How to Survive Working from Home During Corona Virus Quarantine With Sense, Style & Survival Skills
เรื่อง : Clarence Chuan
– ในระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา เราเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ผ่านการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการกักกันเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine) อยู่กับที่พักอาศัย และการทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home (WFH) เพื่อหลีกเลี่ยงการรับเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่น หลายคนอาจเกิดอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ และสิ้นหวังในการใช้ชีวิตให้พ้นผ่านไปในแต่ละวัน ทว่าในช่วงเวลาแห่งวิกฤตินี้กลับกลายเป็นโอกาสที่หลายคนจะได้ค้นพบทักษะใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต เมื่อต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถอาศัยไหว้วานผู้อื่นทำภารกิจบางอย่างได้เหมือนเช่นในสภาวการณ์ปกติ จนกระทั่งค้นพบแพสชั่นใหม่ๆ จากงานอดิเรก (แก้เซ็ง) จนบางคนอาจสามารถต่อยอดทักษะนั้น สร้างเป็นอาชีพเสริมหลังผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้ หรือศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในอนาคต
– ต่อไปนี้คือวิธีการรับมือกับ COVID-19 แบบคูลๆ ที่ GM รวบรวมมาเป็นไกด์ไลน์เพื่อให้ช่วงกักตัวและ WFH ของคุณเต็มไปด้วยความสนุกและมีสีสันมากกว่าเดิม
– เฮ้ย! เดี๋ยวนะ จะให้แต่งตัวเหมือนโอปปาเกาหลีแล้วทำงานจากที่บ้านเนี่ยนะ…ว่าแต่มันจะเข้าท่าเหรอ?
หลายคนอาจตั้งคำถามนี้เมื่อเห็นหัวข้อ แต่เชื่อเราเถิดว่า หลังคุณผ่านการกักตัวมาเป็นเวลา 2 เดือนเศษๆ และคุณได้ฆ่าเวลาในยามว่างอันแสนเบื่อหน่ายนี้ ด้วยการตะลุยดูซีรีส์ทาง Netflix, Viu และ WeTV จนหมดสต๊อกเกลี้ยงในลิสต์ส่วนตัว คุณจะต้องผ่านประสบการณ์ดูซีรีส์เกาหลีจนจบซีซั่นมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง และถ้าหากติดตามโลกโซเชียลฯ คุณจะต้องผ่านหูผ่านตากับชื่อ (ที่ออกจะทะแม่งๆ) ตัวละครนำชายอย่าง ‘สหายผู้กอง’ และ ‘เถ้าแก่รอย’ ที่กลายมาเป็นกระแสฟีเวอร์ฮอตฮิตติดไวเสียยิ่งกว่าการระบาดของ COVID-19 ไปทั่วทั้งเมืองอย่างแน่นอน
หรือไม่เช่นนั้นคุณก็คงเคยได้ยินคนข้างๆ กายคุณออกเกิดอาการรักจนแทบคลั่ง โอปปา 2 คนนี้ผู้มีเบ้าหน้าฟ้าประทาน จนคุณต้องขอลองเปิดซีรีส์ 2 เรื่อง (Crash Landing on You และ Itaewon Class) นี้ดู พร้อมกับอดสงสัยไม่ได้ว่า นอกจากหน้าตาที่หล่อเหลา (ในสไตล์ซุปเต้าหู้อ่อนเกาหลี) แล้ว โอปป้า 2 นายนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่น่าคลั่งไคล้ได้อีกเหรอ… ซึ่งเราคงต้องรีบเฉลยว่าถ้าคุณลองสังเกตดูให้ดีๆ และเปิดใจให้กว้าง คุณจะพบว่าโอปปาในซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่มีการแต่งเนื้อแต่งตัวที่ช่วยเสริมสร้างคาแรกเตอร์ให้เป็นที่จดจำได้เสมอ เช่นเดียวกับตัวละครอย่าง สหายผู้กอง และเถ้าแก่รอย จน GM ขอลองถอดรหัสการแต่งกายในสไตล์ลำลองของ 2 หนุ่มฮอตประจำช่อง Netflix เพื่อปรับให้เข้ากับการทำงานแบบ WFH ในช่วงนี้ โดยเราขอให้ความสำคัญกับไอเทมท่อนบนเป็นพิเศษ ได้แก่ เสื้อยืด เชิ้ต แจ็กเก็ต และนาฬิกา เนื่องจากเป็นสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของคุณจะสามารถสังเกตเห็นได้ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ในขณะที่คุณกำลังวิดีโอคอล ประชุมเบรนสตอร์มกับทีมร่วมผ่านโปรแกรม Zoom ที่กำลังฮอตไม่แพ้สตรีมมิ่ง Netflix และแอปพลิเคชัน TikTok ส่วนเครื่องแต่งกายท่อนล่างนั้น…เราขอละไว้ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกันนะครับ
LOOK NO.1 : สหายผู้กองรีจองฮยอก : Crash Landing on You
หากไม่พูดถึง ‘สหายผู้กองรีจองฮยอก’ จาก ‘Crash Landing on You – ปักหมุดรักฉุกเฉิน’ ซึ่งรับบทโดย ฮยอนบิน (Hyun Bin) หนึ่งในสี่สามีสมบัติแห่งชาติเกาหลี เห็นทีว่าบทความนี้จะสมบูรณ์ไปไม่ได้ เพราะนอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการโทรทัศน์เกาหลีใต้และเอเชีย ด้วยความกล้าหาญในการนำเสนอเรื่องราวความรักที่แทบเป็นไปไม่ได้ระหว่างนายทหารหนุ่มฝั่งเหนือและคุณหนูนักธุรกิจสาวฝั่งใต้แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังสร้างความคลั่งไคล้เป็นปรากฏการณ์ไปในทุกๆ องค์ประกอบในเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งแฟชั่นเครื่องแต่งกายของนักแสดงนำชาย
แต่จะให้เราแนะนำการแต่งกายด้วยเครื่องแบบชายชาติทหารสหายเกาหลีฝั่งเหนือ แล้วมา WFH ก็ดูจะเป็น Cosplay แต่งเอาฮามากกว่าทำงานอยู่บ้านแบบคูลๆ เราจึงขอนำเสนอลุคในวันสบายๆ ที่สหายผู้กองที่แสนละมุน ผู้รักในเสียงเปียโน การดริปกาแฟ ทำเส้นบะหมี่สด คุยกับต้นมะเขือเทศ และเล่นเกมออนไลน์! เคยสวมใส่ในหลายๆ ฉากสุดประทับใจ แบ่งปันเพื่อเป็นไกด์ให้คุณแต่งตามได้ไม่ยาก โดยไอเทมสุดโปรดของผู้กองรีจองฮยอกซึ่งมีช่วงบ่าและไหล่อันผึ่งผายได้รูป ได้แก่
– เชิ้ตคอจีนสีขาวออฟไวท์ (Stand Collar Shirt)
– เสื้อยืดแขนยาวคอกระดุมสีน้ำตาลแกมเขียว (Long Sleeve Button Henley Shirt)
– สเวตเตอร์คอเต่าสีดำ (Turtleneck Sweater)
– นาฬิกา OMEGA รุ่น Seamaster Diver 300M
***เคล็ดลับคือหากจะคอมพลีตลุคร้อยเอกรีจองฮยอกให้สมบูรณ์แบบคือ ‘ต้องไม่เซตผม’ ด้วยการปล่อยให้ผมหน้าม้าคลุมหน้าผากในระดับเสมอคิ้ว หรือคุณอาจจะสวมท่อนล่างเป็นกางเกงลายพรางทหาร (Camouflage) ดูก็ได้ ซึ่งถ้าแต่งได้ตามนี้ได้เหมือน ก็เชื่อแน่ว่าเพื่อนร่วมงานและคนข้างๆ กายคุณจะต้องมีแซวคุณว่า ‘สหายผู้กอง’ ระหว่างประชุมออนไลน์แน่
LOOK NO.2 เถ้าแก่พัคแซรอย : Itaewon Class
อีกหนึ่งโอปปาที่มาแรงแซงโค้งตีคู่กับรุ่นพี่อย่าง ฮยอนบิน ก็คือ ‘พัคแซรอย’ แห่ง ‘Itaewon Class – ธุรกิจปิดเกมแค้น’ ซึ่งรับบทโดย พัคซอจุน (Park Seo-joon) ไอ้หนุ่มหัวเกาลัดที่แฟนๆ ซีรีส์เรื่องนี้เรียกขานเขาจนติดปากว่า ‘เถ้าแก่รอย’ ผู้เป็นเจ้าของร้านอาหาร ‘ทันบัม’ ในย่านอิแทวอน ที่ไม่เคยยอมจำนนให้กับโชคชะตาอันเลวร้าย แม้จะต้องเผชิญกับความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของเกาหลี หรือข้อจำกัดใดๆ ในชีวิตแสนลำเค็ญ
การแต่งกาย WFH เป็นเถ้าแก่รอยก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เพราะพี่แกเป็นคนคุมโทนขาว-ดำ แถมยังสวมแต่เพียงชุดในสไตล์สปอร์ตแทบทั้งเรื่อง แต่ก็มีบางฉากที่มีเหตุให้เถ้าแก่สวมเชิ้ตขาวกับชุดสูทสีดำอยู่บ้างในโอกาสสำคัญ เรามาย้อนดูไอเทมสุดโปรดของพัคแซรอยดูว่ามีอะไรบ้าง โดยมีเซอร์ไพรส์เป็นของหรูชิ้นสุดท้าย ซึ่งเจ้าตัวได้มาเพราะเป็นของขวัญที่ส่งต่อจากผู้เป็นพ่อ
– สเว็ตเชิ้ตตกแต่งฮู้ด (Pullover Sweatshirt)
– เดนิมแจ็กเก็ตตัวโคร่ง (Oversized Denim Jacket)
– บอมเบอร์แจ็กเก็ตผ้าไนลอน (Nylon Bomber Jacket)
– นาฬิกา Montblanc รุ่น Star Legacy Full Calendar
***ส่วนเคล็ดลับในการรับบทเป็นเถ้าแก่รอยผู้กำลัง WFH ได้อย่างแนบเนียบ เราคงไม่แนะนำให้คุณบ้าจี้ลงทุนไปตัดผมจนเกรียนสั้นเป็นทรงหัวเกาลัดอย่างเถ้าแก่รอยหรอกนะครับ เพราะพัคซอจุนผู้แสดงเป็นพัคแซรอยเปิดเผยว่าทรงผมนี้ต้องตัดเล็มทุกๆ 3-4 วัน มันจึงไม่เหมาะกับช่วง COVID-19 ที่ร้านทำผมปิดด้วยประการทั้งปวง แค่เอะอะๆ ก็รู้สึกว่าแอร์มันหนาวจนต้องหยิบสเว็ตเชิ้ตประดับฮู้ดสีดำมาสวมทับตลอดเวลาก็พอแล้ว ส่วนท่อนล่างนั้นอาจจะเป็นกางเกงกีฬาขายาวสีดำ พร้อมบูตหนังหุ้มข้อก็สุดแท้แต่ความสามารถในการแต่งอยู่บ้านครับ
– วัฒนธรรมในการแบ่งปันและรับประทานอาหารร่วมกัน ถูกปลูกฝังถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานในครอบครัวชาวเอเชีย ทว่าในภาวะวิกฤติ COVID-19 คงถึงคราวที่พวกเราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินดื่มกันใหม่อีกครั้ง จริงอยู่ที่การรณรงค์ให้ ‘กินร้อน – ช้อนกลาง (ของใคร ของมัน) – ล้างมือ’ อาจได้ผลในช่วงแรกๆ ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมีความรุนแรงมาก และเราเองก็ยังตื่นตระหนกกลัวการรับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของสาธารณะอยู่ แต่ในระยะยาวเรากลับโหยหาความเคยชินในพฤติกรรมอันคุ้นเคยแบบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนใกล้ชิดในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเป็นเวลานาน จนเผลอระวังตัวเป็นสาเหตุที่ทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก
– อีกทั้งมาตรการที่ไม่อนุญาตให้นั่งกินอาหารในร้าน แต่เปิดให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจ Food Delivery ได้รับผลประโยชน์จากวิกฤติการณ์นี้ไปเต็มๆ ธุรกิจขายอาหารออนไลน์โดยพ่อค้าแม่ขายหน้าใหม่จึงเบ่งบานราวกับดอกเห็ดไปทั่วโลกโซเชียลฯ งานนี้แม้จะเป็นผลดีกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่มีช่องทางและตัวเลือกในการสั่งอาหารมากินที่บ้านเพิ่มขึ้น ทว่าสิ่งที่ตามมาคือการที่เราต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งส่วนต่างทางการตลาดและต้นทุนจากการขนส่งค่อนข้างสูง แถมเรายังต้องระแวดระวังไวรัสที่อาจปนเปื้อนมาจากการขนส่งด้วย จึงต้องคำนวณ ชั่งน้ำหนัก และตัดสินใจให้ดีทุกครั้งก่อนส่งคำสั่ง CF สั่งซื้ออาหารในแต่ละมื้อ ดังนั้นแล้วการปรับตัวที่ปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพร่างกายและเงินในกระเป๋าของเรามากที่สุด คือการทำอาหารกินเองที่บ้าน (เป็นบางมื้อ) ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ตอบโจทย์การเอาตัวรอด ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตมากที่สุดผ่านวิกฤติ COVID-19 มากที่สุด ด้วยทิปส์ดังต่อไปนี้
‘การทำอาหารอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้มีกินทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์’ ดูจะเป็นแนวคิดที่เราขอหยิบยืมมาจากตำราการเตรียมอาหารของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่สำหรับหนูน้อยช่างเลือก ทว่าดูเหมือนมันเป็นวิธีที่เวิร์กที่สุดในยามนี้ เราได้ไอเดียมาจากหนังสือชื่อ ‘Cook Once a Week: Eat Well Every Day’ ซึ่งเขียนโดย ‘Theresa Albert-Ratchford’ เชฟผู้เชี่ยวชาญในด้านการทำอาหารเฉพาะบุคคลและคอลัมนิสต์ทางด้านอาหาร ซึ่งจะมาแนะนำทิปส์การวางแผนการจ่ายตลาด (สัปดาห์ละครั้ง) รวมไปถึงขั้นตอนในการทำอาหาร (ในช่วงเย็นวันอาทิตย์สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง) เพื่อให้คุณและครอบครัวมีอาหารกินทุกมื้อทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์
