fbpx

ผู้อำนวยการ คนใหม่ ไทยพีบีเอส

“เขาออกแบบที่นี่ให้เหมือนเรือ” สมชัย สุวรรณบรรณ

ผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอส กล่าวกับ GM ขณะที่เขาพาเราเดินชมรอบๆ สถานที่ทำงาน และแวะถ่ายภาพตามจุดต่างๆ

ห้องประชุม คอนโทรลรูม ห้องส่ง ห้องสมุด โรงอาหาร ฯลฯ ทุกจุดดูสวยงาม โอ่อ่า สมกับที่พวกเขานำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในการลงทุนระยะยาว และเงินอีกส่วนถูกนำไปพัฒนา

รายการใหม่ๆ มากมาย ผลงานของพวกเขาทั้งประเภท สาระบันเทิงและรายการข่าว กำลังได้รับความนิยมและมีคำชื่นชมหนาหูขึ้นเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป เมื่อสถานีไทยพีบีเอส กำลังมีผู้อำนวยการคนใหม่เข้ามาแทน GM มาที่นี่วันนี้ เพื่อจะถามคำถามนี้ และอีกหลายๆ คำถามเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน จรรยาบรรณสื่อ นิยามของสื่อสาธารณะ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าพวกเขาเอาเงินปีละสองพันล้านบาทของเรา ไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด

สมชัย สุวรรณบรรณ

“เขาออกแบบที่นี่ให้เหมือนเรือ” สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอส กล่าวกับ GM ขณะที่เขาพาเราเดินชมรอบๆ สถานที่ทำงาน และแวะถ่ายภาพตามจุดต่างๆ ห้องประชุม คอนโทรลรูม ห้องส่ง ห้องสมุด โรงอาหาร ฯลฯ ทุกจุดดูสวยงาม โอ่อ่า สมกับที่พวกเขานำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในการลงทุนระยะยาว และเงินอีกส่วนถูกนำไปพัฒนารายการใหม่ๆ มากมาย ผลงานของพวกเขาทั้งประเภท สาระบันเทิงและรายการข่าว กำลังได้รับความนิยมและมีคำชื่นชมหนาหูขึ้นเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป เมื่อสถานีไทยพีบีเอส กำลังมีผู้อำนวยการคนใหม่เข้ามาแทน GM มาที่นี่วันนี้ เพื่อจะถามคำถามนี้ และอีกหลายๆ คำถามเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน จรรยาบรรณสื่อ นิยามของสื่อสาธารณะ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าพวกเขาเอาเงินปีละสองพันล้านบาทของเรา ไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด

GM : อยากให้คุณช่วยเล่าความหลัง เมื่อครั้งไปเริ่มต้นทำงานที่บีบีซี พวกนั้นสอนอะไรคุณบ้าง ในแง่วิชาชีพสื่อ และการเป็นสื่อสาธารณะ

สมชัย : สมัยนั้นพอไปถึง เขาก็มีกระบวนการฝึกอบรมให้เรา ปฐมนิเทศคนที่มาทำงานใหม่ เรียกง่ายๆ พอไปถึง ก็ไปเจอกับกระบวนการล้างสมองแบบของบีบีซีเลยนั่นแหละ การทำงานแบบบีบีซีจะต้องเป็นอย่างไร เราก็จะเจอกับหลักสูตรสำหรับผู้มาใหม่ ช่วงนั้นเป็นยุคทศวรรษ1980 โลกเรากำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็น สหภาพโซเวียตยังอยู่ กำแพงเบอร์ลินก็ยังอยู่ บีบีซีคัดเลือกคนจากหลายประเทศเข้าไปร่วมงาน สมัยนั้นไทยเราถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพของสื่อในระดับหนึ่ง ผมเห็นคนมาใหม่นั่งเรียงกัน 10 กว่าคน เราโดนถามทีละคน คุณเป็นใคร

มาจากไหน ประสบการณ์การทำงานเป็นอย่างไร ผมก็บอกเขาไปว่าเคยทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ที่เมืองไทยมา 7-8 ปี แต่ไม่เคยทำวิทยุ-โทรทัศน์ ตอนนั้นผมทำหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วเขาก็ไล่ถามคนต่อไป มีคนมาจากโรมาเนีย โปแลนด์ พวกประเทศที่อยู่ในค่ายเดียวกับสหภาพโซเวียต ซึ่งสมัยนั้นเขาถือว่ายังไม่มีสื่อที่เป็นสื่ออิสระ คนพวกนั้น

ก็บอกว่าไม่ได้ทำสื่อ แต่บางคนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรมาเนีย อะไรแบบนี้ พอถามครบทุกคน ครูบอกว่าคนที่สอนยากที่สุดในห้องคือคนที่มาจากไทย เพราะเคยทำสื่อมาแล้ว คนที่ไม่เคยทำสื่อมาก่อนจะสอนง่ายกว่า เพราะคนที่ทำมาแล้วจะคิดว่าตัวเองเก่ง ทำอะไรเป็นมาแล้ว จึงสอนยาก เพราะจะฝืนกับความรู้สึกที่ถูกสอน ที่บีบีซีเขาต้องการจะเริ่มวางหลักการสำหรับการทำสื่อสาธารณะ ว่าต้องมีหลักการอย่างไร เหมือนร่างแบบลงบนกระดาษขาว คนที่ทำงานมา 7-8 ปีปั้นยาก เพราะเริ่มมีนิสัย มีวิธีการทำงานที่เคยชิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมสื่อสาธารณะ ต้องมีการตรวจสอบอย่างไร ต้องแฟร์ ให้ความสมดุลอย่างไร เพราะคุณจะทำงานตามสไตล์หรือความเคยชินที่มีมา นั่นคือจุดเริ่มต้นของผมที่บีบีซี

หลังจากนั้น ก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าจะเป็นสื่อสาธารณะ บีบีซีมีกฎเหล็กอะไรบ้าง เริ่มเรียนรู้หลักจริยธรรมใหม่ เขาสอนไปตามลำดับ เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมของเขา สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับคุณ คือจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือให้กับสื่อที่ทำมากที่สุด และเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา คุณต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงที่ได้มามันจริงไหม ให้ความเป็นธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งไหม ถ้าเป็นกรณีข้อกล่าวหา ข้อโต้แย้ง ต้องเปรียบเทียบข้อมูลไหม ทุกอย่างเหล่านี้อยู่ในกระบวนการฝึกอบรม

สรุปหลักการสื่อสาธารณะที่ผมได้เรียนรู้มาจากบีบีซี คือทำอย่างไรให้สื่อที่คุณทำ นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อเสนอออกไปแล้ว ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้รับความเป็นธรรม ทุกฝ่ายมีสิทธิ์มีเสียงที่จะได้พูดในคอนเทนต์นั้น ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอไป เพื่อสร้างความไว้วางใจ นอกจากนี้ ผมได้รู้จักคำว่า Public Service Ethos นั่นคือหลักปฏิบัติของการทำงานสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจะต้องทำงานอย่างมีคุณภาพมาตรฐานตามวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะเป็นธงนำ

หลักสำคัญในการสร้างมาตรฐาน ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Accuracy, Impartiality, Balance, and Fairness คือต้องยึดถือความเที่ยงตรง เป็นจริง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ให้ความสมดุล และให้ความเป็นธรรม หลักการสำคัญดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความ

น่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากผู้ชมผู้ฟัง

GM : สื่ออื่นๆ ในประเทศอังกฤษก็มีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพที่ยอมรับในระดับโลก แต่อะไรคือมาตรฐานของสื่อสาธารณะอย่างบีบีซี ที่แตกต่างจากสื่อมาตรฐานทั่วไป หรือที่ต้องมีเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก

สมชัย : ความแตกต่างคงอยู่ที่ความเข้มข้นของสิ่งที่เรียกว่า Objectivity (ภววิสัย) และ Public Interests (ผลประโยชน์สาธารณะ) สองสิ่งนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อสาธารณะกับสื่อที่ทำงานภายใต้กลไกตลาด หรือสื่อที่ทำงานภายใต้อำนาจทางการเมือง เหตุที่สื่อสาธารณะมีความเข้มข้นในสองสิ่งที่ว่านั้นมากกว่า ก็เพราะสื่อสาธารณะมีหลักประกันของตัวเองอยู่แล้ว ว่าต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลของตลาดและอำนาจการเมือง โดยการสร้างกลไกต่างๆ ให้สื่อสาธารณะไม่ต้องสาละวนอยู่กับการพยุงตัวเองให้อยู่รอดทางการเงิน หรือต้องหวังพึ่งกลุ่มการค้าธุรกิจ ทำให้ต้องโอนอ่อนผ่อนตามผลประโยชน์ของธุรกิจ และไม่ให้อำนาจทางการเมืองเข้ามาชี้นำ ที่ผมพูดเช่นนี้ก็เพราะว่ามีบ่อยครั้งที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้า อาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์สาธารณะ และมีบ่อยครั้งที่ผลประโยชน์ของ นักการเมืองอาจจะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะ ในระยะยาว สถาบันสื่อสาธารณะจะต้องได้รับหลักประกันในเรื่องความเป็นอิสระทางการทำงานวิชาชีพ และความมั่นคงทางการเงิน จึงจะสามารถทำงานอย่างมีมาตรฐานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างจริงจัง และในทางกลับกัน สื่อสาธารณะจะต้องกำหนดจริยธรรม แนวปฏิบัติ และมาตรฐานของตนเองให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นตัววัด ใช้เป็นตัวตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าว จากผู้ชมผู้ฟัง ต้องมีกลไกรับการร้องเรียน และเนื่องจากไม่ใช้ตัวชี้วัดจากปริมาณผู้ชมผู้ฟังเป็นหลักสำคัญ จึงต้องมีกลไกสภาผู้ชมผู้ฟัง มาคอยชี้วัด

ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในสื่อสาธารณะ คือต้องรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ สื่อในอังกฤษไม่ใช่ทุกสื่อที่มีมาตรฐาน สื่อแท็บลอยด์ที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ก็มีเยอะ สื่อสาธารณะต้องใช้ผลประโยชน์สาธารณะ ต้องอ้างอิงได้ตลอดเวลา ผมเห็นอยู่บ่อยๆ ที่เขาเสนอประเด็นว่า “ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้เสียภาษีมีอะไรบ้าง?” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐ หรือจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้เสียภาษีคืออะไร สื่อสาธารณะต้องตั้งคำถามนี้อยู่ตลอดเวลา ว่าประชาชนผู้เสียภาษีจะเสียประโยชน์ไหม จะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่คุณประกาศมา หากเป็นสื่อที่มีมาตรฐาน อาจมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง เปรียบเทียบหลากหลายความคิดเห็น

GM : เวลาพูดถึงอะไรที่เป็นของสาธารณะ มักจะมาพร้อมกับคำว่าความไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคุณไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ไม่มีใครมาคอยเฆี่ยนตี บีบีซีมีการจัดการองค์กรอย่างไร ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นมาได้

สมชัย : มีการตรวจสอบโดยสาธารณะอยู่แล้ว เนื่องจากมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียน สื่ออื่นๆ ก็คอยตรวจสอบกันอยู่ เพราะบีบีซีในฐานะสื่อสาธารณะได้เปรียบพวกเขา เราไม่เหนื่อยในการไปหาเงินเอง ไม่ต้องวิ่งหาโฆษณา เพราะฉะนั้นการตรวจสอบโดยกลไกทางสังคมจึงต้องมีอยู่จากทุกด้าน ถึงแม้จะไม่มีผู้ถือหุ้น แต่มีคนโทรศัพท์มาด่าได้ วันไหนที่เสนอรายการข่าว สารคดี หรือสาระบันเทิงที่ขัดกับความรู้สึกของผู้ชมผู้ฟัง วันนั้นมีฟีดแบ็คไปถึงผู้ดำเนินรายการ มีสภาผู้ชมผู้ฟังอีกชุดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ มีกระบวนการคล้ายกันกับเป็นองค์รวม ทำเป็นระยะๆ สภาผู้ชมผู้ฟังจะสะท้อนไปสู่กรรมการนโยบาย คณะกรรมการนโยบายเอาเรื่องนั้นมากำกับดูแล หรือเอามาให้ฝ่ายบริหารอธิบาย ทำไมเกิดเหตุการณ์ไร้มาตรฐานขึ้นมาได้อย่างไร มีการรักษาผลประโยชน์ของผู้ชมผู้ฟัง เพราะผู้ชมผู้ฟังจ่ายเงินโดยตรงทุกๆ ปี

ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของจึงมีอยู่ตรงนั้น หากสิ่งที่เสนอออกมาทางหน้าจอไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ตรงตามที่คุณประกาศออกมาเองทางหน้าเว็บไซต์ ทุกคนมีสิทธิ์ไปโวยวาย ตำหนิติเตียน และขอให้คุณชี้แจง

