fbpx

ธีรเวทย์ อัศวเอกะวานิช แห่งร้าน ‘M.T. Rollin’ Club ตัวแทนสุภาพบุรุษคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลใน ความเก่า

“เรามองว่าชีวิตคืองานศิลปะ และผมใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ”

ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าวในบ่ายวันหนึ่งของเดือนตุลาคม เราได้มีโอกาสไปเยือนยังอาคารตึกเก่าสไตล์โคโลเนียล ย่านวัดราชบพิธฯ สถานที่แห่งนี้เปรียบเป็นสวรรค์บนดินของ ‘เชน-ธีรเวทย์ อัศวเอกะวานิช’ อดีตดีไซเนอร์มีชื่อ เขาทุ่มสุดตัวกับสถานที่แห่งนี้ และตั้งชื่อให้มันว่า ‘M.T. Rollin’ Club

เช่น คือนักสร้างสรรค์งานศิลปะคนหนึ่ง เขาผ่านงานออกแบบมากมายทั้งเสื้อผ้า หรือการตกแต่งภายใน แต่ด้วยความชอบในงานศิลปะโบราณ และเสียงเพลงแจ๊สในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหลงใหลถูกพัฒนากลายเป็นความฝัน และในตอนนี้เชนก็ทำฝันของเขาให้เป็นจริงได้แล้ว

เชนเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงใหลในการใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน และที่นิวยอร์กก็สร้างแรงบันดาลใจให้เขาสร้าง ‘M.T. Rollin’ Club ขึ้น ‘คลับ’ แห่งนี้คือร้านอาหารที่ตกแต่งในสไตล์วินเทจ ย้อนยุค ที่คุณสามารถจะมานั่งสังสรรค์ หรือแต่งตัวในแบบที่ตัวเองอยากได้ พร้อมกับดื่มด่ำเสียงดนตรีแจ๊สผลงานเอกของศิลปินอย่าง หลุยส์ อาร์มสตรอง หรือ เจลลี โรลล์ มอร์ตันที่จะชวนให้คุณนึกถึงบรรยากาศของแจ๊สในยุคชิคาโก

คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะคิดว่า ความเก่าหรือของเก่ารุ่นพ่อเป็นอะไรที่ดูโบราณหรือเชย ไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน แต่เชนคือคนที่มองว่าความโมเดิร์นไม่ใช่สิ่งที่เรียบง่ายเสมอไป มันลึกซึ้งกว่าแค่ความสดใหม่ มันคือการเรียนรู้เรื่องราวของอดีตมาพัฒนาต่อยอด

และวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสุภาพบุรุษคนนี้ ถึงที่มาของความหลงใหลในศิลปะโบราณ หรือของเก่า และจุดกำเนิดของคลับแห่งนี้

GM : ที่มาของการทำร้าน ‘M.T. Rollin’ Club
ธีรเวทย์ :
 ส่วนตัวผมเคยใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก และก็รู้สึกมีความสุขกับชีวิตของตัวเองในตอนนั้น ซึ่งต่างกับที่นี่ ที่จะรู้สึกเป็นคนที่แตกต่างตั้งแต่เด็ก เพราะผมเป็นผู้ชายที่ชอบแต่งตัวชอบใส่ Accessories ชอบ Jewelry ผมเป็นคนที่ชอบแต่งตัวในวาระต่างๆ แต่ละกิจกรรมที่เราไป การแต่งกายมันก็จะมีแพตเทิร์นของมัน เช่นการไปดินเนอร์ ซึ่งด้วยสังคมบ้านเราที่เป็นเมืองร้อน มันก็ยากที่จะสามารถทำอะไรแบบนั้นได้ ซึ่งผมก็มองว่า ผมยังอยากจะสนุกกับการใช้ชีวิต อยากจะแต่งตัว