โดยผู้เขียนได้วางแพลนไว้ 13 สัปดาห์ต่อเนื่องให้คุณได้ลองปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าเมนูแนะนำในเล่มจะออกเป็นแนวอาหารฝรั่งจ๋าอย่าง Chicken Cacciatore (สตูไก่แบบนายพราน), Meatloaf Florentine (เนื้ออบแบบฟลอเรนซ์), Lemony Baked Shrimp (กุ้งอบมะนาว), Baked Mashed Potatoes & Potato Skins (มันบดและเปลือกมันฝรั่งอบชีส), Sesame Broccoli Salad (สลัดบรอคโคลีน้ำมันงา) ฯลฯ แต่เราคิดว่าคุณเองสามารถนำมันมาประยุกต์และปรับให้เข้ากับชีวิตคนกรุงในยามที่ต้องกักตัวอยู่แต่กับบ้านได้ไม่ยาก นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้สอนวิธีในการจัดการขยะในครัว, วิธีจัดการกับเศษอาหารเหลือในตู้เย็น, 10 ไอเดียการทำข้าวกล่องอาหารเที่ยงง่ายๆ ในแบบ Grab & Go, วิธีการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละมื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณและคนรักอาจเตรียมพร้อมปั๊มทายาทเพื่อรับบทบาทเป็นคุณพ่อคุณแม่มือฉมังในระหว่างเก็บเนื้อเก็บตัวออกห่างสังคมนี้ได้เลย
คุณสามารถสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ทาง amazon.com ในราคา (17.54 ดอลลาร์) หรือใชัวิธีอ่านออนไล์ผ่านทาง scribd.com ซึ่งเปิดให้ทดลองอ่านเป็นเวลา 30 วันด้วย
จะเห็นว่าบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กของคุณตลอดหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะมีคลิปเต้นโชว์ตลก ลิปซิงก์ขายขำ ผ่านแอปพลิเคชัน TikTok, กรุ๊ปตลาดนัดขายของแยกตามคณะหรือมหาวิทยาลัย ยังเต็มไปด้วยภาพและคลิปวิดีโอการเข้าครัวทำอาหารของเพื่อนๆ ทางบ้าน จนหลายคนแซวว่าเราอาจมีผู้เข้าแข่งขันหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายจากช่วง COVID-19 เพื่อมาประชันกันในรายการแข่งทำอาหารชื่อดังอย่าง Master Chef และ Iron Chef Thailand ในซีซั่นหน้า
จากการสังเกต หลายคนที่ชื่นชอบการทำอาหารเป็นงานอดิเรกในช่วงนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรียนรู้วิธีการทำอาหารผ่านทางช่อง YouTube โดยเฉพาะของคนธรรมดาๆ ไม่ใช่เชฟชื่อดังอย่าง กอร์ดอน แรมซีย์ หรือ เจมี โอลิเวอร์ แต่อย่างใด แถมยังไม่ค่อยได้เปิดตำราทำอาหารที่ซื้อมาไว้ประดับบนชั้นวางหนังสือด้วย เราจึงคิดว่าการแชร์สูตรอาหาร วิธีการทำ พร้อมภาพประกอบหรือคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook Page ส่วนตัว, กรุ๊ปของคนรักการทำอาหาร, หรือแม้กระทั่ง YouTube Channel น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ในแง่มุมของการให้ความรู้ แชร์ไอเดีย แชร์สูตร สร้างแรงบันดาลใจในการทำอาหาร หรือสรรหาเมนูอร่อยรับประทาน ในช่วงที่คุณไม่ค่อยจะเจริญอาหาร เพราะข่าวคราวการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
เริ่มต้นฝึกทำอาหารในวันนี้ยังไม่สาย ก่อนที่คุณจะเริ่มหมดไฟ แค่อย่าลืมว่าช่วงนี้คุณแชร์สูตรอาหารกันได้เต็มที่ แต่อย่าเพิ่งแชร์อาหารจากจานเดียวกัน ไม่เช่นนั้นคุณต้องไม่ลืมใช้ช้อนกลาง (ของใคร ของมัน) เสมอ
สายโภชนาการและสายคลีนอาจร้องยี้ เมื่อพูดถึง ‘อาหารถนอม’ (Preserved Food) เพราะเต็มไปด้วยข้อมูลในเชิงวิชาการมากมายที่บ่งชี้ให้เห็นถึงโทษ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง โรคไต เบาหวานและคณะ ทว่าในภาวะข้าวยากหมากแพง สงครามกลางเมือง กระทั่งวิกฤติการณ์ COVID-19 เช่นนี้ อาหารถนอมที่เราคุ้นลิ้นและเก็บไว้กินได้นานเป็นเดือนอย่าง หมูและเนื้อแดดเดียว ปลาเค็ม แหนม หมูยอ กุนเชียง น้ำพริกแห้ง ฯลฯ กลายมาเป็นเพื่อนแท้ในยามยากที่ควรมีไว้ติดตู้กับข้าว ในที่นี้เราไม่ขอพูดถึงอาหารกระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่หลายคนอาจกว้านซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมากักตุนไว้จนขาดแผงชั่วคราว (ไม่มีหรอกคำว่าขาดตลาด) ในช่วงแรกๆ ที่ผู้คนตื่นตระหนกกับข่าวลือการแพร่ระบาดที่อาจยกระดับขึ้นสู่สเตจ 3 จนขาดสติยั้งคิด ตอนนี้นอกจากเราจะได้บทเรียนว่าข่าวลือนั้นมันไม่จริง เรายังต้องหาวิธีจัดการกับมาม่าและเครื่องกระป๋องนี้ในภายหลังด้วย แต่อาหารที่เราขอยกย่องและถือโอกาสนี้ขอบคุณภูมิปัญญาคนโบราณทุกชนชาติ คือการที่พวกท่านได้ค้นพบและคิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารให้คงสภาพอยู่ได้นานไม่เน่าเสียตามสภาพอากาศ จนได้ผลลัพธ์มาเป็นอาหารถนอมรสชาติเยี่ยมยอดที่เราสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ช่วยให้ลูกหลานของพวกท่านยังมีชีวิตรอดได้ในวิกฤติการณ์นี้
วันนี้อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาเรียนรู้วิธีการถนอมอาหารและการกักตุนอย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งหากเราประมาทและไม่ระมัดระวังตัว ผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือด้วยสติสัมปชัญญะและตื่นรู้เท่านั้นที่จะมีโอกาสรอด
– น้ำสะอาดที่อุณหภูมิห้องคือสิ่งที่สมควรดื่มมากที่สุดในช่วงกักตัวอยู่บ้าน แต่สำหรับคนมีแพสชั่นหรืออธิบายด้วยคำสั้นๆ ให้เข้าใจตรงกันว่า ‘ยังมีกิเลส’ ต้องการเครื่องดื่มเหล่านี้มาประทังชีวิตแม้ในยามยาก ได้แก่ น้ำแร่ ชา / กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในช่วงที่เราต้องประหยัดรัดเข็มขัดทุกช่องทาง ผับบาร์ปิดให้บริการ แถมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตยังหยุดจำหน่ายเป็นเวลา 20 วัน
– มาดูว่าเราสามารถพลิกแพลงสถานการณ์คับขันให้หฤหรรษ์ขึ้นชั่วคราวในยามกักตัวได้อย่างไรบ้าง