GM : ที่ผ่านมา บีบีซีเองก็ถูกวิจารณ์เรื่องการบริหารองค์กรและประสิทธิภาพเหมือนกัน บีบีซีสร้างกระบวนการบริหารจัดการอย่างไรให้สาธารณะยอมรับ

สมชัย : ผมเห็นเขามีตัวเลข 2-3 ตัวที่ต้องคอยดูๆ อยู่ คือตัวเลข Management Overhead Ratio ซึ่งทุกปีในรายงานประจำปีจะโชว์เลย ว่าบีบีซีมีประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยแค่ไหน โชว์ถึงขนาดว่า Cost Per Minute หรือ Cost Per Hour ต้นทุนต่อนาที ต่อชั่วโมง ต่อรายการ จะแตกออกมาให้ชัดเลย ประชาชนที่เสียตังค์จะดูรายงานประจำปีได้จากหน้าเว็บไซต์ เห็นรายจ่ายแต่ละส่วน มันชัดเจนมากน้อยแค่ไหน เป็นการตรวจสอบที่ชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์กร ซึ่งก็ต้องแยกออกจากค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการและลงทุนระยะยาวอย่างชัดเจน ตอนผมเข้าไปใหม่ๆ ค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์กรอยู่ที่กว่า 30% ของงบประมาณทั้งหมด เขาก็ตั้งเป้าให้ลดลงมาเรื่อยๆ เคยมีการตั้งเป้าหมายว่าองค์กรแบบบีบีซี ที่ใช้เงินของประชาชน น่าจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์กรไม่สูงนัก คือไม่ควรเกิน 15% คือหมายความว่า พอได้เงินมาเป็นก้อน เราควรใช้เงินแค่ 15% ในการบริหารองค์กร ที่เหลือคือเอาไปใช้ทำรายการ และเอาไปลงทุนระยะยาว เพื่อเปิดพื้นที่อะไรก็แล้วแต่

ครั้งหลังสุดที่ผมเข้าไปดูในรายงานประจำปี ก็เห็นว่ายังไม่ถึงนะ ลงมาต่ำสุดแค่ 25% กระบวนการนี้มีการตรวจสอบอยู่ แล้วยังรายงานผลงานต่อรัฐสภาด้วย เป็นกระบวนการที่มีการตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ผมไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันบีบีซีมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้วนะ เป็นเรื่องยากเพราะบีบีซีมีคนตั้ง 2-3 หมื่นคน มีคอนเทนต์มากมาย มีช่องรั่วไหลอยู่ตลอดเวลา แต่มีการกำกับดูแลในระดับหนึ่งที่สามารถตรวจสอบได้ว่าองค์กรมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เมื่อเป็นองค์กรสาธารณะ สื่อมวลชนทั่วไปตรวจสอบอยู่แล้ว รัฐสภาก็ตรวจสอบ ผู้ชมผู้ฟัง

ก็ตรวจสอบ

GM : ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสเคยทำแบบนี้ไหม

สมชัย : เคยอยู่ครั้งสองครั้ง ผมเคยถามตัวเลขนี้ไป แต่เขาทำไม่ได้ คือผมเคยถามไปฝ่ายบัญชี แต่ละรายการมี Cost Per Minute เท่าไร เขาอาจมีความยุ่งยากทางบัญชีที่จะคิดมาให้เรา แต่เขาคิดรวมๆ มาให้ได้ ว่ารายการละครนี้สร้างมาทั้งหมดใช้งบ 3 แสน รายการอื่นๆ ใช้เงินเท่านั้นเท่านี้ แต่แยกออกมาเป็นต่อนาทีแบบนี้ไม่ได้

GM : Cost Per Minute ต้องรวมค่า Management ภายใน ของแต่ละรายการพวกนี้ด้วยไหม

สมชัย : ใช่ ต้องรวมหมดไง เขาเลยไม่รู้ว่าจะไปแตกออกมาอย่างไร อย่างพวกค่าใช้ห้องสตูดิโอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ แล้วต้องหารออกมา ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร แต่เรื่องแบบนี้ ทางบีบีซีเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ จึงหาสูตรคิดคำนวณออกมาได้ ของเราเองก็ควรต้องหาสูตรคิดนี้ออกมาให้ได้ รายงานประจำปีของไทยพีบีเอส ต้องแตกตัวเลขเหล่านี้ออกมาให้ได้ ว่าค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งรายการเป็นเท่าไร แล้วเราจะสามารถเทียบได้เลย ว่าทำไมรายการประเภทนี้ ค่าใช้จ่ายต่อ 1 นาที ถ้าเทียบกับอีกรายการจึงต่างกัน? มันต้องมีคำอธิบายใช่ไหม เช่น ละครตลกซิทคอม ราคานี้ต่อนาทีเท่านั้น แล้วรายการประเภทเวทีสาธารณะ หรือรายการประเภทตอบโจทย์ ค่าใช้จ่ายเป็นเท่าไร มีคำอธิบายให้ผู้ชมไหม เรื่องนี้เราคงต้องใช้เวลา เพราะกว่าบีบีซีจะบรรลุถึงจุดนี้ ได้ตัวเลขนี้ออกมาตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ เขาต้องใช้เวลานาน นักบัญชีของเราตอนนี้คงต้องปวดหัวเหมือนกัน ว่าต้องมาหารกันอย่างไรให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน อย่างคนที่จ้างให้มาเป็นพิธีกรออกรายการ ก็ต้องอธิบายได้ว่าทำไมรายการนี้ถึงจ้างมาด้วยเงินที่เยอะกว่าอีกรายการราวฟ้ากับดิน รายการที่ราคาแพงของเรา คนดูเยอะไหม เทียบกับรายการที่ราคาถูกกว่า คนดูเยอะกว่าไหม แล้วคุ้มไหมที่จะทำต่อไป ถ้ารายการราคาถูก คนดูน้อย ก็เออ…โอเค เพราะถูกๆ ไง คนดูถึงน้อย แต่ถ้าราคาแพง แล้วคนดูมาก เพราะราคาแพงคนดูถึงมากไง แต่ถ้าราคาแพงคนดูน้อย แล้วราคาถูกคนดูมาก แบบนี้ก็ต้องมีคำอธิบาย ซึ่งผมว่าต้องใช้กระบวนการที่ยาวนานกว่าเราจะสามารถตีพิมพ์รายงานประเภทนี้ออกมาได้

GM : หลังจากทำงานให้กับบีบีซีมานาน ทำไมคุณตัดสินใจกลับมาทำงานเมืองไทย คุณซื้อบ้านที่อังกฤษไว้แล้ว ครอบครัวก็ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ทำไมถึงกลับมาสมัครเป็นกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส

สมชัย : ต้องขอเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี 2535 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครๆ ก็คิดว่าประเทศไทยควรมีสื่อสาธารณะเสียที ตอนนั้นผมจำได้ว่ารัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน เคยพยายามทำอยู่ ด้วยการส่งคุณมีชัย วีระไวทยะ ไปที่บีบีซี ไปดูงาน ดูวิธีการหาเงิน วิธีทำให้มีธรรมาภิบาล ดูการสร้างคอนเทนต์ที่มีมาตรฐาน อาจารย์มีชัยไปดูหมด แต่ผมคิดว่าเรื่องสำคัญในตอนนั้นที่เขายังติดกันอยู่ คือเขาคงไม่รู้วิธีการหาเงินมาทำสื่อสาธารณะอย่างบีบีซี คุณจะออกกฎหมายมาเก็บเงินคนดูแบบบีบีซีคงไม่ได้ เพราะนั่นเขาทำมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเก่าแก่จนเหมือนเป็นประเพณีไปแแล้ว ถ้าจู่ๆ จะเอาวิธีการแบบนั้นมาทำในไทยซึ่งไม่เคยมีมาก่อน มันเป็นไปไม่ได้ การตัดสินใจเชิงนโยบายในตอนนั้น คือต้องทำแบบพาณิชย์ คือให้มีโฆษณา มีสัมปทาน ก็เลยเกิดเป็นไอทีวี ทีวีเสรีขึ้นมา พอเวลาผ่านไปนานๆ ก็พิสูจน์ว่ามันไม่ได้เป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริงตามความหมายดั้งเดิมที่อยากจะทำ ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาของตอนนั้น เมื่อไม่สามารถที่จะใช้เงินสาธารณะได้ ก็ต้องใช้เงินจากพาณิชย์ แล้วก็พบว่ามันไม่เวิร์ก เพราะขาดทุน ถ้าทำสัดส่วนรายการที่มีบันเทิงน้อยๆ จะไม่มีโฆษณาเข้า วิธีแก้คือต้องเปลี่ยนสัดส่วน พอเปลี่ยนสัดส่วนรายการ ก็เป็นเหมือนการเปลี่ยนอุดมการณ์ดั้งเดิมไป เลยเบี้ยวมาจนถึงปัจจุบัน ขาดทุนมากมายจนต้องมีกลุ่มทุนมาซื้อ

ผมติดตามเรื่องเหล่านี้มาตลอด และคิดอยู่เสมอว่าประเทศไทยต้องมีสื่อสาธารณะให้ได้ ผมทำงานกับบีบีซี ไปจนถึงวันที่ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยแล้ว เพราะมีพัฒนาการด้านสื่อมาก มีกลไกทางประชาธิปไตยแล้ว มีเสรีภาพสื่อแล้ว เขาก็เอาเงินที่ใช้ในบีบีซีภาคภาษาไทย ไปใช้กับสื่อภาษาอารบิก ผมจึงเริ่มคิดถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย ผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูปสื่อ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มันไปไม่ถึงไหน รัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงแม้ออกมา ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น กระทั่งก่อตั้งสื่อสาธารณะในไทยเมื่อปี 2550-2551 เกิดพระราช-บัญญัติที่ว่านี้ขึ้นมา ผมตัดสินใจว่าควรเข้ามาสู่กระบวนการปฏิรูปสื่อ

โดยไม่ใช่เพียงแค่คอยเขียนบทความเรื่องปฏิรูปสื่อ อีกทั้งผมคิดว่าการปฏิรูปสื่อผ่านกระบวนการของ กสทช. เป็นการปฏิรูปสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง คือการไปเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นเจ้าของกิจการมากกว่า แทนที่จากเดิมรัฐบาลหรือกองทัพจะเป็นเจ้าของคลื่น ก็แยกออกมาเป็นส่วนๆ เช่น สาธารณะ 20-30% เอกชนเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็รัฐอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็กระจายมันออกไป แต่ยังไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปสื่อในเรื่องคอนเทนต์มาก่อน เมื่อมีพระราชบัญญัติก่อตั้ง สสท. คือ ไทยพีบีเอส มีลักษณะการปฏิรูปที่เข้าสู่เรื่องคอนเทนต์ ผมคิดว่าถ้าอยากปฏิรูปสื่อ ไทยพีบีเอส

น่าจะเป็นชัยภูมิของผมได้ ในการช่วยปฏิรูปสื่อให้ชัดเจนขึ้นมา

โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการทำคอนเทนต์ให้มีความเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่ง พ.ร.บ. นั้นเขียนไว้ชัดเจน กระบวนการมันมาแล้ว เป็นโอกาสของผมที่จะเข้ามาปฏิรูปสื่อ ตอนนั้นก็เลยกระโจนมาสมัครเป็นบอร์ด ต่อมาเมื่อมีโอกาสที่จะไปทำงานเป็นผู้บริหารเองเลย ก็เลยลงสมัครเป็นผู้อำนวยการ เพราะตอนผมอยู่ในระดับบอร์ดก็ทำงานนี้ได้ระดับหนึ่ง ถ้าทำในระดับผู้บริหารก็อาจจะทำได้มากขึ้น

GM : หลายคนก็สงสัย ว่าคุณเป็นกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส อยู่ดีๆ ทำไมตัดสินใจลาออกมาสมัครเป็นผู้อำนวยการ

สมชัย : ถ้ากระโจนลงไปทำเองในฐานะผู้บริหาร จะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าชอบล้วงลูกอีก

GM : แสดงว่าที่ผ่านมา มีการล้วงลูกกันอยู่แล้วหรือ

สมชัย : เป็นการให้ฟีดแบ็คในการทำงานกลับไปเยอะเหมือนกัน ในฐานะกรรมการนโยบาย เรามีการกำหนดนโยบายหลายอย่าง ที่ยังรู้สึกว่าฝ่ายบริหารพยายามเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่ถึงในระดับที่เรา หรือหมายถึงตัวผมเองคาดหวังไว้ เราน่าจะทำได้มากกว่านี้ ในเรื่องการทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นทำไมถึงกระโดดลงมา ผมเคยประกาศไว้ตั้งแต่ตอนที่สมัครเป็นกรรมการนโยบายครั้งแรกสุด ว่าอยากเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อขอเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปสื่อด้วยคนหนึ่ง มีคนทำงานด้านปฏิรูปสื่ออยู่ข้างๆ ตัวเยอะ ผมเลยอยากเข้ามาร่วมในกระบวนการปฏิรูปสื่อ ผมถือว่านี่เป็นชัยภูมิอันหนึ่งที่ผมจะเข้ามามีบทบาทได้ เพื่อการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย โดยใช้ไทยพีบีเอส

