พลิกโควิด…ให้เป็นโอกาส
เรื่อง: Mr. Len
…ปิดประเทศ!!
อาจจะมีคำๆ นี้แว่วเข้ามาในหูกันบ่อยขึ้น หลังจากที่การแพร่ระบาดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อย่าง Covid-19 (CO ย่อมาจาก Corona, VI ย่อมาจาก Virus, D ย่อมาจาก Disease และตัวเลข 19 มาจากปี 2019) ซึ่งเปิดฉากจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และกำลังกระจายวงกว้างไปทั่วทั้งโลก
หลายๆ ประเทศได้รับผลกระทบทั้งจากเชื้อไวรัส และหาทางป้องกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นภัยคู่ขนานที่น่ากลัวไม่แพ้พิษจากไวรัส คือ พิษเศรษฐกิจที่เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กัน
นั่นก็เพราะหากไวรัส Covid-19 ที่ยังคงลากยาวไม่รู้จบ ได้เริ่มส่งผลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ บ้างแล้ว และยิ่งโรคระบาด คุมไม่อยู่มากเท่าไร แต่ละประเทศก็คงต้องงัดยุทธวิธีเชิงปิดกั้นโซน เรียกว่าปิดประเทศหรือจังหวัดกันเลยก็ไม่ผิด ออกมาบังคับใช้เป็นการชั่วคราว
เรียกว่า ถ้าเป็นแบบนั้น…ภาพความพังของเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นคงลอยมาเข้มๆ กันเลยทีเดียว…
ประเทศไทยก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อต้นตอมาจากแดนมังกร ประเทศซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่มีส่วนในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของไทยด้วยแล้ว มันก็จะเริ่มส่งผลกระทบบางอย่างต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจในหลายๆ ระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
…ขนาดนั้นเลยหรือ?
ขนาดนั้นเลยแหละ…
เพราะถ้าลองดูตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมา (นับยอดสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 62) พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีกว่า 35.8 ล้านคน ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีรายได้กว่า 1.74 ล้านล้านบาท โดยมี…
- อันดับ 1 จีน 10.4 ล้านคน
- ส่วนอันดับ 2 มาเลเซีย 3.64 ล้านคน
- สำหรับอันดับ 3 คือ อินเดีย 1.8 ล้านคน
- อันดับ 4 เกาหลีใต้ 1.7 ล้านคน
- อันดับ 5 ลาว 1.68 ล้านคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2563 อาจจะมีมูลค่าประมาณ 550,000–560,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 1.1%-2.8% จากปี 2562 (หากไม่เจอไวรัสลากยาว)
แต่เมื่อตอนนี้เราก็ทราบกันดีว่า คนจีนต่างถอนสมอกลับประเทศ ส่วนทางไทยก็กวดขันและเฝ้าระวังคนที่จะเข้าประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่จีน นั่นจึงทำให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณซบเซาให้เห็นแบบทันตา เช่น หุ้นร่วง บริษัทใหญ่ๆ ชักชวนพนักงานหยุดงานแบบไม่จ่ายเงิน ช่วงเวลาแห่งการรับคนงานใหม่ต้องชะลอตัวไป และอื่นๆ
ใครอยากเข้าบ้านผีสิง ตอนนี้ก็ไม่ต้องไปไหน แค่ไปเดินบางห้างใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ก็ได้อารมณ์เดียวกัน เพราะจากที่เคยคึกคัก ด้วยนักท่องเที่ยว ตอนนี้ร้างจริงไรจริง จนหลายผู้ประกอบการที่เช่าขายอยู่ ต้องออกมาร้องขอให้เจ้าของห้างช่วยลดค่าเช่าลง บางห้างก็ยอมแบกให้ แต่บางห้างก็ไม่ไหว กระทบเป็นลูกโซ่
ถ้าปัญหา Covid-19 ยังคงยืดเยื้อ คุมคนไม่อยู่ เชื้อระบาด (ตอนนี้ก็มี ‘ผีน้อย’ หรือแรงงานผิดกฎหมายที่ไปทำในเกาหลี ขอเข้ามาไทยอีกกว่า 5 พันคน…เอาเข้าไป) ความเชื่อมั่นจะยิ่งหด ลามเป็นวิกฤติที่น่ากังวล เพราะไหนจะกำลังซื้อต่างชาติหาย แถมกำลังซื้อในประเทศก็เบาบาง เพราะคนไม่อยากออกไปในที่พลุกพล่าน
ต่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการให้นานาแบงก์ออกมาพักลดหนี้ทุกแบบ และลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ ซึ่งก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่นั่นมันก็แค่ระยะสั้นในการเยียวยา
เพราะอย่างที่บอกว่าภาคการท่องเที่ยวสำคัญมากต่อห่วงโซ่ของระบบเศรษฐกิจไทย ถึงขนาดที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ยังประเมินว่า หาก Covid-19 ทำนักท่องเที่ยวจีนหายยาว อาจทำให้ GDP ไทยลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์กันเลย
