fbpx

ROLEX และการสำรวจ ความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน


สำหรับผู้ก่อตั้ง Rolex อย่าง Hans Wilsdorf โลกนี้เปรียบได้ดั่งห้องทดลองที่มีชีวิต เขาเริ่มทดสอบนาฬิกาของเขาในห้องทดลองนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930 โดยการส่งนาฬิกาไป ยังสถานที่สุดหฤโหดเพื่อสนับสนุนเหล่านักสำรวจที่เดินทางไปสู่ดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก

แต่ในปัจจุบันโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 การสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้กรุยทางไปสู่การสำรวจเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติของโลก ซึ่ง Rolex ยังคง สืบสานเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งโดยสนับสนุนเหล่านักสำรวจในปัจจุบัน เพื่อการปฏิบัติภารกิจใหม่ของพวกเขา นั่นคือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกของเราสืบไป


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในปี 2019 Rolex ได้เปิดตัวแคมเปญ Perpetual Planet และในปัจจุบันได้ต่อยอดความร่วมมือกับ National Geographic Society เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโครงการ Mission Blueของ Sylvia Earle ด้วยความตั้งใจที่จะปกป้องมหาสมุทรผ่านเครือข่ายคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล “Hope Spots” นอกจากนี้ ยังได้มอบรางวัล Rolex Awards for Enterpriseเพื่อเชิดชูบุคคลที่ดำเนินโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้และปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม


ประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสนับสนุนการสำรวจ
เป็นเวลาเกือบศตวรรษที่ Rolex ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแก่นักสำรวจบุกเบิก ซึ่งเป็นบุคคลที่ขยายเขตแดนแห่งความมุมานะพยายามของมนุษยชาติ โดยเดินทางเข้าไปสำรวจในพื้นที่ที่มีความหฤโหดที่สุดในโลก เพื่อไขความลับเกี่ยวกับธรรมชาติในโลกใบนี้ ซึ่งนาฬิกา Rolex ได้ติดตามนักสำรวจเหล่านี้ไปทั้งบนยอดเขาที่สูงที่สุดและดำดิ่งลงไปยังพื้นใต้ท้องมหาสมุทร เป็นเพื่อนคู่กายที่เที่ยงตรงและไว้วางใจได้ ในทางกลับกัน การเดินทางสำรวจเพื่อการค้นพบอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นห้องทดลองที่มีชีวิตสำหรับแบรนด์ในการทดสอบและพัฒนาเรือนเวลาแต่ละรุ่น


การสำรวจในดินแดนสุดหฤโหด
Rolex ได้เกี่ยวโยงกับการสำรวจที่สำคัญของโลกหลายครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เช่นใน ปี1933 แบรนด์ได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ แก่คณะสำรวจ British Everest Expeditionและอีกครั้งในปี 1953 กับภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของ Sir John Hunt ที่สร้างชื่อให้ Sir Edmund Hillary และ Tenzing Norgay เป็นสองบุคคลแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ


เพื่อเป็นเกียรติยศเชิดชูแก่การพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งนี้ Rolex ได้เปิดตัวนาฬิกาคู่กายนักสำรวจในปี 1953 โดยได้พัฒนานาฬิการุ่น Explorer ให้มีกรอบนาฬิกาที่แข็งแกร่ง หน้าปัดชัดเจน รองรับสภาพแวดล้อมที่หฤโหดได้เป็นอย่างดี และนับตั้งแต่นั้นมา นาฬิการุ่น Explorer ก็ได้รวมความก้าวล้ำทางเทคนิคของนาฬิกา Rolex เอาไว้ทั้งหมด โดยคงรูปลักษณ์ไว้เหมือนเช่นเดิม

Rolex ยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1954 ได้สานความร่วมมือครั้งสำคัญที่ดำเนินต่อมายาวนาน โดยเป็นพันธมิตรกับ National Geographic Societyและได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญมากมายตลอดหลายปีต่อมา


ในปี 1960 การมีส่วนร่วมในการสำรวจของ Rolex มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ โดยเดินทางลงสู่ใต้น้ำมากกว่าจะไต่ขึ้นภูเขา ได้ริเริ่มสำรวจบริเวณ Mariana Trench ด้านแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในท้องมหาสมุทร เทียบได้กับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่บวกเพิ่มไปอีก 2,000 เมตร