GM : เป็นกรรมการนโยบายอยู่เอง ลาออกมาสมัครเป็นผู้อำนวยการเอง แล้วกรรมการชุดนี้เอง ก็เป็นผู้ที่เลือกคุณเข้ามาเอง คนภายนอกถามกันหนักเลยตอนนี้ ว่าตกลงการเลือกคราวนี้มีการล็อกสเปคหรือเปล่า

สมชัย : ผมเข้าใจว่ากรรมการนโยบาย 8 คนที่เหลือ ที่ผมลาออกมาแล้ว ทุกท่านก็มี Integrity ในตัวเอง แล้วผมก็ประกาศต่อที่ประชุมของกรรมการนโยบาย ว่าผมอยากลาออกเพื่อมาทำงานบริหาร เพราะมีงานหลายอย่างที่ผมรู้สึกว่า หากจะปฏิรูปสื่อให้ได้ผลจริงๆ จังๆ ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติให้ได้ครบ ผมไม่ได้คาดหวังว่า นโยบายทุกส่วน ทุกคำพูด หรือทุกตัวอักษร จะสามารถทำได้หมด อย่างน้อยที่สุด ถ้าหากว่าดูตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายที่เขียนไว้ ไทยพีบีเอสเป็นสื่อหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าตั้งคำถามว่า มีการล็อกสเปคไหม ผมคิดว่าแล้วแต่คนที่เขาไปอ่านดูว่า สเปคมันล็อกหรือเปล่า ถามว่า

เป็นคนข้างในเอง แล้วลงมาสมัครเอง แบบนี้มีสิทธิ์หรือเปล่า ผมก็ไม่มีปัญหาเหมือนกัน สำหรับการใช้สิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน เมื่อผมมีความตั้งใจแน่วแน่ ถ้าเผื่อผมต้องนั่งอยู่บนหิ้งอย่างเก่าต่อไป แล้วผมก็จะไม่สามารถทำงานที่ผมต้องการจะทำได้ เป็นการลิดรอนสิทธิในตัวผมหรือเปล่า

GM : กรรมการนโยบายชุดเดิมกำลังจะหมดอายุ กำลังจะมีการเลือกกรรมการนโยบายชุดใหม่เข้ามา คำถามคือ ทำไมไม่รอให้กรรมการ

ชุดใหม่เป็นคนเลือกผู้อำนวยการ เพราะว่าจะต้องเป็นทีมที่ต้องทำงานร่วมกันกับตัวผู้อำนวยการ ทำไมชิงลงมือ เรื่องจังหวะและเวลา บวกกับข้อหาเรื่องล็อกสเปค ตกลงกรรมการนโยบายจะเอาคุณสมชัยเข้ามาให้ได้เลยใช่ไหมคราวนี้

สมชัย : ถ้าหากจะรอ จนบัดนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการสรรหา เพราะยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรรมการนโยบายชุดใหม่ ถ้าหากคุณดูไทม์มิ่ง ต้นเดือนตุลาคม คุณเทพชัยจะหมดวาระ ในกฎหมายเขียนไว้ชัด มันไม่เหมือนกฎหมาย อสมท ที่บอกว่าจะส่งบอร์ดเข้าไปรักษาการจนกว่าจะได้ผู้อำนวยการคนใหม่ จนบัดนี้ อสมท ก็ยังเลื่อนอยู่ ถ้าหากรอจนกว่าจะมีคณะกรรมการบอร์ดชุดใหม่มารับหน้าที่ ผมว่าตอนนี้กำลังลุกลี้ลุกลนที่จะเลือกผู้อำนวยการหรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแห่งนี้ เพราะเหลือเวลาอีกเดือนกว่าๆ ถ้าเกิดเลือกสรรไม่ทัน ปัญหาจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า เนื่องจากเป็นนโยบายมาตั้งแต่สมัยแรกแล้วว่า ผู้บริหารสูงสุด เบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 คล้ายๆ มาเป็นทีม มาด้วยกันไปด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจาก อสมท คือผู้อำนวยการเข้าไปคนเดียว ก็ต้องทำงานร่วมกัน แต่ที่นี่เราออกแบบว่า ผู้บริหารเบอร์ 1 จะเป็นคนเลือกผู้บริหารเบอร์ 2 เบอร์ 3 ติดตามเข้ามา แล้วหมดอายุไปพร้อมกัน คำถามคือว่า เผื่อว่าบอร์ดใหม่

ยังไม่เป็นตัวเป็นตน ผู้อำนวยการก็จะหมดอายุพร้อมๆ กับรองอีก 3-4 ท่าน แล้วตกลงใครจะดูองค์กรนี้

GM : คนวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ในช่วงที่คุณเทพชัย หย่อง ประกาศถอนตัว คนก็ถามว่าทำไมคุณสมชัยไม่ถอนตัวในจังหวะนั้น เพื่อที่จะทำให้กระบวนการทั้งหมดในการสรรหามันโปร่งใสมากขึ้น จะได้ไม่มีข้อครหาติดตัวไปตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

สมชัย : ก็สามารถตั้งคำถามกันไปได้ แต่ว่ากระบวนการสรรหามีการกำหนดไว้ชัดเจน เมื่อมีการคัดเลือกแล้ว ก็มีคำอธิบายที่ชัดเจนแล้ว ปัญหาสำคัญคือการตั้งคำถามโดยไม่ตรวจสอบคำตอบที่ชัดเจนก่อนตีพิมพ์ ผมคิดว่ามันมีปัญหาเหมือนกันในเรื่องมาตรฐานการทำงานสื่อ

ผมว่าที่ไทยพีบีเอสคงไม่ทำเรื่องแบบนี้ อย่างที่ว่าพอไปได้ข้อมูลมาหนึ่งชุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความเสียหายต่อองค์กรหรือต่อบุคคล โดยไม่ขอตรวจสอบ หรือขอคำพูด ขอคำอธิบายของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อจะเอาไปตีพิมพ์ในรายงานชิ้นนั้นพร้อมกัน มีการตีพิมพ์ไปล่วงหน้าเพื่อตั้งคำถามอย่างนี้ เพื่อ Mislead ชักจูงให้คนหลงผิดไปทางด้านหนึ่ง ผมว่าการ

ตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรหาคำตอบให้ครบถ้วนก่อน แล้วค่อยตีพิมพ์ออกไปพร้อมกับชุดคำถามนั้น มันจะดีกว่าไหม เป็นมาตรฐานการทำงานของสื่อ คำตอบมีชัดเจนเมื่อมีการประกาศแล้วก็มีคำอธิบาย ถ้าหากได้ดูจากคำอธิบายนั้นคงจะเข้าใจแล้ว พอเข้าใจแล้วก็ไม่มีคำถามต่อ ได้ตอบคำถามไปครบถ้วนแล้ว

GM : คุณเอาความมั่นใจมาจากไหน ตอนที่ลงสมัครตำแหน่งนี้ เพราะตอนอยู่บีบีซี คุณทำงานวิทยุ สเกลค่อนข้างเล็ก แต่พอเป็นทีวีสาธารณะ สเกลมันใหญ่กว่าที่เคยทำมาก

สมชัย : เรื่องนี้ถ้าเราเข้าใจคอนเซ็ปต์อย่างชัดเจน ไม่ว่าเป็นสื่อชนิดไหน ก็เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกัน ผมขลุกอยู่ในบีบีซี พอได้ปรับมาเป็นผู้บริหารระดับกลาง Middle Manager ซึ่งวนกัน มีการประชุมที่นั่นที่นี่ เวลามีนโยบายอะไรใหม่ๆ มา จะมีการ Brainstorming เราก็อยู่ในกลุ่มนั้น

เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้น การปรับนโยบายของบีบีซี มันก็อยู่ในกลุ่มนี้ แล้วก็ส่งไปตามขั้นตอน กำหนดเป็นแผน เป็นนโยบายที่เราต้องปฏิบัติตาม ผมเคยอยู่ในองค์กรที่มีคนทำงาน 2 หมื่นกว่าคน งบ 1 แสน 8 หมื่นล้าน ผมอยู่ในสเกลที่เห็น Operation ทั้งหมด พอตอนนี้มาเป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ผมมีความมั่นใจเพราะว่า ใน Process การทำงานของบีบีซี นอกจากมี นิว คัมเมอร์ คอร์ส ที่เล่าให้ฟังไปแล้ว พอถึงอีกระดับหนึ่ง ก็มี Production Course และ Producer Course เป็นระดับๆ ไป พอขึ้นมาเป็นผู้บริหาร มี Management Course

ในเรื่องการ Recruit คน จัดการคน บริหารจัดการบัญชี งบประมาณ คอนเซ็ปต์งานบริหารผมผ่านมันมาแล้ว ผมมาอยู่ระดับนโยบาย ก็อยู่มา 4 ปี มองเห็นวิธีการทำงานทั้งหมด การตัดสินใจในแต่ละช่วง การกำหนดนโยบาย การเอานโยบายไปปฏิบัติ ที่ทำได้ครบบ้าง ไม่ครบบ้าง ก็พอรู้ปัญหาในระดับนโยบาย พอเห็นปัญหาในระดับบริหาร เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของผู้บริหาร ผมคิดว่ามีบางจุดที่เราพยายามจะให้ผู้บริหารเอาไปใช้ แต่เขาไม่สามารถใช้ได้ อยากรู้ว่าทำไมเขาเอานโยบายลงไปปฏิบัติไม่ได้ มีปัญหาอะไรอยู่ข้างล่าง เลยอึดอัด ทำไมทำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการไม่ได้ คิดว่าเราลงไปทำเองไม่ดีกว่าเหรอ

ตอนที่ผมประกาศจะสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการ มีคณะกรรมการนโยบายอย่างน้อย 3 คนไม่เห็นด้วยกับผม อีก 3 คนเฉยๆ ก็บอกว่าแล้วแต่คุณ มันก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน พอลาออกมา ก็ขาลอยแล้ว ถ้าไม่ได้รับเลือก ผมก็ต้องไปหางานใหม่ หรือบินกลับอังกฤษ แต่ผมเห็นปัญหาของมันมาตลอด ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับสื่อสาธารณะ จะทำอย่างไรให้เราได้องค์กรสื่อสาธารณะในประเทศไทยที่มีความมั่นคงยั่งยืน เป็นที่ยอมรับนับถือได้ ผมก็ทำเป็นแผนออกมา แผนที่ผมส่งเข้าไปเป็นที่ยอมรับ เพราะฝ่ายผู้คัดเลือกต้องดูแผนของทุกคน แสดงวิสัยทัศน์ ดูว่ากรรมการนโยบายจะเลือกแผนของใคร

GM : ที่ผ่านมา มีความวุ่นวายในไทยพีบีเอส มีจดหมายเปิดผนึก มีการร้องเรียนของพนักงานหลายเรื่อง บางประเด็นก็ออกไปสู่หูตาของสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความโปร่งใสในการจัดจ้างคน คล้ายกับว่ามีระบบอุปถัมภ์อยู่ในนี้ ตอนที่คุณเป็นกรรมการนโยบายอยู่ คุณจัดการอย่างไร

สมชัย : บางเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา ก็ไปถึงกรรมการนโยบาย แต่บางเรื่องมาไม่ถึง แต่พวกเราก็ได้ยินมาเองจากข้างนอก แต่ในบรรดากรณีที่มาถึง กรรมการนโยบายเราให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ตรวจสอบ เราได้ข้อมูลจากฝ่ายบริหารแล้วเอาข้อมูลมาเทียบกัน ฝ่ายที่ร้องเรียนก็ให้เสนอหลักฐานมาเทียบไปแล้ว แต่มันไม่มีใบเสร็จ คุณไม่สามารถทำอะไรได้ เมื่อไม่มีใบเสร็จ เราก็ตอบไปว่า ไม่สามารถเทคแอ็คชั่นทำอะไรได้ เท่าที่ผ่านมาไม่ได้เจอที่มีใบเสร็จชัดๆ แต่เสียงจากข้างนอกมาเป็นระยะๆ เป็นไปได้ไหมที่ฝ่ายบริหารไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมด อาจเป็นไปได้ แล้วเราก็ฟังเฉพาะฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายที่มาร้องเรียนเองก็ไม่สามารถเอาหลักฐานที่ชัดเจนมาให้ดูได้ เราในฐานะกรรมการนโยบายก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หากมีความไม่โปร่งใส ใต้โต๊ะ แสดงว่าเนียนมาก ถึงขนาดเราจับไม่ได้ แต่สำหรับเรื่องการ Favor กัน ถ้าหากเขามั่นใจว่าคนคนนี้ หรือทีมนี้ ทำงานได้ดีกว่าอีกทีมงานหนึ่งแน่ๆ ยอมรับฝีมือกัน อะไรแบบนี้อาจมี อาจเป็นไปได้