- ถ้าคุมได้ภายใน 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 80,000 ล้านบาท และฉุดให้ GDP ของไทยในปี 2563 ลดลงร้อยละ -0.4
- ถ้าลากยาวไปจนถึง 6 เดือน นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.5 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 170,000 ล้านบาท และฉุดให้ GDP ของไทยในปี 2563 ลดลงร้อยละ -1.0
ดังนั้นภาพที่จะล้มครืนแบบ ‘โดมิโน่เอฟเฟ็คต์’ คงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่ของการท่องเที่ยว…
ธุรกิจอีกหลายอุตสาหกรรมจะเจอผลกระทบแบบเลี่ยงไม่ได้ เช่น ธุรกิจการบิน ธุรกิจค้าปลีก ที่พักแรม ร้านอาหาร บริการขนส่ง ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจยังเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจต้นน้ำ เช่น ธุรกิจเกษตรปศุสัตว์ ที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าให้กับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม ที่พักต่างๆ ก็จะโดนเป็นระลอกต่อไปอีกด้วย
แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส…
แม้ภาพข้างต้นอาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ยังไงซะเราน่าจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า ‘เหรียญมีสองด้าน’
เพราะเมื่อมีวิกฤติ ก็มักจะมีโอกาสซ่อนอยู่
ทีนี้มาดูกันว่าอะไรคือโอกาสที่ว่า…
พอมีการระบาดของโรครุนแรงขึ้นเมื่อใด สิ่งแรกที่จะชะงัก คือ การเดินทางออกจากบ้านแต่ละครั้ง เพราะจะกลัวการไปรับเชื้อนอกบ้าน ทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเริ่มสะดุด
ดังนั้นการไปช้อปปิ้งนอกบ้าน กินข้าวนอกบ้าน ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ไปงานอีเว้นท์ หรือเข้าสถานบันเทิง รวมถึงการต้องใช้ขนส่งสาธารณะก็เป็นเป็นเรื่องที่คนจะไม่ทำ เพราะสถานที่ที่แออัด และต้องเบียดเสียดกับคนจำนวนมาก มีความเสี่ยง
…แล้วถ้าเกิดคนไม่ทำกิจกรรมเหล่านี้ พวกเขาจะทำกิจกรรมอะไรกันได้บ้าง?
ถ้าตั้งคำถามแบบย้อนศรในลักษณะนี้ขึ้นมา ก็เชื่อว่าไม่ต้องเล่าต่อ หลายคนก็คงร้องอ๋อแล้วล่ะ…
ใช่เลย!! ถ้าโรคระบาดเกิด คนก็จะพยายามอยู่แต่ในบ้าน แล้วสิ่งที่จะตอบสนองชีวิตคนได้ในยุคนี้ ก็หนีไม่พ้น ธุรกิจที่เกิดจากการตอบสนองความสุขภายในบ้านบางอย่างแก่ชีวิตคน…
…รู้ไหมว่าตอนนี้ สถานการณ์เลวร้ายของ Covid-19 กลับทำให้ราคาหุ้นในตลาดของ Netflix เด้งเพิ่มขึ้น โดย Dan Salmon นักวิเคราะห์ตลาดหุ้น BMO กล่าวไว้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ราคาหุ้น Netflix เพิ่มขึ้น 0.8% และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเรื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ให้บริการที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต อาจจะได้รับอานิสงส์ร่วมด้วย เพราะผู้คนจะหันมาท่องโลกอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นในระหว่างที่อยู่ในบ้าน เช่น Facebook, Amazon และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโซเชี่ยลมีเดียและช้อปปิ้งออนไลน์
นอกจากนี้บริการต่างๆ ที่เราเริ่มคุ้น จะยิ่งมาแรงยิ่งกว่าที่เคยในช่วงที่ผู้คนไม่ออกจากบ้าน เช่น…
- Video streaming
- Social media
- แพลตฟอร์ม Shopping online
- บริการ Food delivery
ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์จากการที่คนเริ่มอยู่แต่ในบ้าน และถือเป็นธุรกิจที่มาตอบโจทย์พฤติกรรมบางอย่างของคนที่เรียกว่า ‘ความขี้เกียจ’ ก่อนที่ไวรัส Covid-19 จะจู่โจมมนุษยชาติเสียอีก
อย่างไรก็ตาม เราก็คงต้องภาวนากันต่อไปว่า Covid-19 นี้จะกินระยะเวลาไปนานแค่ไหน…และไม่รู้ว่าวิกฤติเชื้อไวรัสจะไปก่อน หรือเศรษฐกิจไทยจะไปก่อน?
ที่มา: https://www.neatothailand.com/lazyeconomy/ เวทีสัมมนาหัวข้อ ‘How to รอด…รอดอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจร้อน การเมืองแรง’ / ศูนย์วิจัยออมสิน / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย / งานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล