รู้หรือไม่?สัตว์บางชนิด ตัวเมียท้องได้โดยไม่ง้อตัวผู้?
ท้องไม่มีพ่อ! ไม่ได้หมายถึงไม่มีใครรับผิดชอบลูกในท้อง แต่ในกรณีนี้คือ ไม่มีตัวผู้ตัวไหนมาผสมพันธุ์กับงูตัวนี้ อ้าว!! แล้วท้องได้ไง??
เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมามีเรื่องแปลกเกิดขึ้นในอควาเรียมนิวอิงแลนด์ ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่ประจำอควาเรียมดังกล่าวพบว่างูอนาคอนดาเขียวเพศเมียวัยแปดปีที่ประคบประหงมเลี้ยงดูมาตั้งแต่เป็นลูกงูนั้นได้ตั้งท้อง
งูท้องทั่วไปก็คงไม่ต้องเป็นข่าวมาถึงไทย แต่ที่แปลกก็คือนางท้องไม่มีพ่อ ซึ่งไม่ได้หมายถึงงูตัวผู้ไม่รับผิดชอบลูกในท้องแต่อย่างใด แต่ที่ท้องไม่มีพ่อก็เพราะไม่มีตัวผู้ตัวไหนมาผสมพันธุ์กับงูตัวนี้เลย พูดง่ายๆ ก็คือนางท้องด้วยตัวของนางเอง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ด้วยหรือ?
คำตอบคือ…
ได้!! แต่เกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งการสืบพันธู์ลักษณะนี้เรียกว่า พาร์ธีโนเจเนซิส (Parthenogenesis) หรือการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอคุ้นหูคำๆ นี้จากวิชาชีววิทยามาบ้าง มันก็คือการตั้งท้องที่ตัวเมียสามารถตั้งท้องได้โดยไม่จำเป็นต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้นั่นเอง
การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยทั่วไปจะพบในสัตว์ที่มีร่างกายไม่ซับซ้อน อย่างแมลงบางชนิด เช่น ตั๊กแตนกิ่งไม้ เพลี้ย ไรน้ำ ผึ้ง มด ต่อ แตน ฯลฯ และสัตว์ที่มีความสามารถในการงอกใหม่ เช่น พลานาเรีย ดาวทะเล ฟองน้ำ ไฮดรา ฯลฯ
ความแปลกอีกอย่างคือในสภาวะปกติไข่ของสัตว์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะฟักออกมาเป็นตัวเมียเสมอ แต่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต เช่น แห้งแล้ง หนาวเย็น หรือขาดแคลนอาหาร ไข่ที่ฟักออกมาก็จะเป็นได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เพื่อที่จะได้ผสมพันธุ์แล้วออกลูกออกหลานขยายพันธุ์กันต่อไป
แม้ว่าการสืบพันธุ์พิศวงที่เกิดขึ้นกับงูตัวนี้จะถือเป็นเรื่องแปลก แต่เมื่อปี 2014 ก็มีบันทึกระบุว่ามีอนาคอนดาเพศเมียอายุน้อยที่สุดในสวนสัตว์อังกฤษตัวหนึ่งก็ตั้งท้องแบบไม่มีการผสมพันธุ์กับตัวผู้เช่นกัน เจ้าหน้าที่จึงสันนิษฐานว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับงูวัยแปดปีตัวนี้ก็น่าจะเป็นกรณีเดียวกัน
แต่เพื่อความชัวร์ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของงูตัวนี้และลูกทั้งสองตัวของมันไปตรวจสอบ ซึ่งพบว่าดีเอ็นเอของลูกงูนั้นเลียนแบบแม่มาเป๊ะๆ แต่ก็ยังต้องมีการตรวจสอบในอีกหลายๆ ขั้นตอน และอาจจะต้องตรวจดีเอ็นเอของอนาคอนดาตัวผู้ตัวทุกตัวในอควาเรียมด้วย