หรือแพทย์อาจรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายที่ 3 ของโลกได้สำเร็จ และอาจจะมีรายที่ 4-5 ตามมาเร็วๆ นี้
ทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ได้รายงานผลการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสำเร็จในผู้ป่วยรายที่ 3 ของของโลก ในนาม ‘ผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟ’ และยังบอกด้วยว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรักษาจนหายรายที่ 4 และ 5 ตามมาเร็วๆ นี้
Reasons to Read
- ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอีกสองคน (ที่คาดว่าจะเป็นผู้ป่วยรายที่ 4 และ 5 ของโลกที่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้) ยังคงใช้ยาต้านไวรัสหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเหมือนกับผู้ป่วย 3 รายแรก หากผู้ป่วย 2 รายนี้ตอบสนองในลักษณะเดียวกับผู้ป่วยอีกสามคน คือการกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพวกเขาหยุดใช้ยาต้านไวรัส อาจทำให้พูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่า “โรคเอดส์รักษาได้”
การรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสำเร็จในผู้ป่วยรายแรกของโลกได้รับการยืนยันหลังจากผู้ป่วยในนาม ‘ผู้ป่วยเบอร์ลิน’ เข้ารับการรักษาที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ระหว่างปี 2550-2551 โดยใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับจากผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32
หลังจากนั้นเป็นเวลานานถึง 12 ปี แวดวงการแพทย์ต้องฮือฮาอีกครั้ง เมื่อ Ravindra Gupta ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ แห่ง University College London เปิดเผยผลการรักษาด้วยวิธีเดียวกันในผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรายหนึ่งในนาม ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จตั้งแต่ปี 2560 จากนั้นผู้ป่วยได้หยุดใช้ยาต้านไวรัสจนถึงปัจจุบัน (มีนาคม 2562) และตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกายอีก
เพียง 2 วันหลังการประกาศความสำเร็จครั้งที่ 2 ในการเอาชนะเชื้อร้าย ทีมนักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รายงานผลการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสำเร็จในผู้ป่วยรายที่ 3 ของของโลก ในนาม ‘ผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟ’ ในที่ประชุม Retroviruses and Opportunistic Infections ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 และยังบอกอีกด้วยว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรักษาจนหายรายที่ 4 และ 5 ตามมาเร็วๆ นี้
Annemarie Wensing นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ในเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกชนิดเดียวกับผู้ป่วยอีกสองรายแรก ตอนนี้ได้หยุดใช้ยาต้านไวรัสเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว และผลจากการตัดชิ้นเนื้อจากลำไส้และต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟไปตรวจก็ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี
ทั้งนี้ Annemarie บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะทราบได้อย่างแน่ชัดว่าผู้ป่วยรายที่ 3 นี้ ‘หายขาด’ จากเชื้อเอชไอวีหรือไม่ รวมถึงผู้ป่วย 2 รายแรกก่อนหน้านี้หรือใครก็ตามที่ได้รับการรักษา เพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการที่ตรวจไม่พบเชื้อนั้นอาจจะเป็นเพราะเชื้ออยู่ในสถานะที่ไม่สามารถตรวจจับได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอีกสองคน (ที่คาดว่าจะเป็นผู้ป่วยรายที่ 4 และ 5 ของโลกที่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้) ยังคงใช้ยาต้านไวรัสหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเหมือนกับผู้ป่วย 3 รายแรก หากผู้ป่วย 2 รายนี้ตอบสนองในลักษณะเดียวกับผู้ป่วยอีกสามคน คือการกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพวกเขาหยุดใช้ยาต้านไวรัส อาจทำให้พูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่า “โรคเอดส์รักษาได้” ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับวงการแพทย์และมนุษยชาติ