fbpx

เมื่อ ‘ท่อตัน-ปั้มแตก’ จุดประกายสตาร์ทอัพ ‘Fixzy’ แอปฯ หาช่างซ่อมรายแรกของไทย

ในวันที่ท่อตัน น้ำไม่ไหล ไฟรั่ว ปั๊มน้ำไม่ทำงาน คุณอาจปวดหัวกับการเจอช่างที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือวุ่นวายกับการขอเบอร์ช่างจากเพื่อนบ้าน 

ใครจะรู้…ว่าช่างที่แนะนำกันมาปากต่อปากจะไว้ใจได้แค่ไหนกัน เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่า ช่างที่เปิดประตูต้อนรับให้เข้ามาซ่อมบ้าน อาจเป็นคนเดียวกับมิจฉาชีพ ประเภทรับงานทั้งที่ไม่ถนัด หรือทิ้งงานไว้กลางทางกับปัญหาที่ยังคาราคาซัง! 

คำติดหูอย่าง “ช่างจอมหลอกลวงในตำนาน” จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจสุดคลาสสิคของคนที่มองหาช่างซ่อมบ้าน 

แต่สำหรับ รัชวุฒิ พิชยาพันธ์ อดีตโปรแกรมเมอร์ กลับไม่ได้มองปัญหานี้แบบผ่านเลยไป และเช่นเดียวกับคนที่เคยประสบปัญหาแบบเดียวกัน เขากลับหยิบยก Pain Point เหล่านี้มาขบคิดและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Fixzy’ (ฟิกซี่) แอปพลิเคชันค้นหาช่างซ่อม ที่ปัจจุบันกลายเป็นแอปฯ สุดเจ๋งคว้ารางวัล Winner สาขา Best Life Helper จาก ASEAN Rice Bowl Startup Awards 2019 และได้รับความไว้วางใจจากคนเมืองยุคใหม่ ที่จะเปลี่ยนเรื่องการซ่อมบ้านที่เคยกวนใจ เป็นเรื่องง่ายและอุ่นใจมากขึ้น

จากไอเดียสู่การลงมือทำ ไม่ง่ายอย่างทื่คิด 

อดีตโปรแกรมเมอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ เจ้าของผับ เจ้าของนิตยสาร และนักพัฒนาแอปพลิเคชัน อย่างรัชวุฒิกระโดดเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพประเภท Prop Tech ด้วยการคิดค้นโซลูชั่น ‘Fixzy’ แอปพลิเคชันให้บริการค้นหาช่างซ่อมบ้านรายแรกของไทย โดยเน้นจุดยืนการบริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้สโลแกน  We can fix it. Easy! 

“วันหนึ่งผมกับเพื่อนคุยกันว่า ทำไมการหาช่างซ่อมบ้านเป็นปัญหาที่หลายคนหนักใจ อย่างบ้านเพื่อนเจอท่อตันต้องใช้เวลาหาช่างถึงสองวัน เราเลยได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยแก้ปัญหาให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายขึ้น” 

“จากนั้นเราทำการสำรวจตลาดและความต้องการของผู้บริโภคนานกว่า 3 เดือน ควบคู่กับการศึกษาโมเดลธุรกิจจากบริษัทแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย ก่อนจะเปิดตัวแอปพลิเคชัน Fixzy ทีแรกผมคิดว่าการจับคู่ลูกค้ากับช่างไม่น่าจะยากตรงไหน แต่พอแอปฯ เปิดตัวได้ไม่นานเราเจอปัญหาเยอะมากครับ” รัชวุฒิ ย้อนเล่าถึงอุปสรรคยุคก่อตั้งธุรกิจ ในวันที่แอปฯ ตามหาช่างซ่อมบ้านยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย 

