fbpx

ค่ายรถยนต์จะฟื้นตัว!! หากคนไทยยังต้อง ‘ห่างกันสักพัก’

อุตสาหกรรมรถยนต์ นับเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 พอสมควร โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนเม.ย. 2563 พบว่า…

ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 24,711 คัน ลดลงจากเดือนเม.ย.2562 ราว 83.55% เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันแบบทั่วถึง

ส่วนหนึ่งก็เพราะโรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ตอนนี้ปิดทำการ และส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ตอนนี้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งน่าจะพลาดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่วางไว้ 2 ล้านคัน

ขณะที่ ‘ยอดขาย’ รถยนต์ภายในประเทศเดือนเม.ย. มีจำนวน 30,109 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 65.02% และลดลงจากเดือนมี.ค. 49.91% ซึ่งยอดขายภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านและไม่อยากใช้เงินเพราะรายได้และความเชื่อมั่นลดลง จากการสอบถามโชว์รูมรถยนต์ พบว่าไม่มีลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา

ด้านการผลิตเพื่อส่งออก รถยนต์สำเร็จรูป เดือนเม.ย. 2563 ส่งออกได้ 20,326 คัน ลดลง 69.71% จากเดือนเม.ย.2562 โดยส่งออกลดลงในทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 12,389.07 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามภาพรวมตั้งแต่เดือนม.ค.- เม.ย. 2563 ตลาดรถยนต์มียอดขาย 230,173 คัน ลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกัน 34.17%  ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 509,603 คัน ลดลง 12.51% 

ดูจากตัวเลขตรงนี้ จึงไม่แปลกใจที่หลายๆ ค่ายรถยนต์ถึงต้องปิดสายการผลิตเป็นการชั่วคราว แม้จะเริ่มมีบางรายที่หันมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง รวมถึงปล่อยให้โชว์รูมเปิดให้บริการตามปกติ แต่ด้วยสถานการณ์ที่กระทบเป็นวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของหลายคน ทำให้กำลังซื้อสะดุด

แต่ใน ‘วิกฤติ’ ก็มักจะมี ‘โอกาส’ เพราะหากลองคิดกลับกัน แม้อุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบ แต่อาจจะเกิดความต้องการแฝงของผู้บริโภคบางกลุ่มแทรกเข้ามา

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า หากมีการปลดล็อคดาวน์ในระยะถัดๆ ไป และทำให้สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดงาน กลับมาเดินหน้าเหมือนเดิม แต่ในมุมของสาธารณูปโภคด้านการขนส่งสาธารณะจะรับมือไหวแค่ไหน เพราะเชื่อว่าจะมีปัจจัยอยู่ 2 ส่วนที่ยังเป็นปัญหาขัดข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไม่มากก็น้อยเป็นแน่

1.จากมาตรการ Social Distancing ที่ทำให้คน ‘ต้องห่างกันสักพัก’ เว้นระยะห่างแก่กันในทุกพื้นที่สาธารณะโดยอัตโนมัตินั้น น่าจะซึมซับจนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ของคนไทยไปเป็นที่เรียบร้อย คนจะระแวงกันและกัน แม้จะมีการใส่หน้ากากใส่กันก็ไม่วางใจ ซึ่งนั่นจะหมายถึงการเข้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องกังวล หากทุกอย่างกลับมาอยู่ในภาวะเดิม โดยเฉพาะหากทั้งรถไฟฟ้า ใต้ดิน และรถเมล์ยอมให้เบียดเสียดกันได้เช่นเคย ตรงนี้จึงน่าคิดอย่างมากว่าระหว่าง ‘ความเร่งรีบ’ กับ ‘ความปลอดภัย’ จะเลือกอะไรดี

2.เมื่อคนเริ่มติดพฤติกรรม Social Distancing และส่งผลต่อการตัดสินใจใช้บริการขนส่งสาธารณะในช่วงปกติ ก็หมายความว่าผู้ให้บริการ ก็อาจจะต้องปรับระบบการนั่ง ยืน ให้ห่างกันไปสักระยะหนึ่ง ส่วนจะนานแค่ไหนก็บอกได้ยาก แต่สิ่งที่จะเกิดปัญหาตามมา คือ ถ้าคง Social Distancing ไว้ ในจังหวะที่เศรษฐกิจพร้อมเปิดกันหมด โจทย์จึงอยู่ที่การจัดระบบคิวรถให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในเวลาเร่งด่วน และจะทำได้ดีแค่ไหน ถ้าทำไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาต่อชีวิตประจำวันของคนทำงานทันที 

ดังนั้นเมื่อคนยัง ‘กลัว’ ผู้อื่นในระยะที่วัคซีนยังไม่ถูกผลิต และก็ ‘กังวล’ กับการต้องใช้ชีวิต โดยเฉพาะการไปทำงานและทำธุระต่างๆ การหาวิธีเดินทางที่สร้างความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวได้มากที่สุด จึงไม่พ้นการออกรถนั่นเอง 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอยู่ที่ตัวค่ายรถยนต์ว่าจะสร้างแรงดึงดูดให้ได้แค่ไหน จะมีผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนของคนได้เพียงใด แล้วต้องงัดโปรโมชั่นแรงกว่าที่เคย เพื่อฟื้นกำลังซื้อมาควบคู่กันไปหรือไม่ รวมถึงสถาบันการเงินที่ตอนนี้ก็ต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์อย่างมากนั้น จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อแค่ไหน

หากปลดล็อคปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็มีโอกาสที่ตลาดรถยนต์จะกลับมาได้อีกครั้ง แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม… 

#GMLive #Vision #Car #อุตสาหกรรมรถยนต์

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