ได้เวลา ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ (เศรษฐกิจ)
เคยมีคำกล่าวโบราณบอกไว้ว่า ‘นักรบไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก’ เพราะจะทำให้พ่ายแพ้ต่อสงคราม และทำให้กลยุทธ์ที่วางไว้เกิดความเสียหาย แต่กับปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ความหมายนี้ต้องกลับตาลปัตรไป
เพราะช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวการณ์ระบาดขั้นรุนแรงนั้น บิ๊กตู่ ก็ต้องตัดสินใจไปขอคำปรึกษา…เอ…จะเรียกว่าอัญเชิญปรมาจารย์หมอของประเทศเข้าร่วมประชุมเครียดเลยดีกว่า
เพราะในที่ประชุมก่อนสถานะการระบาดจะลามไปถึงขั้น 3 นั้น เต็มไปด้วยบุคลากรทางแพทย์ขั้นเทพที่ระดับโลกต่างยอมรับ เข้ามาระดมหัวคิด จนบรรดาแพทย์หน้าสนามศึกต่างเป่าปากแบบโล่งอก เพราะมีทั้ง…
- ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรช : อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
- ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร : สมาชิกวุฒิสภาไทย, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
- ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ : หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศ. นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และอดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
- ศ. พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ : นายกแพทยสภา และอดีตหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
แถมยังมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมหารือพร้อมนำเสนอผลการศึกษา และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบมืออาชีพ
ผลก็คือวันนี้ประเทศไทย มีคนติดสะสม รวมยอดสะสม 2,966 ราย กลับบ้านไปแล้ว เสียชีวิตรวม 54 ราย และอัตราการพบผู้ป่วยเพิ่มก็ลดลงต่อเนื่อง กลายเป็นประเทศกลุ่มท้ายๆ ของโลกที่มียอดผู้ป่วยและตายน้อย เรียกว่ารับมือกับโควิด-19 ได้อย่างเฉียบขาด จนนานาชาติให้คำชื่นชม
จริงๆ แล้วการประกาศตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดโควิด-19 (ศบค.) ขึ้นมา ถ้าบอกว่ามันเป็นสัญญาณสร้างทีมรับมือภารกิจเร่งด่วน แบบระดมความคิดเชิงบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 แบบเร็วไว…อันนี้ไม่เถียง
แต่มองอีกมุม มันก็คงเพราะนี่เป็นปัญหาในแบบที่โลกไม่เคยเจอ และประเทศไทยไม่เคยพบ ฉะนั้นจะปล่อยให้มันมาบรรจบระหว่าง ‘การเมือง’ และ ‘การแก้ไข’ ไปพร้อมๆ กันเหมือนการบริหารบ้านเมืองทั่วไปไม่ได้
การขับเคลื่อนที่สะดุด หรืออาจจะเพราะไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการแก้ปัญหาของทีมบริหารรัฐบาลตอนนี้ มันจึงบีบให้ต้องเกิด ศบค. ขึ้นมา เพื่อหา ‘ม้าศึก’ ที่เหมาะต่อการรบเฉพาะด้าน
อย่างตอนนี้ ด้านสุขภาพ = เราผ่าน!! (ถ้าไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์อีก)
แต่ภัยพิษจากโควิด-19 ยังไม่จบ แม้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่คนไทยฝันไว้ว่ามัน ‘กำลังจะถึงตอนจบ’ ก็ตาม
ทว่าภัยคู่ขนานด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังจะเป็นภัยพิบัติระลอกสอง จนเชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลเริ่มรับมือไม่อยู่ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่บิ๊กตู่ต้องเริ่มคิดหนัก เพราะไหนจะต้องร่อนจดหมายหา 20 มหาเศรษฐีเพื่อมาช่วยกันแก้ปัญหาประเทศตามแต่ละสไตล์ ไหนจะต้องออกมาตรการเยียวยาหลากรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นมาตรการแบบหยอดเชือกให้คนจับได้แบบปลายๆ ประมาณใครคว้าไว้ได้ก็คว้าไปก่อน
แต่อย่างว่าแหละ พอประชาชนในประเทศเริ่มส่งสัญญาณ ‘ไม่มีแดก’ เพราะตกงาน บริษัทปิด ไม่ปิดก็ถูกหั่นเงินเดือน ระทมทุกข์กันทั้งนายจ้างและลูกจ้างอย่างหนักหนา หันหน้าไปพึ่งได้แค่หวย แต่หวยก็สั่งยกเลิกออก…ชิบหาย!!
สัญญาณความไม่พอใจจึงยิ่งเริ่มเทซัดเข้ามา ความอึดอัดต่อคนที่เป็นมือกลยุทธ์ในทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ก็เริ่มพอกพูน โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่อยากให้ปลดออกหมด เพราะถูกมองว่าบริหารงานห่วย
เอาแค่การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่เหมือนจะเป็นความหวังเดียวของคนระดับล่างสุดๆ ก็เจอปัญญาประดิษฐ์เสิ่นเจิ้น (เดี๋ยวนี้ว่าไม่ได้แล้วเพราะเสิ่นเจิ้นพัฒนาไปมาก) วิเคราะห์ให้คนมีตังค์รับ 5 พันมาแดกดันว่าเป็นแค่เงินหลังตู้เย็นงี้
หลายคนจึงเริ่มเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด เอาคนเก่งมีสมองมีปัญญามาเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งจะเป็นรัฐมนตรีคนนอก หรือคนในที่มีประสบการณ์สูงจริง มาเป็นม้าศึกในตอนนี้ ก็ได้หมดถ้าสดชื่น
อย่างไรเสีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรืที่ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื้อหาที่หลายคนน่าจะแอบดีใจ (หรือไม่ไม่รู้) คือ การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีรายชื่อคณะที่ปรึกษาได้แก่
- ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธาน
- ศาสตราจารย์กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ รองประธาน
- ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กรรมการ
- ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย กรรมการ
- รองศาสตราจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กรรมการ
- รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการ
- พลตรี นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา กรรมการ
- นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการ
- นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ
- นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมการ
- นายสมชัย จิตสุชน กรรมการ
- เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
- รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย
ในรายนามเหล่านี้ บางคนอาจจะสงสัยในผลงาน แต่ถ้ามองแบบลึกๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่านประสารเอย / อ.วรากรณ์เอย / อ.สมชาย / อ.วีระ และอีกหลายท่านนั้น เรียกว่ามีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจที่แม่นเหมือนตาเห็น แถมหลายครั้งที่ออกมาให้ทิศทางเดินหน้าและแนวทางแก้ไขได้อย่างน่าสนใจทุกครั้งไป เพียงแต่ท่านเหล่านี้ยังไม่เคยถูกเชิญเข้ามาทำงานแก้ปัญหาประเทศอย่างจริงจังก็เท่านั้น
แต่ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วว่า การปรับเปลี่ยนเพื่อเปิดเกมรับศึกในช่วงปฐมบท ที่บิ๊กตู่ ดึงอำนาจมาจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขมาให้คนเก่งจริงแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น มันก็เวิร์คนะเว้ย…
ฉะนั้น ‘การเปลี่ยนม้าศึก’ เศรษฐกิจหนนี้ จะสมดั่งใจเฉกเช่นครั้นอัญเชิญปรมาจารย์หมอมาพิฆาตโควิด-19 ได้หรือไม่? คำตอบคงอยู่ในอีกไม่กี่อึดใจ…