ยานสำรวจน้ำลึก Trieste ที่บังคับการโดย Jacques Piccard และ Don Walsh ได้ติดตั้ง Rolex Oyster รุ่นทดลองชื่อ Deep Sea Special ไว้ที่ภายนอกตัวยานสำรวจขณะดำดิ่งลงไปยังท้องสมุทรที่สถิติความลึกระดับ 10,916 เมตร (35,800 ฟุต) ซึ่งนาฬิกาได้ทำงานอย่างเป็นปกติสมบูรณ์เมื่อยานสำรวจขึ้นสู่เหนือน้ำแม้จะต้องอยู่ภายใต้แรงดันอันสุดขั้ว ซึ่งทั้ง Piccard และ Walsh ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่สามารถลงไปยังท้องสมุทรได้ลึกที่สุดยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ


เมื่อมีบทบาทการทำงานด้านสำรวจมากขึ้น ในปี 1971 Rolex ได้เปิดตัวรุ่น Explorer II โดดเด่นด้วยวันที่บนหน้าปัด เพิ่มเข็มบอกเวลา 24 ชั่วโมง และขอบหน้าปัดแบบยึดตายตัวพร้อมขั้นบอกเวลา 24 ชั่วโมง ช่วยให้ผู้สวมใส่แยกความแตกต่างระหว่างเวลากลางวันออกจากเวลากลางคืน อันเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการสำรวจในสภาพแวดล้อมที่ความมืดปกคลุม เช่น ในถ้ำลึก หรือดินแดนแถบขั้วโลกที่มีแต่แสงสว่างนาน 6 เดือน และความมืดมิดอีก 6 เดือน


ROLEX และพันธมิตรในการสำรวจ
นักสำรวจทุกวันนี้ต่างตระหนักถึงความสมดุลของระบบนิเวศต่างๆ ในโลก จุดประสงค์การเดินทางสำรวจของพวกเขาจึงเปลี่ยนไป จากการค้นพบสิ่งใหม่เป็นการสร้างความรับรู้ทำให้คนสนใจถึงความเปราะบางของโลก ปัจจัยที่เร่งเร้า และร่วมกันออกแบบทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในพื้นพิภพด้วยความร่วมมือและสายสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ Rolex สามารถดึงให้นักสำรวจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนสืบไป


OUR WORLD-UNDERWATER SCHOLARSHIP SOCIETY
ในปี 1974 Rolex ได้สานความร่วมมือกับสมาคม Our World-Underwater Scholarship Society ซึ่งเป็นชุมชนระดับโลกของคนในแวดวงวิชาชีพทางทะเลที่ทุ่มเทการทำงานวิจัย เพื่อรักษามหาสมุทรต่างๆ บริษัทจึงได้ใช้สายสัมพันธ์นี้ต่อยอดการสนับสนุนโดยให้ทุนแก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานเกี่ยวกับโลกใต้สมุทร


ROLEX AWARDS FOR ENTERPRISE
โครงการที่ส่งให้ Rolex ก้าวมาอยู่แถวหน้าขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม คือ Rolex Awards for Enterprise ที่จัดขึ้นทุกๆ สองปี นับตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา แบรนด์ได้สนับสนุนผลงานของบุคคล 150 ท่านที่ดำเนินโครงการใหม่หรือโครงการต่อเนื่องที่ใดก็ได้ทั่วโลก บุคคลที่ควรค่าแก่การสนับสนุนจากการทำงานด้วยความตั้งใจจริงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต หรือช่วยปกป้องมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมของโลก


ในบรรดานักสำรวจที่ได้รับเกียรติเชิดชูจากรางวัลนี้ ได้แก่ Francesco Sauro นักสำรวจทางวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ผู้เดินทางลึกเข้าไปในถ้ำ ณ ภูเขาโต๊ะในดินแดนห่างไกลของอเมริกาใต้ Cristian Donoso ผู้ผจญภัยด้วยเรือคายัคท่องไปในทะเลแถบ Western Patagonia บันทึกเรื่องราวเป็นสารคดีในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าค้นหาเพื่อหวังให้ผู้คนเข้าใจถึงคุณค่าของดินแดนนี้ Joseph Cook ผู้ศึกษาเกี่ยวกับพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ (Greenland ice sheet) เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่มีต่อภาวะโลกร้อน Lonnie Dupre ผู้เดินทางไปสำรวจดินแดนอาร์กติก เพื่อดึงให้ผู้คนสนใจถึงอันตรายของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และ Miranda Wang ผู้ริเริ่มในการคิดค้นกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลให้กลายเป็นวัสดุที่มีคุณค่าสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน


นอกจากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับแวดวงนักสำรวจผ่านทางโครงการนี้แล้ว Rolex ยังมีบทบาทในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ 21 แห่งที่สำคัญยิ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพและต่อมวลมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศเหล่านั้น อันได้แก่ Mamirauá SustainableDevelopment Reserve ในป่าแอมะซอนของบราซิล Sierra Gorda Biosphere Reserve ในเม็กซิโก ป่าแอตแลนติกในบราซิล และ Gran Chaco ในอเมริกาใต้

นอกจากนี้แบรนด์ยังได้สนับสนุนผู้ที่ได้รับรางวัลในการช่วยคุ้มครองสัตว์ 25 สายพันธุ์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ ตั้งแต่เสือ Amur ไปจนถึงนกเงือก ม้าน้ำพันธุ์จิ๋ว และปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ ฉลามวาฬเทคโนโลยีการติดตามใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยผู้ทรงเกียรติที่ได้รับรางวัลจาก Rolex ทำหน้าที่เป็นดวงตาอิเล็กทรอนิกส์ในป่าทึบ และยังเป็นอาวุธอันทรงอานุภาพในภาวะเร่งด่วนที่ต้องรักษาสายพันธุ์เสี่ยงไว้ ดังเช่นบันทึกประจำวันของนักสัตววิทยาชาวอังกฤษ Rory Wilson ที่เป็นบันทึกอิเล็กทรอนิกส์น้ำหนักเบา สามารถเก็บข้อมูลทรงคุณค่าเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์อย่างเพนกวินและเสือดาวเอาไว้ได้


นักสำรวจที่มีสายสัมพันธ์กับ ROLEX
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 มาจนถึงยุคต้นสหัสวรรษใหม่นี้ นักสำรวจหลายท่าน ซึ่งรวมถึงนักปีนเขา นักดำน้ำ และนักวิทยาศาสตร์ ต่างมีสายสัมพันธ์กับ Rolex หรือได้รับเลือกเป็น Testimonees ของแบรนด์ได้ทำลายสถิติและทดสอบสมรรถนะความแข็งแกร่งของตนกับนาฬิการุ่น Oyster Perpetual ซึ่งเรือนเวลา Rolex ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่กายเสมอมาและเป็นอุปกรณ์หลักในการทำงานของพวกเขา นักสำรวจเหล่านี้ ได้แก่:

  • นักอนุรักษ์ชาวอเมริกันที่เกิดในเยอรมนี George Schaller ผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการป้องกันความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมโดยช่วยก่อตั้งเขตอนุรักษ์สัตว์ป่ามากกว่า 20 แห่งทั่วโลก และช่วยคุ้มครองสัตว์บางชนิดที่ถือได้ว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดรวมถึงกอริลลาภูเขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเสือดาวหิมะในมองโกเลีย
  • นักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ และนักอนุรักษ์ Richard Leakey มีชื่อเสียงโด่งดังจากการค้นพบฟอสซิลที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์ และจากแคมเปญของเขาเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบในแอฟริกาตะวันออก
  • นักปีนเขาชาวอเมริกัน Ed Viesturs ผู้สามารถไต่ขึ้นไปพิชิตยอดเขาสูงระดับ 8,000 เมตรทั้ง 14 แห่งในโลกได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยในระหว่างทำภารกิจโครงการ Endeavor 8000 ที่เขาบรรลุได้สำเร็จในปี2005
  • Junko Tabei นักปีนเขาชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในปี 1975 ในเวลาต่อมาเธอเป็นผู้สนับสนุนที่ทรงอิทธิพลในด้านการปกป้องสภาพแวดล้อมบนเทือกเขาสูง โดยได้ประเมินผลกระทบจากขยะจากน้ำมือมนุษย์ที่มีต่อภูเขา ในการวิจัยระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเธอ
  • นักสำรวจขั้วโลกและนักไต่เขาชาวเบลเยียม Alain Hubert ผู้ก่อตั้งมูลนิธิความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน International Polar Foundation (IPF) ในปี 2002 เพื่อสนับสนุนศาสตร์การศึกษาขั้วโลกซึ่งเป็นกุญแจไขความเข้าใจสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมูลนิธิ IPF ได้ระดมทุนสร้างสถานีวิจัยแห่งใหม่ในทวีปแอนตาร์กติกาที่ออกแบบมาให้รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน Hubert เชื่อว่าการเดินทางไปสำรวจในดินแดนเหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลังที่ช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับโลกของเราได้
  • นักไต่เขาสัญชาติสวิส-แคนาดา Jean Troillet ผู้พิชิตเอเวอเรสต์ในปี 1986 และต่อมาในปี 1997 เป็นคนแรกที่ใช้สโนว์บอร์ดไถลลงมาจากยอดเขาฝั่งทิศเหนือTroillet ยังทำสถิติพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ฝั่งเหนือได้เร็วที่สุด สามารถขึ้นไปถึง10 ยอดเขาที่ความสูงระดับ 8,000 เมตรได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วย
  • Rune Gjeldnes ชาวนอร์เวย์ เป็นบุคคลเดียวที่ข้ามผ่านธารน้ำแข็งใหญ่ 3 แห่งได้สำเร็จในปี 2006 ได้แก่ กรีนแลนด์ มหาสมุทรอาร์กติก และแอนตาร์กติกาโดยใช้สกี และปราศจากความช่วยเหลือใดๆพันธมิตรที่สำคัญรายอื่น