บ้านที่มีเครื่องกรองน้ำใช้ในยามนี้ เราขอแสดงความยินดีกับท่านที่คิดการณ์ไกลกับการลงทุนในระยะยาว เพราะนอกจากไม่ต้องไปหาซื้อน้ำดื่มมากักตุนให้วุ่นวายเต็มตู้ คุณยังมีส่วนช่วยลดการใช้พลาสติก PET และ HDPE ที่ใช้ขวดน้ำดื่มลงชั่วคราวด้วย การดื่มน้ำกรองที่สะอาดปราศจากเชื้อไวรัสถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เรามีวิธีสร้างบรรยากาศในช่วงกักตัวให้เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมหรู ด้วยการลองเปลี่ยนมาใช้ขวดแก้วใสที่มีกลไกจุกปิดฝา เหมือนอย่างที่ใช้ในรีสอร์ต Eco-friendly สุดหรู (อย่างเครือ Six Senses และ Senova) แทนขวดพลาสติก ขวดชนิดนี้นอกจากจะสามารถใช้ซ้ำๆ ได้บ่อยเท่าที่ต้องการอย่างปลอดภัย ยังหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ยัน IKEA โดยคุณยังสามารถยกระดับน้ำดื่มธรรมดาให้เหมือนที่ใช้เสิร์ฟเหมือนร้านอาหารชั้นดี ด้วยการนำใบสะระแหน่และโรสแมรี่ทั้งก้านใส่ลงไปในขวดน้ำแล้วแช่เย็น เพียงเท่านี้น้ำดื่มของคุณก็จะมีกลิ่นหอมสมุนไพร ดื่มแล้วสดชื่นตลอดทั้งวัน
แต่หาก COVID-19 ทำให้คุณคิดถึงการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในทวีปยุโรปช่วงซัมเมอร์ใจจะขาด ก็เพียงแค่ฝานเลมอนชิ้นบางๆ ใส่ลงไปในแก้วน้ำดื่มระหว่างกินอาหารมื้อเที่ยง เพื่อเพิ่มกลิ่นซิตรัสกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นและยังเป็นการดีท็อกซ์ความเครียดได้ด้วย แต่สำหรับมื้อเย็นของมนุษย์ติดหรูที่ยังคิดถึงการดินเนอร์ในร้านอาหารไฟน์ ไดน์นิง ซึ่งปิดบริการในช่วงนี้นานนับเดือน คุณควรซื้อน้ำแร่ธรรมชาติทั้งชนิด Still และ Sparkling Water ชนิดที่เสิร์ฟในร้านอาหารหรูๆ อาทิ San Pellegrino, Aqua Panna, Gerolsteiner, VOSS, Evian, Perrier ฯลฯ ติดตู้เย็นไว้ในยามฉุกเฉิน เพื่อดื่มเพิ่มอรรถรสคู่กับการกินในยามค่ำ ส่วนสายรักสุขภาพเรามีน้ำดื่มที่เหมาะกับคุณ นั่นคือการดื่มน้ำสะอาดคู่กับวิตามินเม็ดฟู่ละลายน้ำ เพื่อทดแทนน้ำหวานในยามน้ำตาลตกเพราะความเครียดแทนการดื่มน้ำอัดลมหรือชานมไข่มุกที่ทำให้เสียสุขภาพ
น้ำดื่มสะอาดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพร่างกายที่ดีในทุกสภาวการณ์ ซึ่งโดยประมาณแล้วผู้ใหญ่ควร ‘ดื่มน้ำ’ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (1,600-2,000 มล. ตามคำแนะนำของอังกฤษในปี 2017) ซึ่งนับน้ำจาก ‘เครื่องดื่ม’ ทุกชนิด โดยไม่ต้องหักลบน้ำในอาหารที่กิน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประเทศของเรา ทุกครั้งที่มีการออกประกาศภาวะฉุกเฉินและวันหยุดยาวที่ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะดำเนินไปในทิศทางไหน สิ่งที่นักดื่มหรือผู้ที่ชื่นชอบในการสังสรรค์จะต้องตระหนักไว้เสมอ คือการดื่มแต่พอประมาณ ดื่มอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ ดื่มอย่างรู้เท่าทันความสามารถทางร่างกาย และดื่มอย่างมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
ในยามที่คุณต้องกักตัวออกห่างจากเพื่อนฝูง เมื่อร้านอาหารและผับบาร์เจ้าประจำปิดบริการชั่วคราว คงไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดจะตอบโจทย์นี้ได้ดีเท่ากับไวน์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ ซึ่งคุณมีโอกาสได้ทดลองทำอาหารกินเองที่บ้าน การดื่มไวน์แพร์ริงกับอาหารที่ทำสักแก้วสองแก้วนับว่าไม่เลวเลยทีเดียว ซึ่งเราขอแนะนำให้คุณลองเปิดรายการของซอมเมอลิเยร์ชื่อดังอย่าง Patrick Cappiello ทางช่อง YouTube Indulgence ที่มาแนะนำไวน์ชนิดต่างๆ เพื่อดื่มคู่กับเมนูอาหารซึ่งปรุงสดๆ จากเชฟรับเชิญได้อย่างลงตัว นับเป็นรายการที่ให้คำแนะนำเรื่องการดื่มไวน์สำหรับนักดื่มหน้าใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ไม่สน็อป และไม่น่าเบื่อ เพื่อเปิดไอเดียการจิบไวน์สักขวดคู่กับอาหารสักจานในช่วงแห่งการจำศีล
การดื่มไวน์คนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ควรจะเลือกไวน์จากผู้ผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าไวน์ที่มีราคาถูก เพื่อซึมซาบอรรถรสของไวน์ด้วยตัวคุณเองให้มากที่สุด โดยในระหว่างนี้คุณอาจจะฟังเพลงที่ชื่นชอบ จดบันทึกรสชาติหรือความรู้สึกที่ได้จากการดื่มไวน์ขวดนี้ งดท่องโซเชียลมีเดียชั่วคราว แต่ก็อนุโลมให้ดูภาพยนตร์ที่คุณชื่นชอบได้หนึ่งเรื่อง แต่จะดีมากถ้าหากคุณได้นั่งจิบไวน์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารกับตัวตนภายใน ทว่าจากผลสำรวจโดยส่วนมากคนเรามักจะดื่มไวน์หมดไปแค่เพียงครึ่งขวดจากการดื่มเพียงคนเดียว คุณจึงต้องปิดขวดไวน์ที่ยังเหลือด้วยจุกค็อกหรืออุปกรณ์เสริมอย่าง Wine Stopper และเก็บในที่เย็น ไม่มีแสง หรือกระทั่งในตู้เย็น เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำไวน์ให้สามารถดื่มต่อไปได้ 2-3 วัน ไม่เช่นนั้นในระยะที่ต้องกักตัว คุณอาจแก้ปัญหานี้ด้วยการซื้อไวน์กล่องมาดื่มแทน เพราะถุงที่อยู่ในกล่องไวน์มาพร้อมวาล์วที่มีเทคโนโลยีในการป้องกันการเกิดปฏิกิริยา Oxidation ในตัว ขจัดปัญหาเรื่องเปิดไวน์แล้วดื่มไม่หมดได้เป็นอย่างดี แต่เรื่องของรสชาติคงจะต้องเผื่อใจไว้บ้าง
แม้จะต้องดื่มตามลำพัง ห่างไกลจากเพื่อนฝูง คนรัก แต่คุณก็ยังต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองเสมอ อย่าลืมว่าชีวิตคนเรานั้นมักจะสั้นกว่าที่คาดคิดเสมอ เพราะฉะนั้นจงดื่มด้วยจิตใจที่เบิกบาน ปราศจากทุกข์ แม้ในวันที่สถานการณ์จะยังไม่เป็นใจ เพื่อรอคอยให้ถึงวันที่วิกฤติการณ์เริ่มคลี่คลาย คุณจะได้กลับมาสังสรรค์ จับมือ กอด และจูบคนที่คุณรักอย่างสนิทใจได้อีกครั้ง… Cheers!
