐานลูกค้าใหม่ เพื่อจะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ที่จะก้าวต่อไป แม้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในวันนี้ แต่ในเวลาอีกไม่กี่ปี เชื่อว่าสิ่งที่ได้ถูกวางรากฐานและปรับเปลี่ยน จะกลายเป็น Game Changer ที่สำคัญต่อไปอย่างแน่นอน
เมื่อระบบ ‘อัตโนมัติ’ ทวีบทบาท ความฉลาด และความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน พบการใช้งานระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Robotics) ในภาคอุตสาหกรรมหนัก เพื่อทดแทนแรงงาน ในส่วนที่มีความเสี่ยงสูง หรือที่ต้องการความแม่นยำซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำได้ รวมถึงการผลิตในอัตราต่อเนื่องเป็นเวลานาน หุ่นยนต์กลายเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดา และประสิทธิภาพการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นยิ่งกว่าในยุคเก่าก่อน อาจเรียกได้ว่าการมาถึงของวิทยาการนี้ เทียบได้กับการผลิตสายพาน อันเป็นหนึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคโมเดิร์นเลยก็ว่าได้
แต่ตามการคาดการณ์ของ McKinsey และ Oxford นั้น ภายในปี 2025 การใช้งานระบบหุ่นยนต์ในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรม จะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030 ที่จะทำให้ตำแหน่งงานกว่า 800 ล้าน ถูกแทนที่และสูญหายไป
เป็นไปได้อย่างไร…..ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ในตำแหน่งงานมากถึงเพียงนั้น หลายคนอาจตั้งคำถามนี้ไว้ในห้วงความคิด ส่วนคำตอบ…นั่นเพราะหุ่นยนต์จะถูกผนวกเข้ากับระบบ ‘AI’ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดขึ้น จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่กันจึงทำให้การนำระบบหุ่นยนต์เข้าสู่กระบวนการทำงาน สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ และรองรับความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าต้องอยู่ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง แต่กำลังการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตมากขึ้น ในขณะที่ความผิดพลาดน้อยลงด้วย
แต่นั่นไม่ใช่จุดจบสำหรับคนทำงาน เพราะการมาถึงของระบบหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม จำเป็นจะต้องมีแรงงานภาคฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นอาชีพใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น การตื่นตัวและปรับเปลี่ยน จึงไม่ได้เกิดแค่ภาคการผลิต แต่ภาคแรงงานเอง ก็ไม่อาจนิ่งเฉยนอนใจอยู่ได้และคือโอกาสที่จะเข้ามาสำหรับคนที่พร้อม อีกทั้งยังคือความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เทรนด์การ ‘ลงทุน’ ที่หลากหลาย ตอบสนองต่อทุกความต้องการและปัจจัยที่แตกต่าง
ในยุคสมัยแรกเริ่ม การลงทุนที่ง่ายที่สุด และมั่นคงที่สุดสำหรับประชาชนคนทำงานทั่วไป คือการนำไปฝากไว้กับธนาคาร และรอให้ดอกเบี้ยทบงอกเงยขึ้นมา เพื่อหวังว่า ในบั้นปลายสุดท้าย เงินที่ฝากไว้ จะมากเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในยามจำเป็น และยามเกษียณ
แต่ในปัจจุบัน สภาพความเสี่ยงของการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน มีสูงและเป็นทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือในด้านกำไรต่ำ (ยกเว้นแต่จะมีไว้เพื่อพักเงิน) บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้ในทางปฏิบัติ การฝากเงินในธนาคาร คือการ ‘ลดมูลค่า’ ของเงิน ยิ่งฝาก มูลค่าก็ยิ่งน้อยลง จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่ผู้คนในยุคสมัยนี้ จะมองหาช่องทางในการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สินทรัพย์ที่มีนั้น งอกเงยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
แน่นอน การลงทุนมีอยุ่หลากหลายลักษณะ ทั้งการซื้อประกัน พันธบัตรรัฐบาล จนถึงการซื้อหุ้นเก็บไว้ในพอร์ต รวมๆ แล้ว คือ ‘การลงทุนในสินทรัพย์’ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลากหลายประการ ทั้งเงินเริ่มต้นที่มีอาจจะน้อยเกินไป หรือการที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในตลาดขนาดใหญ่ในต่างประเทศ
