วิกฤติคนตกงานกับ ปากีสถานโมเดล!! เมื่อรัฐจ้างคนตกงานช่วงโควิด-19 ปลูกต้นไม้หมื่นล้านต้น
อยากจะคิดว่าโควิด-19 ก็แค่เรื่องที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป แต่ดูเหมือนว่าเจ้าเชื้อตัวนี้จะอยู่กับเราไปเช่นเดียวกันเชื้อ ‘HIV’ ตามที่ WHO บอก
ที่สำคัญถึงจะผ่านไปยังไง แต่เค้าลางของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่บางนักวิเคราะห์ประเมินว่ารุนแรงหนักสุดในรอบหลาย 10 ปีคงยังเป็น ‘โจทย์’ ที่ผู้ใหญ่ในหลายๆ ประเทศต้องคิดต่อไป
แต่ว่ากันตามจริง เรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ขยายวงกว้างแบบทั่วทั้งโลก เพราะเกือบทุกประเทศมีการปิดสนามบินไปจนถึงปิดเมืองล็อคดาวน์พื้นที่และประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการสัญจรเดินทางของผู้คน
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุกห่วงโซ่ ต้องหยุดหมด ไม่ว่าจะภาคขนส่ง, ค้าส่ง, ค้าปลีก, การผลิต, การบริการ, โลจิสติกส์ รวมถึงภาคท่องเที่ยวและการลงทุน
เมื่อทุกอย่างหยุด ผลลัพธ์ที่น่ากลัวสุดในตอนนี้ จึงมาตกที่เรื่องปากท้องของ ‘คน’
ใช่เลย ‘คนตกงาน’ ทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนี้ มีคนยื่นขอสิทธิประโยชน์ว่างงานมากกว่า 22 ล้านคน รวมไปถึงยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อาเซียน, อินเดีย และคาดกันว่าปัญหาการตกงานทั่วโลกจะถึงขั้นทุกๆ 10 คนจะมีคนตกงาน 1 คนกันเลยทีเดียว
ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศไทยรวมอยู่ในนี้ คาดว่ามีความเสี่ยงต่อการตกงานถึง 125 ล้านคน มากสุดในทุกๆ ภูมิภาค เนื่องจากส่วนใหญ่ประเทศแถบนี้ เน้นพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว ตลาดทุน ตราสารหนี้ และการลงทุนทางตรง (FDI)
ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดว่าจะบวกร้อยละ 3.3 โดยมีหลายประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบอย่างรุนแรง
สหรัฐอเมริการ้อยละ -5.9
สหภาพยุโรปร้อยละ -7.5
ประเทศญี่ปุ่นร้อยละ -5.2
เกาหลีใต้ร้อยละ -1.2
สิงคโปร์ร้อยละ -3.5
ส่วนประเทศจีน ถึงแม้เศรษฐกิจ ยังไม่ถึงขั้นหดตัวแต่การขยายตัวจะทำได้เพียงร้อยละ 1.2 ซึ่งก็ถือว่าต่ำสุดในรอบ 40 ปี
เห็นภาพแบบนี้แล้ว มันก็ไม่แปลกที่กว่า 90 ประเทศ พยายามออกมาเรียกร้องให้ IMF เข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน เพราะดูทรงแล้ว ยากจริงๆ ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น
ปัญหา คือ เมื่อคนตกงานมากขึ้น แล้วเขาจะใช้ชีวิตอยู่ต่ออย่างไร?
ตอนนี้ทางสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทยประเมินมาแล้วว่า ยอดคนตกงานรวมในไทยน่าจะวนเวียนอยู่แถวๆ 7 – 10 ล้านคน เข้าไปแล้ว และหากดูจากตัวเลขของรัฐบาลยิ่งหน้าตกใจ เพราะแค่คนไปลงทะเบียนขอ 5,000 บาทมีมากกว่า 27 ล้านคน
แต่สังเกตให้ดีว่าตัวเลขนี้ มันสวนทางกับรายงานสภาวะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2563 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่ามีผู้ว่างงานเพียงแค่ 3.92 แสนคนอัตราว่างงานร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
เอิ่ม!! เห็นตัวเลขอัตราว่างงานระดับประเทศที่ ‘ขัดแย้ง’ กับตัวเลขการว่างงานที่รัฐบาลกำลังให้ความช่วยเหลือแล้ว มันก็จะออกไปกันคนละทางพอควร และนั่นก็อาจจะเป็นชนวนให้นโยบายที่ออกมาช่วยเหลือ ไปคิดบนพื้นฐาน ‘ทุกคนมีงาน’ หรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้น ก็ชิหายกันไปละกัน
อันที่จริงหากลองมองภาพของคนที่กำลังตกงานอยู่ หลายคนไม่ได้อยากรับการช่วยเหลือในรูปแบบของการแจกฟรี แต่เพราะเขาไม่มีงาน มันเลยต้องลุ้นนโยบายแจกฟรี
ฉะนั้นถ้ามีงาน มีสิ่งที่ทำให้เขาได้ใช้คุณค่าในตัวเอง มาสร้างสรรค์ประโยชน์บางอย่าง แลกกับ ‘รายได้’ อันนี้น่าสนใจ
…ขอยกตัวอย่างหนึ่ง ที่ช่วยได้ทั้ง ‘คน’ และช่วยได้ทั้ง ‘สิ่งแวดล้อม’ ละกัน
ในประเทศ ‘ปากีสถาน’ ได้ต่อสู้กับปัญหาผู้ว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการจ้างผู้ว่างงานราว 63,000 คน ให้มาช่วยกันปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น
ย้อนไปในปี 2561 อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้ริเริ่มโครงการ ‘10 Billion Trees Tsunami’ โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นประเทศที่แห้งแล้งเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ล่าสุดโครงการนี้ได้ถูกนำมาต่อสู้กับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อช่วยประชากรของปากีสถานที่ตกงานและไม่มีรายได้ หลังจากปากีสถานใช้นโยบายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.63
ทางรัฐบาลได้ทำการจ้างคนว่างงานราว 63,000 คน เพื่อดำเนินการปลูกป่า และได้รับค่าตอบแทน 500-8,000 รูปี (ประมาณ 225-3,400) ต่อวัน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าจ้างปกติ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ถือว่าดีกว่าอยู่เฉยๆ โดยไม่มีรายได้ใดๆ เข้ามา
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทำงาน บรรดาแรงงานทุกคนถูกกำชับให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ให้ห่างกันราว 6 ฟุต (1.8 เมตร) ขณะนี้มีต้นกล้าพื้นเมืองประมาณ 30 ล้านต้นถูกปลูกในพื้นที่แคว้น ปัญจาบ ปากีสถาน จากเป้าที่ตั้งไว้ 50 ล้านต้นในปีนี้
…สิ่งที่เชื่อว่า ‘ประชาชน’ คนว่างงานหลายคนกำลังคิดเหมือนกัน คือ ตอนนี้บริษัททั่วไปก็แย่ และเขาก็คงไม่เปิดรับใครเข้ามาทำงานในตอนนี้ เพื่อเพิ่มความเสี่ยงในแง่ของต้นทุนที่ต้องเสียไปอยู่แล้ว
ส่วนบริษัทที่ประกาศปาวๆ ว่ากำลังเปิดจ้างงานเยอะแยะไปหมด ก็มักเป็นพวกสายเทคโนโลยีที่ต้องการทักษะเฉพาะ ซึ่งหากพูดกันตามความเป็นจริง ทักษะเฉพาะบางอย่างกับทักษะของคนตกงานจริงที่มีอยู่ค่อนประเทศในตอนนี้ ..ไปกันได้ไหมเอ่ย?
คนตกงานไม่เลือกงานหรอก แต่ประเด็น คือ ตอนนี้มันไม่มี ‘งาน’
ฉะนั้นแทนที่วันนี้จะมามองแค่ ‘เงิน’ ที่มีวันจะหมดไปทั้งคนรับและคนให้…เหตุใดไทยเรามิลอง ‘สร้างงาน’ ที่มีประโยชน์ มีปริมาณงานมหาศาล และคนทั่วไปทำได้ เอาแบบทักษะไม่ต้องสูง รายได้ไม่ต้องมาก แค่ให้พวกเขารู้สึกมีอะไรทำ ชีวิตยังมีคุณค่า และช่วยประคองตนต่อไปให้ได้ก่อน…น่าจะเป็นการให้โอกาสกับคนทุกคนในช่วงนี้ได้ดีทีเดียว
แต่ ‘งาน’ แบบไหน?…อันนี้คงตอบแทนไม่ได้จริงๆ
อ้างอิง: ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย / SmartSME
#GMLive #Vision #วิกฤตโควิด-19 #เศรษฐกิจ #ว่างงาน #ปากีสถานโมเดล