เชื่อว่าหลายๆ คนคงคิดถึงการดื่มชาและกาแฟในคาเฟ่มากกว่ารสชาติของเครื่องดื่ม นั่นเพราะเราเสพติดสิ่งที่เรียกว่า ‘บรรยากาศ’ มากพอๆ กับ ‘กาเฟอีน’ ซึ่งเป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ที่สามารถพบได้ในอาหารจำพวกเมล็ดกาแฟ, ใบชา และโคล่า
ทว่าในเวลานี้ การพาตัวเองออกจากบ้านพักเพื่อซื้อกาแฟสดจากคาเฟ่ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือขับรถไปยังร้านกาแฟยอดฮิตเพื่อใช้บริการ Drive-thru หรือ Takeaway นับเป็นการลงทุนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัส กระทั่งการใช้บริการ Food Delivery เพื่อสั่งกาแฟสด ก็นับว่าสิ้นเปลืองพลังงาน เวลา และทรัพยากรเกินความจำเป็น ทางเลือกของผู้ที่เสพติดกาเฟอีน อาจเป็นการชงกาแฟดื่มเองที่บ้าน ซึ่งคุณมีชอยส์มากมายตามความถนัดในการชง อุปกรณ์ที่มีในบ้าน และรสนิยมในการเสพ
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้นำพาเราไปไกลกว่าเดิม ด้วยนวัตกรรมเครื่องชงกาแฟแบบแคปซูลที่มาพร้อมระบบสกัดพิเศษอัตโนมัติจากหลากหลายแบรนด์ ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องต้มกาแฟรุ่นเก่าๆ ที่กำลังล้าสมัยและเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ แถมยังมีบริการสั่งซื้อแคปซูลกาแฟออนไลน์ในช่วงที่ห้างปิดเอาไว้บริการ เช่นเดียวกับนักดื่มกาแฟสายฮิปสเตอร์ สายสโลว์ไลฟ์ ผู้นิยมดริปกาแฟดื่มเองด้วยกรวยกระดาษกรองและกาต้มน้ำ, การชงกาแฟสดด้วยกาแบบกดสไตล์เฟรนช์เพรส (French Press) หม้อต้มกาแฟสไตล์อิตาเลียน (Moka Pot) หรือแอดวานซ์กระทั่งทำกาแฟสกัดเย็นหรือกาแฟโคลด์บริว (Cold Brew) ดื่มเอง ซึ่งอาจไม่เดือดร้อนเท่าใดนักหากคุณสต๊อกผงกาแฟคั่วบดเอาไว้มากพอ แต่ถ้าไม่เช่นนั้นละก็ คุณคงต้องหันมาพึ่งตัวเลือกที่สาม
ฮีโร่ในยามหากาแฟดีๆ ดื่มยาก คือกาแฟสำเร็จรูปแบบเกล็ด หรือ Instant Coffee จึงดูจะเป็นทางเลือกที่มีความเรียลมากที่สุดในสภาพที่เราต้องรัดเข็มขัดจนเอวกิ่ว สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนโดยทั่วไปที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกช่องทาง เพราะนี่คือกาแฟในแบบที่เราเคยคุ้นชินและเติบโตมากับการเห็นคนรุ่นพ่อแม่ดื่มมาตั้งแต่เด็ก เป็นตัวเลือกราคาประหยัดที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มากผ่านร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ โดยมีให้คุณเลือกสรรตามรสนิยมและงบประมาณหลายระดับ จากการสอบถามคอกาแฟสำเร็จรูปหลายราย เราก็ได้รับคำแนะนำว่ามีหลายๆ แบรนด์ที่ผลิตกาแฟสำเร็จรูปรสชาติยอดเยี่ยมออกมาในราคาที่ไม่เกินเอื้อม เช่น Nescafe Gold, Tchibo, Maxim Coffee ซึ่งขยันจัดรายการลดราคาพิเศษอย่างสม่ำเสมอ และเป็นทางเลือกพอจะช่วยให้คอกาแฟสดประหยัดค่ากาแฟรายเดือนไปได้มาก
ขอให้กลิ่นหอมจากกาแฟเป็นเหมือนพลังที่ช่วยปลุกยักษ์ในตัวคุณให้ตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้าแม้ในยามวิกฤติ พร้อมออกรบและฟาดฟันกับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าในยามบ่าย เพื่อให้คุณทำภารกิจในหนึ่งวันได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
– COVID-19 เป็นโรคที่ไม่เกี่ยงงอนหรือเลือกปฏิบัติในการแพร่เชื้อ ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นสูงในระดับกษัตริย์อย่างเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก, มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ นักแสดงดังอย่าง ทอม แฮงส์, อิดริส เอลบา แม้กระทั่งนักเขียนชื่อดังระดับโลกอย่าง เจ.เค.โรว์ลิง ซึ่งได้ออกมาเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ‘ตัวเองเป็น COVID-19 แต่หายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว’ แถมเธอยังแอบทวีตเหน็บขอร้องให้บรรดาไลฟ์โค้ชทั้งหลายหยุดตราหน้าคนอื่นว่ากระจอก หรือ Loser (ลูเซอร์) เพียงเพราะคนคนนั้นไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือไม่ได้เริ่มทำแบรนด์ของตัวเองในช่วงที่โรค COVID-19 กำลังแพร่ระบาด โดยเธอทวีตว่า
– “ไม่ได้ว่าใครนะคะ แต่ถ้าคุณเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ ที่เที่ยวฉอดคนอื่นว่ากระจอก เพราะไม่เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือไม่มีแบรนด์ของตัวเองในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ให้หยุดเถอะค่ะ คนเรามีความท้าทายที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้ บางทีแค่ผ่านเรื่องบางเรื่องไปได้ก็ดีแค่ไหนแล้ว”
– วาทกรรมอันร้อนแรงของนักเขียนแห่งยุค ที่ประกาศว่าตนเองติด COVID-19 แต่ไม่ได้เข้าไปตรวจอาการที่โรงพยาบาล เพราะสามีของเธอ นีล เมอร์เรย์ เป็นคุณหมอ และบอกให้เฝ้าดูอาการอยู่บ้าน โดยเธอก็ยังได้แชร์วิดีโอยูทูบของแพทย์ที่โรงพยาบาล Queen’s Hospital ในประเทศอังกฤษ ที่มาสอนเทคนิควิธีการหายใจที่ได้ผล ซึ่งโรว์ลิง ก็อยากให้คนอื่นส่งต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่ยากและทำได้ฟรีๆ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราตระหนักว่าการมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและได้ทำในสิ่งเล็กๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก หรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักในช่วงกักตัวเองอยู่บ้าน โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ว่าคนในครอบครัว เจ้าหน้าที่รัฐฯ บุคลากรทางการแพทย์ นั่นก็คงเพียงพอแล้วอย่างที่ เจ.เค.โรว์ลิง ว่าไว้ เราจึงขอนำเสนองานอดิเรกที่แสนจะเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาพิสดารในแบบฉบับผู้ชาย และเชื่อมั่นว่าคุณน่าจะทำได้ดีไม่น้อย