GM : เรื่องการ Favor กันนี่ยอมรับได้ไหม

สมชัย : ถ้าผลออกมาหน้าจอชัดเจนว่าดีกว่าจริงๆ เห็นชัดเจน ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันพัง เพราะคุณมือไม่ถึง มีคนดูโจมตีมา เราก็เสียชื่อ เราต้องไว้วางใจผู้บริหารของเราเหมือนกัน ว่าเขามีความเป็นมืออาชีพในการคัดเลือก แต่เรื่องแบบนี้ก็เป็นไปได้ว่าผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะรู้สึกว่าตัวเองเสียผลประโยชน์ ก็ร้องเรียนมา แต่สิ่งที่เราพยายามทวงหาอยู่ตลอดเวลาคือใบเสร็จ ซึ่งหายาก บางอย่างพิสูจน์ไม่ได้ อันไหนไม่ชัดหากคุณตัดสินใจไปมันจะมีปัญหา

GM : ในจดหมายเปิดผนึกอีกบางส่วน ร้องเรียนมาว่ามีการเลือกคนที่เป็นพวกตัวเองเข้ามา แล้วไปอยู่ในระดับกลางของแต่ละส่วน ทำให้เกิดความล้มเหลวเรื่องประสิทธิภาพ ควรมีการปรับเปลี่ยนหลายจุด ตรงนี้จะทำอย่างไร

สมชัย : ผมก็นั่งดูเอกสารที่ร้องเรียนมา ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไต่สวนเอาข้อมูล บางอันไม่มีเรื่องสรุปชัดเจน ตอนนี้ผมเริ่มเรียกข้อมูล เรียกผู้บริหารแต่ละส่วนมาคุย เพื่อขอดูเอกสาร ผมจะไปฟันธงว่าใครผิดใครถูกคงไม่ได้ ต้องรอดูข้อมูลทั้งหมดก่อน เพราะเวลาอยู่ในระดับนโยบาย เราได้ยินได้ฟังเรื่องเยอะมาก แต่เรายังไม่เห็นหลักฐาน Hard Copy เราจึงทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ผมเริ่มขอดู Hard Copy แล้ว และก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน เอาข้อมูลมาเทียบกันทั้งหมด ปรับแก้ ส่วนที่รู้สึกจะเป็นปัญหามากที่สุดคือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ต้องเข้าไปดูแล ปัญหาความไม่สบายใจที่ร้องเรียนไปข้างในแล้วไม่สามารถหาข้อมูลได้ จนลุกลามไปสู่ข้างนอก ถ้าหากมีการสื่อสารที่ดีกันภายในตั้งแต่ตอนเริ่มต้น จะทำให้การทำงานดีขึ้น เราเป็นองค์กรสื่อสารมวลชน แต่เรากลับล้มเหลวมากในเรื่องการสื่อสารภายใน กรรมการนโยบายเขียนสนับสนุนให้มีองค์กรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพนักงาน อาจเกิดปัญหาเหมือนกันว่า หากกลุ่มที่เป็นพนักงานเรียกร้องขึ้นมาเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการดูแล มองดูเป็นคนละพวกคนละฝ่าย เป็นศัตรูกัน ผมว่าเป็นการบริหารองค์กรที่แย่มาก กรรมการนโยบายเราก็อยากให้มีสมาพันธ์ เพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น ไม่ได้เจตนาให้ขัดแย้งกัน ในหลายๆ องค์กรที่ทำได้สำเร็จ ที่มีสหภาพแรงงาน ในต่างประเทศทำสำเร็จ ทำไมเราถึงมีปัญหาเรื่องพวกนี้ ผมว่าสาเหตุความขัดแย้งมาจากวิธีการหรือปรัชญาในการบริหารมากกว่า

GM : อยากให้คุณช่วยไล่เรียงลำดับงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหลังเข้ามารับตำแหน่ง 1-2-3 คืออะไร

สมชัย : 1. เรื่องการสื่อสารภายในองค์กรก่อนเลย ปัญหาการสื่อสารล้มเหลว ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แทนที่จะคุยให้จบในองค์กรแต่ดันกระจายไปข้างนอก ทำให้เสียภาพลักษณ์องค์กร ถ้ามีการสื่อสารภายในองค์กรที่ชัดเจนจะแก้ปัญหานี้ได้

2. ความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่รู้สึกว่าตัวเองทุกข์ร้อน ควรมีการดูแล แทนที่จะคิดว่าเป็นการก่อกวน สร้างเหตุ หรือมีอีกฝ่ายหนึ่งชักใย ผมไม่คิดเช่นนั้น เป็นเรื่องของความรู้สึก Unhappy ที่ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องเข้าไปดู อีกฟากหนึ่งบอกว่ามีแค่ 200 คน ใน 900 คน ถือเป็นส่วนน้อย เป็นทัศนคติหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะแม้แต่คน 2-3 คนในองค์กร Unhappy ฝ่ายบริหารก็ต้องเข้าไปดูแล เมื่อเกิดการประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายบริหารและสตาฟฟ์ องค์กรไหนมีเรื่องอย่างนี้ผมว่าไปไม่รอดหรอก ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม

GM : แล้วความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเรื่องภายนอกคืออะไร

สมชัย : ก็ต้องสื่อสารกับบุคคลภายนอกให้ดีด้วย เท่าที่ได้ยินมา มีคนพูดกันเยอะ ว่าเอาเงิน 2 พันล้านไปทำอะไร เงิน 2 พันล้านทำได้แค่นี้หรือ? รวม 5 ปี มันก็เป็นหมื่นล้านเชียวนะ ผมก็จะได้สื่อสารออกไป ว่าเงินเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน มีรายการเยอะแยะ กล่าวได้เลยนะว่าเป็นรายการที่ส่งเสริมค่านิยมสาธารณะ ที่สื่อมวลชนอื่นๆ ไม่อยากทำ หรือไม่ได้อยู่ในมิชชั่นของเขา ผมอยากให้คุณลองเทียบ 2 รายการ รายการ Take Me Out ของสื่อพาณิชย์ กับรายการ Blind Date ของเรา มันต่างกันมากในแง่การจัดรายการที่เสริมสร้าง Public Value หรือเรียกว่าค่านิยมสาธารณะ กับการทำรายการคอนเทนต์ที่ต้องการเรตติ้ง คนดูต่างกันแน่ คุณเอาเรตติ้งมาชนกัน เราแพ้แน่ แต่ถ้าถามเรื่องคุณค่า เรื่องการให้กลับคืนสู่สังคม คุณค่าที่ไทยพีบีเอสให้กับสังคมผ่านรายการนี้ กับอีกรายการหนึ่ง อันไหนให้คุณค่ามากกว่ากัน สำหรับคนที่ถามเรื่องเงิน ผมอยากพูดอย่างนี้นะ เทียบกับรัฐบาลใช้เงิน 5-6 หมื่นล้านสำหรับนโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก แต่พวกเรามีรายการที่ชักชวนให้คนมาปั่นจักรยาน ลดโลกร้อน ใช้ Public Transport

ในขณะที่อีกทางหนึ่ง ใช้เงินเพื่อให้คนขับรถเยอะๆ รถติดอยู่แล้ว ก็ติดมากขึ้นไปอีก กี่หมื่นคันก็ไม่รู้ ค่านิยมที่เราสร้างขึ้นมามันต่างกัน แบบนี้ดีกว่าไหม หรือพวกรายการข่าวของเรา ตั้งแต่ก่อตั้งไทยพีบีเอสมา เรามี Investigative Report ที่ชนะได้รางวัล แสงชัย สุนทรวัฒน์ ข่าวไม้พยุงเราก็เริ่มต้นก่อน เงินที่หลวงได้คืนมาของการทำงานของสื่อสาธารณะเท่าไรแล้ว เราได้ปีละ 2 พันล้านเท่านั้นนะ แต่สิ่งที่ได้กลับคืนสู่สังคม บางอย่างมันมองไม่เห็น เพราะถ้าบอกว่าชวนให้คนมาปั่นจักรยาน มันมองไม่เห็น แต่ถ้าคนมาปั่นจักรยานมากขึ้น คนใช้ Public Transport มากขึ้น จะทำให้โลกร้อนน้อยลง น้ำมันจะใช้น้อยลง แทนที่ต้องไปซื้อน้ำมันดิบมากลั่น

การสร้างค่านิยมแบบสื่อสาธารณะบางอย่าง มัน Value ค่านิยมที่สร้างขึ้นมาแล้วมองไม่เห็น ตีค่าเป็นเงินไม่ได้ เมื่อเทียบกับเงินที่ไปใช้อย่างอื่น เฉพาะแค่ซื้อแบล็คฮอว์ก ลำหนึ่งก็ 2 หมื่นล้านแล้ว ถ้าเทียบกับการทำคอนเทนต์เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจในหมู่ประชาชน คนที่ดูสื่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อถือไทยพีบีเอสมากกว่าสื่อของรัฐ สิ่งนี้เราสามารถสร้างขึ้นมาแทนที่จะใช้เงินมากมายมหาศาลในการรักษาความมั่นคงของชาติ ใช้เงินกับสื่อสาธารณะอาจจะไม่ต้องใช้เงินมากขนาดนั้น เป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้านในการสร้างความมั่นคงของชาติ แล้วพออีก 2-3 ปี เราจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ต้องมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจำนวนมาก ประเทศรอบบ้านเราจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันมากขึ้น เราไม่ต้องไปทะเลาะกับพม่า ทะเลาะกับกัมพูชา หรือกับมาเลเซีย ถ้าสามารถใช้สื่อสาธารณะให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างคนในแต่ละประเทศ รวมถึงคนในบ้านเราด้วย ถ้าสามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองได้โดยใช้สื่อสาธารณะ ถ้าพิจารณาดูแบบนี้ จะเห็นเงิน 2 พันล้านมันนิดเดียว ถ้าเทียบกับเงินที่ใช้ไปในงานอื่นๆ แทนที่จะสร้างความสมานฉันท์กลับสร้างความแตกแยกมากขึ้น

GM : คณะผู้ประเมินทีดีอาร์ไอ ซึ่งไทยพีบีเอสเป็นผู้ว่าจ้างให้เข้ามาทำการวิจัย บอกว่าไทยพีบีเอสมีแนวโน้มที่เป็นอนุรักษนิยม มากกว่าที่จะเป็นเสรีนิยมอย่างที่สื่อสาธารณะควรจะเป็น คุณมองข้อวิจารณ์นี้อย่างไร

สมชัย : มันต้องมีทั้งสองอย่างปะปนกัน ความเป็นสื่อสาธารณะไม่ใช่ว่าจะเป็นอนุรักษนิยมอย่างเต็มที่ หรือต้องเป็นเสรีนิยมมากกว่า คำว่าเสรีนิยมก็มีการตีความกันไปได้อีก ผมมองดูคอนเทนต์ของไทยพีบีเอส เห็นว่ามีความเป็นเสรีนิยมค่อนข้างมาก ถ้าคุณเข้าไปดูในรายการต่างๆ รายการประเภทข่าว มีการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่างได้มีโอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้อย่างถ้วนทั่ว หากเทียบกับสื่ออื่นที่มีในขณะนี้ หมายถึงสื่อกระแสหลักนะ ไทยพีบีเอสให้พื้นที่ ให้ความยุติธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มมากกว่าสื่ออื่นๆ ด้วยซ้ำไป รวมทั้งคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เมื่อก่อนนี้ไม่เคยมีปากมีเสียงในสื่อกระแสหลักเลย ก็ได้มาปรากฏ มาโผล่ที่ไทยพีบีเอสก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่สื่ออื่น นี่คือบทบาทสำคัญของไทยพีบีเอสที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้ก็จะสามารถไปเปิดพื้นที่ในสื่ออื่นได้ด้วย

GM : คุณเคยเขียนวิจารณ์เรื่องสื่อชนเผ่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สังคมไทยแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย บทบาทที่ผ่านมาของไทยพีบีเอส โดยเฉพาะของฝ่ายข่าว มีความโน้มเอียงที่จะเกิดอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า