GM : ที่มาของชื่อ ‘M.T. Rollin’ Club
ธีรเวทย์ :
 M.T. ย่อมาจากชื่อเล่นของผม มันเป็นเหมือนสรรพนามที่ใครๆ ชอบเรียกตัวผม ซึ่ง T ย่อมาจาก ธีรเวทย์ ชื่อจริง ส่วน M มาจากคำว่า Magic Trick หรือ Magician ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนฝรั่งชอบเรียกเรามาตลอด ผมอยากให้คลับมีความเป็นยุโรป เพราะส่วนตัวชื่นชอบในความงาม ความละเมียดละไมของยุโรป แต่ความเป็นอเมริกันก็ให้อารมณ์ที่สนุกกว่า จริงกว่า ผมจึงอยากให้มีส่วนผสมของทั้งสองวัฒนธรรมนี้รวมกัน และตัวชื่อมันก็ไปสอดคล้องกับชื่อของ J.K. Rowling นักเขียนแฮร์รี พอตเตอร์ ซึ่งยิ่งทำให้ดูมีความเพ้อฝันในแบบที่ผมคาดไว้ มันจึงกลายเป็นชื่อของคลับแห่งนี้

GM : แล้ว ‘M.T. Rollin’ Club คืออะไรกันแน่
ธีรเวทย์ : 
ผมอยากจะให้ที่นี่เป็นคลับ เป็นสถานที่สำหรับคนสนใจในหลายๆ เรื่องมานั่งคุยกัน หลายคนอาจจะชวนเพื่อนมาบรันซ์ มากินลันซ์ หรือจิบ High Tea สำหรับหนุ่มๆ อาจจะมานั่งสูบซิการ์กัน หรือตัดสูทก็ได้ ที่นี่ก็มีบริการตัดสูทด้วย หรือแม้กระทั่งผู้หญิงเอง ผมอยากจะให้ทุกคนเข้ามาแล้วมีความสุข และสนุกกับการใช้พื้นที่ที่นี่เหมือนกับผม มันจะเป็นสถานที่ที่ทำให้คุณสามารถแต่งตัวอย่างที่ชอบมาดินเนอร์ หรือมาเดทได้

เสน่ห์ของที่นี่ ถ้ามองจากภายนอกคือการแต่งร้านในสไตล์วินเทจ แต่ด้วยพื้นฐานของอาคารสไตล์โคโลเนียล ก็ยิ่งชวนให้เชนหลงใหลสถานที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น

GM : ได้ยินมาว่าคุณหลงใหลตึกนี้มานาน และมันเปรียบเสมือนรักแรกพบของคุณ
ธีรเวทย์ :
 ผมเป็นคนชอบตึกนี้อยู่แล้ว ผมมักจะชอบมาเดินเล่นละแวกนี้บ่อยๆ ตึกนี้มันมีความพิเศษมาก มันแทบจะเป็นมุมเดียวในประเทศไทยที่เป็นเอกลักษณ์ และบริเวณแถบนี้ก็มีคลองทั้งสองฝั่ง และก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ผมได้รู้จักกับเจ้าของตึกคนเก่า มันจึงเป็นที่มาของการทำร้านที่นี่

GM : คุณเติบโตมากับศิลปะในรูปแบบไหน
ธีรเวทย์ :
 ผมเป็นคนที่ดูหนังกับฟังเพลงเยอะมากตั้งแต่เด็ก ผมแทบไม่เคยเปิดทีวีดูเลย และผมก็ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากที่บ้านอีกเหมือนกัน เพราะคุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนที่เลี้ยงลูกด้วยเสียงเพลง นั่นทำให้ผมติดในการฟังเพลง ส่วนการดูหนัง ผมมักจะขวนขวายหาหนังมาดูมากๆ เพราะส่วนตัวคิดว่าหนังเป็นศิลปะที่เล่าเรื่องราวและบรรยากาศในแต่ละยุคได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง

GM : ดนตรีคือแรงบันดาลใจสำคัญของคุณในการเปิดคลับแห่งนี้
ธีรเวทย์ :
 ศิลปินที่ผมชอบที่สุดและกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการเปิดร้านนี้คือ เจลลี่ โรล มอร์ตัน (Jelly Roll Morton) นักเปียโนแจ๊สในตำนาน ผมหลงรักตั้งแต่ได้รู้จักเขาในหนังเรื่อง “The Legend of 1900” ซึ่งก็เป็นหนังที่ผมรักมากเช่นกัน ศิลปินอีกคนหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวตนของผมก็คือ เชต เบเกอร์ (Chet Baker) เพลงของเขาทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจได้เสมอ

มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจจะคิดว่าเชน เป็นคน ‘หัวโบราณ’ ขนานแท้ แต่หลังจากที่พูดคุยกัน ชายคนนี้ก็แสดงให้เราเห็นว่า ถึงแม้จะรักความเก่า แต่ใช่ว่าคนเราจะเก่าตามไปด้วย เพราะเขาคือคนรุ่นใหม่ที่ชอบเรียนรู้เรื่องราวจากในอดีต

“ผมคิดว่าความโมเดิร์นไม่ใช่สิ่งที่เรียบง่ายอย่างที่ทุกคนคิดมันลึกซึ้งกว่าความสดใหม่ มันคือการเรียนรู้เรื่องราวของอดีตแล้วเอามาพัฒนาต่อยอด”

GM : คุณเป็นคนชอบแนววินเทจหรือของโบราณ อะไรแบบนี้มาแต่แรกเลยหรือเปล่า
ธีรเวทย์ : 
ผมมองว่าของวินเทจหรือของโบราณ พวกนี้มันมีเรื่องราวของมัน มันมีสไตล์ ทั้งหมดนี้ มันคืองานศิลปะ ถ้าเปรียบกับของสมัยนี้ผมมองว่างานวินเทจ มีความวิจิตรมากกว่า ซึ่งต่างกับงานสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความ Mass ผมว่าของเก่ามันจะเต็มไปด้วยเอกลักษณ์มากกว่า

GM : ในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่รักในความเก่า คุณคิดว่าเสน่ห์ของ ‘ความเก่า’ คืออะไร
ธีรเวทย์ : เสน่ห์ของมันคือการมีเรื่องราว เรื่องราวก่อเกิดการพัฒนาการไปเป็นเอกลักษณ์ ผมคิดว่าของที่มีเรื่องราวทำให้เราได้ศึกษาและใช้ชีวิต เพื่อสร้างสรรค์งานต่อไปได้ ยิ่งเราได้จับงานมากเท่าไรนั้น นานไปเข้าเราจะรู้เองว่าสิ่งต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร

GM : อยากให้ลองเล่าเบื้องหลังชีวิตของคุณ จะทำร้านแบบนี้ได้ต้องมีประสบการณ์ด้านศิลปะ คุณค้นพบศิลปะในแบบของคุณได้อย่างไร
ธีรเวทย์ : 
ต้องขอมอบความดีความชอบให้กับคุณแม่ของผม คุณแม่เป็นคนที่สอนลูกเสมอในเรื่องของการค้นหาตัวเองให้เจอ ท่านเป็นคนที่ผลักดันให้ผมมีจุดยืนเป็นของตัวเอง คือท่านไม่เคยสนใจว่าลูกจะเป็นแบบไหน ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดี ท่านบอกผมเสมอว่าถ้าอยากรู้อะไรต้องรู้ให้สุด ต้องเรียนรู้ต้องลองต้องทำ ท่านสนับสนุนทุกอย่างทำให้ผมเป็นแบบนี้

