fbpx

‘Failed State: ลักษณะที่น่าจับตา เมื่อรัฐที่ว่า “กำลังจะล้มเหลว”‘

เมื่อเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การรวมตัวที่มากพอนั้นจะก่อให้เกิด ‘สังคม’ และเมื่อมีการรวมตัวกันทางสังคม จนก่อให้เกิดกฏระเบียบปฏิบัติที่ใช้ร่วมกัน ก็จะกลายเป็น ‘รัฐชาติ’ เหล่านี้ เป็นมิติทางสังคมที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่แรกเริ่มของอารยธรรมมนุษย์ นั่นเพราะมนุษยชาติได้เรียนรู้ว่า ความสำเร็จ ความก้าวหน้า และสิ่งใหม่ๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการแยกตัวออกไปอยู่แต่เพียงลำพัง

รัฐชาติ สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า และกลุ่มก้อนทางสังคม สร้างความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นของรัฐชาติ

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากรัฐชาติ ไม่สามารถผลักดันให้กลุ่มก้อนทางสังคมก้าวไปข้างหน้า ซ้ำร้าย ยังถอยหลัง ติดหล่ม ไม่พ้นจากปลัก จะเป็นอย่างไร ถ้าหากรัฐชาตินั้น …. ‘ล้มเหลว’

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า ‘รัฐล้มเหลว (Failed State)’ กันอย่างหนาหู ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการกล่าวถึงกันในวงกว้าง ทั้งในมิติภาคสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดูราวกับว่าสถานการณ์รัฐล้มเหลวนั้น กำลังจะเกิดขึ้น (Not If but When…)

แต่มาตรวัดของรัฐล้มเหลวคืออะไร จากข้อสรุปในหนังสือ ‘Why Nation Fail’ ของ Daron Acemoglu และ James Robinson ที่ตีพิมพ์ในปี 2012 ได้กล่าวถึงตัวชี้วัดความเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ เอาไว้อยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้

-มิติการเมืองที่มีระบบผูกขาดอำนาจกลุ่มเดียวอย่างยาวนาน มีการวางกฏระเบียบและรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้กับคนกลุ่มดังกล่าว และปกครองประชาชนด้วยมิติของความหวาดกลัว

-มิติทางเศรษฐกิจ ผูกขาดกับคนในระดับบน ไม่มีการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตในระดับกลางและระดับรากหญ้า การคอร์รัปชันฝังลึกจนยากที่จะแก้ไข

-มิติทางสังคม ที่สร้างบรรยากาศของการยอมจำนน ไร้ซึ่งความหวัง ไม่ให้ค่ากับคนที่ปฏิบัติตามกฏระเบียบ และเชิดชูวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

-มิติการศึกษาในระนาบเดียว สร้างแรงงานเชื่อมมากกว่าที่จะเป็นพลเมืองที่คิดได้ เสนอแนะเป็น คนที่สำเร็จการศึกษาตามระบบ ไม่มีที่ยืนในระนาบทางเศรษฐกิจ และ/หรือ สร้างแรงงานที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และของโลก

-มิติองค์กรภาครัฐ เป็นวงจรอุบาทว์ของการคอร์รัปชันและกฏระเบียบซับซ้อนที่ไม่เกิดประโยชน์ และไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่เพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

-มิติด้านศรัทธา ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เกิดความขัดแย้งในสังคม แตกแยก ความไว้วางใจต่อผู้นำและสถาบันตกต่ำอย่างถึงขีดสุด

ในหนังสือ Why Nation Fail ได้จำแนกแจกแจงในแต่ละมิติเป็นหัวข้อที่ละเอียดกว่านี้ แต่นี่เป็นเพียงข้อสรุปของสิ่งที่จะนำไปสู่ความเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ที่ก่อให้เกิดการพังทลายทางสังคมที่จะตามมา

สำหรับประเทศไทยนั้น น่าตกใจแต่ไม่น่าแปลกประหลาดใจ ที่หลายต่อหลายมิติ เข้าข่ายการถดถอยไปสู่รัฐล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งเสรีที่มีข้อกังขา การมาของอำนาจที่ปราศจากการถ่วงดุล ระบบเศรษฐกิจผูกขาดแต่คนชั้นบน การศึกษาในทุกระดับอ่อนแอและมีคนหลุดจากระบบอย่างต่อเนื่อง การคอร์รัปชันเชิงนโยบายเห็นชัดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ รัฐราชการพันลึกที่เชิดชูการปล่อยลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง สังคมให้ความสนใจกับเรื่องปกิณกะปลีกย่อยเพียงเพื่อให้ผ่านพ้นไปวันๆ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่คงที่ หรืออาจจะลดลง

ไทยอาจจะยังไม่ถึงระดับความเป็นรัฐล้มเหลว แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ของการถดถอยทางสถาบัน (Institutional Decline) นั้นก็ชัดเจนจนไม่สามารถมองเป็นอื่น แน่นอนว่ามันอาจะเป็นภาวะสิ้นหวัง แต่ตราบเท่าที่ยังไม่ถอยไปสู่ความล้มเหลวจนความเป็นรัฐชาติไม่อาจดำรงอยู่ได้ หนทางแก้ไขเพื่อให้กลับสู่ระบบและระเบียบที่พึงควร ก็ยังคงมีอยู่

เพียงแค่มันอาจจะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจ และความเห็นพ้องต้องกันของสังคม ถึงความพยายามที่จะแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น อย่างจริงจัง ตั้งใจ และไม่อาจปล่อยปละหรือประนีประนอมไปได้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