fbpx

Eden Agritech: ‘เคลือบ’ อย่างห่วงใย ในผลิตผลทางการเกษตรไทยสู่สากล

เป็นที่รับรู้มาอย่างยาวนาน ว่าผืนแผ่นดินไทยนั้น มีดินที่ค่อนข้างดีต่อการ ‘ทำการเกษตร’ อยู่ไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ชนิดไหนที่ว่าแปลก ที่ว่าใหม่ เมื่อลองได้ปักกล้าลงดินในประเทศ ก็กลายเป็นของที่สามารถหาทานได้อย่างทั่วถึง (ระดับกินทิ้งกินขว้างเมื่อถึงฤดูกาล…) รวมถึงผลิตได้ระดับ ‘พรีเมียม’ ส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมาโดยตลอด เป็นทั้งความภูมิใจ และ โจทย์ที่ท้าทาย ในแง่ของ ‘การขนส่ง’ ไปพร้อมๆ กัน เมื่ออายุการเก็บรักษาผักผลไม้เหล่านี้ มักจะไม่ได้ยืนยาวมากนัก ทำให้ตัวเลือกในการส่งออกมีอยู่อย่างจำกัด หลายครั้ง ต้องใช้เครื่องบิน ที่นอกจากจะแพงในแง่ต้นทุนแล้ว ยังไปได้ในปริมาณที่ไม่มาก หลายครั้ง เทียบกำไรหักลบแล้วอาจไม่คุ้ม หรือถ้าจะใช้สารเคมีเพื่อให้อยู่ได้นานขึ้น ก็อาจจะติดปัญหาด้านมาตรฐานการนำเข้าของภูมิภาคที่มีกำแพงที่สูงลิบ ถ้าใครสามารถแก้ไขจุดนี้ได้ ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่แวดวงเกษตรกรรมของไทยอยู่ไม่น้อย

ในบทสัมภาษณ์นี้ แม้จะไม่มีผลไม้เป็นเครื่องเคียง แต่การพูดคุยกับ จ็อบ นรภัทร เผ่านิ่มมงคล กรรมการผู้จัดการ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท Eden Agritech จำกัด ผู้ผลิต ‘สารเคลือบธรรมชาติ’ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนาน นวัตกรรมที่ใหม่และกำลังเป็นที่กล่าวถึง ก็ออกรสชาติสดชื่นอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เพียงมีมุมมองที่น่าสนใจ แต่ยังรวมไปถึงวิสัยทัศน์ที่เขามีต่อโลกแห่งการเกษตร แวดวง Startup ในภาพรวม และ ‘เป้าหมาย’ ที่เขาอยากจะผลักดันบริษัทไปให้ถึง ที่ไม่ได้จบแค่เพียงภูมิภาคเพื่อนบ้าน แต่เป็น ‘มาตรฐานอุตสาหกรรม’ ที่ต้องเรียกว่า ทะเยอทะยานไม่ใช่เล่น

คุณพร้อมจะรับชมบทสัมภาษณ์ที่สดใหม่เหล่านี้หรือไม่? ถ้าคุณพร้อม เราขอเชิญ

จากโปรเจ็กต์ Pilot สู่การต่อยอดเพื่อการใช้งานจริง

หลายครั้งทีเดียว ที่แนวคิดในการก่อตั้งบริษัท Startup หนึ่งๆ นั้น มักจะเกิดขึ้นจากการมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ ไม่ว่าจากไอเดียที่ผ่านเข้ามา หรือการพิสูจน์จากเวทีประกวด ซึ่ง Eden Agritech นั้น ทางคุณจ็อบได้กล่าวถึงที่มาที่ไปในการต่อตั้งบริษัท จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เหล่านั้น

“การเริ่มต้นของ Eden Agritech มาจากการที่ผมกับเพื่อนๆ ในทีมที่เรียนปริญญาโท ชนะการประกวดโปรเจกต์ Startup ครั้งหนึ่ง แล้วมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดผลงานจากการวิจัยในด้าน Agritech ที่ใช้ในการประกวดนั้น”