สมชัย : มีคนวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็ไม่อยากโต้ เพราะมันเหมือนมาตรฐานสื่อแบบ Ping-pong Journalism ที่ผมจะไม่ทำ คือมีคนเขียนวิพากษ์วิจารณ์ว่าผมพูดถึงสื่อชนเผ่า ว่าผมหมายถึงสื่อใหม่ ซึ่งมันไม่จริงเลย ถ้าได้อ่านบทความนั้น มันเกี่ยวกับคอนเทนต์ของความเป็นสื่อชนเผ่า ไม่เกี่ยวกับแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นสื่อใหม่สื่อเก่า เดี๋ยวนี้สื่อกระแสหลักก็เป็นสื่อชนเผ่าเยอะ ปัญหาสื่อชนเผ่าที่ผมเขียนในบทความ ผมต้องการให้สื่อในประเทศไทยได้คิดว่าการทำงานแบบมืออาชีพที่มีมาตรฐาน โดยเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายทุกกลุ่มได้มาใช้พื้นที่สื่อพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้นะครับ แต่มีสื่อจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นเสรีนิยม แต่กลับกลายเป็นสื่อที่มุ่งหรือเน้นหนักในแนวความคิดใดความคิดหนึ่งเพียงแนวความคิดเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ถูกท้วงติง ได้มีโอกาสชี้แจงในเวทีเดียวกัน นี่คือปัญหาของสื่อทั่วไปในขณะนี้ เท่าที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับข่าวและ Current Issue ทั้งหลาย มีลักษณะสวิงไปสวิงมา แล้วแต่ทักษะของนักข่าวแต่ละคน ประสบการณ์ ช่วงเวลาที่กำหนดให้ออกอากาศ ในเวลาคับขัน มันมีลักษณะเช่นนั้นอยู่ หากจะสร้างความคงเส้นคงวาให้เป็นสื่อ ที่ไม่ใช่สื่อชนเผ่า เราต้องให้มีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ให้มีความสมดุลในแนวความคิด ให้มีความหลากหลายของทัศนคติและความคิดเห็น อาจต้องผ่านกระบวนการอีกอันหนึ่ง ที่จะทำให้ทีมงานของเรามีความตระหนักชัดในเรื่องของมาตรฐานสื่อ ที่จะต้องมีจริยธรรมสื่อที่ชัดเจนขึ้น อันนี้ผมไม่โทษพนักงาน เพราะว่าส่วนใหญ่พวกเราก็เติบโตมาในสื่อประเภทที่

ถ้าไม่ใช่สื่อที่รัฐบาลควบคุม ก็เป็นสื่อพาณิชย์ไปเลย เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมการทำงานของสื่อพาณิชย์หรือสื่อภาครัฐยังติดตัวคนทำงานมาอยู่ การจะเปลี่ยนกระบวนการความคิดของคน ให้เป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระ ให้ยึดถือหลักมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ก็ต้องใช้เวลาวันนี้ผมไปบรรยายให้ทีมสื่อมวลชนจากเนปาลที่มาดูงานสถาบันสื่อสาธารณะ ผมก็เพิ่งพูดถึงเรื่องนี้ไปเหมือนกัน อย่างในสังคมไทย เรามีวัฒนธรรมสื่อประเภทสื่อพาณิชย์มาตลอด หรือไม่ก็สื่อที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ แต่สื่อที่มีวัฒนธรรมเป็นสื่อสาธารณะ เหมือนในญี่ปุ่นที่มี NHK ซึ่งให้ทุนกับทีวีเนปาลมาเยี่ยมชมกิจการของเรา ใช้ไทยพีบีเอสเป็นโมเดลในการพัฒนาสื่อสาธารณะในเนปาล เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมคนทำงานของเราให้เข้าใจเจตนารมณ์ และหลักปรัชญาของสื่อสาธารณะให้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลา ตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมา คนที่ทำงานในวิชาชีพสื่อบ้านเราอยู่ในสื่อพาณิชย์มาตลอด สังเกตง่ายๆ คนที่เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ไทยพีบีเอส ก็อยู่ในกระแสสื่อเชิงพาณิชย์ ลักษณะการทำข่าวแบบแท็บลอยด์ หรือเขียนบทความลักษณะแท็บลอยด์ ไม่ให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ถูกตำหนิติเตียนได้อธิบายในชิ้นงาน หรือรายการเดียวกันนั้น เพื่อให้จบในตอน โดยไม่เป็นการสร้างวัฒนธรรมสื่อปิงปอง วันนี้คุณพูดอย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งผมก็ออกมาโต้คุณ โต้กันไปโต้กันมา สื่อปิงปองหรือสื่อแท็บลอยด์ ไทยพีบีเอสไม่ควรจะทำ ถึงปัจจุบันนี้ เท่าที่ผมดูหน้าจอของไทยพีบีเอส มีลักษณะเช่นนั้นน้อยเมื่อเทียบกับสื่ออื่น

GM : ถึงแม้ไทยพีบีเอสถูกออกแบบมาไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยรัฐไม่ให้ถูกรบกวนโดยทุน เพื่อให้เป็นองค์กรสื่อที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ทำอย่างไรที่ไทยพีบีเอส โดยเฉพาะฝ่ายข่าว จะไม่ถูกแทรกแซงด้วยอคติทางการเมืองของกรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร หรือผู้บริหารองค์กร ที่จะเข้าไปกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง

สมชัย : ระดับกรรมการนโยบายเลยเหรอ เท่าที่ผ่านมา ผมเฝ้าดูอยู่ว่ามีกรรมการนโยบายท่านใดเข้าไปแทรกแซงบ้างหรือเปล่า ก็ต้องบอกกันตามจริงว่าผมไม่เห็น ในระดับบริหารและคนทำงานข้างใน ก็อย่างที่ว่า ถ้าไม่ลงไปดูจริง ก็คงไม่รู้ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าเผื่อลงไปดูแล้ว ผมจะถูกหาว่าล้วงลูกอีกหรือเปล่า ซึ่งถ้าดูจากหน้าจอเฉยๆ อย่างที่ผมกล่าวเมื่อกี้นี้ ผมก็เห็นว่ามันสวิงไปสวิงมา มีการแทรกแซงหรือเปล่าไม่ทราบแน่ชัด หรือเป็นเพราะวัฒนธรรมสื่อเองที่เขาเคยทำงานอย่างนี้

ที่พอใครมามีอำนาจก็ดูแลรับใช้กันไป การแทรกแซงสื่ออาจจะไม่ได้มาจากระดับนโยบายหรือระดับบริหารก็ได้ แต่มาจากนักการเมืองหรือคนที่มีสตางค์เยอะๆ เขาสามารถที่จะเลี้ยงสื่อให้ดูแลผลประโยชน์เขาได้ พาไปดูฟุตบอลที่อังกฤษบ้าง พาเที่ยวบ้าง หรือนัดเจอ เลี้ยงดูกันในระดับฝ่ายปฏิบัติงาน ก็อาจเป็นไปได้ ลักษณะที่สวิงไปสวิงมาของไทยพีบีเอส คือทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดความคงเส้นคงวา ก็คงเข้าสู่กระบวนการที่จะต้องมีการ Feedback Peer Review ฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้ สร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง ไม่รู้ว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่เป็นความตั้งใจที่จะทำ

GM : คำถามคลาสสิกของวงการสื่อสารมวลชนไทยทุกวันนี้คือ ที่สุดแล้วสื่อมวลชนควรมีความเป็นกลางอยู่หรือเปล่า

สมชัย : ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้คือคุณได้เปิดพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายของความคิด ได้มาปรากฏในพื้นที่สื่อหรือเปล่า ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัว คุณไม่เห็นด้วยกับความคิดที่แตกต่างนั้น แต่คุณต้องเป็นคนใจกว้าง ทำงานแบบมืออาชีพ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับคนที่มาแสดงความคิดเห็นในรายการของคุณ ส่วนของผู้ดำเนินรายการของไทยพีบีเอส ตามหลักจริยธรรมแล้ว ไม่ควรจะไปสนับสนุนแนวความคิดใดแนวความคิดหนึ่ง บุคคลที่คุณเชิญมาร่วมรายการเขามีความคิดของเขา มี Agenda มีวาระของเขา ก็เปิดโอกาสให้เขาพูด แต่ตัวผู้ดำเนินรายการไม่ควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องดูแลให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน อีกอย่างหนึ่ง คือไม่ได้หมายความว่า เราต้องจำกัดเวลาคนนี้พูด 3 นาที คนนี้ก็ต้องพูด 3 นาทีเท่ากัน แต่หมายความว่าเราต้องให้สาระสำคัญของความคิดของแต่ละคน ได้ปรากฏทางหน้าจอ ให้เกิดความเป็นธรรม

GM : ขอถามอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่ากรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผ่านหน้าเฟซบุ๊คของตนเองมากน้อยขนาดไหน

สมชัย : มีปัญหาอยู่เหมือนกันในเฟซบุ๊ค ตอนนี้เราก็คิดอยู่ว่าจะร่าง Code of Conduct ในการใช้เฟซบุ๊คอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นสื่อใหม่

ที่ผ่านมา เคยคิดว่าใช้เฟซบุ๊คเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเฟซบุ๊คกลายเป็นพื้นที่สาธารณะไปแล้ว องค์กรสื่อแทบจะทั่วโลกได้มีการกำหนดเป็น Code of Conduct ขึ้นมาแล้ว เรื่องวิธีปฏิบัติในการใช้เฟซบุ๊ค โดยเฉพาะระดับผู้มีอาวุโสของแต่ละสำนักข่าว หากจะเปิด Account ที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่งานของตัวเอง ก็ต้องใช้หลักจริยธรรมเช่นเดียวกัน

GM : ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่หลากหลายในประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปฝักใฝ่กลุ่มการเมืองในระดับที่มากน้อยแค่ไหน

สมชัย : ถ้าเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวจะมีปัญหา แต่ถ้าคุณแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแค่เซ็นชื่อสนับสนุน โดยไม่ Actively เข้าไปซัพพอร์ต หรือเคลื่อนขบวนด้วย ก็คงไม่มีปัญหา มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีคำถามแบบนี้มาถึงผม ผมเคยเป็นหัวหน้าของแผนกภาษาพม่าที่บีบีซี ก็มีขบวนการล่ารายชื่อสนับสนุน ออง ซาน ซูจี ซึ่งตอนนั้นยังถูกกักบริเวณ ผมไปร่วมเซ็นชื่อด้วย เพราะเป็นเรื่องหลักการประชาธิปไตย ตอนนั้นก็มีเสียงตักเตือนจากผู้หลักผู้ใหญ่ว่า ถ้าหากแค่เซ็นชื่อเฉยๆ แล้วปรากฏชื่อผม ในฐานะหัวหน้าแผนกภาษาพม่าของบีบีซี ไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง สนับสนุน ออง ซาน ซูจี คือผมว่ามันอาจจะถูกนะ แต่ในหลักการของบีบีซีมันไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรามีอคติกับอีกฝ่ายหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เอาต์พุตหรือคอนเทนต์ข่าวของบีบีซีภาคภาษาพม่า จะถูกชักนำหรือชี้นำทางความคิดจากผมหรือเปล่า ให้ไปต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า แล้วสนับสนุน ออง ซาน ซูจี นี่เป็นคำถามที่ผมเคยประสบด้วยตัวเอง จนผมต้องไปถอนชื่อออกมา แม้แค่เซ็นชื่อเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปอยู่ร่วมขบวนการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยไปยืนถือป้ายอยู่หน้าสถานทูตก็ตาม ผมคิดว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ ว่าในความเป็นปัจเจกบุคคล เรามีความคิดเห็นบางอย่าง ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เราได้อ่านศึกษาข้อมูลแล้ว เราต้องการสนับสนุนขบวนการใดขบวนการหนึ่ง

ยกตัวอย่างผมเองเลยก็ได้ ผมอยู่ที่ระยอง บ้านผมอยู่ห่างจากมาบตาพุด 10 กิโลเมตร แล้วถ้าผมไปร่วมเคลื่อนไหวกับคุณสุทธิ อัชฌาศัย เรื่องมาบตาพุด จะมีคำถามไหม ว่าผมไม่เป็นกลางแล้ว หรือไปเข้าข้างกลุ่มนี้ โดยที่ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายรัฐหรือผู้ดูแลนิคมฯ ผมก็ชั่งใจอยู่เหมือนกัน แต่ว่าผมคือผู้เดือดร้อนตัวจริงเลยนะครับ อยู่ในระยอง มีควัน มีกลิ่นเหม็นลอยมา ผมก็อยู่ในฐานะประชาชนที่ถูกรังแกจากผู้มีอำนาจรัฐหรือผู้มีอิทธิพลในด้านอุตสาหกรรม อันนี้ผมมีสิทธิ์ไหมในแง่ปัจเจกชน หรือในแง่การเป็นกรรมการนโยบาย ผมไม่มีสิทธิ์ไปเซ็นชื่อสนับสนุนให้ใครแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุดใช่ไหม ผมเป็นผู้เดือดร้อนด้วย ผมต้องตัดสินใจอย่างไร ตัดสินใจไม่เซ็น ไม่ช่วย ดูไปเรื่อยๆ ก่อน ถ้าถามอีกทีหนึ่งว่าผมเดือดร้อนไหม ผมเดือดร้อน แบบนี้จะให้ทำไง ก็ต้องทนเดือดร้อนไปเรื่อยๆ หรือ? เป็นสิ่งที่ต้องเลือกหรือต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง บางเรื่องที่เข้าตัวก็ต้องคิด