GARDENING
การทำสวนเป็นงานอดิเรกที่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดีและประสบความสำเร็จออกดอกผลเหมือนกันหมด แต่เป็นงานอดิเรกที่เรียกเหงื่อและฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่งานสเกลเล็กไปจนถึงงานสเกลใหญ่ อย่างเช่น ตัดหญ้าในสวนหน้าบ้าน ตัดแต่งทรงต้นไม้ ถอนวัชพืช ย้ายต้นไม้จากกระถางลงดิน รดน้ำต้นไม้ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน เพาะชำ ปลูกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ ไปจนกระทั่งการปลูกถั่วงอกภายในบ้านโดยไม่ใช้ดิน ที่กลายเป็นงานอดิเรกยอดฮิตในช่วงกักตัวของคนชอบทำครัว ก็ยังนับว่าเป็นสับเซ็ตหนึ่งของการทำสวน
MEDITATION
การฝึกนั่งสมาธิกลายมาเป็นวิธีสากลในการบำบัดความเครียดและขจัดความเหนื่อยล้าที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดก็สามารถปฏิบัติได้เองที่บ้าน ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกนั่งสมาธิเกิดขึ้นมากมาย อาทิ Calm, Waking Up, Insight Timer ฯลฯ ที่พอจะเป็นไกด์ไลน์หากคุณไม่เคยมีประสบการณ์นั่งสมาธิมาก่อน การฝึกนั่งสมาธิแม้เพียง 10 นาทีต่อวัน ก็มีส่วนช่วยในการฝึกฝนจิตให้โฟกัสในสิ่งที่ทำ ปรับอารมณ์ฉุนเฉียวให้สงบ และยังส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
COOKING & BAKING
ฝึกทำอาหารและอบขนมคืองานอดิเรกยอดฮิตอันดับต้นๆ ในช่วงCOVID-19 ที่ช่วยประทังชีวิต บำบัดจิต ผ่อนคลายอารมณ์ได้เป็นอย่างดี การชิมฝีมือการทำอาหารและขนมของตนเอง พร้อมแบ่งปันให้คนรอบข้างได้ชิมคือความฟินอย่างหนึ่ง ถ้าอร่อยก็ดีไป แต่ถ้าไม่อร่อย ก็คงต้องยึดถือคติ ‘ทำเอง-กินเอง-นักเลงพอ’ อย่างน้อยๆ ก็ชิมสักคำ จะได้ปรับปรุงสูตรและวิธีการทำใหม่ในรอบหน้า
FOOD PHOTOGRAPHY
นอกจากคุณและคนใกล้ตัวจะได้ใช้ช่วงเวลานี้ฝึกปรือฝีมือการทำอาหารและจัดจานให้สวยงามน่ารับประทานแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้การเป็นช่างภาพอาหารมือโปรฯ ไม่ว่าคุณจะอยากโชว์เพื่อนฝูงผ่านทางโลกโซเชียลฯ ซึ่งมีคลิปวิดีโอและโปรแกรมสอนการถ่ายภาพทางออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย โดยจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายที่สวยงามเริ่มต้นจาก ‘แสง’ ที่ทำให้เกิดสีสันและมิติของภาพถ่าย เรียนรู้และทดลองจัดองค์ประกอบภาพถ่ายตามทฤษฎี Light, Shade & Shadow ให้แม่นยำ รับรองว่าภาพถ่ายอาหารของคุณจะปัง ไม่แบน เพิ่มยอดไลก์และคอมเมนต์ได้อย่างท่วมท้น
LEARNING MUSICAL INSTRUMENTS
ผลกระทบจาก COVID-19 ยังทำให้นักร้องและนักดนตรีมืออาชีพทั่วโลก สูญเสียรายได้จากการแสดงสด ทว่าปัจจุบันมีหลายๆ คนผันตัวไปเปิดสอนคอร์สออนไลน์ ซึ่งคุณสามารถสนับสนุนพวกเขาได้ด้วยการสมัครเป็นนักเรียนกับคุณครูผู้มีประสบการณ์ตรง และยังเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้รื้อฟื้นความทรงจำในอดีตกับกีตาร์ตัวโปรด หรือเปียโนหลังงามที่คลุมผ้าปิดเอาไว้นานเนิ่นนาน ไม่แน่ว่าปาร์ตี้เปิดบ้านฉลองครั้งหน้า คุณอาจมีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือ หลังฝึกปรือกับคุณครูออนไลน์มาแล้ว
DRAWING, COLORING, PAINTING
การสร้างสรรค์งานศิลปะไม่ว่าแขนงไหนช่วยกล่อมเกลาและเยียวยาจิตใจได้ดีเสมอ เพียงปล่อยใจและความคิดของคุณให้ว่างเปล่าเหมือนผืนผ้าใบสีขาวสะอาด แล้วเปิดใจเรียนรู้ฝึกฝนการเป็นจิตรกรในแบบฉบับของคุณ จุดเริ่มต้นอาจเป็นการวาดภาพและลงสีตามผลงานชิ้นขึ้นหิ้งที่คุณโปรด ต่อมาจึงค่อยๆ คลี่คลายรูปแบบและพัฒนาฝีมือจนค้นพบแนวทางของคุณเอง สุดท้ายผลงานชิ้นนั้นอาจกลายเป็น Masterpiece ที่แขวนประดับบ้าน ให้คุณได้ระลึกถึงช่วงเวลา Quarantine ในความทรงจำ
READING
การอ่านหนังสือน่าจะเป็นงานอดิเรกหลักๆ ของผู้ชายในแบบฉบับ GM มาโดยตลอด ลองหยิบนวนิยายชุดที่คุณอ่านมาหลายรอบทั้ง สามก๊ก, เพชรพระอุมา (ซึ่งผู้แต่ง ‘พนมเทียน’ เพิ่งจากไปเมื่อ 21 เมษายนที่ผ่านมา) มาอ่านซ้ำอีกครั้ง หรือหยิบหนังสือที่คุณมีข้ออ้างสารพัดทำให้อ่านไม่จบมาหลายปีเพื่อลองเอาชนะใจคุณดู ปัจจุบันมีดิจิทัลบุ๊คคลับเกิดขึ้นมากมาย การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนนักอ่านในโลกออนไลน์ อาจทำให้คุณค้นพบหนังสือที่น่าสนใจเล่มใหม่ๆ จากมุมมองและประสบการณ์ของเพื่อนแปลกหน้าที่คุยกันถูกคอในยามนี้ได้
LEGO
ตัวต่อเลโก้ไม่ใช่ของเล่นสำหรับลูกน้อยเสมอไป ผู้ใหญ่หลายคนก็ชื่นชอบการครีเอทผลงานจากตัวต่อมหัศจรรย์โดยเริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน โดยคุณอาจใช้ช่วงเวลาว่างนี้แท็กทีมกับลูกน้อยเพื่อช่วยกันต่อเลโก้ สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกด้วยความรักและความสนุกสนาน อีกทั้งเป็นการสอนบทเรียนให้กับลูกน้อยได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าจากความพยายาม มุมานะ อุตสาหะ ผลลัพธ์ของความสามัคคีในการแบ่งงานกันทำ และยังเป็นการเชื่อมสายใยรักระหว่างพ่อลูกผ่านตัวต่อเลโก้
ADULT BOARD GAMES
