ท่องไว้ 1 คน 1 ล้านบาท!!อย่าประมาทการเล่นทีเผลอของโควิด-19
แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ จะพอเบาใจขึ้นมาได้หน่อย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีตัวเลขเฉลี่ยเหลือวันละแค่หลักหน่วย จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้ออกมาขายของกันได้เสียที
ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้แอบกังวลพอควรว่า ‘ภาวะอัดอั้น’ ของคนที่ ‘ร้าง’ กิจกรรมทางสังคมไปนานๆ จะก่อให้เกิดความประมาทในการดูแลตัวเองเมื่อได้กลับสู่สังคมที่รอคอยอีกครั้งหรือไม่?
ตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีการโชว์ให้เห็นแล้วว่า แค่ ‘ประมาท’ หรือ ‘เผลอ’ ผ่อนคลายสิ่งที่เคยทำมาจากช่วงหลายเดือนที่แสนขมขื่นนั้นเป็นอย่างไร เพราะแค่เพียงแว่บเดียว!! ก็มีผู้ติดเชื้อพุ่งจากหลักพันไปเป็นหลักหมื่นกว่าๆ ได้เลย
ลองดูได้จากจำนวนตัวเลขของประเทศที่ใครๆ ก็ชื่นชมในตอนแรกว่ารับมือกับโควิด-19 ได้ดีมากๆ อย่าง สิงคโปร์ และรัสเซีย แต่พอคลายมาตรการผ่อนปรน ปล่อยให้เดินทางเข้าออกประเทศ และพื้นที่ต่างๆ อย่างอิสระ รวมถึงยังเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามสบาย ก็ทำให้เกิดตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น จนไม่รู้จะรับมือไหวได้แค่ไหน?
…อย่าพยายามคิดว่าทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว ผ่านไปเลย และหลงมั่นใจว่ากิจกรรมมันกล้าเปิด ก็ต้องเพลิดเพลินกันให้สุด
แน่นอนว่า การที่ไทยเราสามารถผ่อนปรนมาตรการได้นั้น มันก็ต้องสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ออกมาเตือนประเทศที่อยากผ่อนปรนการล็อกดาวน์ให้มีการพิจารณาคุณสมบัติของประเทศได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไทยเราก็เข้าข่ายนั่นแหละ!!
- ไม่ว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้แล้ว
- สามารถระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค
- ความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา
- โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณสุขต่างๆ ต้องมีการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ
- สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้
- และคนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ ภายใต้สังคมทีเปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
แต่ประเทศที่เข้าข่าย ก็ยังต้องประเมินผลได้ผลเสียให้รอบด้านด้วย เพราะถึงจะบอกว่าผ่อนปรนกันได้ แต่บรรดาธุรกิจที่จะเปิดให้บริการ ก็ต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การคัดกรองบุคคล ตรวจอุณหภูมิ จัดคิวในการเข้าพื้นที่ จำกัดคนเข้าพื้นที่
ส่วนห้างร้านต่างๆ ก็ไม่ควรหาเรื่อง คิดโปรโมชั่นอะไรแผลงๆ ที่ทำให้คนมารวมตัวกันมากๆ อีกทั้งยังควรต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรในการให้คนเข้าไปรับบริการ หรือมีการจัดหาอุปกรณ์รักษาความสะอาดในทุกๆ จุด
สิ่งเหล่านี้ ธุรกิจผู้ให้บริการยังต้องมีความรับผิดชอบอย่างจริง และห้าม ‘ประมาท’ จนกลายเป็น ‘ความเผลอ’ ให้โควิด-19 ย้อนกลับมาโจมตีอย่างเด็ดขาด
ในส่วนของประชาชนเอง พอเข้าไปใช้บริการสถานที่ต่างๆ ก็ต้องดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเองอย่างเคร่งครัด แต่ก่อนเคยใส่หน้ากาก ล้างมือก่อนหยิบจับสิ่งของ และยืนห่างผู้อื่นในระยะที่เหมาะสมอย่างไร ก็ควรทำต่อไป เพราะอย่าลืมว่า ประเทศไทยก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อทุกวัน แค่ดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นขีดอันตราย
*** อย่าลืมว่า ถ้าโควิด-19 ย้อนกลับมา สิ่งที่ทำมาตลอดอาจพังได้
…และอย่าลืมว่า 1 คนที่ต้องติดเชื้อ จะมีมูลค่าในการรักษาดูแลเท่ากับ 1 ล้านบาท หมื่นคนก็เท่ากับหมื่นล้านบาท!!
อย่างไรซะ ต่อให้กิจกรรมบางกลุ่มจะเริ่มเปิดให้บริการ แต่ในแง่ของมาตรการสำคัญๆ ก็ยังตรึงอยู่ ไม่ได้มีการผ่อนปรนแต่อย่างใด เช่น…
- ห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-4.00 น.
- การควบคุมการเข้าออกราชอาณาจักร อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะบางประเภทที่จำเป็นหรือขออนุญาตล่วงหน้า
- ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ จะต้องเข้าสู่การกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
- งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด
- มาตรการให้ทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อย 50%
- งดการเดินทางไปในที่ชุมนุมชนหรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก
สำหรับมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในตอนนี้ ได้ถูกแบ่งเป็น 4 ระยะ ครอบคลุมระยะเวลา 2 เดือน สำหรับระยะแรกนั้น กำหนดให้ผ่อนปรนเฉพาะกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่
- ตลาด เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย
- ร้านจำหน่ายอาหาร เช่น ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศครีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่
- กิจการค้าปลีก-ส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
- กีฬาสันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม
- ร้านตัดผมเสริมสวย ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม
- อื่นๆ เช่น ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์ (ส่วนคอนเสิร์ต-สนามมวย-สนามฟุตบอล รอกลุ่มสุดท้ายโน่น!!)
แต่ทั้งนี้ก็จะมีการประเมินผลจาก ศบค. ตลอด 14 วัน (นับจาก 3 พฤษภาคมเป็นต้นไป) และถ้าหลังจากครบ 14 วัน เกิดมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม อาจพิจารณาให้ปิดกิจการหรือสถานที่ตามเดิม แต่หากยังรักษาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้อยู่ในระดับต่ำได้ ก็จะพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการและกิจกรรมที่สามารถเปิดได้ในระยะที่ 2 ต่อไป…
#GMLive #Vision #การ์ดอย่าตก #โควิด19 #ผ่อนปรน