สมาคม ROYAL GEOGRAPHICAL SOCIETY
ถึงแม้ว่า Rolex จะเริ่มเป็นองค์กรสนับสนุนสมาคม Royal Geographical Society (RGS) ณ กรุงลอนดอนอย่างเป็นทางการในปี 2002 แบรนด์ได้สร้างสายสัมพันธ์กับสมาคมมาอย่างยาวนานนับย้อนไปตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1930 เริ่มสนับสนุนอุปกรณ์ในการเดินทางไปสำรวจภูเขาเอเวอเรสต์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ Rolex ให้การสนับสนุนการสำรวจทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงในปี 1986 ที่มีการสำรวจพัฒนาการยุคแรกของ Wahiba Sands ในประเทศโอมาน ระบบนิเวศของที่นั่น และผลกระทบจากการที่ทะเลทรายในโอมานเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเร็วๆ นี้คณะสำรวจได้เก็บบันทึกหลักฐานความหลากหลายของภูมิประเทศเอาไว้ โดยรวบรวมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังได้ถึง 16,000 ชนิด สัตว์ป่าอื่นๆ อีก 200 สายพันธุ์ และดอกไม้พื้นเมือง150 สายพันธุ์ ซึ่งข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้อาจสามารถใช้ปกป้องทะเลทรายที่ต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงได้


โครงการ MISSION BLUE ของ SYLVIA EARLE
Sylvia Earle เป็น Rolex Testimonee มาตั้งแต่ปี 1982 และเป็นผู้บุกเบิกสำรวจมหาสมุทรมานานร่วม 50 ปี ในปี 1970 Rolex Testimonee ท่านนี้ ได้เข้าร่วมโครงการสำรวจสิ่งแวดล้อมใต้สมุทรที่ท้าทายที่สุดโครงการหนึ่ง ในฐานะสมาชิกหญิงล้วนกลุ่มTektite II ผู้มุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจ เธอจึงพำนักและทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ ในไซโลเหล็กคู่ที่ทอดสมอ พื้นสมุทรในมลรัฐ Virgin Islandsสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการวิจัยและปฏิบัติการด้านต่างๆ ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นในการอนุรักษ์มหาสมุทร เธอทำงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้เล็งเห็นความงามและความเปราะบางของมหาสมุทรด้วยตัวเอง


นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โครงการ Mission Blue ของ Earle ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ชุมชนและรัฐบาลต่างๆ ร่วมกันปกป้องชีวิตในท้องสมุทรที่ประสบกับความเสี่ยงได้รับแรงกดดันจากมนุษย์ผ่านพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas-MPAs) ที่เธอเรียกว่า Hope Spots อันเป็นพื้นที่ในมหาสมุทรที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำคัญต่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ ตั้งแต่ความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ ที่มีในพื้นที่นั้น หรือความสำคัญของพื้นที่ในฐานะเป็นแหล่งอาศัยของสายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ หรือพื้นที่ที่ชุมชนต้องพึ่งพาอาศัยสภาพแวดล้อมทางทะเลในการดำรงชีวิต