การกำเนิดของ Startup ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคสมัยปัจจุบัน แต่การที่คนรุ่นใหม่มาจับงานสาย Agritech และลงลึกจนถึงระดับงานวิจัย อาจเป็นสิ่งที่หายากอยู่ไม่น้อย

“มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ Startup ในสาย FinTech จะดังมาก และมันประจวบเหมาะกับการที่มีสาย Agritech หรือเทคโนโลยีในสายการเกษตรเข้ามาพอดี มองว่าน่าสนใจ เราจึงเลือกที่จะลงลึกจับตลาดในด้านนี้ แม้ในภายหลัง เราจะพบว่า จริงๆ สิ่งที่เราทำจะเป็น ‘FoodTech’ และ Agritech เป็นเพียงส่วนย่อยที่อยู่ในนั้น ในภาพรวม เราก็ทำงานภายใต้การเป็น FoodTech เช่นเดิม”

แต่อดสงสัยไม่ได้ ว่าเพราะเหตุใด คุณจ็อบกับทีม จึงตัดสินใจที่จะมาจับงานสาย Agritech ทั้งที่ Startup สายอื่นๆ นั้น มีความเป็นไปได้ และมีตลาดรองรับที่มากกว่า เป็นที่รู้จักมากกว่า และเราก็ได้รับฟังเหตุผลนั้นว่า

“จริงๆ ถ้าว่ากันตามตรง ในฐานะผู้ประกอบการ แน่นอน เราอาจจะต้องการทำบริษัทที่สามารถทำกำไรให้กับเรา แต่ถ้ามองในภาพกว้าง ผมคิดว่ามันจะดียิ่งกว่า ถ้าธุรกิจนั้นๆ สามารถสร้างผลกำไรให้กับสังคม และประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งถ้าลองมองในตลาดของอาหาร เราจะพบว่า ในตลาดเนื้อสัตว์แช่แข็งส่งออก มีกระบวนการเก็บรักษามากมาย อยากจะทานแบบไหนก็สามารถเลือกซื้อได้ แต่กับส่วนของผักผลไม้ มันกลับขาดไป ทั้งที่ส่วนนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของตลาดอาหาร และผมเชื่อว่า นี่เป็นปัญหาที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงประเทศไทย มันเป็นปัญหาของทั้งโลก ที่กำลังรอคอยการแก้ไข และเราก็อยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานั้นๆ”

ของใหม่ ที่ต้องหา ‘ผู้ใช้’ ที่กล้าพอ

ด้วยความที่เทคโนโลยีของ Eden Agritech จัดได้ว่าเป็นของที่ ‘ใหม่’ มากๆ สำหรับแวดวงอาหาร โดยเฉพาะสารที่ใช้สำหรับรักษาผลผลิตทางการเกษตรให้เก็บเอาไว้ได้นาน มันย่อมมีอุปสรรคที่ท้าทายเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ และอุปสรรคแรกที่สำคัญ คือการทำความเข้าใจกับภาครัฐ ในจุดยืนและฟังก์ชันของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้

“ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรนะครับ เพราะนอกเหนือจากมาตรฐานอาหารของภูมิภาคต่างๆ แล้วนั้น ทางองค์การอาหารและยาก็เป็นอีกหน่วยงานที่เราพยายามอย่างยิ่งที่จะไปสร้างความเข้าใจ ซึ่งในช่วงแรก ด้วยความที่เราเป็นของใหม่ เขาก็ไม่รู้ว่าจะจัดผลิตภัณฑ์ของเราไว้ในหมวดไหน และจัดเราเข้าไปอยู่ในหมวด ‘วัตถุเจือปนอาหาร’ ซึ่งก็เกือบจะเข้าข่ายยาและสารเคมีเข้าไปแล้ว เราจึงพยายามทำการพูดคุยกับทางภาครัฐมาตลอด และเพิ่งได้ อย. มาในช่วงพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง”

