วิกฤติ COVID-19 ไทย ในวันที่แรงงานถูก ‘ทิ้งไว้’ ข้างหลัง
หากจะกล่าวกันถึงประวัติศาสตร์ของ ‘วันแรงงาน’ ของประเทศไทยแล้วนั้น สามารถสืบย้อนกลับไปได้เกือบร้อยปี เกี่ยวเนื่องกับการมีอยู่ของแรงงานในระดับสากล แต่กว่าที่สภาพการทำงานของเหล่าชนชั้น ‘แรงงาน’ ทั้งหลายจะเข้าที่เข้าทาง ก็ต้องอาศัยเวลาอยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน ในการก่อร่างสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น
ชนชั้นแรงงาน เป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่และบีบบังคับจากเจ้าของกิจการในทุกมิติ การมีกฎหมายแรงงาน สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน และให้สิทธิ์อันพึงมีพึงได้แก่ชนชั้นที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ ที่อาจจะถูกมองข้ามไป
สิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ที่กล่าวไปนั้น อาจจะมาในรูปแบบของค่าจ้างล่วงเวลาทำงาน, จำนวนวันลา, สิทธิ์การลาคลอด, เงินประกันสังคม และวันหยุดตามประเพณีต่างๆ และถือว่าวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี คือวันที่เฉลิมฉลองความสำคัญของชนชั้นแรงงานทั้งหลาย
หากแต่ ท่ามกลางวิกฤติของเชื้อร้าย COVID-19 ที่กำลังระบาดและแพร่กระจาย สร้างความเสียหายอย่างเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนนั้น กำลังก่อเป็นปัญหาสำคัญ ไม่เพียงแต่เฉพาะชนชั้นที่เหนือขึ้นไป แต่กระทบถึงภาคแรงงานส่วนใหญ่อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
เมื่อภาคการผลิตจำต้องปิดตัว ภาคการบริการไม่สามารถดำเนินต่อไปท่ามกลางนโยบายการ Lockdown เมือง อันเป็นวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้นำประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อร้าย นั่นส่งผลกระทบต่อเนื่องกันอย่างเป็นลูกโซ่ต่อภาคแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามไปด้วย
เพราะเมื่อภาคการผลิตปิดตัวลง ความต้องการแรงงานก็ลดน้อยตาม นั่นทำให้ภาพของการต่อคิวรับข้าวสารอาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องอุปโภคบริโภค กลายเป็นสิ่งที่เริ่มเห็นได้อย่างชินตา และความกดดันจากการขาดรายได้ ก็ตามมาด้วยอัตราการฆ่าตัวตายของภาคแรงงานที่เริ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540
ซ้ำร้าย นโยบายของภาครัฐนั้น เกิดขึ้นเพียงมิติเดียวในการสกัดกั้น แต่ในมิติของการ ‘เยียวยา’ กลับขาดไร้ ไปได้อย่างไม่ทั่วถึง ก่อให้เกิดภาพอันน่าสลด ที่เหล่าผู้ใช้แรงงาน ผู้ที่ทำงานหาเข้ากินค่ำ เดินทางไปเรียกร้องสิทธิ์ที่ตนพึงได้และการช่วยเหลืออยู่หน้ากระทรวงการคลัง เป็นภาพที่ชวนให้สลดหดหู่หัวใจอยู่ไม่น้อย
ผู้เขียนอาจจะไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน แต่ก็เข้าใจความลำบากของการไม่มีที่พึ่ง ไร้หนทางไป และไร้การเยียวยาต่างๆ ที่ภาคแรงงานประสบอยู่ คงไม่มีมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนใด อยากจะงอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือจากภาครัฐประหนึ่งว่าเป็น ‘ขอทาน’ เพราะภาคแรงงาน ก็เป็นกลุ่มชนชั้นที่กัดฟันต่อสู้กับทุกความยากลำบาก และอยู่นอกสายตาของภาครัฐมาโดยตลอด แม้จะเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญก็ตาม
วินาทีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของประเทศไทยเริ่มลดน้อยลง เราอยากจะส่งเสียงไปยังภาครัฐ ให้เริ่มทบทวนถึงการช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟูภาคแรงงาน ที่เป็นเฟืองจักรสำคัญของระบบนิเวศน์เศรษฐกิจ ให้สามารถกลับมายืนหยัดได้อย่างสง่าผ่าเผย มีหนทางไป มีช่องทางทำกิน และสามารถต่อยอดไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปได้
อย่าให้วันแรงงาน เป็นเพียงอีกหนึ่งวันหยุดตามหน้าปฏิทิน แต่ขอให้เป็นการระลึกไว้เสมอว่า ในทุกสังคม ภาคแรงงานนั้นมีคุณค่าและเป็นหนึ่งใน ‘ประชาชน’ ที่ควรได้รับสิทธิ์อันพึงมี ไม่แตกต่างอะไรกับชนชั้นและภาคอื่นๆ ของสังคม
อย่าปล่อยพวกเขาไว้ในเบื้องหลัง…
เพราะถ้าพวกเขาล้มพัง… เสียงระบบล่มสลายมันดัง และเสียหายมากกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิดเอาไว้ หลายร้อย หลายพันเท่า