ด้วยการสนับสนุนของ Rolex มาตั้งแต่ปี 2014 พื้นที่ Hope Spots มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 50 เป็น 130 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่ง Earle ได้ตั้งเป้าการปกป้องมหาสมุทรของโลกให้ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ปัจจุบัน มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของมหาสมุทรที่ได้รับการคุ้มครอง


พื้นที่ Hope Spots บางแห่งสร้างขึ้นภายในพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองใดๆ เมื่อสถานะของพื้นที่ Hope Spot ได้รับการอนุมัติโดยสภา Mission Blue ที่ร่วมกับ IUCN (International Union for Conservation of Nature) แล้ว ก็จะดำเนินการพัฒนาแผนอนุรักษ์ต่อไป เริ่มจากประชากรในท้องถิ่น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลของประเทศต่างๆ Palau ซึ่งเป็นหมู่เกาะใน Micronesia ก็จัดเป็น Hope Spot แห่งหนึ่ง

“พื้นที่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ … ตอนนี้ถือเป็นที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ได้รับการจัดการอยู่ เพื่อให้ประชากรท้องถิ่นอาศัยทรัพยากรจากมหาสมุทรเพื่อให้ดำรงชีวิตได้สืบเนื่องไป” Earle กล่าว


การสำรวจโลกใต้ทะเล ณ ดินแดนขั้วโลก
Rolex เป็นผู้สนับสนุนคณะสำรวจ Under The Pole ที่ได้ขยายขอบเขตการสำรวจโลกใต้ทะเลให้กว้างไกลออกไป การสำรวจเริ่มต้นขึ้นในปี 2010 โครงการ Deepsea Under thePole by Rolex ที่จัดทำรายงานด้วยภาพถ่ายและภาพยนตร์เกี่ยวกับโลกใต้ครอบน้ำแข็ง(ice cap) ในทะเลอาร์กติก ใกล้บริเวณขั้วโลกเหนือ ทีมสำรวจยังได้วัดความหนาของพื้นหิมะบนน้ำแข็ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการประเมินปริมาณมวลน้ำแข็งทั้งหมด ภาพที่ได้จากด้านบนและด้านล่างครอบน้ำแข็งเหล่านั้น เป็นดั่งโลกแห่งความฝันที่หายไปด้วยผลจากภาวะโลกร้อน


โครงการ MONACO BLUE
โครงการ Monaco Blue เปิดตัวในปี 2010 ตามพระราชโองการของเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก สมาชิกในโครงการจะมาประชุมกันทุกปีเพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาหรือความท้าทายที่โลกต้องเผชิญในการปกป้องและอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่ง Rolex ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการมาตั้งแต่ปี 2011


กลับไปยังโลกใต้สมุทร
เพื่อต่อยอดภารกิจแรกในการดำดิ่งลงไปยังบริเวณ Mariana Trench ในปี 1960 James Cameron นักสร้างภาพยนตร์และ Rolex Testimonee จึงได้บรรลุปฏิบัติการดำน้ำลึกเพียงลำพังได้สำเร็จในปี2012 โดยยานสำรวจน้ำลึก DEEPSEA CHALLENGER ที่ได้ติดตั้งนาฬิกาดำน้ำรุ่นทดลอง Rolex Deepsea Challenge ไว้ที่แขนกลบังคับของยาน นาฬิกา เรือนนี้สามารถกันน้ำลึกได้ระดับ 12,000 เมตร (39,370 ฟุต) ทนทานต่อแรงดันกว่า 12ตันได้ด้วยคริสตัลคุณภาพเยี่ยม คงสมรรถนะการบอกเวลาได้อย่างสมบูรณ์ และขึ้นสู่ผิวน้ำโดยปราศจากรอยขีดข่วนใดๆ


พันธมิตรที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
Rolex สนับสนุนองค์กรและโครงการต่างๆ ที่มุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนนักสำรวจรุ่นใหม่ นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้นผ่านทางการให้ทุนและเงินอุดหนุนการสนับสนุนเริ่มต้นในปี 2017 โดยบริษัทได้สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการต่างๆ ทุกปี แก่นักสำรวจรุ่นใหม่สูงสุด 5 ท่าน ผ่านทางกองทุน Rolex Explorers Club Grants ซึ่งมี พันธมิตร The Explorers Club ในนิวยอร์ก ก่อตั้งเมื่อปี 1904 ร่วมสนับสนุนด้านเงินทุน และส่งเสริมการสำรวจทางวิทยาศาสตร์