เมื่อผ่านอุปสรรคด่านแรกของการกำหนดมาตรฐานจากภาครัฐ จุดต่อไปที่ Eden Agritech ต้องเผชิญ คือการค้นหา ‘ผู้ใช้งาน’ ที่กล้า และพร้อมที่จะลอง ‘นวัตกรรมใหม่’ ชิ้นนี้ ซึ่งก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน เพราะด้วยความที่เป็นของใหม่ ยังไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน มันยากที่จะจินตนาการได้ว่า ผลลัพธ์สุดท้าย จะออกมาเป็นเช่นใด

“ในกลุ่มผู้ใช้งาน เราค่อนข้างชัดเจนในตัวผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมายหลัก ยากที่การหา ‘ผู้เริ่มใช้งานจริง’ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะลงไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก เราจึงต้องค้นหากลุ่มที่ใหญ่มากพอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งจะได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเราอย่างเห็นจริงมากกว่า อย่างเช่น ผู้ส่งออกมะม่วง ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษา และทำให้เขาสามารถส่งออกไปทางเรือในปริมาณที่มากขึ้น แทนที่จะส่งไปทางเครื่องบิน ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น และประหยัดต้นทุนได้มาก หรือการส่งหน่อไม้ฝรั่งไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ได้ ซึ่งเมื่อก่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และมันช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้”

COVID-19 กับการสวิงของ ‘วิกฤติ’ กับ ‘โอกาส’ ของ Eden Agritech

ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา สภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างความปั่นป่วนให้กับทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมเหล่านี้ออกไปได้ สำหรับ Eden Agritech ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ที่น่าจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เราอดสงสัยไม่ได้ ว่าสำหรับพวกเขา มันคือ ‘วิกฤติ’ หรือ ‘โอกาส’ ที่เข้ามา และคุณจ็อบ ก็มองว่า มันคือทริปที่ ‘สวิง’ อยู่ไม่น้อย

“ต้องบอกว่าสำหรับ Eden Agritech วิกฤติ COVID-19 มันเป็นจังหวะที่เหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกา เลยครับ ในช่วงแรกๆ ต้องบอกว่าดีมาก เพราะสำหรับผู้ประกอบการ แม้ว่าการเดินเรือจะเป็นปัญหา และต้องใช้เครื่องบิน แต่การถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นานขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ หรือท่าเรือบางแห่งที่เปิดรับ ก็ถือว่าเป็นจุดที่ดี มันทำให้ชื่อและผลิตภัณฑ์ของ Eden Agritech ได้รับการยอมรับในด้านชื่อเสียง และการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น่าจะประมาณ 5.3 เท่าจากปกติ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก”

แต่เมื่อมีโอกาส ก็ย่อมมี ‘วิกฤติ’ และคุณจ็อบก็ไม่ปฏิเสธว่า บริษัทและทีมได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นเดียวกัน

“ในแง่หนึ่ง ผู้ใช้งานยอมรับผลิตภัณฑ์ของเรา มีการใช้งานเพิ่มขึ้น แต่ในด้านการขนส่งที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทั้งกรณีของเครื่องบินและการจองตู้คอนเทนเนอร์เรือ เรียกง่ายๆ คือส่งออกไม่ได้ มันเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ผมเชื่อว่าหลังวิกฤติ COVID-19 ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะการยอมรับในผลิตภัณฑ์มันเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อทุกอย่างเป็นปกติ มันจะส่งผลดีได้ในที่สุด”

Startup ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็น ‘คู่หู’ ที่พร้อมจะเดินเคียงกัน

นอกเหนือจากอุปสรรคที่บอกเล่าไปก่อนหน้านั้นแล้ว คุณจ็อบยังได้กล่าวถึงสิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการเติบโตของบริษัท และอาจจะหมายรวมถึง Startup โดยภาพรวม

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยบอสตัน ที่ MIT และพบว่า การเกิด Startup ในสหรัฐอเมริกานั้น จะมีปัจจัยสามอย่างที่เกี่ยวข้องกัน คือหนึ่งตัวของผู้ประกอบการ สองบริษัทใหญ่ที่พร้อมจะรับเทคโนโลยีไปใช้งาน และสามคือภาครัฐที่จะสร้างบรรยากาศในการเติบโต คือไม่อยากให้มองว่า Startup จะไปแข่งหรือแย่งตลาดอะไรกับบริษัทใหญ่ เราจะโตของเราอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เราพร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับบริษัทใหญ่ ให้ก้าวไปพร้อมกัน”