และนั่น คือจุดที่การตื่นตัวและปรับเปลี่ยนของภาคการลงทุน โดยเฉพาะภาคเอกชน ได้ก้าวเข้ามาอุดช่องว่างในจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการการซื้อขายสินทรัพย์ Cryptocurrency ชื่อดังหลายเจ้าอย่าง Bitkub, Binance จนถึงแพลทฟอร์มที่ช่วยด้านการลงทุนและวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่าง Stashaway ของประเทศไทย อันเป็นแพลทฟอร์มสาย ‘Wealthtech’ ที่มุ่งหวังให้ผู้ลงทุน สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของภาคการลงทุน การตื่นตัวและปรับเปลี่ยนอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้คนมีความรู้และความเข้าใจที่มากขึ้น รับรู้ความต้องการของตัวเองที่มากขึ้น ผู้ให้บริการด้านแพลทฟอร์มเพื่อการลงทุน จะผนวกระบบที่สามารถ Grooming และแนะนำการลงทุนที่ดีที่สุดให้เป็นรายบุคคล โดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ อาทิ ฐานเงินเดือน อัตราความเสี่ยงที่สามารถรับได้ จนถึงความคาดหวังในอัตราเติบโตของเงินและรายได้ที่ต้องการ และมันคือความจำเป็น ที่ภาคการศึกษา ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินการลงทุน เพราะนี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
โลกเสมือน สินทรัพย์ดิจิตอล และมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้
เรารู้ว่าการเข้ามาของโลกเสมือนหรือ Virtual Reality ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับหัวข้อก่อนหน้านั้นอย่างหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ แต่สำหรับในอุตสาหกรรมบันเทิงกับศิลปะ โลกกึ่งเสมือนเมตาเวิร์ส (Metaverse) ยังคงมีระยะทางและย่างก้าวให้ไปสำรวจอยู่อีกมาก รวมถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่ไม่สิ้นสุดรอคอยอยู่
ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ จากความก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วของอินเตอร์เนท และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกัน การแพร่กระจายของเครือข่าย Social Media ได้สร้างผู้ใช้งานที่มีความคุ้นเคยกับตัวตนเสมือนและความเป็น Digital Native ที่เปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น มากขึ้น และนั่นคือจุดที่ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัว และปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับความต้องการเหล่านั้น
สินทรัพย์ในรูปแบบเสมือนหรือสินทรัพย์ไซเบอร์อย่าง Non-Fungible Token (NFT) ถูกให้ความสำคัญในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมบันเทิง และภาคศิลปะ นั่นคือขุมทองใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ไปจนถึงนักลงทุนที่เล็งเห็นถึงมูลค่าที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น งานศิลปะที่ถูกสร้างแบบเสมือนของพิพิธภัณฑ์ Sotheby ที่ประมูลขายได้ถึง 100 ล้านเหรียญในปี 2021 หรือการใส่ Digital Footprints ลงในผลิตภัณฑ์รองเท้าสนีกเกอร์ของ Nike และการเปิดหน้าร้านแบบ Metaverse เป็นรายแรกๆ
ไม่นับรวมกรณีการเข้าซื้อบริษัท Activision-Blizzard อันเป็นบริษัทพัฒนาเกมชื่อดังโดย Microsoft เป็นจำนวนเงินที่สูงถึง 6.87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เป็นดีลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแวดวงวิดีโอเกม (แม้ว่าทาง Activition-Blizzard จะยังตกอยู่ในคดีอื้อฉาวเรื่องการละเมิดทางเพศพนักงาน ซึ่งเป็นเคสที่ร้ายแรง โดยมี Bobby Kotick หนึ่งใน CEO เป็นผู้ต้องสงสัย และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จนถึงบัดนี้…) บ่งบอกถึงความสำคัญในมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิตอลในโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม โลกแห่งสินทรัพย์ดิจิตอลก็ยังมีข้อครหา และจุดที่ยังไม่สามารถชี้ขาดได้ ว่าจะเป็นทางออก หรือหนทางที่เหมาะสมสำหรับยุคสมัยถัดไป หลายชิ้นงานถูกประเมินขายในราคาที่สูงลิ่ว ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นเพราะคุณค่าจากตัวผลงานเอง หากแต่เกิดจากการ ‘ปั่น’ ของนักลงทุน กระแสปากต่อปาก และยังคงมีกรณีพิพาทระหว่างคุณค่าในเชิงศิลปะ กับความเป็นพาณิชย์ศิลป์ ว่าแท้จริง ศิลปะดิจิตอลหรืองานที่ขายแบบ NFT สมควรที่จะได้รับการประเมินในรูปแบบใด
หรือแม้แต่รูปแบบการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงินแบบดิจิตอลหรือ Cryptocurrency ผ่านรูปแบบ ‘Gamefi’ หรือ ‘เล่นแล้วได้เงิน (Play to Earn)’ ที่มูลค่าของไอเทมในเกมหนึ่งๆ จะสามารถตีเป็นเงินในโลกแห่งความเป็นจริง ก็พบกับอุปสรรคและกรณีของการ ‘ชักดาบ’ หรือ ‘Rug Pull’ ที่ทุกคน พร้อมเข้ามาขุดขุมทองนี้ด้วยแนวคิดของการลงทุนเป็นหลัก และพร้อมจะจากไปเมื่อถึงจุดอิ่มตัว (ที่เร็วมาก) จนทำให้สินทรัพย์ในเกมที่เคยมีมูลค่าสูง กลายเป็นเพียง ‘ขยะดิจิตอล’ ที่ปราศจากมูลค่าไปได้ในทันที
เพราะโลกดิจิตอลนั้น ตื่นตัวและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว จึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แม้โอกาสและความเป็นไปได้นั้น จะมากจนเกือบจะไร้ขีดจำกัดก็ตาม
สุขภาพและความงาม ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านและดิจิตอล
ไม่ว่าจะยุคหรือสมัยไหน สุขภาพ คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ เพราะเงินทองที่หามาได้ เวลาที่มีอยู่มากมาย อาจจะไม่มีความหมาย ถ้าหากร่างกายถูกทำร้ายด้วยโรคภัยที่ย่างกรายเข้ามาเบียดเบียน การดูแลสุขภาพ ทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ จึงไม่เคยเก่า และยังเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงและต้องตระหนักเท่าทันมากที่สุดอีกด้วย
ในรอบระยะเวลาสองถึงสามปีที่ผ่านมา ธุรกิจด้านสุขภาพ ดูจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนใส่ใจกับตนเอง ดูแลรักษาสุขภาพ เว้นระยะห่าง และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็น ‘New Normal’ ที่กลายเป็น ‘Current Normal’ และนั่น ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะสถานพยาบาลต่างๆ ต้องตื่นตัว และปรับเปลี่ยนไปแบบ ‘กึ่งบังคับ’ เพราะความต้องการที่มาจ่ออยู่ตรงหน้า
ความใส่ใจในสุขภาพของประชาชนยังคงอยู่ในระดับสูง แม้อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19จะลดต่ำลง จากการเข้ามาของวัคซีน รวมถึงชุดตรวจการติดเชื้อ แต่วิถีชีวิตของผู้คนที่ไม่ปรับเปลี่ยนกลับไปแบบเดิมก็ยิ่งทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพ จำเป็นต้องเข้าหากลุ่มฐานลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพด้วยระบบทางไกล การให้คำแนะนำแบบ Live Service จนถึงสายด่วนเพื่อสุขภาพ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน นี่คือสิ่งที่โรงพยาบาลชื่อดังต่างๆ ได้เริ่มลงมือทำไปแล้ว
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและจะก้าวหน้ามากขึ้นนั้น คือการดูแลสุขภาพแบบเจาะจงไปเป็นรายบุคคล การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ต้องรวดเร็วและมากยิ่งกว่าเดิม มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และไม่ได้จำกัดแค่เพียงการรักษา แต่ต้องรวมถึงการป้องกันและเสริมสร้าง ผ่านรูปแบบการติดตามวัดผลด้วยเทคโนโลยีกับฐานข้อมูลที่มีพร้อม และสามารถค้นหาโรคได้ก่อนจะเกิดอาการเจ็บป่วย นี่คือสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทำได้ และได้เกิดขึ้นแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน แต่จะดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำ AI หรือปัญหาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทเคียงข้างบรรดาบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนั้น ธุรกิจด้านสุขภาพ ก็สามารถขยายไปยังพื้นที่ของกลุ่มตลาดสายอาหารสุขภาพ วีแกน หรือเฮลตี้ฟู้ดทั้งหลาย ที่ได้รับการค้นคว้า วิจัย และตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างครบถ้วน แน่นอน มูลค่าตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ สูงขึ้นตามปีที่ผ่านไป และเทรนด์การกินเพื่อสุขภาพ ก็ไม่เคยเก่า ทั้งอาหารวีแกนแบบปลอดสารพิษ เนื้อที่ทำจากใยพืช (Plant-Based Meat) จนถึงคอร์สการทานเพื่อสุขภาพต่างๆ และแน่นอนว่า การลงเฉพาะเจาะลงเป็นรายบุคคล คือสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
ทั้งหมด สำหรับผู้ประกอบการสายสุขภาพ จะต้องตื่นตัวเท่าทัน และปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มตลาดนี้ให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องสุขภาพนั้น ไม่เคยหยุด และจะยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะในเวลานี้ หรือในเวลาภายภาคหน้าก็ตาม
ตื่นตัว เพื่อปรับเปลี่ยน สู่ยุคสมัยถัดไป
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น คือคาดการณ์ของความตื่นตัว และปรับเปลี่ยนในภาคธุรกิจที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้าง แน่นอนว่า มันยังมีอีกหลายส่วน ทั้งการเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่หลีกหนีไม่พ้นวงจรของการตื่นรู้ และต้องพร้อมปรับเปลี่ยน ในการก้าวไปข้างหน้าที่ไม่หยุดนิ่งของโลกและมนุษยชาติ
“ธุรกิจย่อมเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีย่อมเปลี่ยนแปลง สมาชิกในทีมย่อมเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงนั้นคือสิ่งที่แน่นอน สิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างถึงที่สุด คือการที่บริษัทหนึ่งๆ ไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจ หรือยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนั้น เมื่อมันเดินทางมาถึง”
Kent Beck นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ผู้วางรากฐานในการพัฒนาระบบต่างๆ รวมถึงการทำงานแบบ Agile
ความเปลี่ยนแปลงอาจจะน่ากลัว อาจจะรวดเร็วเกินตั้งตัว และอาจจะทำให้มีบางสิ่งถูกทิ้งไว้ระหว่างทาง…
แต่มันก็คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณากับคุณภาพชีวิตที่ได้กลับมา ความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้น และการเป็นรากฐานที่มั่นคง เพื่อการต่อยอด ไปสู่สิ่งที่ดียิ่งๆ ขึ้น สืบไป