GM : เป็นคนชอบความเก่า แล้วความร่วมสมัยล่ะ คุณใส่ใจกับมันมากน้อยขนาดไหน
ธีรเวทย์ :
 สำหรับผมความโมเดิร์น หรือเป็นอะไรที่ร่วมสมัยนั้น คือต้องเป็นอะไรที่สดใหม่จริงๆ แล้วการที่จะเกิดสิ่งที่สดใหม่ได้ คือการพัฒนาและเรียนรู้จากของเก่า เรียนรู้จากสิ่งที่มันเคยมีมา แล้วค่อยไปพัฒนาไปเป็นอะไรที่มันโมเดิร์น ผมคิดว่าความโมเดิร์นไม่ใช่สิ่งที่เรียบง่ายอย่างที่ทุกคนคิด มันลึกซึ้งกว่าความสดใหม่

ห้องของที่นี่มีสไตล์ที่ต่างกัน เชนมีความตั้งใจที่อยากจะเล่าเรื่องเล่าการเดินทางและความชอบของตนผ่านการตกแต่งในห้องต่างๆ

GM : แต่ละห้องคุณตั้งใจจะเล่าเรื่องอย่างไร
ธีรเวทย์ : 
ผมได้มีความเป็นตัวของตัวเองผ่านห้องเหล่านี้ โอเค เรามองว่าชีวิตคืองานศิลปะ และผมใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะด้วย ผมก็เลยตั้งใจให้ห้องแต่ละห้องมีคอนเซปต์ตามภาพวาดสีน้ำมันดังๆ ของศิลปินระดับตำนาน เช่นห้องแรกที่เราเข้ามาจะอิงภาพ ‘Carnation, Lily, Lily, Rose’ ของ จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ (John Singer Sargent) ซึ่งผมตั้งใจทำออกมาให้กลายเป็นห้องรับแขก ที่เมื่อใครเดินเข้ามาก็อยากให้รู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อนในปารีสหรือยุโรปสักที่หนึ่ง ซึ่งห้องนี้จะตกแต่งด้วยดอกลิลลี่ คาร์เนชัน และกุหลาบเสมอ

ห้องที่สองจะเป็นห้องของสุภาพสตรี ตอนแรกผมตั้งใจทำห้องนี้ไว้เพื่อให้คุณแม่สังสรรค์กับเพื่อน เป็นห้องที่ตกแต่งสไตล์ยุควิกตอเรียน เพราะคุณแม่ผมท่านเป็นคนที่รักดอกไม้มาก ท่านจะชอบแต่งตัวโทนหวานๆ ภาพที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของห้องนี้ก็คือภาพ The lover’s Mother Goose ของ จอห์น เซซิล เคลย์ (John Cecil Clay)

ห้องที่สามด้านในจะเป็นห้องสไตล์ Art Deco อิตาเลียน ชื่อห้อง Gentlemen Club เป็นห้องสำหรับหนุ่มๆ ในการมานั่งพูดคุยกัน ฟังแผ่นเสียง สูบซิการ์ หรือดื่มวิสกี้ และก็เป็นห้องที่ผมรับตัดสูทด้วย หลาย  ครั้งห้องนี้ก็ทำให้ผมได้พบกับลูกค้าที่ชอบในการแต่งตัวใช้ของเครื่องประดับ หลายคนซื้อมาด้วยความชอบ แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ใส่ออกไปที่ไหน หลายคนชอบที่นี่มาก เพราะมันทำให้พวกเขาสามารถเป็นตัวเองได้จริงๆ 

ห้องหลังสุดจะเป็นบาร์ ที่ผมตั้งใจอยากให้มันมีแจ๊สไลฟ์ ผมได้แรงบันดาลใจนี้มาจากผลงานในสระบัวของ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) ครั้งหนึ่งผมเคยไป บ้านโมเนต์ที่เมืองชิแวร์นี ในฝรั่งเศส บ้านหลังนั้นมีความน่ารักและโรแมนติกมาก ผมจึงอยากให้ห้องนี้มีความรู้สึกแบบนั้น

“เก้าอี้สมัยก่อนนโปเลียน สภาพมันเก่ามาก เรียกได้ว่าพังไปแล้ว ผมเอาเก้าอี้ตัวนี้ไปซ่อม แล้วก็พอซ่อมเสร็จก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามมากๆ มันมีทั้งเรื่องราวแม้กระทั่งตอนที่มันพังไปแล้ว”