เกมที่ช่วยลับสมองในยามที่คุณต้องกักตัวเองเพียงลำพังเหมือนถูกขังเดี่ยว มีมากกว่าเกมเศรษฐี (Monopoly) และเกมต่อศัพท์ภาษาอังกฤษยอดฮิตอย่างสแครบเบิ้ล (Scrabble) เพราะเกมกระดานหรือบอร์ดเกม (Board Game) สำหรับผู้ใหญ่คือสิ่งมหัศจรรย์อีกหนึ่งอย่างที่ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อฆ่าเวลาแสนน่าเบื่อได้อย่างชะงัก เป็นเกมที่สนุกและลับสมองให้เฉียบคม หากมีโอกาสก็ลองชักชวนคนรัก ลูกน้อย หรือกระทั่งแม่บ้านให้มาลองเล่นร่วมกัน แม้อาจต้องเว้นระยะห่างในระหว่างเดินหมาก แต่ก็น่าสนุกท้าทาย เริ่มจากเกมง่ายๆ เช่น Exploding Kitten, Camel Up, UNO, Sleeping Queen, Werewolf ดูนะครับ
– ในภาวะปกติ การอยู่บ้านติดต่อกันเป็นเดือนๆ อาจหมายถึงการตกอยู่ใน ‘ภาวะว่างงาน’ หรือ ‘เจ็บไข้ได้ป่วย’ ซึ่งหลายคนอาจเคยประสบพบเจอปัญหานี้มาหลายครั้งด้วย ‘ความจำยอม’ ภาวะการว่างในรูปแบบนี้กินระยะเวลายาวนานมากน้อยแตกต่างกันไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ในภาวะฉุกเฉิน ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในวงกว้าง การกักตัวอยู่บ้านเป็นเดือนๆ กลายมาเป็น ‘ความจำเป็น’ ที่พ่วงมาพร้อมคำว่า ‘สำนึกรับผิดชอบ’ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าวันนี้คุณอาจยังเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่มีงานทำ แต่นั่นหมายถึงสิ่งที่แลกมาด้วยการ Work From Home ไม่ใช่การหยุดพักร้อนนอนอยู่เฉยๆ กับบ้าน สั่งอาหารมากิน แล้วเปิดดู Netflix ทั้งวัน เหมือนอย่างที่หลายคนกำลังเข้าใจผิด
– เพราะวันนี้คุณอาจจะรู้สึก…โอเค คือโชคดีที่ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็รู้สึกเบื่อหน่ายเต็มทีกับการกักขังตัวอยู่ภายในบ้านด้วยความกังวลใจ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรที่คุณหรือคนที่คุณรักอาจโชคร้ายได้รับเชื้อไวรัส เป็นเหตุให้ล้มป่วยจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือมิเช่นนั้นความกังวลใจก็อาจมาในรูปแบบของความหวาดระแหวง เกรงว่าจะได้รับอีเมลจาก HR บริษัทให้หยุดพักงานยาวโดยไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ หรือแย่ไปกว่านั้นคือ จดหมายแจ้งให้ออกจากงานกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว! ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่พล็อตเรื่องที่หยิบยืมมาจากซีรีส์เรื่องดังที่คุณอาจกำลังติดงอมแงม เพราะว่าทุกๆ ซีนาริโออันเลวร้ายที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมดในวิกฤติการณ์ COVID-19 ที่เรากำลังเผชิญหน้าพร้อมกันทั่วโลก กระทั่งมีบางคนที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้
– แนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคืออะไร? เพราะไม่ว่าคุณจะสืบค้นจากเว็บไซต์ ดูรายการโทรทัศน์ หรือรับฟังผ่านทางช่องทางการสื่อสารไหนๆ คำแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันในการรับมือกับภาวะความเครียด อันเกิดจากการแพร่ระบาดขั้นรุนแรงของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในยามนี้ คือเราต้องระมัดระวังในการเสพข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเฉพาะจากสื่อฯ ในโลกโซเชียลฯ และเสพแต่พอดีอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ตื่นตระหนก และวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงมากจนเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อประคับประคองให้คุณยังมีสติตื่นรู้เท่าทันอารมณ์และความคิดในแง่ลบของคุณ การปิดหูปิดตาตัดขาดจากโลกโซเชียลฯ และสื่อออนไลน์ อาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงจุดสำหรับคนเมืองในยุคนี้ เพราะยังมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนจากภายนอก และรับฟังการประกาศสำคัญจากทางราชการอย่างทันท่วงทีนั่นเอง
– แต่อย่างไรก็ตาม บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อส่งพลังบวกแบบไม่โลกสวย เพื่อช่วยให้คุณรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติสัมปชัญญะ และพยายามเสาะแสวงหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิต เพื่อให้สามารถยังคงใช้ชีวิตต่อไปได้ไม่ว่าอนาคตในภายภาคหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อไปนี้คือวิธีการปรับแนวคิดในการ WFH และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ที่คุณ (และคนที่คุณรัก) อาจจะต้องกักตัวอยู่กับบ้านและเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างมีสติและสไตล์
ตื่นแต่เช้า อย่านอนเซื่องเซาเหมือนทุกวันเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้คุณจะอยู่ในสถานที่แสนสบายและคุ้นเคย แต่ห้ามเอาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปมาทำงานบนเตียงเด็ดขาด! เพราะการทำงานจากเตียงสงวนไว้สำหรับมนุษย์ Home & Wokers ในระยะยาวเท่านั้น ยิ่งในกรณีที่มีภรรยาหรือพาร์ทเนอร์นอนอยู่ข้างๆ ยิ่งไม่ควรทำงานจากเตียงได้สำเร็จเลย ลองใช้จินตนาการคิดภาพตามดูว่า 1) ชีวิตของคุณเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ฉากหนึ่งในละครตลกซิตคอม 2) แม้จะเถียงว่าตอนนี้คุณเป็นมนุษย์ Work From Home ชั่วคราว และยอมรับว่าในยามปกติบางครั้งคนเราก็แอบส่งงานจากบนเตียงเหมือนกัน แต่เตียงนอนเป็นพื้นที่ส่วนตั๊วส่วนตัว ไม่มีใครอยากเปิดตัวตนในเรื่องนี้ให้เพื่อนร่วมงานได้เห็นผ่านกล้องวิดีโอคอลหรอก เก็บเตียง ลุกขึ้นไปอาบน้ำ กินอาหารเช้า ชงกาแฟ แล้วเริ่มทำงาน และใช้ชีวิตตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในกรณีที่ห้องพักของคุณไม่มีโต๊ะทำงานจริงๆ ใช้ผ้าคลุมเตียงให้มิดชิดแล้วแต่งตัวให้เรียบร้อย เพราะถึงอย่างไรคุณก็ยังต้องการลุคที่ดูน่าเชื่อถือจากเพื่อนร่วมงานอยู่
หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Work From Home ยากยิ่งกว่า Work From Office หลายเท่าตัวด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะปัจจัยที่เรียกว่า ‘ความเป็นส่วนตัว’ เพราะการใช้ชีวิตทำงานโดยการประชุมผ่านกล้อง สำหรับมนุษย์ออฟฟิศที่ยังไม่คุ้นเคยกับการประชุมทางไกลกับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ต่างแดน อาจทำให้คุณออกอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอยู่บ้าง เหมือนโดนจับผิดตลอดเวลาในช่วงแรกๆ กระทั่งการมีภรรยาและลูกน้อยใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านขณะ WFH ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและผลลัพธ์ในการทำงาน ดังนั้นการแยกห้อง แยกโซนทำงานอย่างชัดเจนจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งในแง่ของการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการรักษาสมาธิในการทำงานที่ยังมีความสำคัญไม่น้อย ตั้งนาฬิกาปลุกให้เลิกงานตามกฎที่บริษัทกำหนดคือ 8 ชั่วโมงหลังเช็กอิน ก็ให้คุณล็อกเอาต์ ปิดคอมพิวเตอร์ และหยุดการทำงานเคาะแป้นพิมพ์ทันที! ไม่เว้นกระทั่ง LINE กรุ๊ปที่ทำงาน (ถ้าเลี่ยงได้…ก็เลี่ยง) แล้วใช้เวลาหลังเลิกงานออกกำลังกาย จะเป็นเดิน จ็อกกิ้งรอบหมู่บ้านหรือจะเวิร์กเอาต์ภายในห้องพักก็ตามสะดวก
แม้จะอยู่ในช่วงกักตัวและ WFH แต่ก็ไม่ควรลืมช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ Coffee / Tea Break หรือกิจวัตรอู้งานที่คุณหรือเพื่อนร่วมงานผลัดกันแวบหายเข้าไปในห้องครัวเป็นประจำ เพื่อทำการเยียวยาตนเอง หยุดพักสายตาจากคอมพิวเตอร์ กองงานที่รุมสุม และกิจวัตรซ้ำๆ อันน่าเบื่อหน่าย แตกต่างที่การ WFH นั้นคุณจะแวบไปดื่มชาและกาแฟกี่ครั้งก็ย่อมได้ ไม่มีใครห้าม และในภาวะสุญญากาศก็ไม่มีเจ้านายปกครองด้วยดังนั้นคุณจะต้องตั้งกฎในการพักเบรกขึ้นมา อย่างเช่น 2 ครั้งในช่วงเช้า และ 1 ครั้งในช่วงบ่ายหลังพักเที่ยงเท่านั้น ที่บ้านของคุณควรจะมีกระป๋องบิสกิสหรือคุกกี้กักตุนเอาไว้เพื่อกินคู่กับชาหรือกาแฟ โดยลิมิตให้แค่เพียง 1 ชิ้นต่อ 1 เบรก โดยคุณอาจจะใช้ช่วงเวลาสั้นๆ 3 นาทีระหว่างชงชากาแฟ แชตกับเพื่อนฝูงเช็กข่าวคราว หรือแชตกับคนรักที่ทำงานอยู่อีกฝั่ง ก่อนจะกลับไปนั่งประจำที่เพื่อทำงานอีกรอบ การสร้างบรรยากาศอันเคยคุ้นเหมือนนั่งทำงานในออฟฟิศ อาจช่วยลดความเครียดให้กับมนุษย์คลั่งงานลงไปได้บ้าง
สนุกไปกับมัน แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณกำลังทำงานอยู่ แม้ว่านี่จะเป็นการทำงานแบบ WFH ไม่เหมือนการทำงานจริงๆ ที่ออฟฟิศก็ตาม ถ้าเบื่อหน่ายให้ลองสลับทำโปรเจกต์อื่นดูบ้างสักครึ่งวัน อย่าจับเจ่าอยู่แต่กับงานชิ้นเดิมๆ ที่ทำไม่สำเร็จสักที ในช่วงพักกินอาหารเที่ยง คุณอาจลองแชร์เมนูที่คุณเตรียมมา หรือเพิ่งสั่ง Food Delivery จากร้านอาหารเจ้าโปรดมากินกับเพื่อนร่วมงานที่ยังเปิดกล้องอยู่ หรือไม่เช่นนั้นก็ลองส่งขนมหรืออาหารที่คุณฝึกทำจนชำนาญในช่วงกักตัวไปให้เพื่อนร่วมงานชิม นับเป็นการแบ่งปันความสุขเล็กๆ คลายความตึงเครียดในการทำงานจากบ้านได้ดี WFH ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการงีบระหว่างวัน หรือ Napping วันละครึ่งชั่วโมง เพื่อกระตุ้นเกิดการตื่นตัวทั้งด้านสมองและร่างกายในการทำงานต่อในภาคบ่าย ลดอาการร่วงโรย ความเครียด และความหงุดหงิด และยังทำให้สมองมีประสิทธิภาพในการจำได้อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นด้วย
แนวคิดและหลักการทั้งหมดที่เราได้นำเสนอในการตั้งรับกับวิกฤติ COVID-19 สามารถนำมาขมวดเป็นคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ แต่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง นั่นคือ ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ เพราะเราต่างก็ยังไม่รู้ว่า COVID-19 จะนำพาเราไปถึงจุดสิ้นสุด ณ ช่วงเวลาไหน แผนการที่เคยเป็นสูตรสำเร็จและผ่านการทดลองใช้ซ้ำๆ ในหลายๆ วิกฤติการณ์ที่ผ่านมา อาจใช้ไม่ได้ผลกับ COVID-19 เลย ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือทำหน้าที่ของเราแต่ละวันให้ดีเยี่ยมสุดความสามารถ ด้วยการตั้งเป้าหมายในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3 วัน แทบไม่ต้องคิดการณ์ไกลเป็นสัปดาห์ด้วยซ้ำ ล้มเลิกแผนงานในระยะยาวเกินหนึ่งเดือนทิ้งไปชั่วคราว และใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยการสำนึกรู้คุณ เริ่มต้นด้วยการขอบคุณตัวคุณเองในทุกๆ เช้าที่คุณยังตื่นขึ้นมาพร้อม ‘ลมหายใจ’ และยังไม่มีอาการบ่งชี้ว่าป่วยเป็นโรค COVID-19 ขอบคุณที่วันนี้คุณยังมีงานการที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวันอยู่ ขอบคุณที่ยังมีเงินจ่ายบิลตอนสิ้นเดือน ท้ายที่สุดคือขอบคุณ COVID-19 ที่เป็นเหมือนครูใหญ่ผู้สอนบทเรียนใหม่ให้กับชีวิต ผ่านบททดสอบอันหนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 1,000 ปี เราทุกคนบนโลกใบนี้กำลังเผชิญพร้อมกัน และหวังว่าเราจะผ่านมันไปด้วยกันในที่สุด เพื่อสร้างโลกใบใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม