คุณผู้ชายคะ…วันนี้คุณถูกขอแต่งงานหรือยัง?
เรื่อง: ชัชฎาพร จุ้ยจั่น
2020 เราเดินทางมาถึงปีที่มีตัวเลขความหมายดี เลขคู่อันเป็นมงคล แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่ต้นปีนั้นเกิดเรื่องราวมากมายให้เราหวั่นกลัวว่าจากนี้จะเกิดอะไรอีกหรือไม่? เอาน่ะ… แค่เริ่มดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี โดยเฉพาะดูแลหัวใจให้เข้มแข็งก็น่าจะเพียงพอแล้ว
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 (หรือปีอธิกสุรทิน 2563) ผู้เขียนนึกถึงวันที่เคยขอผู้ชายแต่งงานแบบทีเล่นทีจริง (แต่ในใจจริงจังมาก!) นั่นเพราะเคยปลิ้มปริ่มกับภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง Leap year (2010) ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาว ‘แอนนา’ (Amy Adams) ที่หมั้นหมายกับแฟนหนุ่มสุดเพอร์เฟค ‘เจเรมี่’ (Adam Scott) ที่มุ่งมั่นแต่เรื่องธุรกิจและงานสังคม เธอรอให้เขาขอแต่งงานแต่ก็ไม่ได้เอ่ยปากออกมาเสียที
แอนนาบังเอิญพบบทความเกี่ยวกับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ หรือวัน Leap Day ซึ่ง 4 ปีวันนี้จะมีเพียงครั้งเดียวที่ผู้หญิงสามารถขอผู้ชายแต่งงานได้ในประเทศไอร์แลนด์ … ช่างเป็นเวลาประจวบเหมาะที่คู่หมั้นหนุ่มของเธอต้องเดินทางไปที่นั่นพอดี เธอจึงลงมือแพ็คกระเป๋าออกเดินทางไปยังประเทศไอร์แลนด์เพื่อไปขอชายหนุ่มแต่งงานซะเลย
ทว่าการเดินมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เจอทั้งพายุ ตกรถไฟ อุปสรรคหลายอย่างทำให้การเดินทางไปถึงเมืองดับลินในไอร์แลนด์ให้ทันวันที่ 29 ค่อนข้างลำบากและดูท่าว่าจะไม่ทันเสียด้วย ระหว่างการเดินทางนั้นทำให้เธอไปพบกับชายหนุ่มแปลกหน้าชื่อ ดีแคลน (Matthew Goode) เจ้าของโรงแรมโกโรโกโสที่กำลังจะถูกยึด ด้วยความจนตรอกชายหนุ่มจึงรับจ้างขับรถไปส่งเธอที่ดับลินให้ทันที่เธอตั้งใจจะขอแฟนแต่งงาน
หลังจากนั้นชีวิตของเธอก็สุดจะผจญภัยอย่างที่เธอไม่เคยมีมาก่อน เธอไปที่นั่นทันแต่ความพีคของหนังไม่ใช่การขอแต่งงานกับเจเรมี่ บางอย่างทำให้แอนนาฉุกคิดว่า เธอกับเขารักกันมากพอไหม การพิสูจน์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้แอนนาตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่และกลับไปที่โรงแรมของดีแคลนอีกครั้งhttps://www.youtube.com/embed/qDjr1PieZ0Q?feature=oembed
กลับมาพูดถึงประเพณีแสนน่ารัก ทำไมจึงเลือกเอาวันนี้ที่ 4 ปีมีครั้ง ซึ่งดูยาวนานและต้องรอคอย แต่สำหรับชาวไอริชแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาจะให้สิทธิ์ผู้หญิงในการคุกเข่าขอผู้ชายแต่งงานได้เฉพาะวันนี้วันเดียว โดยในวันนี้ ผู้หญิงพร้อมจะแต่งงานกับชายที่ตัวเองรัก พวกเธอจะเตรียมแหวนหรือสิ่งของแทนใจมอบให้ฝ่ายชาย พร้อมกับกล่าวขอชายหนุ่มแต่งงานด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าผู้ชายคนไหนตอบตกลงก็ถือว่าทั้งคู่ได้หมั้นกันไป แต่ถ้าหากฝ่ายชายไม่ยินยอม เกิดปฏิเสธแฟนสาวของตัวเองขึ้นมาเมื่อไร เขาก็จะต้องถูกลงโทษ ฐานทำให้แฟนสาวหน้าแตกและอับอาย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้กับแฟนสาวรวมถึงเสื้อผ้าเครื่องประดับ หรือในบางสังคมมีธรรมเนียมว่า หากฝ่ายชายที่ปฎิเสธแต่งงานกับแฟนสาวในวันนี้ จะต้องรับผิดชอบด้วยการซื้อถุงมือ 12 คู่ ให้เธอเพื่อปิดบังนิ้วนางที่ไร้แหวนหมั้นหลังจากโดนปฏิเสธอย่างน่าอับอาย
สำหรับการอนุญาตให้ผู้หญิงขอแต่งงานผู้ชายได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นความเท่าเทียมทางประเพณีระหว่างชายกับหญิง ในทางกลับกันวันนี้เป็นวันดีสำหรับชาวตะวันตก แต่ในบางพื้นที่ของสกอตแลนด์ กลับเชื่อว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันสุดซวยเหมือนกับวันศุกร์ 13 ถ้าผู้ใดเกิดวันนี้จะไม่ค่อยดีนัก ส่วนในกรีซก็เช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าหนุ่มสาวที่แต่งงานกันวันนี้ หรือแต่งงานกันในปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ชีวิตคู่จะมีแต่ความบาดหมางไร้ซึ่งความสุข
Did You Know
Leap Year คือปีที่โลกหมุ่นรอบดวงอาทิตย์ด้วยอัตราความเร็ว 30 กิโลเมตร ต่อวินาที และต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น 365 วันหรือ 1 ปี ซึ่งเรียกว่าปีปกติสุรทิน (Common Year) แต่ระยะเวลาจริงๆ นั้น ไม่ใช่ 365 วันพอดีเป๊ะ แต่เป็น 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที หรือ 365.2524 วัน
ดังนั้นส่วนที่เกินมา .25 วัน จึงถูกนำมานับรวมให้ทุกๆ 4 ปี มีวันเพิ่มขึ้นมา 1 วัน แทน .25 วันที่หายไปในแต่ละปี เพื่อให้การนับสอดคล้องกับตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ โดยวันดังกล่าวถูกเพิ่มเข้าไปในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ (Leap Day)
On This Day
นักวิชาการสมัยยุคกลาง Johannes de Sacrobosco ตั้งทฤษฏีว่าวันที่ 29 นั้นก็มีส่วนเกิดจากการต่อสู้ทางอำนาจบนปฏิทินในยุคโรมัน ซึ่งมีเดือนกุมภาพันธ์เป็นเหยื่อของออกัสตัสซีซาร์ ย้อนกลับไปในยุคของซีซาร์คนก่อนหน้าออกัสตัส คือ จูเลียสซีซาร์ ในยุคนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี 30 วัน เหมือนเดือนทั่วๆ ไป ส่วนเดือนที่ตั้งชื่อตามวันเกิดของเขาคือ กรกฎาคม (Julius- July) ได้วันเพิ่ม 1 วัน เป็น 31 ส่วนสิงหาคมนั้นมี 29 วัน เมื่อออกัสตัสซีซาร์ขึ้นสู่ตำแหน่งเขาได้ ‘ขอยืมวัน’ จากเดือนกุมภาพันธ์ 2 วัน เหลือ 28 วัน พร้อมกับตั้งชื่อให้กับเดือนเกิดของตัวเองใหม่ คือ สิงหาคม (Augustus-August) ทำให้สิงหาคมมี 31 วัน ระบบนี้ถูกสืบทอดจากปฎิทินจูเลียนมาจนถึงปฎิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันมาถึงทุกวันนี้
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ในประเทศไทยนั้นถูกนำมาใช้ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน เรียกว่า ‘เทวะประติทิน’ ซึ่งเป็นการนับปฏิทินสุริยคติ (นับตามดวงอาทิตย์) แบบสากล จากการใช้ปฏิทินจันทรคติ (นับตามดวงจันทร์) ในพ.ศ. 2432 ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวสู่ความสากลของสยามประเทศเลยทีเดียว
ไม่ว่าวันนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เกิดจากการคำนวณคณิตศาสตร์และการหมุนตัวของโลกกี่รอบก็ตาม 29 กุมภาพันธ์ของทุก 4 ปี คือวันที่พิเศษไม่ต่างจากในวันที่อื่นๆ ของทุกปี ถ้าผู้หญิงอยากขอผู้ชายที่รักแต่งงาน…ก็ขอพวกเขาเถอะ