fbpx

อภินัทธ์ จันทร์เจนจบ Cloud Computing

ขับเคลื่อน ‘ชีวิต’ ด้วยเทคโนโลยี

ดูเหมือนปัจจัย 4 ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนชีวิตของคนสมัยนี้อีกแล้ว ยังต้องมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยลำดับถัดมาที่เรากำลังวิ่งไล่กวดให้ทัน เพื่อให้ได้มาซึ่งกิจวัตรประจำวัน ความสะดวกสบาย และความได้เปรียบในเชิงแข่งขันทางธุรกิจและการทำงานที่เหนือกว่า

ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเราเช็กอีเมลบนสมาร์ทโฟนระหว่างแปรงฟันในตอนเช้า ไปนั่งทำงานในร้านกาแฟแทนการฝ่ารถติดเข้าไปตอกบัตรที่ออฟฟิศ ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วยแท็บเล็ตบนฝ่ามือ ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ อย่างการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้กรมสรรพากรก็สามารถจัดการผ่านเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย

น้อยคนจะรู้ว่า ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่เรียกว่า ‘คลาวด์ คอมพิวติ้ง’ และระบบเครือข่ายโทรคมนาคมที่ยอดเยี่ยม เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลาวด์ คอมพิวติ้ง ในปัจจุบันมีบริษัทของคนไทยแห่งหนึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรูปแบบชีวิตอิสระมาเป็นระยะเวลานานนับสิบปี ในนามบริษัท คลาวด์ คอมพิวติ้ง จำกัด และเพื่อให้เรารู้จักพวกเขามากขึ้น อภินัทธ์ จันทร์-เจนจบ ผู้อำนวยการฝ่ายขายจะให้คำแนะนำเราในเรื่องนี้

“บริษัท คลาวด์ คอมพิวติ้ง จำกัด เป็น 1 ใน 12 บริษัทของ คลาวด์ กรุ๊ป เราเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านคำปรึกษา จัดหา พัฒนา และวางโครงสร้าง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเราเป็น System Integrator ครบวงจร ให้กับหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่”

นอกจากงานวางระบบแล้ว อภินัทธ์บอกกับ GM ว่า บริษัทสามารถสร้างระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ไม่ว่าจะในรูปแบบ ภายในองค์กร (Private Cloud) และแบบสาธารณะ (Public Cloud) ซึ่งต่างเป็นระบบที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการและแบ่งปันทรัพยากร มีระบบกำหนดสิทธิผู้ใช้งาน และระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเราในฐานะผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลของเราอยู่ที่ไหน มีใครดูแลอยู่บ้าง ข้อดีที่ตามมาคือเราสามารถใช้งานระบบได้ในทุกเวลาและทุกสถานที่ ที่ระบบเครือข่ายครอบคลุมถึง

“จากประสบการณ์ที่ทำงานมา เราพบว่าหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าในอดีต เพราะเล็งเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี

เข้ามาช่วยในการทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร นอกจากนี้ยังช่วยลดการสร้างมลพิษให้กับโลกได้อีกด้วย”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างระบบการยื่นแบบเสียภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ระบบเลื่อนล้อต่อภาษีของกรมการขนส่งทางบก ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) เพื่อการบริหารงานภายในองค์กรขนาดใหญ่ต่างๆ แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก็ได้มีนโยบายนำร่องให้ข้าราชการบางส่วนงานทำงานอยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Virtual Office หรือ Mobile Office ซึ่งระบบงานหรือระบบการทำงานดังกล่าว ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งแทบทั้งนั้น

ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่ดังกล่าวเท่านั้น แม้แต่บริษัทที่อภินัทธ์ทำงานอยู่ตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาสู่ Mobile Office ผ่านเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้งภายในองค์กร โดยระบบที่มีชื่อว่า GroupWare ด้วยเช่นกัน

“บริษัทเราสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะนอกจากมีนโยบายให้ทำงานผ่านระบบงาน GroupWare แล้ว บริษัทได้เปิด Mobile Office ไว้ที่สีลมเพื่อให้พนักงานฝ่ายขายได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติงานชั่วคราว ไม่มีโต๊ะนั่งประจำ ทุกคนสามารถเข้ามาหารือกับทีมหรือกับพาร์ทเนอร์ได้ทุกเมื่อ เตรียมเอกสาร แล้วเมื่อพร้อม ก็ออกไปพบลูกค้าได้เลย ยกเว้นว่าวันไหนที่มีประชุมในเรื่องสำคัญๆ ทุกคนจะแวะเข้ามาที่สำนักงานใหญ่ กันสักครั้งหนึ่ง เรียกว่าอาทิตย์หนึ่งเราจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศแค่ 2-3 วันเท่านั้นเอง ซึ่งผมมองว่านี่คือข้อดีของเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ชีวิตของเรามีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องยึดติดสถานที่หรือเวลาเราก็ทำงานได้”

ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีของอภินัทธ์ ทำให้ทราบว่ารูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานเหล่านี้จะอาศัยเพียงแค่เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ในส่วนนี้ แม้อภินัทธ์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ในฐานะผู้ติดตามข่าวสารและอยู่ในวงการเทคโนโลยี จึงรู้ว่าตอนนี้ประเทศไทย

มีหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลระบบเครือข่ายโทรคมนาคมโดยเฉพาะ นั่นคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และเขาเองก็ฝากความหวังไว้กับหน่วยงานนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

“ตั้งแต่มี กสทช. เข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังกว่าที่ผ่านมา ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจาก กสทช. ได้เข้ามาช่วยดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องของค่าใช้บริการ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการให้บริการ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม”

อภินัทธ์บอกกับเราว่า ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นมาอีก จะพบว่าการที่ระบบเครือข่ายจะถูกจัดสรรและนำไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล้วนแต่ส่งผลดีต่อประเทศไทย ทั้งในแง่โครงสร้าง พื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการลงทุนของนักธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเราจะเป็นหนึ่งในชาติที่ก้าวเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

“ถึงตอนนี้ ผมมั่นใจว่า กสทช. จะผลักดันให้เราได้ใช้เทคโนโลยี 3G อย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้แน่นอน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริง จะช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังจะช่วยพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและด้านการดำเนินธุรกิจ คงมีการเปลี่ยนไปอีกเยอะทีเดียว ถึงวันนั้น ผมคาดเดาไม่ถูกเลยว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่มันจะต้องดีขึ้นแน่นอน”

GM ก็ขอยกมือสนับสนุนความคิดของเขาด้วยเช่นกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