“ลูกค้าโทร.สอบถามเยอะมาก เพราะเขากังวลหลายอย่าง เช่น ช่างจะขโมยของมั้ย? จะทิ้งงานหรือเปล่า? ช่างมีคุณภาพมั้ย? ช่วงแรกผมก็ท้อเหมือนกันครับ แต่สุดท้ายเราก็รวบรวมความกังวลของลูกค้ามาใช้ปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการให้ที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างทีมงานสำหรับคัดกรองช่างขึ้นมาเพื่อช่วยสกรีนคนให้ลูกค้า” 

มากกว่าการจับคู่ช่าง VS ลูกค้า คือ การอบรมฝีมือแรงงาน

จากการรับฟังความกังวลของลูกค้า Fixzy จึงนำมาพัฒนาเป็นระบบตรวจสอบช่างทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โดยพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการรวบรวมสถิติ จัดอันดับความนิยมของช่าง และการให้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันระหว่างช่างซ่อมด้วยกันเอง นำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงาน ในทางกลับกันเป็นการเรียกอำนาจการต่อรองมาสู่ผู้ใช้บริการด้วย เพราะในอดีตการเรียกช่างมาซ่อมอุปกรณ์ที่บ้าน ความรู้สึกจะเหมือนผู้ใช้บริการต้องง้อช่าง ช่างทำงานดี-ไม่ดีอย่างไรก็ต้องรับสภาพไป  

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเพิ่มระบบการให้คะแนนความนิยมช่าง เพื่อมาสร้างความสบายใจให้กับผู้ใช้บริการก็ตามที แต่ทว่าช่วง 3-4 ปีแรกก็ยังไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับ Fixzy

“เราต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เน้นค้นหาช่างที่มีทักษะและฝีมือตรงกับความต้องการของลูกค้า เรามีกระบวนการคัดกรองผ่านการเช็คประวัติและความถนัดของช่างแต่ละคน แล้วเราก็พบว่า ปัญหาของเมืองไทยอยู่ที่ช่างฝีมือตัวจริงมีน้อยมาก” 

“ตอนนั้น Fixzy เลยตัดสินใจเปิดศูนย์อบรมงานบริการและงานซ่อมบำรุง เพื่อมาพัฒนาความรู้และทักษะในการทำงาน เน้นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยทุกประเภท ตั้งแต่บ้าน หอพัก คอนโด ออฟฟิศ จนถึงโรงแรม อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ ร้อยละ 80 ของลูกค้าเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับบ้านมักจะปล่อยทิ้งไว้ เพราะกลัวว่าจ้างช่างซ่อมแล้วจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น”

ทุกวันนี้ Fixzy มีช่างมืออาชีพในระบบคัดกรองกว่า 14,000 ทีม ให้บริการทั้งลูกค้ากลุ่ม B2C และ B2B โดยทีมช่างที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามีมากถึง 5,000-6,000 ทีม คิดเป็นอัตราเฉลี่ยวันละ 100-200 งาน หรือราว 6,000 งานต่อเดือน 

เรียกว่าถือเป็นปริมาณที่น่าพึงพอใจเลยทีเดียว แต่ตัวเลขเหล่านี้ต้องเปลี่ยนไป เมื่อมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา (2020) ทำให้อัตราการใช้บริการลดลง เหลือประมาณ 4,000 งานต่อเดือน

Fixzy ซ่อมได้! ในชั่วโมงที่ต้องฝ่าคลื่นลูกใหญ่ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Fixzy เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยไม่ขึ้นกับกระแสความนิยมหรือแม้แต่เศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าจะยุคไหนเมื่อบ้านพังก็ต้องซ่อมแซมเป็นธรรมดา แต่เมื่อโควิด-19 สร้างแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจแทบจะทุกวงการไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่คือทั้งโลก Fixzy เองก็หนีไม่พ้นคลื่นลูกใหญ่นี้เช่นกัน ในชั่วโมงที่ลูกค้าไม่วางใจให้ช่างเข้าบ้าน เพราะกลัวความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ Fixzy ต้องปรับกระบวนรบใหม่อีกครั้ง

“จากที่บิสิเนสโมเดลปี 2020 เราเน้นการเข้าถึง B2B มากขึ้น (องค์กร, โครงการคอนโดมิเนียม, บ้านจัดสรร) แต่ช่วงนั้นคือลูกค้ากลุ่ม B2B หายไปเกือบหมดเลย เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากเช่นกัน” 

“เราต้องหันกลับมาโฟกัสกลุ่ม B2C มากขึ้น เน้นการทำโปรโมชั่นและปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าในช่วงโควิด-19 โดยเน้นความปลอดภัยในสุขภาพของลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าทีมช่างและแม่บ้านที่ส่งไปให้บริการแก่ลูกค้า มีสุขภาพแข็งแรงและผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามมาตรการของภาครัฐ”  

ตามคลื่นระลอกแรกเมื่อผู้คน Work from Home ทำให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น บริการของ Fixzy จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้ากลุ่ม B2C มากขึ้นเช่นกัน ถึงอย่างนั้นแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปี ที่เน้นรูปแบบการให้บริการซ่อมบำรุง ครอบคลุมทั้งระบบน้ำ ระบบไฟ โครงสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ล้างแอร์ ล้างเครื่องซักผ้า ขยายไลน์ไปมาการแก้ไขและแบ็คอัพคอมพิวเตอร์ Mac ที่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ไม่เพียงแค่นั้น Fixzy ยังเตรียมขยายธุรกิจให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย โดยนำร่องแล้วใน จังหวัดหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภาค อย่างเชียงใหม่และขอนแก่น 

“ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะคนต่างจังหวัดยังคุ้นเคยกับการโทร.คุยกับช่างซ่อมมากกว่าการใช้แอปพลิเคชัน เราก็ต้องทำความเข้าใจ ให้ความรู้ และสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ Fixzy”  

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ในวิกฤตยังเป็นโอกาส ให้รัชวุฒิและทีมงานเดินหน้าพัฒนาบริการของ Fixzy อีกครั้ง เมื่อมาถึงการโหมกระหน่ำของโควิดรอบ ปี2021 เพียงแต่ครั้งนี้เขาเห็นช่องว่างในการเปลี่ยนแปลงจาก ‘การแก้-ซ่อม’ มาสู่ ‘การป้องกัน’ 

จากการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะโปรแกรมเมอร์มา ยกระดับแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย จนถึงแก้ปัญหา งบบานปลาย ด้วยระบบแจ้งเตือนการซ่อมบำรุง ที่ให้ความรู้สึก ราวกับการเตือนภัยอาชญากรรมในหนังเรื่อง ‘Minority Report’

“รูปแบบการให้บริการใหม่ที่เรียกว่า ‘Preventive Technology’ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการป้องกันก่อนเกิดปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่มักจะซ่อมบ้านตอนที่มีปัญหาหรืออุปกรณ์ชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว ซึ่งบางปัญหาอาจลุกลามบานปลายกว่าที่คิด ทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงมากขึ้น เราจึงกำลังพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับจุดที่มีปัญหาของบ้าน เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ การคำนวนข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยให้ทราบถึงอายุการใช้งาน ระยะเวลาที่ควรซ่อมบำรุง แม้แต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ด้วย”

คงต้องติดตามก้าวต่อไปของแอปพลิเคชันรู้ใจคนรักบ้านอย่าง ‘Fixzy’ ว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงไร ในช่วงเวลาที่คนไทยยังคุ้นเคยกับการตามหา “ช่างข้างบ้าน” ซึ่งจุดนี้ รัชวุฒิ พร้อมที่จะเผชิญกับคลื่นลูกต่อๆ ไปในอนาคต พร้อมกลับกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า 

“การจะเป็นนักธุรกิจที่ดีต้องอย่ายึดติดกับความสบาย และอย่ากลัวความยากลำบาก” 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