GM : เรื่องเหล่านี้ถ้าขยายมาสู่ระดับองค์กร Code of Conductขององค์กรจะเป็นอย่างไร เพราะคนก็วิจารณ์กันมาก ว่าไทยพีบีเอสคือโทรทัศน์ของพวกเอ็นจีโอ เพราะถ้าเกิดกรณีแบบนี้ ไทยพีบีเอสจะเลือกเข้าข้างเอ็นจีโอ คิดว่าเอ็นจีโอเป็นฝ่ายถูก

สมชัย : ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องดีเบทกันเรื่อยๆ ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นขาวเป็นดำ คุณต้องใช้วิจารณญาณเป็นเรื่องๆ ไป ความเป็นปัจเจกกับการสวมหมวกใบใดใบหนึ่งไว้ เป็นเรื่องที่บางทีคุณก็รู้สึกหนักใจว่าจะทำตัวอย่างไร ปัจเจกคือถ้าผมเดือดร้อนเรื่องมาบตาพุด แล้วไม่ไปช่วยขบวนการที่เขาพยายามแก้ไขปัญหา ผมเห็นแก่ตัวหรือเปล่า เพราะถ้าแก้กันสำเร็จผมก็ได้ด้วยไง แล้วผมก็เห็นแก่ตัว เราต้องเลือกเอาว่าจะทำอย่างไร ถ้าเราลอยตัวซะดีกว่า ปล่อยให้เขาสู้กันไป ถ้าเขาชนะ เราก็ได้ด้วย ถ้าเขาแพ้ เราก็เดือดร้อนต่อไป

GM : ถ้าคุณในฐานะผู้อำนวยการตอบแบบนี้ แล้วนักข่าวจะเดินไปอย่างไร

สมชัย : เราไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว เรื่องส่วนตัวคุณก็ต้องแยกออกมาว่า ถ้าหากว่าคุณไปเซ็นชื่อแล้ว โดยเขารู้ว่าคุณเป็นกรรมการนโยบายแล้วจะมีปัญหา ผมก็ตัดสินใจไม่เซ็น แต่ผมจะไปห้ามคนอื่น ถ้าเกิดในสถานการณ์อย่างนั้น แล้วเขาตัดสินใจเซ็น ไม่รู้ว่าผมจะแฟร์กับเขาหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องคิดพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่หากความคิดของเราไม่ลงไปทำให้บิดเบือนกระบวนการทางวารสารศาสตร์ของทีมงานที่ต้องเป็นอิสระ ผมคิดว่าโอเคนะ ถ้าเราไม่เอาความคิดของเราไปบังคับกระบวนการทางวารสารศาสตร์ของทีมงาน ผมไม่เซ็น แต่จะไม่ไปห้ามว่า หากมีกรรมการท่านอื่นอยู่ในพื้นที่แล้วจะไปเซ็นชื่อ ผมจะไปห้ามเขาได้ไหม จะแฟร์ไหม

GM : ถ้าขยายประเด็นใหญ่กว่านั้นไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเกิดเหตุการณ์รัฐประหารรอบหน้า ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือเปล่าในเมืองไทย จุดยืนไทยพีบีเอสต้องรายงานข่าวอย่างไร

สมชัย : รัฐประหารครั้งที่แล้ว เรามีการเตรียมการอยู่เหมือนกันว่า ถ้าทหารยึดอำนาจขึ้นมาเราจะถ่ายทอดหรือรายงานข่าวอย่างไร เราก็คงยึดมั่นว่า ถ้าทหารมาสั่งปิด เอารถถังมาปิดหน้าสถานี ยึดฝ่ายข่าว บอกว่าให้ออกอากาศประกาศคณะปฏิวัติอย่างเดียว แบบนี้เราไม่ออกเลยดีกว่า เราจะหยุดกิจการไปเลยดีกว่าที่จะออกประกาศคณะปฏิวัติ รู้สึกเราเคยตกลงกันไว้อย่างนั้น ผมไม่รู้ว่ากระบวนการด้านเทคนิคจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราถูกบังคับให้ออกอากาศประกาศนี้ เหมือนครั้งที่มีคำสั่ง ศอฉ. ผมก็บอกว่าคุณต้องเขียนว่าไทยพีบีเอสต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่บังคับตามกฎหมาย แต่เราไม่ได้ Voluntary ออกอากาศไปตามที่เขาสั่งมา เพราะว่ากฎหมายบังคับจึงต้องทำ

GM : ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ

สมชัย : ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของการเป็นสื่อสาธารณะ

GM : แล้วที่เกินกว่าข้อบังคับทางกฎหมาย ถ้าเกิดการรัฐประหารมีการดีเบทขึ้นมาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว พ.ศ. 2549 บทบาทของไทยพีบีเอสในการรายงานข่าวจะรายงานอย่างไร

สมชัย : ก็ต้องมีทั้งสองฝ่าย ถ้าเอาคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารมาออกทีวี คุณก็ต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้คุณจะไม่เห็นด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็แล้วแต่ ต้องยึดหลักว่า ให้มีทุกฝ่ายมาพูด ถ้าหากเขายอมให้เราทำนะ หัวหน้าคณะปฏิวัติ กับผู้ต่อต้านรัฐประหาร ควรมีเวลาหรือโอกาสที่จะใช้พื้นที่สื่อได้เท่าเทียมกัน

GM : อะไรคือความฝันที่อยากจะทำต่อจากนี้ อะไรคือสิ่งที่คนไทยจะได้เห็นในไทยพีบีเอส

สมชัย : ประเภทของรายการต่างๆ ที่เรามีอยู่ เราไปได้ค่อนข้างดีแล้ว ไปถูกทาง ส่วนประเภทรายการข่าว อาจต้องมีการดูแลกันหน่อย เพื่อให้มีความลึก ความหนา มีน้ำหนัก มีความแฟร์มากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลานานหน่อย และต้องมีความอดทนกับมัน ใจกว้าง ผมบอกคุณได้อย่างหนึ่งว่าทีมงานไทยพีบีเอส โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติการ ถ้าดูลักษณะของงานโปรดักชั่นที่ออกมา เทียบกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ผมว่าคนทำงานของเรามีประสิทธิภาพสูงกว่า และได้งานโปรดักชั่นที่คุณภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับสื่ออื่น

GM : ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประสิทธิภาพของการรายงานข่าวของฝ่ายข่าวพอสมควร รวมทั้งเรื่องอคติทางการเมืองด้วย จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร

สมชัย : อย่างที่กล่าวไว้ว่ามันมีลักษณะสวิงไปสวิงมาอยู่ บางครั้งมีคนตำหนิว่าไปเข้าข้างฟากนี้เยอะเกินไป บางครั้งก็มาฟากนี้เยอะเกินไป ผมว่าเราต้องดูภาพรวมทั้งหมด ดูข้อมูลทั้งหมด แล้วก็ตรวจสอบทั้งหมดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าใช้ความรู้สึกเข้าไปตัดสิน ถ้ามีการตรวจสอบข้อมูล ความคิดเห็น เวลาที่ให้ และโอกาสที่ให้ แล้วเอามาวิจัยกันแบบวิทยาศาสตร์ หรือยึดหลักวิชาการ ผมยอมรับอันนั้น ผมไม่ยอมรับคำพูดวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ความรู้สึกที่มองเห็น ดูเอาต์พุต

ณ นาทีนั้น ถือว่าเป็น Represent หรือเป็นตัวแทนของเอาต์พุตทั้งหมด มันไม่ใช่ เพราะว่าผมนั่งดูแล้วมันมี ถ้าดูภาพรวมแล้วมันไม่ได้เสียหายมากเท่าที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กัน ไทยพีบีเอสถูกตำหนิจากทั้งสองฝ่าย ซีกซ้าย ซีกขวา ซีกเหลือง ซีกแดง แต่เมื่อเทียบกับคอนเทนต์ของสื่ออื่น ผมว่าเรายังให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่าสื่ออื่น ผมเสนอเป็นวิสัยทัศน์ในการเสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการของไทยพีบีเอส ผมกำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์ 5P มี Place ทำอย่างไรให้ไทยพีบีเอสเป็น Happy Workplace ทุกคนมาทำงานด้วยความสบายใจ สนุกกับงานที่ตัวเองทำ ถัดมาคือ People ทรัพยากรมนุษย์ ทำอย่างไรให้ทรัพยากรมนุษย์ของไทยพีบีเอส มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับทิศทาง ปรัชญาของสื่อสาธารณะ เราทำงานเพื่ออะไร ทำงานเพื่อใคร อันต่อมาที่เราต้องการปรับปรุงคือ Program คุณภาพของรายการ ทั้งรายการข่าวและรายการต่างๆ ปรับปรุงมาตรฐานให้สูงขึ้น มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความคงเส้นคงวา ต่อมาคือ Platform การปรับกระบวนการการทำสื่อแบบใหม่ ให้ใช้เทคโนโลยีเข้าสู่ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อใช้เทคโนโลยีขยายพื้นที่ของผู้ที่เข้าถึงรายการ ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ไหน หรือมีข้อจำกัดส่วนตัวในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ใช้เทคโนโลยีอย่างไร ให้คนทุกหมู่เหล่าในสังคมไทยได้เข้าถึงสื่อของเรา และสุดท้ายคือ Participation การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อย่างภาคประชาชน ถ้ามองไทยพีบีเอสมันไม่ใช่สื่อแบบที่เห็นอยู่ทั่วไปในขณะนี้ ทำไมถึงต้องใช้เงินจากภาครัฐ ทำไมถึงต้องใช้เงิน 2 พันล้าน เพราะเราเป็นสื่อที่แตกต่างจากสื่อที่มีในอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบัน

จะว่าไปแล้วสื่อในปัจจุบันเป็นสื่อเก่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อใหม่ที่มีความแตกต่าง สื่อใหม่ที่ผมพูดหมายถึงสื่อที่มีกระบวนการคิด การผลิตคอนเทนต์ออกมาเป็นสื่อใหม่ ผมไม่ได้หมายถึงที่มีการกำหนดนิยามว่าสื่อใหม่ในปัจจุบันที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ แต่คอนเทนต์ยังเป็นคอนเทนต์เก่าอยู่เลย ถ้าคุณดูในอุตสาหกรรมสื่อทุกวันนี้ จะเห็นว่าประชาชนแทบไม่มีทางเลือก เปิดทีวีช่องไหน

ณ เวลาใด จะมีคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาลักษณะแบบเดียวกันทั้งสิ้น แทบทุกช่อง เราต้องเป็นสื่อที่ให้ทางเลือก ให้คอนเทนต์ที่แปลกแตกต่างไป ถ้าคุณดูรายการของเราหลายๆ รายการ แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าเราเริ่มเสนอทางเลือกให้กับผู้ชมผู้ฟังที่มีลักษณะแตกต่างไป ผู้ชมผู้ฟังไม่ใช่ผู้บริโภค แบบตามนัยยะของผู้ทำสื่อในสังคมไทยปัจจุบัน เราถือว่าผู้ชมผู้ฟังเป็นพลเมือง เราต้องทำคอนเทนต์เพื่อตอบสนองความเป็นพลเมืองของประชาชนคนไทยทั้งหมด ผมได้ตอบคำถามเรื่องการพัฒนาองค์กร การพัฒนาการสื่อสารองค์กรจะมีการพัฒนา การลดต้นทุนการผลิต ทำให้องค์กรมีความกะทัดรัด มีความคล่องตัว

ในการบริหาร ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินน้อยลง ใช้งบประมาณจากประชาชนน้อยลง แต่ให้มีผลผลิตมากขึ้น จะทำให้องค์กรเป็น Lean Organization มีการทำงานคล่องตัวมากขึ้น ไม่ต้องใช้จำนวนคนมาก แต่ได้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหาวิธีการลดทอนสิ่งที่ในภาษาบัญชีเรียกว่า Management Overhead Cost จะต้องลดลง เพื่อสามารถแสดงบัญชีให้กับประชาชนว่าเราได้ใช้เงินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ในกระบวนการที่ผมคิดมาในแผน 5P ที่เสนอต่อกรรมการนโยบาย เพื่อให้มีการคัดสรรเพื่อให้ผมมาเป็นผู้อำนวยการ

GM : บทบาทและทิศทางของสื่อสาธารณะควรตอบสนองคนดูกลุ่มเล็กเพื่อเป็นทางเลือก หรือว่าควรตอบสนองคนดูกลุ่มใหญ่เพื่อสู้กับสื่อกระแสหลัก

สมชัย : สื่อสาธารณะต้องถือว่าประชาชนทั้งประเทศ ทั้งสังคม เป็นผู้ชมผู้ฟัง ซึ่งผู้ชมผู้ฟังเป็นพลเมือง ไม่ใช่เป็นผู้บริโภค ความแตกต่างของสื่อสาธารณะกับสื่อภาครัฐซึ่งสนองตอบนโยบายรัฐ สื่อภาคพาณิชย์ สื่อเอกชน ที่มองดูประชาชนผู้ดูผู้ฟังว่าเป็นผู้บริโภค ที่เขาต้องทำรายการเพื่อสนองตอบกระแสบริโภคนิยม สื่อภาครัฐต้องพยายามในการทำอย่างไรให้ประชาชน ผู้ชมผู้ฟังนิยมชมชอบนักการเมืองหรือว่ารัฐบาล สื่อสาธารณะต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ชมผู้ฟัง ให้มีความรอบรู้เท่าเทียมเหมือนกันในเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพื่อตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสื่อสาธารณะต้องทำอย่างไร ให้ประชาชนมีสิทธิ์ได้รับรู้ข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน และกระจายถึงทุกกลุ่ม ไม่ได้หมายความว่าเราทำรายการเพื่อชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่เราจะต้องมีรายการที่ตอบสนองต่อผู้ชมผู้ฟังทุกกลุ่ม มันอยู่ที่กระบวนการจัดสรรเวลา จัดสรรแพลตฟอร์ม พื้นที่สื่อ ว่าจะจัดสรรอย่างไรให้ครอบคลุมทุกด้านและสมดุล

GM : ดูเหมือนว่าความไม่เข้าใจถึงแนวคิดสื่อสาธารณะ หรือเข้าใจแบบไม่ตรงกัน ได้สร้างความหวาดระแวงทั้งภายในองค์กรระหว่างกันเอง และภายนอกองค์กรที่มองเข้ามา

สมชัย : ทั้งหมดนี้อยู่ในส่วนกระบวนการ 5P ที่ผมได้กล่าวไป คือ Happy Workplace พูดถึงเฉพาะภายในนะครับ ทรัพยากรมนุษย์มีกระบวนการปรับทัศนคติ ให้ความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนสื่อสารกันระหว่างคนทำงาน ไม่ใช่ลักษณะการสื่อสารจากบนลงล่างเท่านั้น มีการสื่อสารจากล่างขึ้นบน ให้มีการแลกเปลี่ยนสื่อสารของคนในองค์กรเราทุกระดับ ปรับความเข้าใจกันให้เข้าใจตรงกัน มากกว่า 50-60% แล้วนะที่เข้าใจสื่อสาธารณะที่แท้จริง ดูจากคอนเทนต์ที่ออกมา ก็ได้สะท้อนความเป็นสื่อสาธารณะออกมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้คนในองค์กรทั้งหมดเข้าใจหลักปรัชญาของสื่อสาธารณะ ให้ดูให้เห็น ว่าผู้ชมผู้ฟังเป็นพลเมืองที่เราต้องดูแล ให้ความรู้ความเข้าใจกับเขา

ส่วนภายนอกองค์กร คงต้องมีกระบวนการอีกอันหนึ่ง ผมกำลังนั่งคิดว่าจะใช้ยุทธศาสตร์อย่างไร ที่จะเป็นการสื่อสารภายนอกองค์กรให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงทิศทาง ประโยชน์ของสื่อสาธารณะ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เพราะฉะนั้นต้องสื่อสารกับผู้ชมผู้ฟังนอกองค์กรให้เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองทุกสีทุกฝ่ายมองเราไม่เป็นมิตรสักเท่าไร กระทั่งผู้อยู่ในวงการสื่อหรือนักวิชาการหลายกลุ่มมองดูเราด้วยสายตาไม่เป็นมิตร เพื่อให้เขาเข้าอก-เข้าใจสื่อสาธารณะ ผมยืนยันว่าสื่อสาธารณะ ณ ปัจจุบันนี้ เป็นสื่อใหม่ๆ เทียบกับสื่อเก่าที่มีอยู่ เราพูดถึงเนื้อหาสาระและกระบวนการการได้มาซึ่งคอนเทนต์ที่ออกหน้าจอ กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ชัดเจน เรามีนักข่าวพลเมือง ตอนนี้เราฝึกนักข่าวพลเมือง 1,500 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ทำงานสื่อ ออกทางหน้าจอของเรา และไปใช้พื้นที่ของเขาเอง เพื่อจะได้มีปากมีเสียง หรือ Empowerment ให้กับประชาชน นี่คือภารกิจอย่างหนึ่งของสื่อสาธารณะ

GM : ตกลงเงิน 2 พันล้านต่อปี ที่ประชาชนจ่ายให้กับไทยพีบีเอสคุณว่ามันคุ้มค่าไหม

สมชัย : ถ้าผมถามกลับไปว่า รัฐบาลใช้เงินเป็นพันล้านสำหรับรณรงค์สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไทยพีบีเอสได้ปีละ 2 พันล้าน เรามีรายการสยามวาระ อย่างที่คุณกำลังทำอยู่นี้ และหลายๆ รายการ อย่างตอบโจทย์ เพลงลั่นทุ่ง คนละดาวเดียวกัน ภัตตาคารบ้านทุ่ง เมืองเรืองแสง พื้นที่ชีวิต คนสู้โรค ประชาชนคนไทยเสียภาษีหรือเสียเงินให้เรา คร่าวๆ คนละประมาณ 40 บาท/ปี/คน เพื่อดูรายการที่ผมเล่ามา ซึ่งเป็นแค่ส่วนเดียวของรายการทั้งหมด คุณใช้เงิน 40 บาทซื้อมติชนสุดสัปดาห์ได้แค่หนึ่งฉบับ ของเรามีรายการที่ผมไล่มาให้ฟังทุกอาทิตย์ ตลอดทั้งปี คุ้มไหมครับ

GM : แต่สำหรับมติชน ผมเลือกได้นี่ครับ ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ แต่สำหรับไทยพีบีเอส ถ้าคิด 40 บาท/คน/ปี มันเป็นการบังคับจ่าย ผมก็ต้องบอกว่า เอ๊ะ! ไม่คุ้มเลย ที่ต้องมาจ่ายให้พวกคุณทำงาน ทั้งที่ไม่อยากจ่าย

สมชัย : (หัวเราะ) ผมเลยมารณรงค์ให้คุณเลิกสูบบุหรี่ซะ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ซะ ผมยินดีถ้าประเทศไทยมีคนเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า แล้วพวกเราก็ไม่มีเงินมาทำไทยพีบีเอสอีก เราก็เลิกไทยพีบีเอสไปเลย แต่หากเราต้องการสร้างสื่อสาธารณะดีๆ ที่ไม่ต้องพึ่งอำนาจทางการเมือง ไม่ต้องพึ่งการขายแชมพู หรือครีมหน้าขาว รังนก สินค้าที่ไม่รู้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านี้ หากต้องการสื่อที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงทางการเมือง หรือการแทรกแซงด้านการค้า ต้องมีการให้เงินจากสาธารณะ

ทีนี้การใช้เงินจากสาธารณะเพื่อมาทำรายการอย่างที่ผมว่าไป ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะไม่ซื้อมติชนก็ได้ แต่สิ่งที่รายการต่างๆ ให้มา มันคุ้มค่ามากกว่าเงินที่ให้ไหม ต่อหัวต่อปี สิ่งที่สื่อสาธารณะให้กับสังคม มันทำให้สังคมมีความคิดเปลี่ยนไปไหม หรือมีอิมแพ็คต์ที่ทำให้ความคิดของคนหลากหลายมากขึ้น ไม่ถูกชักจูงไปทางใดทางหนึ่ง จากสื่อที่ถูกกำหนดนโยบายที่ชัดเจนมาเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะหรือเปล่า สำหรับผม คิดว่ามันคุ้มค่า

GM : จะรู้ได้อย่างไร ว่าคุณค่าที่คุณเลือกนำเสนอให้กับสังคมไปเป็นคุณค่าที่ถูก ที่ดี ถ้ามีคนมองว่าคุณเป็นทีวีเอ็นจีโอบ้าง เป็นทีวีคนดีบ้าง ปากยึดถือคุณธรรมเพื่อเป็นข้อกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม แบบนี้ได้หรือเปล่า

สมชัย : ผมไม่ได้พูดถึงความดี เพราะนั่นเป็นเรื่องของการ Stereotyping แต่หากเอแบคโพลล์สรุปออกมาว่าประชาชน 60% ยอมรับได้ถ้านักการเมืองหรือข้าราชการโกงแต่ทำงานดี ผมว่าค่านิยมแบบนี้ผิด และคิดว่าเราควรสร้างค่านิยมใหม่ ว่าคนไทยจะต้องไม่ยอมรับคอร์รัปชั่น ไม่ว่าเขาจะทำงานดีหรือเขาจะแบ่งผลประโยชน์บางส่วนมาให้เรา ผมว่าเราต้องสร้าง Public Value นะ หรืออีกเรื่องหนึ่ง ตัวเลขจริงๆ เลยบอกว่าเมืองไทยมี Teen Mom ที่เยอะที่สุดในเอเชีย เด็กสาวที่ท้องโดยไม่พร้อม ถ้าเราสามารถสร้างค่านิยมสาธารณะใหม่ รณรงค์ให้เด็กรู้จักวิธีป้องกันตัวเอง ถ้าไทยพีบีเอสทำรายการแบบนี้ แล้วคุณจะเรียกเราว่าทีวีคนดีหรือไม่ ผมไม่รู้นะ ถ้าเราสามารถสร้างค่านิยมสาธารณะใหม่ ให้เด็กผู้หญิง 1.6 แสนคนต่อปี ไม่ต้องไปทำแท้ง นี่เรามีการฆ่าคนตายปีละแสนกว่านะ เด็กไปทำแท้งเพราะว่าไม่พร้อม สังคมไทยเราพูดถึงเรื่องนี้แบบเฉยๆ แบบไม่รู้สึกเลย เทียบกับคนตาย 91 ศพที่ราชประสงค์ กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วคนตายตั้งแสนกว่า เอ๊ะ! สื่อไหนจะมาสนใจ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมสาธารณะได้โดยใช้สื่อ ผมว่าจะถือเป็นความล้มเหลว ความล้มเหลวของสื่อด้วย ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในสังคมไทย สื่อสาธารณะมีหน้าที่สร้างค่านิยมใหม่ ค่านิยมในการไม่ให้คนยอมรับเรื่องไม่ดีมากมายเหล่านี้

GM : ค่านิยมเหล่านี้จะถูกคัดกรองมาจากความหลากหลายของผู้จัดที่มาร่วมแต่ละรายๆ ไปใช่ไหม

สมชัย : ค่านิยมจะอยู่ในระดับนโยบายเลย เป็นพันธกิจที่เขียนไว้ วัตถุประสงค์ขององค์กร 6 ข้อชัดเจน รายการต่างๆ ต้องสามารถบอกได้ว่าเข้าสู่วัตถุประสงค์ 6 ข้อของเราได้อย่างไร ถ้าไม่เข้า 6 ข้อนั้น ผมต้องไปถามฝ่ายคัดเลือกรายการ ว่าไม่ตรงตามนโยบายของเรา คุณเอามาออกอากาศทำไม

GM : ที่ผ่านมาพบรายการที่ไม่ตรงกับนโยบายหรือวัตถุประสงค์ไหม

สมชัย : ก็มีอยู่ ผมก็เคยถามไปเหมือนกัน แต่เนื่องจากรายการของเราเปลี่ยนเร็ว ออกอากาศ 3 เดือนก็เปลี่ยนไปแล้ว มันมาได้อย่างไรรายการแบบนี้ กินใต้โต๊ะกันหรือเปล่า ไม่ตรงตามนโยบาย แต่พอมาดูจริงๆ 3 เดือน ก็หลุดผังไปแล้ว ก็จบแล้ว ไปตามเรื่องไม่ได้ แต่ระยะหลังๆ รายการดีขึ้นตามลำดับนะ อย่างวันนั้นผมดูรายการ เมืองเรืองแสง ไอเดียดีมากเลย

GM : คนพวกนี้เมื่อก่อนอยู่ที่ไหน ตอนนี้ถึงมากระจุกตัวอยู่ในทีวีสาธารณะ

สมชัย : นั่นสิ ต้องถามผู้อำนวยการฝ่ายรายการ อย่างรายการเพลงลั่นทุ่ง หรือรายการที่คุณสตางค์ทำ ภัตตาคารบ้านทุ่ง คนพวกนี้มาจากไหน ผมว่าพอไทยพีบีเอสเปิดพื้นที่นี้ขึ้นมา คุณก็ไม่ต้องยักษ์ใหญ่มาจากไหนแล้วละ คุณเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถเข้ามาร่วมกับเราได้ มาเสนอรายการ เราเซตนโยบายไว้ชัด ร่างวัตถุประสงค์ไว้ชัด คนที่เลือกเข้ามา

