Food Bank ที่พึ่งปากท้องยามยาก
จากมาตรการณ์กักตัวเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายอาชีพไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม กลุ่มคนที่ลำบากสุดคงไม่พ้นชนชั้นแรงงาน หาเช้ากินค่ำ
สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งถ้าติดตามข่าวต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา โดยเฉพาะระยะหลังๆ มานี้จะได้ยินว่าชาวเมืองอเมริกันจำนวนมากเยียวยาปากท้องช่วงกระเป๋าแห้ง ด้วยการไปขอปันส่วนอาหารจาก Food Bank หรือ ธนาคารอาหาร
Food Bank คืออะไร? อาหารฝากธนาคารหรือ?
Food Bank หรือ ธนาคารอาหาร ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดในการสะสมหรือถนอมอาหารมาใช้ในยามยาก โดยแต่ละพื้นที่มีการพัฒนาและตีความ Food Bank แตกต่างกันไป ตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
ธนาคารอาหารแห่งแรกของโลก ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1967 จากนั้นก็แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ละประเทศมีการรวมกลุ่มและวิธีบริหารจัดการแตกต่างกันไป หลายๆ แห่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวโยงกัน เพียงแต่มีจุดร่วมเรื่องแนวคิดคล้ายกัน คือ ‘การแบ่งปันอาหาร’ หรือ ‘การสะสมอาหาร’
อย่างที่ธนาคารอาหารแห่งสหรัฐฯ นั้นเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและหิวโหยในอเมริกา รับบริจาคเงินจากมหาเศรษฐี หรือรับบริจาคอาหารเหลือจากร้านอาหาร ร้านค้าปลีก หรือโรงงาน นำมาจัดสรรปันส่วนแจกจ่ายให้กลุ่มเด็ก, คนแก่, ทหารผ่านศึก หรือคนไร้บ้าน โดยใช้ระบบอาสาแบบที่เราคุ้นๆ ตาบ้างในภาพยนตร์
ขณะที่ออสเตรเลีย ธนาคารอาหารส่วนใหญ่ดําเนินการในรูปแบบ ‘คลังสินค้า’ ที่จะรับบริจาคและจัดเก็บอาหาร จนต่อมาแนวทางนี้ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ
ต่างจากญี่ปุ่น ที่มีธนาคารอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการภาวะภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งได้รับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพเรื่องการจัดการ
สำหรับประเทศไทย การบริจาคแบ่งปันอาหารเป็นเรื่องสามัญของสังคมไทยที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ ไม่ต้องรอให้เกิดภัยพิบัติหรือพิษเศรษฐกิจ คนไทยพร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือในรูปแบบของการให้ทานเสมอ อาจเพราะนิสัยโอบอ้อมอารีแบบไทยๆ บวกกับความศรัทธาเรื่องการทำทานแบบวิถีพุทธ
ยิ่งช่วงเวลายากลำบากนี้ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสถานที่ศูนย์รวมของชุมชน จะถูกยกระดับสถานะเป็นพื้นที่แบ่งปันอาหาร และไม่ว่ามันจะถูกเรียกชื่อว่าอะไร ท้ายสุดแล้ว คือ การนำอาหารมาแจกจ่ายให้กับผู้ขาดแคลน ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือไม่มีรายได้หาเลี้ยงครอบครัว
หากแต่ให้ไล่แนวคิด Food Bank อย่างเป็นรูปธรรมในไทย โครงการ “ธนาคารอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติ” หรือ Disaster Food Bank คือ หนึ่งในนั้น ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2561 เป็นการต่อยอดมาจากเครือข่ายอาหารเพื่อเพื่อน ที่พัฒนาแนวคิด ‘ธนาคารอาหารชุมชน’ จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้พัฒนาแหล่งผลิตอาหารที่เลี้ยงตัวเองได้ และเหลือจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มตั้งแต่สร้างแหล่งอาหารเพิ่มเติม หรือเมื่อคนเดินเข้าป่าสามารถเก็บพืชผักตามธรรมชาติมาเป็นอาหารได้
จากจุดนั้น Disaster Food Bank ได้พัฒนามาเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตที่ปราศจากสารเคมี, ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise), ผู้บริโภค,องค์กรอิสระ และองค์กรภาครัฐ ผ่านการสนับสนุนจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาจับมือสร้างพื้นที่ต้นแบบของระบบอาหารปลอดภัยและความมั่นคง ด้วยปรัชญาการทำงานที่ยึดการ “สะสม แลกเปลี่ยน หมุนเวียน แบ่งปัน สร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ช่วงแรกกิจกรรมของโครงการธนาคารอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติ เป็นการประสานผลผลิตทางการเกษตรและผลิตผลแปรรูปปราศจากสารพิษจากหลายๆ จังหวัดในชุมชนเกษตรทั่วประเทศ มาพัฒนาเป็นตลาดร่วมกัน เน้นการพึ่งพาตนเองให้อยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นหลัก
จนเมื่อได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสสส.จึงมีการจัดกิจกรรมเชิงรุกและเชิงป้องกัน เน้นสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติ และการส่งเสริมการจัดการฐานข้อมูลด้านอาหารในการรับมือภัยพิบัติ ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนธนาคารอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติ เช่น การตั้งเป็นสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส (THAI ORGANIC PGS FEDERATION) นอกเหนือจากการปันอาหารภายใต้ชื่อแสนน่ารักว่า ‘ปันอิ่ม’
ไม่ว่าแนวคิดชื่อ Food Bank จะถูกก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่ทุกแห่งมีจุดร่วมเหมือนกันประการหนึ่ง คือ ปรารถนาเยียวยาเรื่องปากท้อง แม้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความหิวโหย แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ในยามยาก
รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : ธนาคารอาหาร,
http://www.foodbankthailand.org
#GMLive #Vision #FoodBank #ธนาคารอาหาร #โควิด19 #ปันอิ่ม #ธนาคารอาหารชุมชน