ก่อนจะเริ่มการสนทนา ผมได้มีโอกาสนั่งชมเมนูของคุณเชน และได้พบกับหัวใจสำคัญของที่นี่ นั่นก็คือการนำเอาชื่อเพลงต่างๆ บนโลกนี้มาตั้งเป็นชื่อเมนูนั่นเอง เราจะได้เห็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สชื่อดังอย่าง Afternoon In Paris มาเป็นชื่อเมนูแนะนำ หรือจะเป็นสลัด จานโตที่ถูกเปลี่ยนเป็นชื่อของเพลงดัง Rocket Man ของเอลตัน จอห์น

GM : ผมสังเกตเมนูของที่นี่มันเต็มไปด้วยชื่อเพลง
ธีรเวทย์ 
: ผมเล่าทุกสิ่งในร้านนี้ด้วยบทเพลง ถ้าติดตามอินสตาแกรมของร้าน จะเห็นได้ว่าทุกอย่างผมเล่าเรื่องมาจากเนื้อเพลงทั้งหมด ซึ่งมันก็ไม่ได้แบ่งยุคแบ่งสไตล์ มันมาจากบทเพลงที่ผมชื่นชอบ ผมอยากจะให้คนที่มากินเมนูของร้านได้นึกถึงเพลงเหล่านี้ คนเป็นคนที่ค่อนข้างใช้อารมณ์ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

GM : จุดเริ่มต้นของความรักในของเก่า
ธีรเวทย์ : 
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรักของเก่า เกิดขึ้นเมื่อสมัยตอนที่ผมอยู่ ม.2 ผมเดินเข้าไปซื้อเก้าอี้โบราณตัวหนึ่ง มันเป็นเก้าอี้สมัยก่อนนโปเลียน สภาพมันเก่ามากเรียกได้ว่าพังไปแล้ว ผมเอาเก้าอี้ตัวนี้ไปซ่อม แล้วก็พอซ่อมเสร็จก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามมากๆ มันมีทั้งเรื่องราวแม้กระทั่งตอนที่มันพังไปแล้ว มันคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

GM : นิยามคำว่าสุภาพบุรุษ ในแบบของคุณ
ธีรเวทย์ :
 สุภาพบุรุษต้องมีความละเมียดละไม รู้จักการใช้ชีวิต อ่อนโยนเสมอ

“ทุกอย่างต้องวิจิตร มันเป็นอีกคอนเซปต์ที่ทำให้เกิดร้านนี้ ทั้งด้านการบริการการจัดวางทุกอย่างต้องวิจิตร ผมอยากจะให้คนที่เดินก้าวเข้ามาสัมผัสมัน เข้าใจว่าการใช้ชีวิตอย่างพิถีพิถัน เป็นอย่างไร”

GM : เป้าหมายของคุณคืออะไร
ธีรเวทย์ :
 ผมอยากจะมีที่ที่ทำให้ผมสบายใจ คือเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และบ่งบอกตัวเราได้มากที่สุด คือผมเป็นคนที่ชอบอยู่บ้านมากอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเราจะสบายใจใน Comfort Zone ของเรา สิ่งนี้ทำให้ผมเปิดร้านนี้ขึ้นมา ผมแสวงหาคนที่เป็นคอเดียวกับผมมาสนุกกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้กัน

คลับแห่งเวทมนตร์แห่งนี้เปิดให้บริการ วันอังคาร-อาทิตย์ ปิดวันจันทร์ เวลา 11.00-24.00 น. ใครที่ชอบร้านอาหารย้อนยุคลองเข้าไปพูดคุยเยี่ยมเยียนเชนได้

นักเขียน : วิทวัส ปัญญาเลิศวุฒิ
ช่างภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
Update : 31 Oct 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