และเมื่อย้อนกลับมาที่เมืองไทย คิดว่ามีสิ่งใดที่ภาครัฐสามารถทำให้ได้ ในการสร้างบรรยากาศในการเกิด Startup ในอนาคต คุณจ็อบก็ให้คำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย

“ผมมองว่า ถ้าภาครัฐอยากจะให้ Startup เติบโตจริงๆ กฎระเบียบต่างๆ ควรเอื้อต่อการเกิดและเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการมากกว่านี้ คือถ้าเปรียบเทียบกับบทบาทคุณครู แทนที่จะเป็นครูระเบียบที่คอยบอกแค่ว่าแบบนี้ผิด แบบนั้นผิด ผมอยากเห็น ‘ครูแนะแนว’ ที่บอกว่า ตรงนั้นผิดเพราะอะไร ไปแก้ไขมา ควรทำอย่างไร ซึ่งถ้าเรามีครูแนะแนวมากขึ้น Startup จะเกิดขึ้นได้เร็วมาก เพราะบรรยากาศในการเกิดมันเอื้อ แต่ในปัจจุบัน ผมคุยกับเพื่อนๆ ในแวดวง Startup พบว่า มันเป็นปัญหาสากลที่มีร่วมกันนะ คือหลายครั้งเราถูกบอกมาว่าผิด แต่ไม่รู้ว่าผิดเพราะอะไร”

ก่อนที่คุณจ็อบจะปิดสรุปสามอย่างสำหรับการเติบโตของ Startup ในประเทศไทยที่ชัดเจน และเรียบง่ายอย่างยิ่ง

“ในภาคผู้ประกอบการ เรามีนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ขอแค่เพียงภาครัฐมีนโยบายที่ดี รวมถึงภาคเอกชนและบริษัทมองด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง ผมเชื่อว่า Startup ในเมืองไทยจะเติบโตได้อย่างมากเลยทีเดียวครับ”

Globalization: เมื่อทุกอย่างไร้พรมแดน และทุกคนพร้อมเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ในฐานะที่ Eden Agritech เป็นบริษัท Startup ที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตร การส่งออก และการติดต่อค้าขายในระดับสากล เราจึงเกิดเป็นคำถามที่ตามมาว่า หลังวิกฤติ COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว โลกทัศน์ในมุมมองของคุณจ็อบ ที่มีต่อทั้ง Startup และการดำเนินธุรกิจจะเป็นอย่างไร และเราควรจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เราได้รับฟัง ก็ดูน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ไม่น้อย

“ในช่วงแรกเริ่ม เราอาจจะติดภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ ว่า ถ้ามาจากภูมิภาคนี้ เชื่อถือได้’ คุณจ็อบเกริ่นเข้าเรื่อง ‘แต่กระแส Globalization โดยเฉพาะหลัง COVID-19 มันทำให้คนทั้งโลกมองทุกเรื่อง ‘ในแบบเดียวกัน’ และมีการรับรู้ร่วมกัน เราจะไม่ติดภาพของ ‘ธง’ ที่ใดอีกต่อไป แต่เราจะมองที่ ‘ความเป็นจริง’ ในแง่ของการใช้งานในระดับสากล ว่ามันให้ประโยชน์ หรือมีคุณสมบัติที่ดีพอหรือไม่”

และเหนือสิ่งอื่นใด ความเป็น Globalization เหล่านี้ คือสิ่งที่คุณจ็อบ เน้นย้ำเสมอในการดำเนินงานของบริษัท ทั้งวันนี้ และที่จะก้าวต่อไปในวันข้างหน้า

“ผมมองว่า หลังจากนี้ คนจะเชื่อใจกันมากขึ้น พิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริงมากขึ้น และเราควรจะมองตัวเองเป็น ‘Global Citizen’ หรือ ‘ประชากรโลก’ ที่ไม่ได้คิดแค่ในระดับประเทศ แต่เป็นระดับสากล ทั้งการสื่อสาร วัฒนธรรมองค์กร มาตรฐานปฏิบัติการ จนถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะต้องเป็นระดับสากล เพราะเราตั้งใจอย่างมาก ว่าเราจะต้องไปให้ถึงระดับ ‘มาตรฐานอุตสาหกรรมระดับโลก”

Eden Agritech กับอนาคตแห่งความห่วงใยในผลิตผลทางการเกษตรของโลกอนาคต

นับจากวันที่ก่อตั้ง ที่เริ่มต้นด้วยการขยายจากผลการทดลอง และเวทีประกวด Startup สู่ผลิตภัณฑ์ถนอมอาหารที่ผู้ประกอบการยอมรับ และถูกใช้ในระดับประเทศอย่างแพร่หลาย เราอดไม่ได้ ที่จะถามถึงทิศทางต่อไปของ Eden Agritech ว่าจะครอบคลุมไปถึงจุดไหน ตั้งเป้าสูงสุดไว้ที่จุดใด และฝันของคุณจ็อบกับ ‘สวนอีเดน’ แห่งนี้ ก็ไม่นับว่าเล็กเลย

“อย่างแรกคือการขยายในส่วนของการใช้งานและตลาด ซึ่งเราก็เริ่มมีการเจรจากับบริษัทต่างประเทศในโซนเอเชียตะวันออกและยุโรปตะวันตกทั้งหมด 11 บริษัท ซึ่งเรายังไม่แน่ใจว่าจะปิดดีลได้ทั้งหมดเท่าใด แต่ที่แน่ใจได้คือ ถ้าดีลนี้สำเร็จ จะช่วยให้เกิดการกระจายการใช้งานของผลิตภัณฑ์ของเราในภูมิภาคนี้ได้อย่างมาก แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาคือปลายทางที่เราอยากจะไปให้ถึง แต่เอาเป็นว่าเราทำฐานให้มั่นไว้ก่อนจะดีกว่า” คุณจ็อบกล่าวถึงแผนงานในขั้นถัดไป

“อย่างที่สอง คือการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการให้บริการลูกค้าในแบบครบวงจรเป็น Solutions ในอนาคต เราอาจจะมีเสริมการบริการอื่นๆ รวมถึงการใช้งานที่หลากหลายนอกเหนือไปจากผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเรากำลังมองในความเป็นไปได้จุดนี้อยู่เช่นกัน”

ดูเป็นฝันที่ใหญ่มากๆ สำหรับจุดเริ่มต้นที่มาจากกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งห้าคน แต่สำหรับ คุณจ็อบ – นรภัทร เผ่านิ่มมงคล นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น

“ผมฝันไว้นะครับ ว่า Eden Agritech จะเป็นบริษัทไทย บริษัทของ ‘คนเอเชีย’ อีกหนึ่งบริษัท ที่ได้การยอมรับในระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม ถูกใช้แพร่หลาย เป็นที่กล่าวถึงกว้างขวางในระดับโลก เราอาจไม่ใช่บริษัทใหญ่ ยิ่งไปเทียบกับ 11 บริษัทที่เราไปดีลด้วย แต่ผมเชื่อว่าเราจะทำได้นะครับ และนี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ถ้าสำเร็จ ผมจะมองกลับมาด้วยความภาคภูมิใจ และเมื่อวันนั้นมาถึง การได้กลับมาพูดคุยกับ GM Live อีกครั้งในวันนั้น ผมจะรู้สึกดีอย่างมากเลยทีเดียวครับ”

เป็นคำสัญญาที่เรามีให้แก่กัน และเมื่อพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ของ Eden Agritech คือผลิตภัณฑ์ ‘ถนอมอาหาร’ ให้อยู่ได้อย่างยาวนาน คงทนแล้วล่ะก็ เราก็เชื่อ ว่าวันนั้นจะมาถึง และการสนทนา จะต้องสดใหม่ ไม่ต่างอะไรกับผักผลไม้ที่ผ่านการ ‘เคลือบ’ ด้วยสารธรรมชาติของคนไทยนี้อย่างแน่นอน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