ในภารกิจการสำรวจครั้งล่าสุด Under The Pole III (2017–2021) นักดำน้ำและนักวิทยาศาสตร์ได้ล่องเรือจากทวีปอาร์กติกไปยังแอนตาร์กติกา ผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก เพื่อสำรวจระบบนิเวศและทำการวิจัยด้านชีววิทยาทางทะเลระบบนิเวศขั้วโลก และสรีรวิทยาของนักดำน้ำให้เสร็จสิ้น ทางด้าน French Polynesiaคณะสำรวจกำลังศึกษาระบบนิเวศของปะการังท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยการดำน้ำลึกด้วยเทคนิคขั้นสูงมากเพื่อไปถึงยังเขต Mesophotic ใต้ท้องทะเลที่ระดับความลึกราว 30-150เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังกำลังพัฒนาและทดสอบแคปซูลดำน้ำที่จะช่วยให้คณะสำรวจอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น เพื่อสังเกตความเป็นไปของชีวิตใต้ท้องทะเล การทำงานของคณะสำรวจจะทำให้ได้ข้อมูลสำคัญด้านสุขภาวะของมหาสมุทรต่างๆ


สมาคม NATIONAL GEOGRAPHIC SOCIETY
ในปี 2017 Rolex กระชับสายสัมพันธ์กับสมาคม National Geographic Society ที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันส่งเสริมการสำรวจและอนุรักษ์ธรรมชาติปัจจุบันหน่วยงานทั้งสองแห่งได้ร่วมกันวางแผนการสำรวจแนวใหม่ที่จัดต่อเนื่องกัน 3 โครงการ เพื่อค้นหาคำตอบเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสภาพแวดล้อมอันหฤโหด ความร่วมมือนี้จะใช้ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและเทคโนโลยีอันก้าวล้ำให้เป็นประโยชน์ เพื่อเปิดข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อระบบที่สำคัญยิ่งกับชีวิตต่างๆ ในโลกไม่ว่าจะเป็นไม่ว่าจะเป็นขุนเขาหลายที่ถือเป็นปราการน้ำ ป่าฝนที่ทำหน้าที่เป็นปอด และมหาสมุทรที่ทำหน้าที่เป็นระบบให้ความเย็นแก่โลก


ภารกิจแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือนี้ คือการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2019 คณะนักสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์นำทีมโดย National Geographic และ Tribhuvan University มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อธารน้ำแข็ง Hindu Kush-Himalaya ที่ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับพันล้านที่อาศัยอยู่เบื้องล่าง ข้อมูลนี้เมื่อนำรวมกับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดสรรและความต้องการของน้ำในภูมิภาคจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับดัชนีใหม่ในการติดตามสุขภาวะของระบบน้ำในเทือกเขาหิมาลัย และเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจหาแนวทางปกป้องระบบดังกล่าว


การสืบสานปณิธานเพื่อความยั่งยืนตลอดไป
วิสัยทัศน์และค่านิยมของ Hans Wilsdorf ยังคงมีอิทธิพลต่อทิศทางของบริษัทจนถึงทุกวันนี้ นับตั้งแต่การสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ มาสู่ยุคที่การสำรวจเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติของโลกนี้ให้คงอยู่สืบไป Rolex ตั้งมั่นที่จะสานต่อปณิธานของผู้ก่อตั้งให้คงอยู่


เกือบหนึ่งศตวรรษแล้วที่ Rolex ให้การสนับสนุนเหล่านักสำรวจผู้บุกเบิก เพื่อผลักดันขีดความสามารถและความอุตสาหะของมนุษย์ให้ก้าวไกลไปกว่าเดิม ภายใต้แคมเปญความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน


Perpetual Planet ที่เปิดตัวในปี 2019 Rolex มุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนในระยะยาวแก่นักสำรวจผู้ตั้งมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ในช่วงแรก เจตนารมณ์ดังกล่าวได้สะท้อน ผ่านโครงการ Rolex Awards for Enterprise รวมทั้งความร่วมมือกับ National Geographic Society และ โครงการ Mission Blue ของ Sylvia Earle ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