ต้องตอบคำถามได้ว่าเขาทำตามนโยบาย

GM : ฐานะคนดูทีวี คนจากข้างนอก เราแทบไม่รู้ว่าข้างในมีความขัดแย้งอะไรอย่างที่คุณเล่ามา เราแค่ดูรายการแล้วค่อนข้างแฮปปี้ โดยเฉพาะรายการตอนกลางคืน

สมชัย : ตอนนี้เราพยายามปั้น 22.00 ให้เป็นไพรม์ไทม์ของไทยพีบีเอส

GM : แล้วพวกรายการข่าว มีปัญหาหรือเปล่า

สมชัย : ถ้าลองไปอ่านข่าวที่เขาเขียนกัน ผมว่ามันยังมีดราม่าอยู่ ใส่สีใส่ไข่ อย่างที่ผมบอกว่าเป็นแท็บลอยด์ มันมีปัญหาจริง มีดราม่าใส่เพื่อให้ดูสนุก เป็นลีลาของคนเขียน เหมือนพวกคอลัมนิสต์ที่ต้องการเรตติ้งเยอะๆ ผมก็ไม่ว่าอะไร คุณไปอ่านเลย แม่ลูกจันทร์ ผมก็ชอบอ่านนะ มันมันสะใจดี แต่ถ้าคุณไปอ่านแม่ลูกจันทร์จบทั้งบทความ คุณสรุปประเด็นมันจริงๆ แล้วจะพบมีเนื้อหาอยู่นิดเดียวเอง ถ้าคุณอยู่ในวงการสื่อ ก็ลองอ่านเนื้อหาในทุกวันนี้ แล้วสรุปมันลงไป คุณจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่เนื้อหามันก็มีแค่นิดเดียว ที่เหลือคือใส่สีสัน ให้ดูเยอะๆ ให้ดูน่าสนุกแค่นั้นเอง

GM : เราควรสร้าง Public Value อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยตอนนี้

สมชัย : ผมคิดว่าฝ่ายข่าวยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ มีปัญหาทั้งสองฝ่าย ทั้งสองปีก เราจะเสนออย่างไรให้คมชัด ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในสิ่งที่เราทำ มันมีปัญหา 1. Skill ของคนทำงาน ความลึก เราต้องรู้เรื่องลึกพอสมควร ต้องมีบริบทของมันที่เราสามารถลงไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่ง Skill ของแต่ละคนไปไม่ถึง ผมเห็นรายการที่แหลมคมมากๆ บีบีซีมีเยอะ เพราะคนทำมีภูมิความรู้

ในการทำเรื่องนั้น ทำออกมาได้บาลานซ์ ได้ครบหลากหลาย ไม่มีใครด่าได้ เรายังหาคนที่ทำอย่างนั้นไม่ได้ 2. ความกล้าในการแตะบางเรื่อง อาจเพราะไดเร็กชั่นไม่ชัด พอมีเรื่องขึ้นมาปั๊บ ผู้ใหญ่หลบหมด เดี๋ยวจะซวยเอา มีคนถามว่าเราทำละครดีไหม ผมดูแล้วก็บอกไปว่า ละครของเราคนเขียนสคริปต์ยังมือไม่ถึงหรอก ไม่สามารถเจาะลงไปให้ชัดๆ แต่ละเรื่องๆ ถ้ามือไม่ถึงอย่าทำ ไม่มีละครยังดีเสียกว่า อยากสร้างละครที่เปลี่ยน Public Value คนทำต้องมือถึงนะถึงจะทำได้ ละครของบีบีซีก็มี เป็นแบบละครน้ำเน่าด้วย แต่มันมี Value อยู่ในนั้น อย่างเรื่อง Teen Mom ในอังกฤษเยอะมากเหมือนกัน มากที่สุดในยุโรป เขาก็ใช้ละครพยายามปรับทัศนคติของเด็กวัยรุ่นของเขาได้

GM : ในสมัยก่อน บีบีซีทำข่าวความขัดแย้งในโลกที่สามอย่างไร บีบีซีมีส่วนช่วยประเทศโลกที่สามให้พ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้มากแค่ไหน

สมชัย : บีบีซีมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ เท่านั้นก็พอ ส่วนเป็นเรื่องแก้ไขความขัดแย้งไหม ผมว่านั่นเป็นเรื่องของคนข้างในประเทศนั้นต้องช่วยตัวเอง สื่อมีหน้าที่ตรงนี้ ถ้าทำตรงนี้ได้ การแก้ไขความขัดแย้ง จริงๆ ต้องยอมรับความจริงกันก่อน ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับความจริง มันปรองดองกันไม่ได้ การเป็นสื่อมวลชนจาก ตปท. มันดีอย่างหนึ่ง คือไม่เข้าข้างใคร มาจากเมืองนอก ไม่ได้เป็นพวกสายนั้นสายนี้ ดูตามเนื้อผ้า แต่อาจไม่ลึกจริงก็ได้

GM : พอมาเป็นไทยพีบีเอส มันยากแล้ว

สมชัย : ใช่ ตอนนี้มีบังเกอร์ทั้งสองฝั่ง คุณจะทำข่าวให้ดีอย่างไร พวกที่ชอบแยกสีทำเพลต เขาก็ไม่เชื่อคุณหรอก

GM : รายการ ตอบโจทย์ ตอนภูมิทัศน์ประเทศไทย ที่เอาหลายฝ่ายมานั่งคุยกัน จะช่วยได้ไหม

สมชัย : ผมว่ารายการสัมภาษณ์แบบนี้ มันคือการทำ Political Point-scoring คือให้แต่ละคน แต่ละฝ่ายผลัดกันมาสะสมแต้มกัน พอมาเจอหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างสะสมแต้ม ผมว่ามันช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยทั้งหมด คนเหล่านี้พอยิ่งออกสื่อ ก็ยิ่งต้องตั้งใจสะสมแต้มกันใหญ่

GM : จนถึงวันนี้ เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมจึงชื่นชอบสื่อสาธารณะ

สมชัย : ตอนอยู่อังกฤษผมได้ประโยชน์กับสื่อสาธารณะ ผมว่าในหลายประเทศที่มีสื่อสาธารณะ ประชาชนได้ประโยชน์ เมืองไทยเรา ประชาชนไม่น่าจะถูกลิดรอนสิทธิจากการได้ใช้ประโยชน์จากสื่อสาธารณะ คนที่อยู่ในสังคมนั้น ได้เห็นว่ามันมี Value จริงๆ ถ้าคุณไม่เคยอยู่ในอังกฤษอาจจะไม่รู้สึกเหมือนผม แต่ถ้าได้ไปอยู่สักพัก คุณจะ อ๋อ! สิ่งที่บีบีซีให้กับประเทศมันมากกว่าเงินที่ประชาชนจ่ายให้ มันไม่เหมือนเมืองไทยที่มีแต่สื่อเชิงพาณิชย์ เนื้อหาถูกขับเคลื่อนด้วยโฆษณา

GM : แปลว่าเสรีนิยม ทุนนิยม แท้จริงแล้วมันไม่มี Invisible Hand มาทำให้สื่อดีขึ้นไปเรื่อยๆ

สมชัย : นั่นสิ สื่อสาธารณะในอังกฤษหรือในยุโรป เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมนิยมกำลังแก่กล้ามากเลย ช่วงหลังสงคราม พรรคแรงงานขึ้นมาเป็นรัฐบาล ความรู้สึกเป็นสังคมนิยมมีเยอะ สื่อสาธารณะนี่มันเหมือนเป็น Commune เลยนะ คือให้ทุกคนเอาเงินมากองไว้ที่เดียวกัน แล้วใช้ไปในอะไรสักอย่างที่เชื่อว่ามีประโยชน์ร่วมกัน ผมคิดว่าคอนเทนต์ที่ออกหน้าสื่อ ถือเป็น Merit Goods เหมือนการรักษาพยาบาล การศึกษา ซึ่งเราจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเดียวไม่ได้ ระบบสุขภาพของคนทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าประเทศเรามีแต่โรงพยาบาลเอกชน

GM : คนจนจะแย่ใช่ไหม

สมชัย : ไม่ใช่แค่นั้น คนรวยก็ถูกหลอกด้วย อย่างวันก่อนลูกสาวผมโดนยุงกัด เป็นตุ่มขึ้นมา พอไปหาหมอ 700 บาท ค่ายา ยาเม็ดเป็นถุงๆ หลายถุง เอากลับมาถึงบ้าน ผมถามทำไมยุงกัดแล้วได้ยามาเยอะขนาดนี้ น้องชายผมเป็นหมอ เดินมาดูแล้วก็หัวเราะก๊ากเลย บอกว่าไม่ต้องไปกินหรอก แล้วเขาก็ไปซื้อยาหลอดอะไรสักอย่างมาให้ทา ลองเทียบดู 700 บาท ค่ายาถุงๆ เต็มไปหมด กับยาหลอดถูกๆ ไม่กี่บาท นี่ไงล่ะ ธุรกิจเอกชน หลอกเอาเงินคนรวยด้วยนะ คนจนไม่สามารถเข้าถึงบริการพวกนี้ได้ จนกระทั่งมี 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องการศึกษาก็เหมือนกัน

ถ้าคุณมีแต่โรงเรียนเอกชน แล้วคนจนจะไปเรียนที่ไหน สื่อก็เป็น Merit Goods เช่นกัน

GM : เหมือนโลกของเราสวิงไปมา ยุคสมัยหนึ่งเชื่อในเสรีนิยม ทุนนิยมต่อมาเราก็พบว่ามันมีปัญหา และก็ต้องหันมาใช้วิธีสังคมนิยมบ้าง

สมชัย : ระบบทุนนิยมทำให้เกิด วอลล์สตรีท ออคคิวพาย กลไกทุนนิยมมันสูบไปมากเลย เลยมีขบวนการนี้ออกมาคัดค้าน ถ้าปล่อยให้กลไกตลาดหรือทุนนิยมทำงานอย่างเดียว ไม่มีการมาทัดทานแบบนี้ ปล่อยให้สื่อพาณิชย์ทำกันไปอย่างเดียว ไม่มีสื่อสาธารณะ สังคมจะเป็นแบบนั้น

GM : แปลว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์ไม่ได้ดีงามใช่ไหม เราจึงต้องรอให้สื่อมาชี้นำ

สมชัย : ไม่ใช่หมายความแบบนั้น ผมคิดว่าสื่อต้องพยายามสร้างความหลากหลาย ที่ผ่านมา สื่อในเมืองไทยถูกผูกขาดโดยทุนนิยม ผูกขาดโดยบริโภคนิยม ทุกช่องเหมือนกันหมดเลย ถ้าปล่อยให้สังคมมีเฉพาะแค่นั้น ไม่มีสื่อใดขึ้นมาทัดทานเลย สังคมจะเป็นอย่างไรล่ะ ผมไม่ได้บอกให้เลิกสื่อทุนนิยมให้หมด เพราะคนต้องการจะทำมาหากิน ก็ต้องปล่อยให้เขา

ทำมาหากินไป แต่สังคมไทยเราต้องมีอีกสิ่งหนึ่ง อีกฟากหนึ่ง เพื่อทำลายการผูกขาดทางความคิดของการบริโภคสื่อ อย่างน้อยคนที่ไม่ชอบแบบนั้นมันมีอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือกเลยไง เปิดไปทุกช่อง สไตล์เดียวกันหมด ละครพล็อตเรื่องเดียวกันหมดเลย แย่งผัวแย่งเมียกันหมดทุกช่องเลย แต่ถ้าเรามีทางเลือกให้ อย่างน้อยที่สุด คนที่ไม่อยากดูตบตี

อีกต่อไปแล้ว ก็จะได้มาดูนิ้วกลมในไทยพีบีเอสบ้าง ก็ได้ความคิดไปแบบหนึ่ง จริงไหม

ไทยพีบีเอสถูกตำหนิจากทั้งสองฝ่าย ซีกซ้าย ซีกขวา ซีกเหลือง ซีกแดง แต่เมื่อเทียบกับคอนเทนต์ของสื่ออื่น ผมว่าเรายังให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่าสื่ออื่น

ถ้าคุณอยู่ในวงการสื่อ ก็ลองอ่านเนื้อหาในทุกวันนี้ แล้วสรุปมันลงไป คุณจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่ เนื้อหามันก็มีแค่นิดเดียว ที่เหลือคือใส่สีสันให้ดูเยอะๆ ให้ดูน่าสนุกแค่นั้นเอง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